จากการสำรวจข่าวสารความเคลื่อนไหวที่เกี่ยวข้องและส่งผลต่อการขับเคลื่อน SDGs ระหว่างวันที่ 12 เมษายน – 20 เมษายน 2566 มีข่าวสารความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจ ดังนี้
7 พรรค ให้คำสัญญาแก้รัฐธรรมนูญเพื่อปลดล็อกปัญหาป่าไม้-ที่ดิน
ผู้แทน 7 พรรคการเมืองที่ประกาศลงสมัครรับเลือกตั้ง 2566 ได้แก่ ก้าวไกล ชาติไทยพัฒนา ประชาชาติ สามัญชน พลังประชารัฐ ประชาธิปัตย์ และพลังสยาม ได้ระบุว่า เห็นด้วยกับการแก้รัฐธรรมนูญเพื่อปลดล็อกและแก้ปัญหา “ป่าไม้-ที่ดิน” โดยเปิดเผยผ่านเวทีพบพรรคการเมือง “ท้าทายนโยบายที่ดิน และทรัพยากรธรรมชาติของพรรคการเมือง การเดิมพันเจตจำนงแห่งกรรมสิทธิ์รวม บนการต่อสู้สู่สังคมประชาธิปไตย : ที่ดิน เสรีภาพ ประชาธิปไตย” จัดโดยสหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยทั้ง 7 พรรค ได้ให้ข้อเสนอไว้ ดังนี้
ก้าวไกล – ได้เตรียมร่างกฎหมายเข้าสู่สภา 40 ฉบับ ซึ่งมี 7 ฉบับ เป็นเรื่องที่ดิน และป่าไม้ และเห็นว่าต้องยกเลิก พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ. 2484 ทันที โดยกำหนดนิยามคำว่าป่าใหม่ให้สอดคล้องกับสากลโลก และไม่ทับซ้อนที่อยู่อาศัย และที่ดินทำกินของประชาชน พร้อมเตรียมแก้ไข พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ และกระจายอำนาจให้ประชาชนโดยตรง
ชาติไทยพัฒนา – พระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 และพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 พื้นที่รักษาพันธุ์สัตว์ป่า พื้นที่แปลงเดียวที่ถูกกฎหมายประกาศทับ 3 ฉบับ เป็นปัญหาที่ไม่มีผู้แก้ไข โดยจะมีการแก้ไขเรื่องป่าสงวนและมาตราใดที่กระทบกับประชาชน
ประชาชาติ – เสนอแก้กฎหมายย้อนไปตั้งแต่กฎหมายปี 2475 ที่ให้สิทธิที่ดินเกษตรกร 50 ไร่ ที่อุตสาหกรรม 10 ไร่ ที่อยู่อาศัยอีกไม่เกิน 5 ไร่ ควรรื้อฟื้นกลับมาอีกครั้ง รวมถึงยกเลิกกฎหมายป่าไม้หลายฉบับ เพื่อช่วยเหลือประชาชนที่มีปัญหาถูกพื้นที่ทับซ้อน
สามัญชน – เสนอยกเลิกโครงการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชนตามนโยบายรัฐบาล (คทช.) และสนับสนุนโฉนดชุมชน สนับสนุนกระจายที่ดิน พรรคต้องการให้ประชาชนทุกคนมีเอกสารสิทธิ์ในที่ดินของตนเอง
พลังประชารัฐ – เสนอแก้กฎหมาย พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติฉบับล่าสุด ที่มีปัญหา โดยจะแก้ปัญหาเรื่องการรับรองสิทธิของชุมชนก่อน
ประชาธิปัตย์ – เสนอผลักดันนโยบายที่ดินและทรัพยากรธรรมชาติ โดยมี 2 นโยบายใหญ่ คือ ออกโฉนดที่ดิน 1 ล้านแปลงใน 4 ปี และออกกรรมสิทธิ์ที่ดินให้ผู้ทำกินในที่ดินของรัฐ
พลังสยาม – เสนอแก้ไข พ.ร.บ.อุทยานฯ และ พ.ร.บ.ป่าไม้ ในหลายมาตรา เนื่องจากไม่สอดคล้องกับวิถีประชาชนและละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐาน
