SDG Spotlight – 5 ข่าว SDGs น่าสนใจในรอบสัปดาห์ที่ 4 ประจำเดือนเมษายน 2566

จากการสำรวจข่าวสารความเคลื่อนไหวที่เกี่ยวข้องและส่งผลต่อการขับเคลื่อน SDGs ระหว่างวันที่  24 เมษายน – 30 เมษายน 2566 มีข่าวสารความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจ ดังนี้

เลขายูเอ็นเปิดรายงานสรุปแผนการช่วยเหลือผู้คนและโลก 

UN ได้เผยแพร่รายงานความก้าวหน้าของ SDG “ฉบับพิเศษ” การอัปเดตความคืบหน้าของการขับเคลื่อน SDGs ในปีนี้เทียบปี 2558 โดยใช้กรอบตามตัวชี้วัด SDGs มาประเมินและใช้เป็นข้อมูลนำเข้า อภิปรายในเวทีหารือทางการเมืองระดับสูงว่าด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืน (HLPF) ในเดือนกรกฎาคม 2566 และการประชุมสุดยอด (SDG Summit) ในเดือนกันยายน 2566

ประเด็นสำคัญของรายงานนี้เรียกร้องให้ผู้นำระดับโลกมารวมตัวกันในการประชุม SDG Summit และ “ส่งมอบแผนช่วยเหลือผู้คนและโลก” (Rescue Plan for People and Planet) ใน 3 ประเด็นหลัก

  1. แผนการสร้างธรรมาภิบาลและสถาบันเพื่อการเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืนและครอบคลุม 
  2. จัดลำดับความสำคัญของนโยบายและการลงทุนที่ส่งผลทวีคูณทั่วทุกเป้าหมาย และ 
  3. การจัดหาเงินทุนเพื่อ SDG ให้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวย เหมาะสมสำหรับประเทศกำลังพัฒนา

ประเด็นดังกล่าวสอดคล้องกับการขับเคลื่อน SDG16 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 16.6 พัฒนาสถาบันที่มีประสิทธิผลมีความรับผิดชอบและโปร่งใสในทุกระดับ และSDG17 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 17.2 ประเทศพัฒนาแล้วจะดำเนินการ (ให้เป็นผล) ตามพันธกรณีเรื่องการให้ความช่วยเหลือเพื่อการพัฒนาอย่างเป็นทางการโดยเต็มที่ 17.3  ระดมทรัพยากรทางการเงินสำหรับประเทศกำลังพัฒนาเพิ่มเติม จากแหล่งที่หลากหลาย และ 17.14    สร้างกรอบนโยบายที่เหมาะสมในระดับประเทศ ระดับภูมิภาค และระดับนานาชาติ บนฐานของยุทธศาสตร์การพัฒนา ที่เอื้อประโยชน์แก่คนจน (pro-poor) และคำนึงถึงความละเอียดอ่อนเชิงเพศภาวะ (gender-sensitive) เพื่อส่งเสริมให้มีการเร่งการลงทุนเพื่อปฏิบัติการขจัดความยากจน

เข้าถึงได้ที่ :  UN Secretary-General’s Report Outlines Rescue Plan for People and Planet

เสร็จสิ้นแล้ว ประชุม ECOSOC วางรากฐานเพื่อเชื่อม “ความแตกแยกทางการเงินครั้งใหญ่”

เสร็จสิ้นเป็นที่เรียบร้อยสำหรับการประชุมของคณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติ (ECOSOC) โดย Forum on Financing for Development Follow-up (FfD Forum) ระหว่างวันที่ 17-20 เมษายน 2566 ณ นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ผลลัพธ์สำคัญของการประชุมนี้คือได้รับรองชุดข้อสรุปและคำแนะนำในการปฏิรูปสถาปัตยกรรมทางการเงินระหว่างประเทศ (international financial architecture) การปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจโลกและเร่งความคืบหน้าเพื่อบรรลุ SDGs โดยผู้แทนที่เข้าร่วมประชุมหวังว่าเอกสารฉบับนี้จะเป็น “รากฐานที่สร้างสรรค์สำหรับการดำเนินการต่อไป”

