ช่วงเดือนที่ผ่านมา SDG Move จัดทำแบบสำรวจการรับรู้ความก้าวหน้าในการแก้ปัญหาที่เป็นความท้าทายของไทย ผ่านการทำแบบสอบถาม “Thailand’s Unsustainable Development Review: 7 ปีผ่านไป ไทยยั่งยืนแค่ไหน ในสายตาคุณ” เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ – 2 มีนาคม 2566 โดยส่งแบบสอบถามให้เปิดทำแบบสาธารณะ โดยเราได้นำความคิดเห็นการรับรู้จากผู้ตอบแบบสำรวจทั้งหมด 227 คน มาประมวลผลกับประเด็นทั้งหมด 51 ประเด็น ที่ได้มาจากการรวบรวมและคัดเลือกประเด็นปัญหาที่ได้รับการบ่งชี้ว่าเป็นประเด็นท้าทายของประเทศไทย จากรายงาน Sustainable Development Report 2022 โดย SDSN รายงานความก้าวหน้า SDGs ของประเทศไทย พ.ศ. 2559-2563 โดย สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และการสำรวจความคิดเห็นของผู้เชี่ยวชาญแต่ละภาคจากโครงการ Area Need ผนวกกับประเด็นปัญหาที่ปรากฏในหน้าข่าวสาธารณะในรอบ 1-2 ปี
SDG Updates ฉบับนี้ จึงขอหยิบผลการสำรวจมามานำเสนอให้ผู้อ่านได้เห็นว่าประเด็นที่ผู้ตอบแบสำรวจมองว่าถดถอยมากที่สุด 10 อันดับ 12 ประเด็น ดังนี้
01 – การทุจริตและการติดสินบน
ประเด็น “การทุจริตและการติดสินบน” ในการรับรู้ของผู้ตอบแบบสำรวจมองว่าเป็นประเด็น มีความถดถอยในการแก้ปัญหามากที่สุดเป็นอันดับที่ 1 โดยผู้ตอบแบบสอบถามให้ความเห็นว่า มีความ “ถดถอยมาก” ถึง 88 คน ได้ค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 1.8 คะแนน ซึ่งสอดคล้องกับข้อมูลของ SDG Index ปี 2565 ที่พบว่าประเทศไทยมีความท้าทายอย่างมากใน SDG 16 สังคมสงบสุข ยุติธรรม และสถาบันที่เข้มแข็ง เรื่องดัชนีการรับรู้การทุจริตคอร์รัปชัน (Corruption perception index: CPI) ติดอันดับตัวชี้วัดที่มีแนวโน้มที่แย่ลง อันดับที่ 7 ของข้อมูล SDG Index ปี 2564 ด้วยเช่นเดียวกัน นั่นหมายความว่า ผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนและข้อมูลแนวโน้มความยั่งยืนในประเด็นการทุจริตและการติดสินบน มีความเห็นตรงกันว่า “มีแนวโน้มแย่ลง”
02 – ความรุนแรงสุดโต่ง
ประเด็น “ความรุนแรงสุดโต่ง” ในการรับรู้ของผู้ตอบแบบสำรวจมองว่าเป็นประเด็น มีความถดถอยในการแก้ปัญหามากที่สุดเป็นอันดับที่ 2 โดยผู้ตอบแบบสอบถามให้ความเห็นว่า มีความ “ถดถอยมาก” ถึง 70 คน ได้ค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 1.85 คะแนน โดยมุ่งประเด็นความสนใจ เช่น กรณีเหตุการณ์กราดยิง สอดคล้องกับข้อมูลของ SDG Index ปี 2565 พบว่าประเทศไทยมีความท้าทายอย่างมากใน SDG 16 สังคมสงบสุข ยุติธรรม และสถาบันที่เข้มแข็ง ในตัวชี้วัดเรื่องอัตราการฆาตกรรม ซึ่งข้อมูลจากตัวชี้วัดนี้ อ้างอิงจากฐานข้อมูลสากลของสำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (UNODC) และแม้จะมีการยกเลิกข้อมูลอัตราการฆาตกรรมต่อประชากรแสนคนของไทยเดิมที่ใช้ประกอบการประเมินใน SDG Index ปี 2564 ซึ่งเป็นข้อมูลจากปี 2560 ด้วยเหตุผลทางสถิติและมีข้อมูลล่าสุดที่แสดงอยู่ในช่วงที่มีการดึงข้อมูลเพื่อจัดทำ SDG Index ปี 2565 คือ ข้อมูลในปี 2554 จึงทำให้ข้อมูลนี้อาจไม่สะท้อนสถานการณ์ปัจจุบัน
