หลังจากเคยแนะนำลิสต์หนังสือภาษาอังกฤษเพื่อทำความรู้จักกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) เป้าหมายที่ 1-15 ไปแล้ว วันนี้ SDG Recommends ขอต้อนรับผู้อ่านเข้าสู่ ‘ชมรมหนังสือ SDGs’ ขององค์การสหประชาชาติอีกครั้ง โดยครั้งนี้ชวนไปทำความรู้จักกับ ‘เป้าหมายที่ 16 ความสงบสุข ยุติธรรม และสถาบันเข้มแข็ง’ ผ่านลิสต์หนังสือ 4 เล่มจากจำนวน 7 เล่มที่คัดสรรโดยองค์การสหประชาชาติ ดังนี้
เล่มที่ 1 – The Day the War Came
ผู้เขียน: Nicola Davies/ ภาพประกอบ: Rebecca Cobb
ฉายภาพผลกระทบของสงคราม สะท้อนให้เห็นความเจ็บปวดจากการสูญเสียคนที่รัก การพลัดพรากจากบ้าน และโรงเรียนที่กลายเป็นซากปรักหักพัง โดยดำเนินเรื่องผ่านภาษาที่ธรรมดา เรียบง่าย แต่มีความเป็นกวีที่ก่อแรงกระทบต่อภายในอย่างลึกซึ้ง ยิ่งเมื่อผสมผสานกับภาพประกอบก็ยิ่งช่วยขับเน้นอารมณ์ความรู้สึกของเด็กที่เห็นสงครามพรากทุกสิ่งที่เธอรับรู้ไป
เล่มที่ 2 – Be the Change: A Grandfather Gandhi Story
ผู้เขียน: Arun Gandhi & Bethany Hegedus/ ภาพประกอบ: Evan Turk
หนังสือที่เล่าเรื่องราวแนวคิดการสร้างสังคมสงบสุขของ ‘มหาตมะ คานธี’ เรื่องราวที่อิงจากความจริง โดยเล่าผ่าน อรุณ คานธี ซึ่งเป็นหลานของมหาตมะ คานธี เนื้อหากล่าวถึงคำมั่นสัญญาของชาวบ้านที่จะอยู่ร่วมกันด้วยความเรียบง่ายและปฏิเสธการใช้ความรุนแรง โดยอรุณ คานธี พยายามที่จะเรียนรู้และปฏิบัติตามคำมั่นสัญญาดังกล่าวแต่กลับเป็นสิ่งที่ค่อนข้างยากสำหรับเขา อย่างไรก็ตาม สุดท้ายเขาก็ได้เรียนรู้ว่าการทำลายนำไปสู่ความรุนแรงได้อย่างไร และเข้าใจคำพูดของมหาตมะ คานธี ที่ว่า “จงเป็นความเปลี่ยนเเปลงที่เธออยากเห็นบนโลกใบนี้”
เล่มที่ 3 – Children in Our World: Global Conflict
ผู้เขียน: Louise Spilsbury/ ภาพประกอบ: Hanane Kai
หนังสือที่จะช่วยตอบคำถามต่อความสงสัยมากมายที่เด็ก ๆ มีต่อโลกใบนี้ โลกที่มีข่าวคราวความขัดแย้งและรู้สึกไม่ปลอดภัย เช่น คำถามว่า “อะไรคือความขัดแย้งของโลก” และ “ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นส่งผลกระทบต่อผู้คนในประเทศต่าง ๆ ทั่วทุกมุมโลกอย่างไร” เด็ก ๆ ที่อ่านหนังสือเล่มนี้จะเริ่มเข้าใจถึงหนทางของความขัดแย้งต่าง ๆ และจะค้นพบว่ามีแนวทางใดบ้างที่พวกเขาจะช่วยเหลือเพื่อนร่วมโลกได้
เล่มที่ 4 – I’m a Global Citizen: A Peaceful World
ผู้เขียน: Alice Harman/ ภาพประกอบ: David Broadbent
หนังสือที่ชวนผู้อ่านสำรวจความขัดแย้ง ทำความเข้าใจถึงความสำคัญของสันติภาพ แนวทางในการรักษาสันติภาพให้คงอยู่ และการส่งเสริมการเป็นพลเมืองที่ดีของโลก โดยมีการนำเสนอเรื่องราวและโครงการต่าง ๆ ของ Leymah Gbowee นักเคลื่อนไหวเพื่อสันติภาพในแอฟริกาและเจ้าของรางวัลโนเบล สาขาสันติภาพ ปี 2554 เพื่อเป็นแนวทางแห่งการสร้างสันติภาพแก่ผู้อ่าน
ที่มาภาพหน้าปกหนังสือ : Amazon.com
● อ่านข่าวและบทความที่เกี่ยวข้อง
– ‘ทหารเด็ก’ เป็นแรงงานเด็กที่เลวร้ายที่สุด แต่ทั่วโลกมีเด็ก 1 ใน 8 คนในพื้นที่สงครามที่เสี่ยงต่อการถูกเกณฑ์
– OHCHR ระบุปี 2565 เป็นปีที่ชาวปาเลสไตน์ถูกคร่าชีวิตในเขตเวสต์แบงก์มากที่สุดในรอบ 17 ปี พร้อมประณามอิสราเอลใช้กำลังเกินกว่าเหตุ
– SDG Recommends | สันติภาพของคุณหมายถึงอะไร ? อ่านการ์ตูนเงียบ ‘Together for Peace – ร่วมกันเพื่อสันติภาพ’
– ไทยมีระดับ ‘สันติภาพ’ อยู่ในอันดับ 113 จาก 163 ประเทศ ตาม Global Peace Index 2021
ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG4 การศึกษาที่มีคุณภาพ
– (4.7) สร้างหลักประกันว่าผู้เรียนทุกคนได้รับความรู้และทักษะที่จำเป็นสำหรับส่งเสริมการพัฒนาอย่างยั่งยืน รวมไปถึง การศึกษาสำหรับการพัฒนาอย่างยั่งยืนและการมีวิถีชีวิตที่ยั่งยืน สิทธิมนุษยชน ความเสมอภาคระหว่างเพศ การส่งเสริมวัฒนธรรมแห่งความสงบสุขและไม่ใช้ความรุนแรง การเป็นพลเมืองของโลก และความชื่นชมในความหลากหลายทางวัฒนธรรมและการที่วัฒนธรรมมีส่วนช่วยให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน ภายในปี 2573
#SDG16 ความสงบสุข ยุติธรรม และสถาบันเข้มแข็ง
– (16.1) ลดความรุนแรงทุกรูปแบบและอัตราการตายที่เกี่ยวข้องในทุกแห่งให้ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ
– (16.2) ยุติการข่มเหง การแสวงหาประโยชน์อย่างไม่ถูกต้อง การค้ามนุษย์ และความรุนแรงและการทรมานทุกรูปแบบที่มีต่อเด็ก
เเหล่งที่มา: SDG Book Club – SDG16: Peace, Justice and Strong Institutions (UN)
ผลงานนี้ได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิเพื่อการพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ ภายใต้โครงการเร่งรัดการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนด้านสุขภาพของประเทศไทย