ประเด็นหลักในการอภิปรายมุ่งเน้นไปที่ข้อค้นพบของรายงาน The 2023 Financing for Sustainable Development Report ที่เรียกร้องให้มีระบบภาษีที่แข็งแกร่งขึ้น การลงทุนภาครัฐและเอกชนมากขึ้นเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน การปฏิรูประบบการเงินระหว่างประเทศ และการลงทุนจำนวนมหาศาลเพื่อเร่งการเปลี่ยนแปลงด้านพลังงาน อุตสาหกรรม การทำฟาร์ม การขนส่ง และอาคาร รวมถึงภาคส่วนอื่น ๆ

ประเด็นดังกล่าวสอดคล้องกับการขับเคลื่อน SDG17 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 17.1 เสริมความแข็งแกร่งของการระดมทรัพยากรภายในประเทศ โดยรวมถึงการสนับสนุนระหว่างประเทศไปยังประเทศกำลังพัฒนา เพื่อปรับปรุงขีดความสามารถภายในประเทศในการเก็บภาษีและรายได้อื่น ๆ ของรัฐ 17.3  ระดมทรัพยากรทางการเงินสำหรับประเทศกำลังพัฒนาเพิ่มเติม จากแหล่งที่หลากหลาย

เข้าถึงเอกสารผลลัพธ์จากการประชุมที่ผู้แทนรับรองชื่อว่า ‘Follow-up and review of the financing for development outcomes and the means of implementation of the 2030 Agenda for Sustainable Development’ (E/FFDF/2023/L. 1).

เข้าถึงได้ที่: ECOSOC Forum Lays Foundation to Bridge “Great Finance Divide”

FAO  กำหนดให้ “เนื้อ นม ไข่” เป็นแหล่งสารอาหารจำเป็น

องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) เผยผลจากเอกสาร “Contribution of terrestrial animal source food to healthy diets for improved nutrition and health outcomes” ที่ได้มาจากการวิเคราะห์ประโยชน์และความเสี่ยงของการบริโภคอาหารที่มาจากสัตว์ที่ครอบคลุมมากที่สุด โดยอิงข้อมูลและหลักฐานจากเอกสารทางวิทยาศาสตร์มากกว่า 500 ฉบับ และเอกสารนโยบายอีก 250 ฉบับ 

เอกสารได้กล่าวถึง ความสำคัญของการบริโภคเนื้อสัตว์ ไข่ และนม ว่าสามารถให้สารอาหารที่สำคัญหลายชนิดที่เรียกว่า “สารอาหารหลัก” (Macro nutrients) เช่น โปรตีน ไขมันและคาร์โบไฮเดรต รวมถึงสารอาหารรองหาได้ยากจากพืช “ในคุณภาพและปริมาณที่ต้องการ” ที่เหมาะสมเพียงพอ

นอกจากนี้ยังเน้นย้ำว่า การบริโภคอาหารจากสัตว์ในปริมาณที่เหมาะสมสามารถช่วยให้บรรลุเป้าหมายด้านโภชนาการที่รับรองโดยสมัชชาอนามัยโลก (WHA) และเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ที่เกี่ยวข้องกับการลดภาวะแคระแกร็น ภาวะทุพโภชนาการในเด็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบ น้ำหนักของเด็กแรกเกิดต่ำกว่าเกณฑ์ ภาวะโลหิตจางในผู้หญิง วัยเจริญพันธุ์ โรคอ้วนและโรคไม่ติดต่อ (NCDs) ในผู้ใหญ่