แต่หากพิจารณา ข้อมูลของ World Population Review เผยแพร่ผลสำรวจประเทศที่มีกรณีการเสียชีวิตด้วยอาวุธปืนมากที่สุดในโลก ประจำปี 2022 กลับพบว่าประเทศไทย ติดอันดับที่ 15 ที่มีจำนวนผู้เสียชีวิตด้วยอาวุธปืนจำนวน 2,804 คน และมีอัตราการเสียชีวิตที่เกี่ยวข้องกับอาวุธปืน เฉลี่ย 3.91 คน ต่อประชากร 1 แสนคน สอดคล้องกับปรากฎการณ์ทางสังคมที่เกิดขึ้น เช่น เหตุกราดยิงโคราช ปี 2563 มีผู้เสียชีวิต 30 ราย เหตุกราดยิงจังหวัดหนองบัวลำภู ปี 2565 มีผู้เสียชีวิต 36 ราย และเหตุกราดยิงสายไหม ปี 2566 มีผู้เสียชีวิต 3 ราย โดยที่ผู้ก่อเหตุเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น สะท้อนให้เห็นว่าประเทศไทยยังคงขาดมาตรการบังคับใช้กฎหมายการถือครองอาวุธปืนที่เข้มงวดและมาตรการป้องกัน รับมือกับปัญหาดังกล่าวอย่างเป็นรูปธรรม
03 – ค่าครองชีพไม่สอดคล้องกับรายได้
ประเด็น “ค่าครองชีพไม่สอดคล้องกับรายได้” ในการรับรู้ของผู้ตอบแบบสำรวจมองว่าเป็นประเด็นมีความถดถอยในการแก้ปัญหามากที่สุดเป็นอันดับที่ 3 โดยผู้ตอบแบบสอบถามให้ความเห็นว่า มีความ “ถดถอยมาก” ถึง 75 คน ได้ค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 1.97 คะแนน สอดคล้องกับข้อมูลรายงานความเสี่ยงโลกประจำปี 2566 (Global Risks Report 2023) โดยสภาเศรษฐกิจโลก (World Economic Forum) ที่ระบุว่า ในความเสี่ยงมิติสังคม “วิกฤตค่าครองชีพ” จะติดอันดับ 1 ความเสี่ยงระยะสั้นที่มีโอกาสรุนแรงที่สุดในอีก 2 ปีข้างหน้า ขณะที่ ผลสำรวจสถานการณ์แรงงานไทยปี 2565 โดยศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย รายงานว่า แรงงานไทยดำรงชีพด้วยค่าแรงขั้นต่ำต่อวันที่ไม่เพียงพอต่อค่าใช้จ่าย เนื่องด้วยราคาสินค้าที่แพงขึ้น เช่นเดียวกันกับ ข้อมูลของรายงาน Area Need ที่ระบุว่า ในมิติเศรษฐกิจ พื้นที่มีความต้องการระดับภาคในการแก้ไขปัญหาเรื่องค่าครองชีพที่สวนทางกับค่าจ้าง นั่นแปลว่า ประชาชนมีรายได้เท่าเดิมในขณะที่ค่าครองชีพกลับสูงขึ้น ทำให้ประชาชนอาจต้องเผชิญกับภาวะหนี้ครัวเรือนและปัญหาเศรษฐกิจอื่น ๆ ตามมา
04 – การจัดการกับมลพิษทางอากาศ
ประเด็น “การจัดการกับมลพิษทางอากาศ” ในการรับรู้ของผู้ตอบแบบสำรวจมองว่าเป็นประเด็นมีความถดถอยในการแก้ปัญหามากที่สุดเป็นอันดับที่ 4 โดยผู้ตอบแบบสอบถามให้ความเห็นว่า มีความ “ถดถอยมาก” ถึง 70 คน ได้ค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 1.99 คะแนน ตรงกับข้อมูลรายงานความก้าวหน้าเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทย พ.