บทสรุปความต้องการของพื้นที่: สิ่งที่ภาคใต้ต้องการเพื่อแก้ปัญหาสำคัญ


1. ประเด็นการพัฒนาที่พื้นที่ให้ความสำคัญ

การทบทวนความสำคัญของประเด็นการพัฒนาที่ยั่งยืน ปีที่ 2 ของภาคใต้ มีผู้เข้าร่วมทั้งสิ้น 32 คน แบ่งเป็นภาครัฐ จำนวน 11 คน ภาคเอกชน จำนวน 1 คน ภาคประชาสังคม/ภาคองค์กรชุมชน/ชาวบ้าน จำนวน 7 คน ภาควิชาการ จำนวน 10 คน  อื่น ๆ จำนวน 3 คน ได้ผลการทบทวนเปรียบเทียบกับโครงการปีที่ 1 ดังตารางต่อไปนี้

ตารางเปรียบเทียบการทบทวนความสำคัญของประเด็นการพัฒนาที่ยั่งยืนภาคใต้ ปีที่ 1 และปีที่ 2

ลำดับปีที่ 1ปีที่ 2
1ขยะของเสียที่เพิ่มขึ้นทุกชนิดปัญหายาเสพติด
2นักท่องเที่ยวมีจำนวนลดลง เนื่องจากการระบาดของ Covid-19การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ
และภัยพิบัติธรรมชาติ
3ปัญหายาเสพติดขยะของเสียที่เพิ่มขึ้นทุกชนิด
4ปัญหาความยากจนความเหลื่อมล้ำ
5ความสมบูรณ์ของธรรมชาติถดถอยลงการบริหารจัดการน้ำที่ไม่มีประสิทธิภาพ

จากตารางข้างต้น สรุปได้ว่าประเด็นการพัฒนา 5 ลำดับแรกที่พื้นที่ภาคใต้ให้ความสำคัญในปีที่ 1 และปีที่ 2  โดยในปีที่ 1 ประกอบด้วย ประเด็นภายใต้มิติสิ่งแวดล้อม 2 ประเด็น คือ ขยะของเสียที่เพิ่มขึ้นทุกชนิด และ ความสมบูรณ์ของธรรมชาติถดถอยลง ซึ่งในปีที่ 2  มี 3 ประเด็น คือ การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศและภัยพิบัติธรรมชาติ ขยะของเสียที่เพิ่มขึ้นทุกชนิด และการบริหารจัดการน้ำที่ไม่มีประสิทธิภาพ ขณะที่ ประเด็นภายใต้มิติสังคม  ในปีที่ 1 มี 2ประเด็น คือ ปัญหายาเสพติด และ ปัญหาความยากจน ซึ่งประเด็นปัญหายาเสพติด เป็นประเด็นอันดับ 1 ที่ในปีที่ 2 ด้วย และประเด็นภายใต้มิติเศรษฐกิจ ในปีที่ 1 มี 1 ประเด็น คือ นักท่องเที่ยวมีจำนวนลดลง เนื่องจากการระบาดของ Covid-19 ขณะที่ ปีที่ 2 ก็มี 1 ประเด็น คือ ความเหลื่อมล้ำ


2. งานวิจัยที่พื้นที่ต้องการเพิ่มเติมเพื่อตอบสนองต่อปัญหาสำคัญ

การประชุมระดมความคิดเห็นกับผู้เชี่ยวชาญของภาคใต้ สรุปได้ว่าพื้นที่ต้องการงานวิจัยเพื่อตอบสนองต่อปัญหาระดับพื้นที่ทั้งสิ้น 16 ประเด็น แบ่งตามมิติดังนี้