ประเด็นดังกล่าวสอดคล้องกับการขับเคลื่อน SDG1 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 1.4 ภายในปี 2573 สร้างหลักประกันว่าชายและหญิงทุกคน โดยเฉพาะที่ยากจนและเปราะบาง มีสิทธิเท่าเทียมกันในการเข้าถึงทรัพยากรทางเศรษฐกิจ รวมถึงการเข้าถึงบริการขั้นพื้นฐาน การเป็นเจ้าของและมีสิทธิในที่ดินและทรัพย์สินในรูปแบบอื่น มรดก ทรัพยากรธรรมชาติ เทคโนโลยีใหม่ที่เหมาะสม และบริการทางการเงิน ซึ่งรวมถึงระบบการเงินระดับฐานราก SDG15 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 15.2 ส่งเสริมการดำเนินการด้านการบริหารจัดการป่าไม้ทุกประเภทอย่างยั่งยืน 15.4 สร้างหลักประกันว่าจะมีการอนุรักษ์ระบบนิเวศภูเขาและความหลากหลายทางชีวภาพของระบบนิเวศเหล่านั้น เพื่อจะเพิ่มพูนขีดความสามารถของระบบนิเวศเหล่านั้นที่จะให้ผลประโยชน์อันสำคัญต่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ภายในปี 2573 และ SDG16 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 16.7 สร้างหลักประกันว่าจะ มีกระบวนการตัดสินใจที่มีความรับผิดชอบ ครอบคลุม มีส่วนร่วมและมีความเป็นตัวแทนที่ดีในทุกระดับการตัดสินใจ
เข้าถึงได้ที่ : “จะแก้รัฐธรรมนูญ เพื่อแก้วิกฤตป่าไม้-ที่ดิน” คำสัญญา 7 พรรค ก่อนเลือกตั้ง 66 – Greennews
คปช. จัดประชุมทบทวน เร่งแก้ปัญหาพื้นที่ทับซ้อนให้ประชาชนในจังหวัดประจวบคีรีขันธ์
พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุม ประชุมคณะกรรมการนโยบายป่าไม้แห่งชาติ (คปช.) ครั้งที่ 1/2566 จากการประชุม ได้พิจารณาทบทวนนโยบายป่าไม้แห่งชาติตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยคณะกรรมการนโยบายป่าไม้แห่งชาติ พ.ศ. 2560 ที่กำหนดให้มีการทบทวนทุก 3 ปี ซึ่งครบกำหนดารทบทวนตามระเบียบดังกล่าว โดยที่ประชุมมีมติเห็นชอบในการไม่มีการปรับปรุงนโยบายป่าไม้แห่งชาติ และคงวัตถุประสงค์ของนโยบายป่าไม้แห่งชาติ จำนวน 4 ประการ บทบัญญัตินโยบายป่าไม้แห่งชาติ จำนวน 24 ข้อ ครอบคลุม 3 ด้าน ได้แก่ 1. ด้านการจัดการป่าไม้ 2. ด้านการใช้ประโยชน์ผลิตผลและการบริการจากป่าไม้และอุตสาหกรรมป่าไม้ 3. ด้านการพัฒนาระบบบริหารและองค์กรเกี่ยวกับการป่าไม้ ไว้เช่นเดิม โดยมอบหมายให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเสนอคณะรัฐมนตรีตามขั้นตอนต่อไป
นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้พิจารณาเพิกถอนป่าสงวนแห่งชาติที่ทับซ้อนบางส่วนของป่ากุยบุรี ป่าแม่ตาล ป่าแม่ยุย และป่าแม่หาด จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เพื่อช่วยแก้ปัญหาความเดือดร้อนให้แก่ประชาชนในพื้นที่อย่างเร่งด่วน เนื้อที่ประมาณ 31,106 ไร่ ส่วนพื้นที่ที่มีสภาพป่า เนื้อที่ประมาณ 15,096 ไร่ ให้กันไว้เป็นป่าสงวนแห่งชาติ โดยให้อยู่ในความดูแลและรับผิดชอบของกรมป่าไม้ต่อไป
ประเด็นดังกล่าวสอดคล้องกับการขับเคลื่อน SDG 15 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 15.2 ส่งเสริมการดำเนินการด้านการบริหารจัดการป่าไม้ทุกประเภทอย่างยั่งยืน และ15.4 สร้างหลักประกันว่าจะมีการอนุรักษ์ระบบนิเวศและความหลากหลายทางชีวภาพ พร้อมเพิ่มพูนขีดความสามารถของระบบนิเวศที่ให้ผลประโยชน์อันสำคัญต่อการพัฒนาที่ยั่งยืน และ SDG 16 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 16.7 สร้างหลักประกันว่าจะมีกระบวนการตัดสินใจที่มีความรับผิดชอบ ครอบคลุม มีส่วนร่วม และมีความเป็นตัวแทนที่ดี ในทุกระดับการตัดสินใจ