ศ. 2559-2563 ที่จัดทำโดย สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้ระบุว่า สถานการณ์ปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก หรือ PM2.5 รุนแรงขึ้นทุกปี ซึ่งรายงานสถานการณ์มลพิษของไทยปี 2562 มีการวัดค่าเฉลี่ยฝุ่น 24 ชั่วโมงสูงกว่าค่ามาตรฐานในหลายพื้นที่และนำมาซึ่งอาการเจ็บป่วยหลายประการโดยเฉพาะอย่างยิ่งในเด็กและผู้สูงอายุ เช่นเดียวกันกับ ข้อมูลรายงานการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Report :SDR) โดย SDSN ระบุว่า เป้าหมายย่อยที่ 3.9 ลดจำนวนการตายและการเจ็บป่วยจากสารเคมีอันตรายและจากมลพิษและการปนเปื้อนทางอากาศ น้ำ และดิน ให้ลดลงภายในปี 2573 แต่สถานะของประเทศไทยยังคงมีแนวโน้มที่แย่ลงต่อเนื่องหลายปี โดยในปีนี้ 2566 สถานการณ์ฝุ่นปีนี้รุนแรงอย่างมาก โดยเฉพาะพื้นที่ภาคเหนือ จากรายงานคุณภาพอากาศจากแอปพลิเคชัน IQAir ช่วงเดือนกุมภาพันธ์ ถึง มีนาคมที่ผ่านมา พบว่า ค่าฝุ่นอยู่ในระดับอันตรายอย่างมาก และสูงกว่าค่ามาตรฐานหลายเท่าตัว ซึ่งจากผลการสำรวจและข้อมูลดังกล่าว สามารถสรุปได้ว่า ความก้าวหน้าในการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 แม้ในปัจจุบันก็ยังคงเป็นปัญหาที่แก้ไม่ตกและประชาชนยังคงมองว่าเป็นปัญหาที่ได้รับการแก้ไขน้อยที่สุดไม่ว่าจะกี่ปีผ่านไป
05 – ความรุนแรงในกระบวนการยุติธรรม
ประเด็น “ความรุนแรงในกระบวนการยุติธรรม” เช่น การซ้อมทรมาน การบังคับตรวจ DNA และการอุ้มหาย ในการรับรู้ของผู้ตอบแบบสำรวจมองว่าเป็นประเด็นมีความถดถอยในการแก้ปัญหามากที่สุดเป็นอันดับที่ 5 โดยผู้ตอบแบบสอบถามให้ความเห็นว่า มีความ “ถดถอยมาก” ถึง 62 คน ได้ค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 2 คะแนน สะท้อนจาก ข้อมูลดัชนีหลักนิติธรรม (Rule of Law Index) ประจำปี 2565 จัดทำโดยกลุ่มนักวิจัย The World Justice Project พบว่าประเทศไทย ได้คะแนนจากดัชนีหลักนิติธรรม เพียง 0.50 คะแนน จากคะแนนเต็ม 1 คะแนน จัดอยู่ในลำดับที่ 80 ของโลก ซึ่งแสดงว่าประเทศไทย มีหลักนิติธรรมอ่อนแอที่สุด นับเป็นข้อมูลเชิงสถิติที่ยังคงน่ากังวล รายงานสอดรับกับผลสำรวจที่ประชาชนได้ให้ความเห็นว่าประเทศไทยมีแนวโน้มความก้าวหน้าในการแก้ปัญหาน้อยที่สุด โดยสะท้อนได้จากปรากฏการณ์ทางสังคมที่เกิดขึ้น เช่น กรณี การลิดรอนสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของนักเคลื่อนไหวทางการเมือง การทุจริตของข้าราชการและผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ความลักลั่นในการปฏิบัติและกำหนดโทษผู้ต้องหา รวมถึงการซ้อมทรมาน โดยเจ้าหน้าที่รัฐ ด้วยเหตุดังกล่าว เป็นผลให้ความก้าวหน้าในการแก้ปัญหาไม่สามารถไปถึงจุดที่สร้างความสงบสุขและยุติธรรมได้อย่างยั่งยืน
06 – ความขัดแย้งจากการเมืองระดับท้องถิ่น