  • มิติเศรษฐกิจ ได้แก่
  1. การศึกษาวิจัยเพื่อพัฒนาแนวทางการท่องเที่ยวรูปแบบใหม่  เพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับการท่องเที่ยว โดยอาศัยสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ รวมทั้งพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน เพื่อสร้างผลกระทบเชิงบวกให้กับชุมชน [SDG8, SDG12]
  2. การปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำการเกษตรสมัยใหม่ เพื่อเพิ่มรายได้และความรู้ให้เกษตรกรสามารถปรับตัวและยกระดับสถานะทางเศรษฐกิจให้มีมูลค่าสูงขึ้น เช่น ส่งเสริมศักยภาพในการแข่งขันมากขึ้นโดยใช้เทคโนโลยีทางการเกษตร [SDG2, SDG8]
  3. การศึกษาวิจัยภูมิปัญญาท้องถิ่น ที่สามารถนำไปใช้ในการพัฒนาเศรษฐกิจของพื้นที่ให้ดีมากขึ้น [SDG4, SDG8]
  4. การศึกษาวิจัยเรื่องการค้าชายแดน ควรมีการทำข้อมูลที่เป็นรูปธรรม ด้านมูลค่าทางเศรษฐกิจของชายแดน และแนวทางการพัฒนาการค้าขาย [SDG8, SDG17]
  5. การบริหารจัดการการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนของเครือข่ายธุรกิจท่องเที่ยว โดยเน้นให้ชุมชนเข้ามามีบทบาทในการจัดการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน [SDG8, SDG12]
  • มิติสังคม ได้แก่ 
  1. งานวิจัยเชิงระบบของสถานการณ์การศึกษาในพื้นที่ เช่น การจัดการศึกษาที่เหมาะสมและสอดคล้องกับบริบท และตอบโจทย์กับตลาดแรงงาน [SDG4, SDG8]
  2. การศึกษาสถานการณ์และปัญหาครอบครัวในบริบทพื้นที่ เพื่อหาทางออกและสร้างความเข้มแข็งให้กับสถาบันครอบครัว [SDG10, SDG16]
  3. การศึกษาและวิจัยปัญหาธรรมาภิบาลของหน่วยงานภาครัฐที่ดูแลโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ในพื้นที่ โดยเฉพาะกระบวนการสร้างการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ในการเข้าไปกำหนดนโยบาย หรือการนำเสนอแนวคิดที่ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตของชุมชน [SDG16]
  4. การศึกษาวิจัยแนวทางของการปฏิรูปกลไกภาครัฐและภาคการเมืองท้องถิ่น เพื่อค้นหาทางออกการแก้ไขปัญหาการเมืองในพื้นที่ และการสร้างกลไกสนับสนุนการมีส่วนร่วมของชุมชน [SDG16]
  5. งานวิจัยเพื่อทำความเข้าใจปัญหายาเสพติด ค้นหามาตรการและกลไกของการแก้ไขปัญหาที่เหมาะสมกับบริบทในพื้นที่ [SDG16]
  6. การศึกษาวิจัยเรื่องการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) [SDG16]
  7. การจัดการความรู้และจัดทำฐานข้อมูล เพื่อสนับสนุนให้หน่วยงานภาคส่วนต่าง ๆ ในพื้นที่ ได้เข้าถึงข้อมูลและงานวิจัย เพื่อนำไปใช้แก้ไขปัญหาและพัฒนาพื้นที่อย่างยั่งยืน  [SDG4]
  8. การศึกษาวิจัยสถานการณ์ของผู้สูงอายุในพื้นที่ โดยการรับมือกับการเปลี่ยนผ่านไปสู่สังคมสูงวัย (aging society) [SDG3]
  • มิติสิ่งแวดล้อม ได้แก่
  1. การศึกษาวิจัยระบบนิเวศของทะเลสาบสงขลา เพื่อทำความเข้าใจความเชื่อมโยงของการเปลี่ยนแปลงระบบนิเวศของทะเลสาบสงขลา ที่ส่งผลกระทบด้านสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อมของพื้นที่ [SDG6, SDG15]
  2. งานวิจัยทางด้านการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมในพื้นที่อย่างยั่งยืน เช่น การจัดการขยะ โดยสร้างการมีส่วนร่วมของคนในชุมชน การนำขยะมาเข้าสู่กระบวนการผลิตปุ๋ย รวมถึงการเปลี่ยนเป็นพลังงานสะอาด หรือ พลังงานทดแทน เป็นต้น [SDG7, SDG11, SDG12]
  3. การศึกษาวิจัยปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่ภาคใต้ เพื่อหาแนวทางการแก้ไขปัญหาที่ยั่งยืนและอย่างมีส่วนร่วมกับชุมชน  [SDG11, SDG13]

นอกจากนี้ การประชุมระดมความคิดเห็นกับผู้เชี่ยวชาญยังระบุถึงหน่วยงานที่ได้ทำงานร่วมกันเพื่อขับเคลื่อนกลไกวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (ววน.) ระดับภาคใต้ แบ่งตามภาคส่วนที่เข้ามามีบทบาทได้ดังนี้

ภาคการศึกษาและวิชาการ ได้แก่

  • สถาบันอุดมศึกษา ได้แก่ มหาวิทยาลัยราชภัฎและมหาวิทยาลัยราชมงคล สร้างองค์ความรู้เพื่อนำไปใช้ในการพัฒนาท้องถิ่น ร่วมมือกับภาคนโยบายในพื้นที่ เพื่อนำความรู้และงานวิจัยไปใช้ในการกำหนดนโยบายและการพัฒนาพื้นที่ พร้อมจัดการเรียนรู้ให้กับชุมชนเพื่อพัฒนาศักยภาพคนในพื้นที่ในด้านต่าง ๆที่สำคัญต่อการพัฒนาชุมชน