เข้าถึงได้ที่ : ทส. ประชุม คปช. เร่งแก้ปัญหาพื้นที่ทับซ้อนนิคม จ.ประจวบคีรีขันธ์ ลดความเดือดร้อนให้ประชาชน – The Reporters
สถาบันการเงิน เสี่ยงพบกับ การทำทุจริต ‘คอร์รัปชัน’ สูง
จากคะแนนดัชนีการรับรู้การทุจริต CPI ประจำปี 2022 ของประเทศไทยสะท้อนว่าสถานการณ์ทุจริตคอร์รัปชันของไทยย่ำอยู่กับที่มาหลายปี ซึ่งมีส่วนทำให้เกิดความเสียหายต่อเศรษฐกิจและความน่าเชื่อถือของประเทศ โดยหนึ่งในองค์กรที่มีส่วนช่วยสอดส่องและป้องปรามการกระทำการทุจริตให้ได้ผล คือ “สถาบันการเงิน” ซึ่งมีบทบาทมากขึ้นในสถานการณ์ปัจจุบันที่มีการทุจริตในหลายรูปแบบกว่าอดีต ทั้งการเปิดบัญชีม้า แก๊งคอลเซ็นเตอร์ ทุนสีเทา พนันออนไลน์ ที่เป็นภัยคุกคาม
ด้วยสถาบันการเงินมีโอกาสพบกับความเสี่ยงจากการทำทุจริตคอร์รัปชันสูง จึงได้มีการจัดเวทีเสวนาสาธารณะเรื่อง ‘บทบาทของสถาบันการเงินในการป้องกันและปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชัน’ ซึ่งจัดโดยแนวร่วมการเงินที่เป็นธรรมประเทศไทย (Fair Finance Thailand) และองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) โดยได้มีการหยิบยกตัวอย่างกรณีทุจริตเงินคืนภาษี และกรณีการรุกล้ำพื้นที่ป่าสงวน ที่คดีมีการตัดสินไปแล้ว พร้อมแนวทางการทำงานเชิงรุกและปรับตัวเพื่อป้องปรามคอร์รัปชันให้กับสถาบันการเงิน โดยมีตัวแทนจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) และเลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) เข้าร่วมด้วย
ประเด็นดังกล่าวสอดคล้องกับการขับเคลื่อน SDG16 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 16.5 ลดการทุจริตและการรับสินบนทุกรูปแบบอย่างมีนัยสำคัญ และ 16.6 พัฒนาสถาบันทุกระดับให้มีประสิทธิผล มีความรับผิดชอบ และโปร่งใส SDG17 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 17.14 ยกระดับความสอดคล้องเชิงนโยบายเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน และ 17.17 สนับสนุนและส่งเสริมหุ้นส่วนความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาครัฐ-ภาคเอกชน และประชาสังคม สร้างบนประสบการณ์และกลยุทธ์ด้านทรัพยากรของหุ้นส่วน
เข้าถึงได้ที่ : บทบาทสถาบันการเงินกับคอร์รัปชัน – Thairath Plus
เยอรมนี สิ้นสุดยุคพลังงานนิวเคลียร์ หลังปิดการใช้เครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์เครื่องสุดท้าย
เยอรมนียุติการใช้พลังงานนิวเคลียร์ หลังปิดเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์ 3 เครื่องสุดท้าย เมื่อวันเสาร์ที่ 15 เมษายนที่ผ่านมา ซึ่งเยอรมนีมีแผนจะยุติการใช้พลังงานนิวเคลียร์ตั้งแต่ช่วงปลายปี 2565 แต่ล่าช้าออกไปเนื่องจากวิกฤตด้านพลังงานในยุโรป หลังเกิดสงครามรัสเซีย-ยูเครนเมื่อช่วงต้นปี 2565 ขณะที่ หลายประเทศในยุโรป ยังคงเดินหน้าลงทุนในแผนพัฒนาพลังงานนิวเคลียร์ แต่เยอรมนีเป็นหนึ่งในประเทศที่ตั้งใจจะยุติการใช้อย่างเด็ดขาด หลังจากเกิดภัยพิบัติโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่ฟุกุชิมะในญี่ปุ่นระเบิดในปี 2554 โดยแนวคิดยุติการใช้พลังงานนิวเคลียร์ของเยอรมนีได้รับแรงสนับสนุนอย่างมาก หลังจากที่เยอรมนีเรียนรู้บทเรียนจากผลกระทบของอาวุธนิวเคลียร์ช่วงสงครามโลก รวมถึงเหตุระเบิดที่โรงไฟฟ้าเชอร์โนบิล และความตึงเครียดด้านอาวุธนิวเคลียร์ในช่วงสงครามเย็น อย่างไรก็ดี ที่ผ่านมาเยอรมนี ต้องขยายการจัดหาพลังงานเพื่อสู้กับวิกฤตปัญหาขาดแคลนและราคาพลังงานที่ปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งขณะนี้สถานการณ์ด้านพลังงานของเยอรมนีอยู่ภายใต้การควบคุมแล้ว