ประเด็น “ความขัดแย้งจากการเมืองระดับท้องถิ่น” ในการรับรู้ของผู้ตอบแบบสำรวจมองว่าเป็นประเด็นมีความถดถอยในการแก้ปัญหามากที่สุดเป็นอันดับที่ 6 โดยผู้ตอบแบบสอบถามให้ความเห็นว่า มีความ “ถดถอยมาก” ถึง 56 คน ได้ค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 2.05 คะแนน แม้ไม่ได้เป็นประเด็นที่ถูกระบุข้อมูลเชิงสถิติโดยตรง แต่เป็นประเด็นที่ปัญหาอีกประการหนึ่งที่ถูกสะท้อนผ่านปรากฏการณ์ทางสังคม เช่น การแบ่งพรรคพวกในชุมชน การกีดกันไม่ให้ได้รับสิทธิหรือสวัสดิการ เป็นการเลือกปฏิบัติต่อคนกลุ่มน้อย ทำให้การเป็นตัวแทนที่มาจากการเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตยขาดความชอบธรรมในการสะท้อนความต้องการของประชาชนอย่างแท้จริง อันเป็นหนึ่งในสาเหตุที่อาจทำให้ฉุดรั้งการบรรลุเป้าหมายของ SDG 16 สังคมสงบสุข ยุติธรรม และสถาบันที่เข้มแข็ง โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 16.7 สร้างหลักประกันว่าจะมีกระบวนการตัดสินใจที่มีความรับผิดชอบ ครอบคลุม มีส่วนร่วม และมีความเป็นตัวแทนที่ดี ในทุกระดับการตัดสินใจ
07 – การรับมือกับภัยคุกคามไซเบอร์
ประเด็น “การรับมือกับภัยคุกคามไซเบอร์” ในการรับรู้ของผู้ตอบแบบสำรวจมองว่าเป็นประเด็นมีความถดถอยในการแก้ปัญหามากที่สุดเป็นอันดับที่ 7 โดยผู้ตอบแบบสอบถามให้ความเห็นว่า มีความ “ถดถอยมาก” ถึง 76 คน ได้ค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 2.07 คะแนน สอดคล้องกับข้อมูลรายงานความเสี่ยงโลกประจำปี 2566 (Global Risks Report 2023) โดยสภาเศรษฐกิจโลก (World Economic Forum) ที่ระบุว่า เทคโนโลยี จะทำให้ความไม่เท่าเทียมรุนแรงขึ้น ขณะที่ความเสี่ยงจากความปลอดภัยทางไซเบอร์ ยังคงเป็นปัญหาที่น่ากังวล และเป็นหนึ่งในปัญหาสำคัญของสังคมไทยในปัจจุบัน เนื่องจากประชาชนหลายคนประสบกับภัยคุกคาม เช่น แก๊งคอลเซ็นเตอร์ การถูกหลอกลวงจากข้อความ (SMS) การถูกโกงเงินทางอินเทอร์เน็ต อันเป็นเรื่องยากที่จะรับมือและยังคงขาดมาตรการในการจัดการอย่างแน่ชัดทำให้แนวโน้มในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวจึงยังคงอยู่ในระดับที่ถดถอยมาก
08 – การแพร่ระบาดและการใช้ ‘ยาเสพติด’ ในทางที่ผิด อันดับร่วมกับประเด็น ‘ราคาไฟฟ้าสูงขึ้น’
ประเด็น “การแพร่ระบาดและการใช้ยาเสพติดในทางที่ผิด” ในการรับรู้ของผู้ตอบแบบสำรวจมองว่าเป็นประเด็นมีความถดถอยในการแก้ปัญหามากที่สุดเป็นอันดับที่ 8 โดยผู้ตอบแบบสอบถามให้ความเห็นว่า มีความ “ถดถอยมาก” ถึง 85 คน ได้ค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 2.09 คะแนน สอดคล้องกับข้อมูลรายงานยาเสพประเภทติดสังเคราะห์ในเอเชียตะวันออกและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้: การพัฒนาและความท้าทายล่าสุด ปี 2565 (Synthetic Drugs in East and Southeast Asia: latest developments and challenges 2022) จัดทำโดยสำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Office on Drugs and Crime: UNODC) ซึ่งข้อมูลระบุว่า จำนวนยาบ้าที่ยึดครองได้จากปี 2563 ถึงปี 2564 ของประเทศไทย เพิ่มขึ้น 29.4% ซึ่งลาวกลายเป็นจุดเปลี่ยนถ่ายที่สำคัญสำหรับการค้ายาเสพติดในประเทศไทยและส่วนอื่น ๆ ของตลอดแม่น้ำโขง รวมถึงเอเชียแปซิฟิก สอดรับกับความคิดเห็นของประชาชนที่ยังคงเห็นด้วยว่าเป็นปัญหาที่มีความถดถอยมาก
