จากการสำรวจข่าวสารความเคลื่อนไหวที่เกี่ยวข้องและส่งผลต่อการขับเคลื่อน SDGs ระหว่างวันที่ 3 เมษายน – 7 เมษายน 2566 มีข่าวสารความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจ ดังนี้
“กรมอุตุนิยมวิทยา” แจ้งเตือนค่าดัชนีความร้อน เฝ้าระวังเตือนภัยผลกระทบต่อสุขภาพ
เมื่อวันที่ 6 เมษายน 2566 กรมอุตุนิยมวิทยา ได้ออกมาชี้แจงพยากรณ์ค่าดัชนีความร้อนสูงสุดของไทย ระบุว่า ในเขตบางนา จะมีค่าดัชนีความร้อน 50.2 องศาเซลเซียส ซึ่งเป็นค่าเกณฑ์เตือนผลกระทบสุขภาพ แต่ไม่ใช่อุณหภูมิรายวันซึ่งคาดว่าจะร้อนสูงถึง 40-41 องศาเซลเซียส โดยสถิติร้อนสูงสุดที่ผ่านมาอยู่ที่ 44.6 องศาเซลเซียส เมื่อปี 2559 แต่ยังไม่ถึง 50 องศาเซลเซียส เพื่อไม่ให้ประชาชนเข้าใจผิดคิดว่าเป็นอุณหภูมิความร้อนที่จะเกิดขึ้น โดย กรมอุตุนิยมวิทยา รายงานความกดอากาศต่ำ เนื่องจากความร้อนปกคลุมประเทศไทยตอนบน ลักษณะเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยตอนบนมีอากาศร้อนโดยทั่วไปกับมีฟ้าหลัวในตอนกลางวัน และมีอากาศร้อนจัดบางพื้นที่ในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลาง
นอกจากนี้ กรมอุตุนิยมวิทยา ยังแจ้งเตือนค่าดัชนีความร้อนระดับเฝ้าระวังเตือนภัยผลกระทบต่อสุขภาพจากความร้อน ตามการกำหนดค่าของกรมอนามัย ได้แก่ ระดับเฝ้าระวัง หากอุณหภูมิ 27-32 องศาเซลเซียส อาการอ่อนเพลีย วิงเวียน คลื่นไส้ อาเจียน ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามตัวจากการสัมผัสความร้อน ระดับเตือนภัย หากอุณหภูมิ 32-41 องศาเซลเซียส อาจทำให้เกิดอาการตะคริวจากความร้อน และอาจเกิดอาการเพลียแดด (heat exhaustion) หากสัมผัสความร้อนเป็นเวลานาน ระดับอันตราย หากอุณหภูมิ 41-54 องศาเซลเซียส อาจมีอาการตะคริวที่น่อง ต้นขา หน้าท้อง หรือไหล่ ทำให้ปวดเกร็ง มีอาการเพลียแดด และอาจเกิดภาวะลมแดด (ฮีทสโตรก) ได้ หากสัมผัสความร้อนเป็นเวลานาน ระดับอันตรายมาก อุณหภูมิมากกว่า 54 องศาเซลเซียส อาจเกิดภาวะลมแดด (ฮีทสโตรก)
อย่างไรก็ดี ที่ผ่านมา พบว่าประเทศไทย มีรายงานผู้เสียชีวิตจากภาวะอากาศร้อน ระหว่างเดือนมีนาคม – พฤษภาคม ปี 2558-2562 โดยเฉลี่ยปีละ 43 คน เนื่องด้วยสภาวะโลกร้อนที่ทำให้อุณหภูมิของโลกสูงขึ้น จึงส่งผลให้มีจำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้น และความรุนแรงมากขึ้นเช่นกัน
ประเด็นดังกล่าวสอดคล้องกับการขับเคลื่อน SDG3 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 3.4 ลดการตายก่อนวัยอันควรจากโรคไม่ติดต่อให้ลดลงหนึ่งในสาม ผ่านทางการป้องกันและการรักษาโรค และสนับสนุนสุขภาพจิตและความเป็นอยู่ที่ดีและ 3.d เสริมขีดความสามารถสำหรับทุกประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศกำลังพัฒนา ในเรื่องการแจ้งเตือนล่วงหน้า การลดความเสี่ยง และการบริหารจัดการความเสี่ยงด้านสุขภาพในระดับประเทศและระดับโลก และ SDG13 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 13.1 เสริมภูมิต้านทานและขีดความสามารถในการปรับตัวต่ออันตรายและภัยพิบัติทางธรรมชาติที่เกี่ยวข้องกับภูมิอากาศในทุกประเทศ