ประเด็นดังกล่าวสอดคล้องกับการขับเคลื่อน SDG7 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 7.2 เพิ่มสัดส่วนของพลังงานทดแทนในการผสมผสานการใช้พลังงานของโลก ภายในปี 2573 และ 7.a ยกระดับความร่วมมือระหว่างประเทศในการอำนวยความสะดวกในการเข้าถึงการวิจัย และเทคโนโลยีพลังงานที่สะอาด โดยรวมถึงพลังงานทดแทน ประสิทธิภาพการใช้พลังงาน และเทคโนโลยีเชื้อเพลิงฟอสซิลชั้นสูงและสะอาด และสนับสนุนการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานและเทคโนโลยีพลังงานที่สะอาด ภายในปี 2573
เข้าถึงได้ที่ : Germany ends nuclear energy era as last reactors power down – aljazeera
กรุงธากา ประเทศบังกลาเทศ เผชิญสถานการณ์ ‘คลื่นความร้อนรุนแรง’
บังกลาเทศเผชิญกับสถานการณ์อุณหภูมิพุ่งสูงขึ้น ส่งผลให้สภาพอากาศร้อนสุดในรอบหลายปี หลังคลื่นความร้อนปกคลุมกรุงธากา เมืองหลวงของบังกลาเทศ และหลายพื้นที่อื่น ๆ ทั่วประเทศในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยกรมมาตรวิทยาของบังกลาเทศ (Metrological Department) ระบุว่า คลื่นความร้อนที่แผ่ขยายและปกคลุมในพื้นที่ต่าง ๆ ของบังกลาเทศ รวมทั้งกรุงธากา เมืองหลวงของบังกลาเทศ ยังคงดำเนินต่อไปและยาวนานยิ่งขึ้น เนื่องจากไม่น่าจะมีฝนตกในเร็ว ๆ นี้ ซึ่งคลื่นความร้อนรุนแรงดังกล่าว ส่งผลกระทบต่อชีวิตของประชาชนในเขต Khulna และ Dhaka, Faridpur, Manikganj, Rajshahi, Pabna และ Patuakhali ขณะที่ อุจุยาฑางา (Chuadanga) มีอุณหภูมิสูงสุดถึง 41.7 องศาเซลเซียส ทั้งนี้ ยังพบว่าอุณหภูมิทั้งกลางวันและกลางคืนนั้น แทบไม่เปลี่ยนแปลงยังคงมีอุณหภูมิสูงทั่วประเทศ
ประเด็นดังกล่าวสอดคล้องกับการขับเคลื่อน SDG3 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 3.4 ลดการตายก่อนวัยอันควรจากโรคไม่ติดต่อให้ลดลงหนึ่งในสาม ผ่านทางการป้องกันและการรักษาโรค และสนับสนุนสุขภาพจิตและความเป็นอยู่ที่ดีและ 3.d เสริมขีดความสามารถสำหรับทุกประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศกำลังพัฒนา ในเรื่องการแจ้งเตือนล่วงหน้า การลดความเสี่ยง และการบริหารจัดการความเสี่ยงด้านสุขภาพในระดับประเทศและระดับโลก และ SDG13 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 13.1 เสริมภูมิต้านทานและขีดความสามารถในการปรับตัวต่ออันตรายและภัยพิบัติทางธรรมชาติที่เกี่ยวข้องกับภูมิอากาศในทุกประเทศ
เข้าถึงได้ที่ : Intense heatwave grips Dhaka, other parts of Bangladesh – dhaka tribune
ผลงานนี้ได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิเพื่อการพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ ภายใต้โครงการเร่งรัดการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนด้านสุขภาพของประเทศไทย