ขณะที่ ประเด็น “ราคาไฟฟ้าสูงขึ้น” ในการรับรู้ของผู้ตอบแบบสำรวจมองว่าเป็นประเด็นมีความถดถอยในการแก้ปัญหามากที่สุดเป็นอันดับที่ 8 ร่วมกับประเด็น “การแพร่ระบาดและการใช้ยาเสพติดในทางที่ผิด” โดยผู้ตอบแบบสอบถามให้ความเห็นว่า มีความ “ถดถอยมาก” ถึง 59 คน ได้ค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 2.09 คะแนน เนื่องจากในปัจจุบัน ราคาไฟฟ้านั้นมีราคาที่สูงขึ้น ซึ่งพลังงานเป็นสินค้าและบริการที่เป็นโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจและสะท้อนคุณภาพชีวิตของประชาชน ส่งผลให้ประชาชนจำเป็นต้องแบกรับภาระราคาพลังงานสูงขึ้น และอาจไม่เอื้อต่อการเข้าถึงต่อคนทุกคนโดยเฉพาะผู้มีรายได้น้อย
09 – การจำกัด ‘เสรีภาพ’ ในการแสดงความเห็น อันดับร่วมกับประเด็น ‘ปัญหาการเข้าถึงสิทธิในกระบวนการยุติธรรม’
ประเด็น “การจำกัดเสรีภาพในการแสดงความเห็น” ในการรับรู้ของผู้ตอบแบบสำรวจมองว่าเป็นประเด็นมีความถดถอยในการแก้ปัญหามากที่สุดเป็นอันดับที่ 9 โดยผู้ตอบแบบสอบถามให้ความเห็นว่า มีความ “ถดถอยมาก” ถึง 69 คน ได้ค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 2.1 คะแนน โดยประเด็นที่ปัญหาดังกล่าวถูกสะท้อนผ่านปรากฏการณ์ทางสังคม เช่นกรณี การปิดกั้นการทำงานสื่อมวลชน การปกปิด/ไม่เปิดเผยข้อมูลของรัฐ ซึ่งแท้จริงแล้ว ประชาชนมีสิทธิในการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร หรือ สิทธิที่จะได้รู้ (right to know) ตามที่ได้ระบุการยอมรับในเอกสารทางระหว่างประเทศ โดยคณะมนตรีสิทธิมนุษยชน (The Human Rights Council) เมื่อปี 2563 พร้อมทั้งยังถูกบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 (ฉบับปัจจุบัน) ตามมาตรา 59 ที่ได้ระบุว่า “รัฐต้องเปิดเผยข้อมูลหรือข่าวสารสาธารณะในครอบครองของ หน่วยงานของรัฐที่มิใช่ข้อมูลเกี่ยวกับความมั่นคงของรัฐหรือเป็นความลับของทางราชการตามที่ กฎหมายบัญญัติ และต้องจัดให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลหรือข่าวสารดังกล่าวได้โดยสะดวก” แต่ถึงอย่างนั้น ปัจจุบัน ก็ยังพบว่าประชาชนยังคงถูกจำกำกัดสิทธิเสรีภาพในการแสดงความเห็นทางการเมือง หรือ การรับรู้ข้อมูลจากทางภาครัฐ ซึ่งแท้จริงแล้วเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่รัฐมีหน้าที่จัดให้ประชาชนเข้าถึงได้รับทราบโดยทั่วกัน