ประเด็นดังกล่าวสอดคล้องกับการขับเคลื่อน SDG2 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 2.2 ยุติภาวะทุพโภชนาการทุกรูปแบบและแก้ไขปัญหาความต้องการสารอาหารของหญิงวัยรุ่นหญิงตั้งครรภ์และให้นมบุตร และผู้สูงอายุ ภายในปี พ.ศ. 2573 รวมถึงบรรลุเป้าหมายที่ตกลงร่วมกันระหว่างประเทศว่าด้วยภาวะเตี้ย (stunting) และแคระแกร็น (wasting) ในเด็กอายุต่ากว่า 5 ปี ภายในปี พ.ศ. 2568 และ SDG3 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 3.4 ลดการตายก่อนวัยอันควรจากโรคไม่ติดต่อให้ลดลงหนึ่งในสามผ่านทางการป้องกันและการรักษาโรคและสนับสนุนสุขภาพจิตและความเป็นอยู่ที่ดีภายในปี พ.ศ. 2573

เข้าถึงได้ที่: FAO makes case for meat, eggs and milk as ‘essential source of nutrients’

EEA เผยยุโรปล้มเหลวในการจัดการมลพิษทางอากาศที่ส่งผลกระทบต่อเด็ก

European Environment Agency (EEA) องค์กรที่มีภารกิจเพื่อวิเคราะห์ ติดตามข้อมูลที่จำเป็นเพื่อให้เกิดความยั่งยืนในยุโรป ได้ออกมาเปิดเผยว่ายุโรปล้มเหลวในการจัดการมลพิษทางอากาศที่ส่งผลกระทบต่อเด็ก

การประเมินจากงานวิจัยสถานะคุณภาพอากาศในยุโรป ปี 2023  พบว่าการหายใจเอาอากาศสกปรกเข้าไปทำให้ในแต่ละปีมีเด็กอย่างน้อย 1,200 คนทั่วยุโรปเสียชีวิตก่อนวัยอันควรและอีกหลายพันคนประสบปัญหาสุขภาพร่างกายและจิตใจที่อาจส่งผลกระทบไปตลอดชีวิต

“เด็ก” เป็นกลุ่มคนที่มีความอ่อนไหวต่ออากาศสกปรกเป็นพิเศษ เนื่องจากมลพิษอาจส่งผลต่อพัฒนาการที่ถาวร ผลกระทบเริ่มต้นตั้งแต่ก่อนคลอด โดยมีการศึกษาที่เชื่อมโยงมลพิษกับน้ำหนักแรกเกิดต่ำและการคลอดก่อนกำหนด นอกจากนี้ยังพบว่า เด็กจะสัมผัสอากาศที่สกปรกมากกว่าผู้ใหญ่ เนื่องจากมีอัตราการหายใจที่เร็วกว่า อยู่ใกล้พื้นมากกว่า และอยู่กลางแจ้งมากกว่า 

EEA เน้นย้ำว่า แม้การลดแหล่งที่มาของมลพิษทางอากาศ เช่น การจราจรบนท้องถนน การเผาไหม้ถ่านหินและเชื้อเพลิงแข็ง และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากอุตสาหกรรม จะเป็นกุญแจสำคัญ แต่ก็ควรดำเนินการเพื่อลดความเสี่ยงที่เฉพาะเจาะจงต่อเด็กด้วยเช่นกัน มาตรการลดความเสี่ยงอาจรวมถึงการวางเขตอากาศสะอาดรอบโรงเรียน ควบคุมการจราจรและห้ามการใช้เครื่องยนต์ หน่วยงานท้องถิ่นและโรงเรียนควรพิจารณาการปลูกต้นไม้ ไม้เลื้อย และรั้วรอบสนามเด็กเล่น

ประเด็นดังกล่าวสอดคล้องกับการขับเคลื่อน SDG3 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 3.9 ลดจำนวนการตายและการป่วยจากสารเคมีอันตรายและจากการปนเปื้อนและมลพิษทางอากาศ น้ำ และดิน ให้ลดลงอย่างมากภายในปี พ.ศ. 2573 และ SDG11 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 11.6 ลดผลกระทบทางลบของเมืองต่อสิ่งแวดล้อมต่อหัวประชากรรวมถึงการให้ความสำคัญกับคุณภาพอากาศและการจัดการขยะมูลฝอย และของเสียอื่นๆ ภายในปี พ.ศ. 2573