เข้าถึงได้ที่ : “กรมอุตุนิยมวิทยา” ชี้ค่าดัชนีร้อน 50.2 องศาฯ ไม่ใช่ตัวเลขรายวัน | Thai PBS News ข่าวไทยพีบีเอส
UNHCR เปิดบริจาคช่วงรอมฎอน หลังพบผู้ลี้ภัยกว่า 103 ล้านคนทั่วโลก เหตุภัยธรรมชาติ
ปัจจุบัน มีผู้ลี้ภัยมากกว่า 103 ล้านคนทั่วโลก โดยกว่าครึ่งเป็นชาวมุสลิม ซึ่งจากวิกฤติมากมายที่เกิดขึ้น ทั้งสงคราม ความขัดแย้ง ความรุนแรง รวมไปถึงผลกระทบจากสิ่งแวดล้อม เช่น การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (climate change) และภัยธรรมชาติต่าง ๆ ทำให้งบประมาณและความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมนั้นไม่เพียงพอ สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (United Nations High Commissioner for Refugees : UNHCR) จึงร่วมกับ สำนักจุฬาราชมนตรี และธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย จัด ‘โครงการรอมฎอนนี้เพื่อพี่น้องและทานประจำปีซะกาต ปีที่ 6’ เป็นโครงการริเริ่มตั้งแต่เมื่อ ปี พ.ศ. 2561 เพื่อสร้างการรับรู้และการระดมทุนทานประจำปีซะกาต และซอดาเกาะห์ (การบริจาคทาน) ซึ่งเป็นการบัญญัติขึ้นตามหลักศาสนาอิสลามเพื่อช่วยเหลือผู้ที่ตกอยู่ในความทุกข์ยาก และให้ความคุ้มครองแก่ผู้ลี้ภัยและผู้พลัดถิ่นชาวมุสลิมทั่วโลก
ทั้งนี้ UNHCR ยังทำงานร่วมกับมูลนิธิทาบาห์ องค์กรชั้นนำทางศาสนา ขยายการรับรองระดับโลกจากนักวิชาการศาสนา (นักฟัตวา) มากถึง 15 คน จาก 10 ประเทศ เช่น อียิปต์ เยเมน โมร็อกโก มอริเตเนีย รวมถึงประเทศไทย เพื่อรับรองหน่วยงานว่ามีคุณสมบัติในการรับทานซะกาตและสามารถมอบความช่วยเหลือโดยตรงแก่ผู้ได้รับผลกระทบจากสงคราม ได้แก่ ผู้ลี้ภัยและผู้พลัดถิ่นชาวมุสลิม ให้มีอาหารพอเพียง มีน้ำสะอาดไว้ใช้และดื่ม มีที่พักพิงปลอดภัย และเงินสมทบช่วยเหลือ
ประเด็นดังกล่าวสอดคล้องกับการขับเคลื่อน SDG17 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 17.3 ระดมทรัพยากรทางการเงินเพิ่มเติมจากแหล่งที่หลากหลายไปยังประเทศกำลังพัฒนา และ 17.14 ยกระดับความสอดคล้องเชิงนโยบายเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
เข้าถึงได้ที่ : UNHCR เปิดบริจาคช่วงรอมฎอน หลังผู้ลี้ภัยทะลุ 100 ล้านคน เพราะภัยธรรมชาติ
ผู้นำ 4 ชาติสมาชิกกลุ่มน้ำโขง เร่งสร้างความยั่งยืนด้านน้ำ หลังประสบปัญหาปริมาณน้ำลด