ขณะที่ ประเด็น “ปัญหาการเข้าถึงสิทธิในกระบวนการยุติธรรม” เช่น สิทธิประกันตัว, การถูกสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นผู้บริสุทธิ์, การคุกคามพยาน ในการรับรู้ของผู้ตอบแบบสำรวจมองว่าเป็นประเด็นมีความถดถอยในการแก้ปัญหามากที่สุดเป็นอันดับที่ 9 ร่วมกับการจำกัดเสรีภาพในการแสดงความเห็น โดยผู้ตอบแบบสอบถามให้ความเห็นว่า มีความ “ถดถอยมาก” ถึง 62 คน ได้ค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 2.1 คะแนน ซึ่งสอดคล้องกับสถิติที่น่าสนใจอย่าง กรณี การยื่นประกันตัวผู้ต้องขังคดีการเมืองระหว่างวันที่ 1 เมษายน 2565 – กุมภาพันธ์ 2566 โดยศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน พบว่า มีความพยายามยื่นประกันตัวกว่า 78 ครั้ง ซึ่งมีผู้ต้องขัง 4 รายที่ขอประกันตัวมากกว่า 18 ครั้ง ซึ่งยังคงมีผู้ต้องสงสัยจำนวนมากไม่ได้รับการปฏิบัติด้วยหลักสันนิษฐานไว้ก่อนว่าบริสุทธิ์ ทั้งที่ยังไม่ถูกพิพากษาว่าเป็นผู้กระทำความผิดด้วยซ้ำ ทำให้ปัญหาการเข้าถึงสิทธิในกระบวนการยุติธรรมกลายเป็นปรากฏการณ์ปัญหาใหญ่ในสังคมปัจจุบัน
10 – การกำหนดกติกาการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์จากแม่น้ำโขงร่วมกับประเทศเพื่อนบ้าน
มาถึงประเด็นปัญหาอันดับสุดท้าย “การกำหนดกติกาการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์จากแม่น้ำโขงร่วมกับประเทศเพื่อนบ้าน” ในการรับรู้ของผู้ตอบแบบสำรวจมองว่าเป็นประเด็นมีความถดถอยในการแก้ปัญหามากที่สุดเป็นอันดับที่ 10 โดยผู้ตอบแบบสอบถามให้ความเห็นว่า มีความ “ถดถอยมาก” ถึง 31 คน ได้ค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 2.15 คะแนน จากข้อมูล กลุ่มเสรีภาพแม่น้ำโขง พบว่า การเปลี่ยนแปลงการไหลบริเวณแม่น้ำโขง ไม่เป็นไปตามธรรมชาติและปริมาณตะกอนหายไป จากการสร้างเขื่อนผลิตไฟฟ้าในลุ่มน้ำโขง ทั้งในแม่น้ำโขงสายหลักในจีน ลาว และบนลำน้ำสาขาในลาว รวมทั้งกัมพูชา ไทย และเวียดนาม ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศแม่น้ำโขงและการใช้ประโยชน์ในด้านต่าง ๆ ของชุมชน ซึ่งเป็นปัญหาสะสมต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2536 และรุนแรงเพิ่มขึ้นตั้งแต่ปี 2550 ต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน เช่น น้ำระดับน้ำโขงที่เปลี่ยนแปลงผิดปกติในฤดูแล้ง การสูญเสียพื้นที่เกษตรริมโขง และน้ำโขงไม่ไหลเข้าลำน้ำสาขา ทำให้ส่งผลกระทบต่อประชาชนและระบบนิเวศภายในพื้นที่
อย่างไรก็ดี นอกจากผลสำรวจทั้ง 10 อันดับ ผู้ตอบแบบสำรวจได้เสนอประเด็นเพิ่มเติมอื่น ๆ ที่มองว่าเป็นประเด็นที่มีความถดถอยในการแก้ปัญหา เช่น ประเด็น ‘ความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา’ ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญที่ทั่วโลกก็ต่างให้ความสำคัญอย่างเร่งด่วน เพื่อให้เด็กและเยาวชนทั่วโลกได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพ หรือ ประเด็น ‘สวัสดิการค่ารักษาพยาบาล’ ซึ่งการเข้าถึงการรักษาพยาบาลที่ครอบคลุม นับเป็นสวัสดิการพื้นฐานที่ประชาชนหวังจะได้รับ เป็นต้น
บทสรุปส่งท้าย
