Director Notes 27 : ว่าด้วย SDG localization

วาระการพัฒนา 2030 และเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ดูเหมือนเป็นเรื่องไกลตัวจากชุมชนท้องถิ่น แต่แท้จริงแล้วหากดูในรายละเอียด ท่านจะพบว่า SDGs เป็นเป้าหมายของคนธรรมดาทั่วโลกที่มุ่งพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนทุกกลุ่มอย่างยั่งยืน

การขับเคลื่อนวาระการพัฒนา 2030 เพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนทั้ง 17 เป้าหมาย ไม่สามารถทำได้ในระดับโลกหรือระดับประเทศอย่างเดียว เพราะหากความมุ่งหมายของเป้าหมาย SDGs คือการทำให้คนทุกคนใช้ชีวิตอย่างมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และสิ่งแวดล้อมยังคงเอื้อให้เราใช้ชีวิตอยู่ได้ การดำเนินการในระดับชาติก็อาจจะมีจุดเน้นที่ไม่ตรงกับความต้องการของผู้คนในท้องถิ่นก็เป็นได้

SDG Localization หรือการนำ SDGs ไปปฏิบัติในพื้นที่มีบทบาทสำคัญในจุดนี้นี่เอง 

SDG Localization คืออะไร

SDG Localization คือ การนำ SDG เข้าไปเป็นกรอบและเป็นเป้าหมายในการพัฒนาท้องถิ่นอย่างมีส่วนร่วมจากคนทุกกลุ่มในระดับท้องถิ่น 

คำว่าเป็นกรอบในการพัฒนา หมายถึง การใช้ SDG 17 ข้อและอาจรวมถึงเป้าหมายย่อย เป็นเครื่องมือในการตรวจสอบระดับการพัฒนาของพื้นที่ ว่าประเด็นใดใน 17 เป้าหมายที่ทำได้ดีแล้ว ประเด็นใดยังเป็นปัญหา ประเด็นใดเป็นวิกฤติเร่งด่วน นอกจากนี้อาจจะใช้เป็นกรอบการวิเคราะห์ได้ด้วยว่า วิกฤติประเด็นใดมันเชื่อมโยงกันบ้าง เช่น เพราะทำเกษตรเชิงเดี่ยวที่ไม่ยั่งยืน จึงเกิดวิกฤติสุขภาพและสิ่งแวดล้อม เป็นต้น

คำว่าเป็นเป้าหมายในการพัฒนาท้องถิ่นก็คือ ท้องถิ่นอาจหยิบจับเป้าหมายที่วิกฤติมาเป็นเป้าหมายที่เน้นในท้องถิ่นนั้นก็ได้ ซึ่งอาจจะไม่ตรงกับระดับชาติ รวมถึงตั้งเป้าหมานในทิศทางเดียวกับ SDGs แต่ในระดับที่เหมาะสมกับบริบทท้องถิ่น โดยคำนึงถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับ SDGs อื่นๆ ด้วยและหาทางออกที่ทุก SDGs ไปด้วยกันได้

การดำเนินการข้างต้น ต้องเป็นกระบวนการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน ไม่ใช่ทุบโต๊ะสั่งลงมา เพราะหากทุกคนร่วมกระบวนการที่ใช้ SDGs เป็นกรอบวิเคราะห์พื้นที่ ก็จะเป็นโอกาสที่ทุกคนได้เรียนรู้ร่วมกัน ในการกำหนดเป้าของพื้นที่ หากมีส่วนร่วมกันทุกฝ่าย ทุกฝ่ายก็จะได้แสดงความต้องการและความกังวลของตนออกมาได้ครบถ้วน นำไปสู่การออกแบบนโยบายที่ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังและก็ยั่งยืนด้วย

ท้องถิ่น หมายถึงระดับใด ก็ต้องบอกว่าเป็นระดับใดก็ได้ ถ้าในมุมภาครัฐไทยก็จะเน้นไปที่ระดับจังหวัด แต่ระดับเทศบาล อำเภอ ตำบล หมู่บ้าน ก็ควรดำเนินการเช่นกัน การดำเนินการควรนำไปสู่การเก็บข้อมูลในระดับนั้นเพื่อใช้ประโยชน์ในการทำความเข้าใจท้องถิ่นเพื่อการเรียนรู้ร่วมกันและการวางแผนต่อไป


SDG Localization ในทางปฏิบัติ

ในทางปฏิบัติ ชุมชนท้องถิ่นจำนวนมากได้มีการจัดทำแผนชุมชนและมีส่วนร่วมผ่านกลไกชุมชนต่างๆ อย่างมากมายหลายหลากอยู่แล้ว การดำเนินการ SDG Localization ไม่ควรจะเพิ่มภาระให้มีการดำเนินการอีกชุดหนึ่งให้ซ้ำซ้อน แต่กลไกชุมชนเหล่านั้นควรลองนำกรอบ SDGs ไปพิจารณาในการทำความเข้าใจสถานการณ์ชุมชนและทำแผนชุมชนสักหน่อย