ปิดฉากลงแล้วสำหรับการประชุมสุดยอดคณะกรรมการแม่น้ำโขงครั้งที่ 4 ณ นครหลวงเวียงจันทน์ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว เมื่อวันที่ 5 เมษายนที่ผ่านมา โดยมีผู้นำ 4 ชาติสมาชิกลุ่มน้ำโขงตอนล่าง ได้แก่ เวียดนาม ลาว กัมพูชา และไทย ได้ประกาศเจตนารมณ์ “ปฏิญญาเวียงจันทน์” เร่งสร้างความมั่นคงและความยั่งยืนด้านน้ำ ซึ่ง นายสุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เป็นผู้แทนไทยเข้าร่วมประชุมครั้งนี้ ขณะที่ ประเทศต้นน้ำอย่างจีน และทางน้ำไหลผ่านอย่างเมียนมา ซึ่งไม่ได้เป็นประเทศสมาชิกแต่เป็นประเทศคู่เจรจา ก็ได้ส่งเจ้าหน้าที่อาวุโสเข้าร่วม โดยจีนส่ง เฮา จ้าว (Hao Zhao) เลขาธิการศูนย์ความร่วมมือทางด้านทรัพยากรน้ำล้านช้าง-แม่โขงจากปักกิ่งเข้าร่วม ส่วนพม่าส่ง ลา หม่อง เตง (Hla Maung Thein) ปลัดกระทรวงทรัพยากรน้ำและการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม มาเข้าร่วมด้วยเช่นเดียวกัน
ทั้งนี้ แม่น้ำโขงกำลังประสบปัญหาจากสภาวะการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ประกอบกับผลกระทบจากโครงการพัฒนาต่าง ๆ และจากความต้องการใช้น้ำที่เพิ่มมากขึ้น ทั้งเพื่อการเกษตรและอุตสาหกรรม ซึ่งประเทศที่อยู่เหนือน้ำอาจไม่ได้รับผลกระทบมากนักเมื่อเทียบกับประเทศที่อยู่ปลายน้ำอย่าง กัมพูชา หรือเวียดนามที่อยู่ปลายสุดของแม่น้ำโขง เนื่องด้วยปริมาณน้ำจากด้านเหนือนับวันแต่จะลดน้อยถอยลง สามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง ซึ่งเป็นอู่ข้าวอู่น้ำของเวียดนามต้องเผชิญกับความแห้งแล้งและปัญหาน้ำเค็มจากทะเลรุกคืบเข้าสู่พื้นที่การเกษตร ทั้งยังพบอีกว่า ตลอดระยะเวลา 4 ปีที่ผ่านมา ปริมาณน้ำในแม่น้ำโขงลดลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเมื่อพิจารณาจากการติดตามเรื่องกระแสน้ำ นักอนุรักษ์ธรรมชาติ มักให้ความเห็นว่า เป็นเพราะเขื่อนกั้นลำน้ำโดยเฉพาะในจีน ซึ่งเป็นต้นตอสำคัญของปัญหาปริมาณการไหลของน้ำในแม่น้ำโขง
อย่างไรก็ดี ความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาจะบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้มิได้หากยังขาดความร่วมมือจากทุกประเทศที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ประเด็นดังกล่าวสอดคล้องกับการขับเคลื่อน และ SDG6 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 6.5 ดำเนินการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำแบบองค์รวมในทุกระดับ รวมถึงผ่านทางความร่วมมือระหว่างเขตแดนตามความเหมาะสม ภายในปี 2573 เป้าหมายย่อยที่ 6.6 ปกป้องและฟื้นฟูระบบนิเวศที่เกี่ยวข้องกับแหล่งน้ำ รวมถึงภูเขา ป่าไม้ พื้นที่ชุ่มน้ำ แม่น้ำ ชั้นหินอุ้มน้ำ และทะเลสาบ SDG15 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 15.1 สร้างหลักประกันว่าจะมีการอนุรักษ์ การฟื้นฟู และการใช้ระบบนิเวศบนบกและในน้ำจืดในแผ่นดินรวมทั้งบริการทางระบบนิเวศอย่างยั่งยืน เฉพาะอย่างยิ่ง ป่าไม้ พื้นที่ชุ่มน้ำ ภูเขา และเขตแห้งแล้ง และ SDG17 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 17.14 ยกระดับความสอดคล้องเชิงนโยบายเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
