Director Notes: 26: SDGs กับการเลือกตั้งปี 66

สวัสดีปีใหม่ไทยครับทุกท่าน

หลังจากหายไปนานวันนี้ได้ฤกษ์ดีปีใหม่ไทยกลับมาพบท่านผู้อ่านอีกครั้ง

ปี ค.ศ. 2023 หรือ พ.ศ. 2566 เป็นปีที่มีความสำคัญต่อการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนอย่างน้อย 2 ประการ

ประการที่หนึ่ง ปีนี้เป็นปีที่ 7 ย่างปีที่ 8 ของการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน นับว่าเป็นครึ่งทางของการเดินทาง 15 ปีนับตั้งแต่ปี ค.ศ. 2016 ถึง 2030 ดังนั้น ปีนี้จึงเป็นปีที่การขับเคลื่อนต่าง ๆ ในทุกระดับรวมถึงในประเทศไทยควรได้รับการทบทวนอย่างเป็นระบบและตั้งลำสำหรับครึ่งหลังของการขับเคลื่อนวาระการพัฒนา 2030 รวมถึงอาจจะต้องคิดต่อไปแล้วว่าวาระการพัฒนาหลังปี 2030 (Post-2030 Agenda) จะมีหน้าตาเป็นอย่างไร ทั้งนี้ ได้ทราบข่าวจากทางกระทรวงการต่างประเทศของไทยว่า ในปีหน้าจะมีการประชุมที่ชื่อว่า Summit of the Future 2024 อันเป็นการขับเคลื่อนต่อจากรายงานของเลขาธิการองค์การสหประชาชาติคนปัจจุบันที่ชื่อว่า Our Common Agenda ว่ากันว่าจะเป็นการประชุมที่เริ่มกำหนดทิศทางของวาระการพัฒนาหลังปี 2030

ประการที่สอง ปีนี้เป็นปีที่จะมีการเลือกตั้งทั่วไปของประเทศไทย หลายคนอาจมองว่าเรื่องนี้ไม่น่าจะเกี่ยวข้องกับเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืน เพราะเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืนไม่น่าจะเป็นเรื่องเชิงการเมือง อีกทั้งในรายละเอียดของ SDGs ก็ดูจะไม่ได้มีประเด็นที่เป็นอุดมการณ์ทางการเมืองแฝงอยู่อย่างเข้มข้นแต่อย่างใด กล่าวคือ นอกเหนือจากประเด็นสิทธิมนุษยชนแล้ว SDGs มิได้เน้นย้ำว่าประเทศต้องเป็นไปตามอุดมการณ์ประชาธิปไตย เสรีนิยม หรืออุดมการณ์ใด ๆ แต่อย่างใด

อย่างไรก็ดี สิ่งที่ต้องตระหนักร่วมกันก็คือ ประเด็นภายใต้เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) อันเป็นเป้าหมายของคนธรรมดาทั่วทั้งโลกนั้น เป็นประเด็นที่ต้องอาศัยนโยบายสาธารณะ (Public Policies) มาเป็นเครื่องมือสำคัญในการขับเคลื่อนทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับชาติ การก่อร่างสร้างตัวและการบังคับใช้นโยบายสาธารณะต่างเป็นกระบวนการทางการเมืองทั้งสิ้น และกระบวนการทางการเมืองนี้เองจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อการตัดสินใจว่าจะนำนโยบายสาธารณะบางประเด็นมาดำเนินการหรือไม่ เพื่อประโยชน์ของใคร

หลายประเด็นที่อยู่ภายใต้ SDGs ที่เป็นประเด็นในประเทศไทยในขณะนี้ เช่น กรณีของฝุ่น PM2.5 เป็นตัวอย่างสำคัญของประเด็นความยั่งยืนที่ถูกเหนี่ยวรั้งไม่ให้ได้รับการแก้ไขเพราะการตัดสินใจของรัฐบาลที่ควรถูกตั้งคำถามว่าอยู่บนผลประโยชน์ของใครกันแน่

ที่สำคัญไปกว่านั้น รัฐบาลไทยตั้งแต่สมัยรัฐบาล คสช. ได้เดินทางไปให้คำมั่นสัญญาว่าจะขับเคลื่อนเพื่อบรรลุเป้าหมาย SDGs ร่วมกับนานาประเทศ พร้อมทั้งบรรจุเรื่องนี้ไว้ในรัฐธรรมนูญ 2560 (มาตรา 65) และได้ใช้ SDGs เป็นทิศทางในการออกแบบยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ แผนปฏิรูปประเทศ และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 13 อีกด้วย (ระดับของความสอดคล้องและความยั่งยืนของแผนเหล่านี้อาจถกเถียงกันได้) ดังนั้น ไม่ว่าจะรัฐบาลใดก็มีความรับผิดชอบในการผลักดันการขับเคลื่อนการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs)

ดังนั้น การเลือกตั้งวันที่ 14 พฤษภาคมนี้ จะมีความสำคัญไม่แต่เฉพาะคุณภาพชีวิตของคนไทยเท่านั้น แต่รวมไปถึงการร่วมกับนานาประเทศในการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของโลกด้วย

ในฐานะคนธรรมดาคนหนึ่ง ผมขอเชิญชวนให้ทุกท่านลองเข้าไปดูในเว็บไซต์ของเราโดยสังเขป อ่านเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนทั้ง 17 เป้าหมาย หรือบางท่านอยากดูละเอียดก็ไล่ดู 169 เป้าหมายย่อย (targets) แล้วโปรดถามตัวเองว่า นี่คือสังคมที่เราอยากอยู่อาศัยหรือไม่ นี่คืออนาคตที่เราอยากให้ลูกหลานของเราได้ใช้ชีวิตหรือไม่?

หากใช่ โปรดเก็บเป้าหมาย SDGs ไว้ในใจแล้วมาช่วยกันดูว่า พรรคการเมืองใดที่มีนโยบายให้ความสำคัญกับประเด็นของเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนมากน้อยเพียงใด หรือพรรคการเมืองใดบ้างที่ปล่อยปละละเลยการดำเนินการตามประเด็น SDGs ในรัฐบาลที่ผ่าน ๆ มาบ้าง รวมถึงติดตามการวิเคราะห์ต่าง ๆ ของ SDG Move ที่จะมีการเผยแพร่ต่อไปด้วย

แล้ววันที่ 14 พฤษภาคมนี้ เราไปช่วยกันเลือกพรรคการเมืองที่จริงจังตั้งใจกับการสร้างคุณภาพชีวิตของคนไทยให้ยั่งยืนกันครับ


Last Updated on เมษายน 18, 2023

Author

  • Chol Bunnag

    ผู้อำนวยการศูนย์ และนักเศรษฐศาสตร์ ที่หันมาสนใจเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืนผ่านมุมของกลไกการบริหารจัดการ (Governance) และนโยบายสาธารณะ (Public Policy)

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น