ข้อดีของการทำแบบนี้คือ เป็นการบอกให้ทุกภาคส่วนรู้ว่า ชุมชนท้องถิ่นมิได้ดำเนินการเพื่อประโยชน์ตนเท่านั้น แต่กำลังร่วมขับเคลื่อนเป้าหมายโลกด้วย เป็นสิ่งที่เปิดให้ชุมชนท้องถิ่นไปร่วมมือกับหน่วยงานระดับต่างๆ รวมถึงองค์กรระหว่างประเทศได้ง่ายขึ้น

SDGs ยังใช้เป็นเหตุผลประกอบในการโต้แย้งโครงการของรัฐหรือเอกชนที่ไม่ยั่งยืนในพื้นที่ได้ด้วย ทำให้การโต้แย้งมิได้เป็นเพราะความไม่ชอบใจหรือผลประโยชน์ แต่มีหลักการสากลมาโต้แย้ง ว่ามันส่งผลลบต่อสังคม เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อมอย่างไร ทิ้งใครไว้ข้างหลังบ้าง ทำให้ชุมชนเปราะบางมากขึ้นอย่างไร ละเมิดสิทธิมนุษยชนหรือไม่

บางองค์กรชุมชนอาจมีการดำเนินการบางอย่างที่ยั่งยืนอยู่แล้ว เป็นประโยชน์ต่อชุมชนท้องถิ่นอยู่แล้ว ก็สามารถนำ SDGs มาวิเคราะห์การทำงานของตนและหาวิธีเพิ่มความยั่งยืนในประเด็นที่ขาดไปได้ด้วย หากทำเป็นเครือข่าย ก็สามารถจัดกระบวนการถอดบทเรียน เพื่อนำบทเรียนเหล่านั้นไปประยุกต์ใช้ในพื้นที่อื่น เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนความยั่งยืนได้

สรุป

SDGs เมื่อนำมาใช้ในระดับพื้นที่ จะกลายเป็นกรอบการพัฒนาที่ช่วยให้ท้องถิ่นทุกระดับมีแว่นที่ใกล้เคียงกัน ในการเห็นปัญหาที่สอดคล้องกับบริบทของพื้นที่ เพื่อนำไปสู่การมีส่วนร่วมในการกำหนดเป้าหมายที่ท้องถิ่นต้องการอย่างมีส่วนร่วม หาใช่สิ่งที่ระดับโลกบอกมาว่าต้องทำแต่อย่างใด

SDGs ยังเป็นภาษาและบรรทัดฐานการพัฒนาที่ชุมชนท้องถิ่นใช้ในการผลักดันวาระการพัฒนาที่ยั่งยืนของท้องถิ่นตนได้ด้วย หากมีการเชื่อมใช้ภาษา SDGs ท่านก็จะมีแต้มต่อขึ้นมาทันที ที่สำคัญ บทเรียนดีๆ จากการขับเคลื่อนของท่านจะมิใช่บทเรียนสำหรับชุมชนในจังหวัดหรือประเทศไทย แต่สามารถเป็นบทเรียนดีๆ ให้กับโลกด้วย เพื่อการขับเคลื่อนการบรรลุเป้าหมายของโลกร่วมกัน

SDG Localization Learning Area #1

เมื่อวันที่ 19 – 21 เมษายน 2566 ที่ผ่านมา SDG Move ร่วมกับ IHPP ในฐานะหน่วยงานเจ้าภาพเครือข่ายวิชาการเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทย (SDSN Thailand) จัดการอบรมเชิงปฏิบัติการ “พื้นที่เรียนรู้ SDGs รุ่นที่ 1” Workshop: SDG Localization Learning Area #1 ณ โรงแรมบลิสตัน สุวรรณ พาร์ควิว กรุงเทพฯ โดยมีตัวแทนพื้นที่ต่าง ๆ จากทั้ง 6 ภาค ทั่วประเทศเข้าร่วม เพื่อสนับสนุนการสื่อสารความรู้ไปสู่นโยบายอย่างมีส่วนร่วม ในการดำเนินการเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทยในระดับพื้นที่

กิจกรรมนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการการสร้างวงจรแห่งการเรียนรู้เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทย ซึ่งยังต้องลงพื้นที่เพื่อเรียนรู้และถอดบทเรียนร่วมกับชุมชนตลอดระเวลา 6 เดือนต่อจากนี้ และจะมีการนำเสนอผลที่ได้ในเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างภาคส่วน “เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทย” ในเดือนธันวาคม 2566 นี้

ติดตามชมภาพบรรยากาศกิจกรรมในแต่ละวันและบทสรุปของงานได้ทางเพจ เครือข่ายวิชาการเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทย – SDSN Thailand

.

Last Updated on สิงหาคม 31, 2023

Author

  • Chol Bunnag

    ผู้อำนวยการศูนย์ และนักเศรษฐศาสตร์ ที่หันมาสนใจเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืนผ่านมุมของกลไกการบริหารจัดการ (Governance) และนโยบายสาธารณะ (Public Policy)

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น