เข้าถึงได้ที่ : ประชุมสุดยอดแม่น้ำโขง สะท้อนภาวะผู้นำของชาติสมาชิก -thairath plus และ ผู้นำ 4 ชาติสมาชิกลุ่มน้ำโขงตอนล่าง ประกาศเจตนารมณ์ “ปฏิญญาเวียงจันทน์” เร่งสร้างความมั่นคง-ยั่งยืนด้านน้ำ – มติชน
คนยะลา-ปัตตานี ร้องกรมทรัพยากรน้ำ 2 โครงการ ที่ขุด-ทำลายพื้นที่
เครือข่ายคนในพื้นที่ “พรุลานควาย” จังหวัดยะลา และ ปัตตานี ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้กรมทรัพยากรน้ำ ยุติ 2 โครงการ ได้แก่ โครงการอนุรักษ์ฟื้นฟูระบบโครงข่ายแหล่งน้ำพรุชะมา จังหวัดยะลา-ปัตตานี ช่วงที่ 2 และ โครงการอนุรักษ์ฟื้นฟูระบบโครงข่ายแหล่งน้ำ จังหวัดยะลา-ปัตตานี ตำบลท่าธง อำเภอรามัน จังหวัดยะลา ซึ่งเป็นโครงการพัฒนาแหล่งน้ำในพื้นที่ของกรมทรัพยากรน้ำ โดยโครงการดังกล่าว ก่อให้เกิดผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม ระบบนิเวศ และชุมชนอย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจากทั้งสองโครงการมีการขุดลอกร่องน้ำและถมทำลาย เพื่อทำคันดินกั้นน้ำ ซึ่งเป็นการเปลี่ยนโครงสร้างทางกายภาพอย่างสิ้นเชิง ทำให้เกิดผลกระทบต่อการไหลเวียนของน้ำและห่วงโซ่อาหารของสัตว์น้ำ ส่งผลให้จำนวนและความหลากหลายของสัตว์น้ำลดลง กระทบต่อรายได้ของคนที่ทำประมงเป็นอาชีพหลัก
จากแถลงการณ์ เครือข่ายคนพื้นที่พรุลานควาย ระบุว่า กรมทรัพยากรน้ำ ต้องทำการฟื้นฟูสภาพพื้นที่และระบบนิเวศที่เสียหายจากการบุกรุกดำเนินโครงการ และชดเชยค่าเสียหายจากการก่อสร้างโครงการต่อที่ดินที่ชาวบ้านมีใบ ส.ค.1 พร้อมทั้งขอให้ดำเนินการสอบวินัย และแจ้งความเพื่อเอาผิดทางอาญาแก่หน่วยงานหรือเจ้าหน้าที่ของกรมทรัพยากรน้ำที่ผลักดันและเดินหน้าโครงการอย่างละเมิดกฎหมายด้วย
ประเด็นดังกล่าวสอดคล้องกับการขับเคลื่อน SDG15 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 15.1 สร้างหลักประกันว่าจะมีการอนุรักษ์ การฟื้นฟู และการใช้ระบบนิเวศบนบกและในน้ำจืดในแผ่นดินรวมทั้งบริการทางระบบนิเวศอย่างยั่งยืน เฉพาะอย่างยิ่ง ป่าไม้ พื้นที่ชุ่มน้ำ ภูเขา และเขตแห้งแล้ง โดยเป็นไปตามข้อบังคับภายใต้ความตกลงระหว่างประเทศ ภายในปี 2563 และ SDG16 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 16.7 สร้างหลักประกันว่าจะมีกระบวนการตัดสินใจที่มีความรับผิดชอบ ครอบคลุม มีส่วนร่วม และมีความเป็นตัวแทนที่ดี ในทุกระดับการตัดสินใจ
เข้าถึงได้ที่ : คนยะลา-ปัตตานี ร้องกรมน้ำ-ทส. “ยุติขุด-ทำลายพรุลานควาย” – Greennews
‘IISD’ จัดสัมมนาสำรวจผลลัพธ์ของการประชุม Rio+20 เพื่อนำไปใช้ ‘SDG Summit’
สถาบันนานาชาติเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (IISD) ร่วมกับ Stakeholder Forum ได้จัดสัมมนาทางเว็บ เพื่อสำรวจผลลัพธ์ของ Rio+20 (the United Nations Conference on Sustainable Development (“Rio+20”)) หรือ การประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืน ในการวางรากฐานสำหรับ SDGs โดยได้เน้นย้ำถึงลักษณะที่เป็นสากล การบูรณาการ และความเชื่อมโยงของเป้าหมาย พร้อมทั้งเน้นย้ำถึงความจำเป็นของแนวทางการเปลี่ยนแปลงและการหยุดชะงักในการนำไปปฏิบัติ
จากการประชุมดังกล่าว Farrukh Khan ผู้จัดการทั่วไปขององค์การความร่วมมืออิสลามและการทูตทางเศรษฐกิจ กระทรวงการต่างประเทศปากีสถาน ระบุถึง 5 บทเรียน สำคัญ จากการนำ SDGs ไปปฏิบัติ โดยสรุปได้ว่า 1) ความเชื่อมโยงระหว่าง SDGs แต่ละเป้าหมายนั้น “ออกนอกลู่นอกทาง” กล่าวคือเป็นไปคนละทิศทาง 2) ระบบการทำงานของสหประชาชาติไม่ได้อยู่ในเส้นทางที่จะไปสู่การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ภายในปี 2573 3) เราแสวงหาคำมั่นสัญญา ระดมทุนมูลค่าหลายล้านล้านดอลลาร์ เพื่อสนับสนุนการพัฒนาที่ยั่งยืนทีละเป้าหมาย แทนที่จะดำเนินการตามความสอดคล้องของเป้าหมายที่สามารถ “บูรณาการ เป็นสากล และมีความเชื่อมโยงกัน” 4) รัฐบาลท้องถิ่นและชุมชนควรเป็นผู้มีบทบาทสำคัญ แต่กลับไม่ได้อยู่ในภาพรวมนี้ และ 5) ภาคธุรกิจยังไม่ได้เริ่มดำเนินการการใช้เงินหรือทรัพยากรอื่น ๆ สำหรับ SDGs เท่าที่ควร
ในการประชุมครั้งนี้ผู้จัดพยายามจะลดความสับสนเกี่ยวกับตัวเลขทางการเงินและพยายามฉายภาพให้เห็นถึงความเชื่อมโยงในการดำเนินการเพื่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ประเด็นดังกล่าวสอดคล้องกับการขับเคลื่อน SDG17 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 17.3 ระดมทรัพยากรทางการเงินเพิ่มเติมจากแหล่งที่หลากหลายไปยังประเทศกำลังพัฒนา 17.14 ยกระดับความสอดคล้องเชิงนโยบายเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน และ17.16 ยกระดับหุ้นส่วนความร่วมมือระดับโลกเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยร่วมเติมเต็มหุ้นส่วนความร่วมมือจากภาคส่วนที่หลากหลายซึ่งจะระดมและแบ่งปันความรู้ และทรัพยากรด้านการเงิน เพื่อจะสนับสนุนการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในทุกประเทศ
เข้าถึงได้ที่ : Webinar on Contributions of Rio+20 to 2023 SDG Summit Calls for Continued Disruption | News | SDG Knowledge Hub | IISD
ผลงานนี้ได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิเพื่อการพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ ภายใต้โครงการเร่งรัดการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนด้านสุขภาพของประเทศไทย