จากผลสำรวจ 10 อันดับประเด็นที่ผู้ตอบแบบสำรวจมองว่าเป็นประเด็นมีความถดถอยในการแก้ปัญหามากที่สุดจะเห็นว่า ประเด็นปัญหาที่ฉุดรั้งความก้าวหน้าของประเทศไทยมากที่สุดอยู่ใน SDG16 สังคมสงบสุข ยุติธรรม และสถาบันที่เข้มแข็ง เป็นปัญหาที่ประชาชนมองว่าไม่ยั่งยืนที่สุดของประเทศไทยถึง 8 ประเด็น จากทั้งหมด 12 ประเด็น ผลสำรวจได้ที่สอดคล้องกับปรากฏการณ์ทางสังคมต่าง ๆ ทั้งการทุจริตของเจ้าหน้าที่รัฐ การละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานโดยเฉพาะสิทธิในกระบวนการยุติธรรม ตลอดจนการจำกัดเสรีภาพในการแสดงความเห็น การมีส่วนร่วมในการตัดสินใจของประชาชน การที่ประชาชนไม่สามารถร่วมตรวจสอบ เข้าถึงข้อมูลการดำเนินการของรัฐประชาชนได้อย่างเต็มที่ สะท้อนให้เห็นว่าประเทศไทยยังขาดการพัฒนาสถาบันให้มีประสิทธิภาพ โปร่งใส ซึ่งเป็นพื้นฐานของหลักธรรมาภิบาลในการบริหารงานที่ดีของภาครัฐ และผลของการขาดสถาบันที่มีประสิทธิภาพโปร่งใสไม่เพียงส่งผลต่อการบรรลุเป้าหมายเรื่องการสร้างสันติภาพ คุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนเท่านั้น แต่ยังส่งผลยับยั้ง ลดทอนให้การดำเนินการเพื่อแก้ปัญหาอื่น ๆ ไม่ว่าปัญหาด้านคุณภาพชีวิต การลดความเหลื่อมล้ำ การแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมที่มีความยากและซับซ้อนอยู่เป็นทุนเดิม ยิ่งซับซ้อนขึ้นและมีประสิทธิภาพน้อยลงไปอีก
กล่าวได้ว่า ภายใต้ภูเขาน้ำแข็งของการแก้ปัญหา SDG16 เป็นประเด็นที่อยู่ในระดับรากเหง้าที่ทำให้ปัญหานั้นกระจายออกไปในมิติต่าง ๆ ที่มีเชื่อมโยงกัน เช่นนั้นแล้วหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะหน่วยงานภาครัฐจำเป็นต้องให้ความสนใจและเร่งความพยายามในการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในมิติต่าง ๆ ไม่เพียงแต่ประเด็นใดประเด็นหนึ่งให้มากขึ้น และหวังว่าข้อค้นพบเหล่านี้ จะเป็นอีกหนึ่งแรงตัวกระตุ้นที่ทำให้ภาครัฐ หันกลับมาสนใจประเด็นยังไม่ได้รับการแก้ไขปัญหาและยังคงอยู่ในสถานะที่ถดถอยมากที่สุดในสายตาประชาชน ตลอดการติดตามทั้งหมด 7 ปีที่ผ่านมา
บทความฉบับนี้นำเสนอผลที่ได้จากความเห็นของผู้ตอบแบบสำรวจเท่านั้น
ในการคัดเลือกประเด็นเพื่อนำมาทบทวน Thailand’s Unsustainable Development Review จะพิจารณาผลจากแบบสำรวจนี้ร่วมกับข้อมูลจากรายงานจากรายงาน Sustainable Development Report 2022 โดย SDSN รายงานความก้าวหน้า SDGs ของประเทศไทย พ.ศ. 2559-2563 โดย สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และการสำรวจความคิดเห็นของผู้เชี่ยวชาญแต่ละภาคจากโครงการ Area Need และจะนำเสนอให้ทุกท่านติดตามตลอดทั้งปี 2023
เกี่ยวกับ Thailand’s Unsustainable Development Review