ภาครัฐ ได้แก่

  • องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ดูแลรับผิดชอบการปกครองและการบริหารจัดการท้องถิ่น และร่วมมือกับสถาบันวิจัยและนักวิจัยในพื้นที่ เพื่อกำหนดโจทย์วิจัยและทำวิจัยที่ตรงตามความต้องการของพื้นที่  สนับสนุนทรัพยากรในการพัฒนาองค์ความรู้และเทคโนโลยีที่จะนำไปใช้ประโยชน์ในการพัฒนาพื้นที่
  • สำนักงานการท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัด ส่งเสริมและสนับสนุนการจัดกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยว การพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว การพัฒนากีฬาและนันทนาการและประสานความร่วมมือกับหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อพัฒนาการท่องเที่ยวของจังหวัด สนับสนุนทรัพยากรและองค์ความรู้ให้กับชุมชน

ภาคประชาชน ได้แก่

  • ปราชญ์ชุมชน บุคคลในท้องถิ่นซึ่งมีภูมิปัญญา ความรู้ ความเชี่ยวชาญของตนเองในด้านต่าง ๆ ที่สามารถนำไปใช้ในการแก้ไขปัญหาและพัฒนาท้องถิ่น

ภาคประชาสังคม ภาคเอกชน และหน่วยงานส่งเสริมผู้ประกอบการ ได้แก่

  • ผู้ประกอบการในพื้นที่ สนับสนุนและแบ่งปันทรัพยากรที่เป็นความเชี่ยวชาญของการทำธุรกิจให้กับชุมชนและช่วยให้ชุมชนสามารถเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจสมัยใหม่ได้
  • สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) ส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัยด้านการเกษตร และการพัฒนานักวิจัยด้านการเกษตร ร่วมมือกับสถาบันการศึกษาในพื้นที่เพื่อทำการผลิตและพัฒนางานวิจัยด้านการเกษตรเพื่อตอบโจทย์บริบทของพื้นที่
  • สำนักงานพาณิชย์จังหวัด จัดทำยุทธศาสตร์และแผ่นด้านการค้าของจังหวัด  ดูแลและควบคุมกลไกการตลาดและการทำการค้าในจังหวัดให้เป็นไปอย่างถูกต้องและเป็นธรรม พร้อมส่งเสริมและสนับสนุนการหาทางออกสำหรับการแก้ไขปัญหาด้านเศรษฐกิจการค้าระดับจังหวัด
  • องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (อพท.) ส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน และพัฒนาการบริหารจัดการการท่องเที่ยวโดยชุมชนส่งเสริมและสนับสนุนการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจชุมชน
  • สภาอุตสาหกรรมจังหวัด เป็นตัวแทนของภาคอุตสาหกรรมในจังหวัดเพื่อประสานงานความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนในการพัฒนาและแก้ไขปัญหาอุตสาหกรรมของจังหวัด และกำกับดูแลติดตามการดำเนินธุรกิจของภาคอุตสาหกรรมให้เป็นไปตามกฎหมายและระเบียบกฎเกณฑ์ต่าง ๆ ร่วมมือกับภาคส่วนต่าง ๆ ในการพัฒนาเศรษฐกิจของพื้นที่

3. ข้อเสนอแนะสำหรับการทำงานร่วมกันของทุกภาคส่วน

จากกระบวนการประชุมเชิงปฏิบัติการผู้เชี่ยวชาญในพื้นที่ให้ข้อเสนอแนะต่อการทำงานร่วมกันเพื่อขับเคลื่อนกลไก ววน. ระดับพื้นที่ เช่น