แบบสอบถามนี้คณะผู้จัดทำได้รวบรวมและคัดเลือกประเด็นปัญหาที่ได้รับการบ่งชี้ว่าเป็นประเด็นท้าทายของประเทศไทย จากรายงาน Sustainable Development Report 2022 โดย SDSN รายงานความก้าวหน้า SDGs ของประเทศไทย พ.ศ. 2559-2563 โดย สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และการสำรวจความคิดเห็นของผู้เชี่ยวชาญแต่ละภาคจากโครงการ Area Need ผนวกกับประเด็นปัญหาที่ปรากฏในหน้าข่าวสาธารณะในรอบ 1-2 ปี รวม 51 ประเด็นที่สะท้อนสถานการณ์ให้ทุกท่านร่วมประเมินว่า “ในการรับรู้ของท่านที่ผ่านมา การแก้ปัญหาต่อไปนี้มีความก้าวหน้าเพียงใด“ แบบสำรวจฉบับนี้เปิดให้บุคคลทั่วไปเข้ามาให้ความเห็นแบบสาธารณะตั้งแต่วันที่ 17 กุมภาพันธ์ – 2 มีนาคม 2566 มีผู้ตอบแบบสำรวจทั้งหมด 227 คน มีข้อมูลพื้นฐานดังนี้
เพศของผู้ตอบแบบสำรวจ
เพศ | ร้อยละ | จำนวน |
ชาย | 44.93% | 102 |
หญิง | 51.98% | 118 |
ช่วงอายุของผู้ตอบแบบสำรวจ
ช่วงอายุ | ร้อยละ | จำนวน |
น้อยกว่า 20 ปี | 11.01% | 25 |
21 – 30 ปี | 19.38% | 44 |
31 – 40 ปี | 16.74% | 38 |
41 – 50 ปี | 29.96% | 68 |
51 – 60 ปี | 13.22% | 30 |
มากกว่า 60 ปี | 9.69% | 22 |
ภาคส่วนของผู้ตอบแบบสอบถาม
ภาคส่วน | ร้อยละ | จำนวน |
ภาครัฐ | 22.91% | 52 |
ภาคเอกชน | 12.78% | 29 |
องค์กรพัฒนาเอกชน (NGOs) | 7.49% | 17 |
ภาคประชาสังคม/ภาคองค์กรชุมชน/ชาวบ้าน | 9.25% | 21 |
ภาคการศึกษา (นักวิจัย อาจารย์มหาวิทยาลัย ครู) | 22.91% | 52 |
นักเรียน /นักศึกษา | 14.1% | 32 |
ประชาชนผู้สนใจทั่วไป | 10.57% | 24 |
ภาคที่ผู้ตอบแบบสำรวจอาศัยอยู่
ภาค | ร้อยละ | จำนวน |
กรุงเทพมหานคร | 43.61% | 99 |
ภาคเหนือ | 14.54% | 33 |
ภาคกลาง | 17.62% | 40 |
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ | 10.13% | 23 |
ภาคตะวันออก | 4.41% | 10 |
ภาคตะวันตก | 0.88% | 2 |
ภาคใต้ | 8.81% | 20 |
พิมพ์นารา อินต๊ะประเสริฐ – บรรณาธิการ
● อ่านข่าวและบทความที่เกี่ยวข้อง
– CPI เผยดัชนีการรับรู้การทุจริตประจำปี 2565 พบไทยคะแนนดีขึ้น 1 คะแนน รั้งอันดับ 101 ของโลก แต่สถานการณ์ทุจริตในประเทศยังน่ากังวล
– ‘หลักนิติธรรมไทย’ รั้งอันดับ 80 ของโลก – กระบวนการยุติธรรมทางอาญาคะแนนถดถอย ‘สังคมสงบสุขและยุติธรรม’ จึงยังเกินเอื้อมถึง? ชวนสำรวจผ่านดัชนี WJP Rule of Law 2022
– แรงงานไทยในปี 65 เกือบ 100% มี “หนี้สิน” ส่วนค่าแรงขั้นต่ำสวนทางกับค่าครองชีพที่แพงขึ้น
– World Economic Forum เผยเเพร่รายงานความเสี่ยงโลกประจำปี 2566 ชี้วิกฤตค่าครองชีพมีความเสี่ยงอันดับหนึ่ง
– SDG Updates| SDG 16.10.2 การเข้าถึงข้อมูลสาธารณะกับการติดตามของกลไกระดับโลก
– SDG Updates | 7 นาที สรุป 7 ประเด็นเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนกับสถานการณ์ลุ่มแม่น้ำโขง ฉบับ 101
– SDG Insights | Inside SDG Index : เจาะลึก SDG Index 2021 ของประเทศไทย
– SDG Updates | เปิดรายงาน Sustainable Development Report 2022 และ SDG Index 2022
– SDG Updates | สรุป 9 เป้าหมายย่อยที่ยังวิกฤต (ฉบับรวบรัด) จากรายงาน 5 ปีสถานะ SDGs ประเทศไทย โดยสภาพัฒน์
– SDG Updates | สภาพความเป็นจริงที่รู้สึกได้ : ความแตกต่างในการจัดการปัญหาฝุ่น PM2.5 ระหว่างกรุงเทพฯ และจังหวัดในภาคเหนือและภาคใต้