  • นักวิจัยจากสถาบันการศึกษาควรให้ความสำคัญกับการกำหนดโจทย์ของงานวิจัยที่มาจากการสำรวจปัญหาและความต้องการจริงของชุมชนในพื้นที่ และควรเคารพในสิทธิความเท่าเทียมก้นกับชุมชนพร้อมเปิดกว้างในการรับฟังปัญหาอย่างแท้จริง
  • ควรมีกระบวนการที่สร้างการมีส่วนร่วมกับกลุ่มผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง อาทิ หน่วยงานภาคนโยบายที่เกี่ยวข้อง ภาคประชาสังคม และภาคเอกชน เป็นต้น
  • หน่วยงานให้ทุนวิจัยต้องพัฒนาระบบการติดตามและประเมินผลงานวิจัย ทั้งเชิงลึกและเชิงกว้างเพื่อประเมินความมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลของงานวิจัย และหน่วยงานให้ทุนควรมีพี่เลี้ยงที่ปรึกษาควรไปลงพื้นที่สนับสนุนและติดตามการทำวิจัยของนักวิจัยอย่างใกล้ชิดและมีงานที่มีคุณภาพ
  • ผลักดันให้เกิดการปรับปรุงกลไกภาครัฐและการเมืองท้องถิ่น เพื่อให้สามารถร่วมกันทำงานแก้ไขปัญหาในพื้นที่ให้เกิดขึ้นได้อย่างแท้จริง
  • ส่งเสริมและสนับสนุนให้ชุมชนทำวิจัยเพื่อแก้ไขปัญหาของพื้นที่ เพื่อให้เกิดการพัฒนางานวิจัยใหม่ ๆ และลดช่องว่างงานวิจัย
  • เพิ่มการลงทุนในงบประมาณสนับสนุนการวิจัยเชิงพื้นที่และท้องถิ่น
  • จัดระบบและกลไกของการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อทำให้เกิดการขับเคลื่อนระบบ ววน. ระดับพื้นที่ได้อย่างแท้จริง อาทิ
    • เรียนรู้บทบาทหน้าที่ของแต่ละหน่วยงานเพื่อเข้าใจศักยภาพและความรับผิดชอบซึ่งกันและกัน
    • แบ่งบทบาทหน้าที่ของการทำงานในระบบ ววน. ให้มีความชัดเจนตั้งเป้าหมายร่วมกันในการขับเคลื่อนระบบ ววน. ระดับพื้นที่
    • สร้างพื้นที่ของการพบปะพูดคุยอย่างต่อเนื่องเพื่อปรึกษาหารือและร่วมกันติดตามประเมินผลการดำเนินงานต่าง ๆ
  • จัดทำฐานข้อมูลระดับพื้นที่และชุมชน  เพื่อรวบรวมและจัดทำข้อมูลสำคัญเกี่ยวกับพื้นที่ในมิติต่าง ๆ อาทิ ข้อมูลด้านสังคม ด้านเศรษฐกิจ ด้านสิ่งแวดล้อม เป็นต้น เพื่อใช้เป็นข้อมูลสำหรับการวางแผนพัฒนาพื้นที่อย่างเป็นยุทธศาสตร์และมุ่งผลลัพธ์ในการแก้ไขปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล
คณะวิจัยภาคใต้: รศ. ดร.พรพันธุ์ เขมคุณาศัย, วีณา ลีลาประเสริฐศิลป์ มหาวิทยาลัยทักษิณ และ ผศ. ดร.กรุณา แดงสุวรรณ มหาวิทยาลัยราชภัฎสงขลา และคณะ

● บทความที่เกี่ยวข้องกับโครงการ Area Need 
– Introduction of Area Need | เราจะรู้ได้อย่างไรว่างานวิจัยที่มีอยู่ตอบโจทย์ความต้องการพื้นที่
– พื้นที่ต้องการอะไร? : ความต้องการและข้อเสนอเชิงนโยบายจากภาคเหนือ
 Area Need พื้นที่ต้องการอะไร? | ความต้องการและข้อเสนอเชิงนโยบายจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
– พื้นที่ต้องการอะไร?: ความต้องการและข้อเสนอเชิงนโยบายจากภาคตะวันออก 
– พื้นที่ต้องการอะไร? : ความต้องการและข้อเสนอเชิงนโยบายจากภาคกลาง
– พื้นที่ต้องการอะไร? : ความต้องการและข้อเสนอเชิงนโยบายจากภาคใต้
– พื้นที่ต้องการอะไร?: ความต้องการและข้อเสนอเชิงนโยบายจากภาคใต้ชายแดน
Area Need 05 | Area Need 2: What’s next step? การติดตาม และวางแผนต่อไปสำหรับโครงการความต้องการของพื้นที่ ปีที่ 2 
บทสรุปความต้องการของพื้นที่: สิ่งที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือต้องการเพื่อแก้ปัญหาสำคัญ
บทสรุปความต้องการของพื้นที่: สิ่งที่ภาคเหนือต้องการเพื่อแก้ปัญหาสำคัญ 
บทสรุปความต้องการของพื้นที่: สิ่งที่ภาคกลางต้องการเพื่อแก้ปัญหาสำคัญ
บทสรุปความต้องการของพื้นที่: สิ่งที่ภาคตะวันออกต้องการเพื่อแก้ปัญหาสำคัญ 

ซีรีส์ Area Need จะสรุปข้อค้นพบสำคัญของโครงการปีที่ 1  และอัปเดตสิ่งที่เรากำลังทำต่อในปีที่ 2 ไปจนถึง พฤษภาคม 2566

แพรวพรรณ ศิริเลิศ – เรียบเรียง
พิมพ์นารา อินต๊ะประเสริฐ – บรรณาธิการ
วิจย์ณี เสนเเดง – ภาพประกอบ

Last Updated on พฤษภาคม 8, 2023

Author

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น