เข้าถึงได้ที่: Europe ‘failing its children’ on air pollution, EEA says

โควิด-19 หลังสงกรานต์กลับมาระบาดหนัก กรมควบคุมโรคเผยผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น 2 เท่า

เดือนเมษายนที่ผ่านมาเป็นช่วงเวลาที่มีวันหยุดนักขัตฤกษ์ และเทศกาลสำคัญอย่างสงกรานต์ที่ทำให้ประชาชนมีการรวมกลุ่มทำกิจกรรมสังสรรค์ การเดินทางกลับภูมิลำเนาหลังจากถูกชะลอไปจากสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 กว่าสองปีเต็ม ล่าสุด กรมควบคุมโรคเปิดเผยสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ภายในประเทศรายสัปดาห์ พบว่าสัปดาห์ที่ผ่านมา (วันที่ 16-22 เม.ย. 66) พบผู้ป่วยรายใหม่จำนวน 1,088 ราย มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อนถึงกว่า 2 เท่า พบกระจายในหลายจังหวัดโดยเฉพาะเมืองใหญ่ที่มีประชากรหนาแน่น เช่น กรุงเทพ ฯ ภูเก็ต เชียงใหม่ ชลบุรี เป็นต้น

ทั้งนี้ ส่วนใหญ่เป็นการติดเชื้อในสมาชิกครอบครัว และการร่วมกิจกรรมที่รวมกลุ่มคนจำนวนมาก สำหรับผู้เสียชีวิตจำนวน 5 ราย พบว่าเป็นกลุ่ม 608 อายุเฉลี่ย 75 ปี โดย 4 รายที่เสียชีวิตเป็นผู้ที่ไม่ได้รับวัคซีนมาก่อน และอีก 1 ราย ยังไม่ได้รับเข็มกระตุ้น ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงทำให้เมื่อติดเชื้อแล้วเกิดอาการรุนแรง ดังนั้น การฉีดวัคซีนหรือวัคซีนเข็มกระตุ้นจึงจำเป็นอย่างมาก

นายแพทย์โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุข ปรับคำแนะนำแนวทางการฉีดใหม่ให้เป็นการฉีดประจำปี ขอให้ประชาชนเร่งเข้ารับการฉีดวัคซีนก่อนเข้าฤดูฝน ซึ่งเริ่มฉีดในปี 2566 เป็นปีแรก โดยฉีดปีละ 1 เข็ม สามารถใช้วัคซีนชนิดใดหรือรุ่นใดก็ได้ ห่างจากเข็มสุดท้ายหรือประวัติการติดเชื้ออย่างน้อย 3 เดือน โดยไม่ต้องนับว่าเป็นเข็มที่เท่าใด และสามารถฉีดพร้อมกับวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ได้ โดยประชาชนสามารถเข้ารับบริการฉีดวัคซีนโควิด-19 ได้ที่หน่วยบริการตามที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนดไว้

ประเด็นดังกล่าวสอดคล้องกับการขับเคลื่อน SDG3 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 3.3 ยุติการแพร่กระจายของเอดส์ วัณโรค มาลาเรียและโรคเขตร้อนที่ถูกละเลยและต่อสู้กับโรคตับอักเสบ โรคติดต่อทางน้ำ และโรคติดต่ออื่นๆ ภายในปี พ.ศ. 2573 และ 3.8 บรรลุการมีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้ารวมถึงการป้องกันความเสี่ยงทางการเงิน การเข้าถึงการบริการสาธารณสุขจำเป็นที่มีคุณภาพ และเข้าถึงยาและวัคซีนจำเป็นที่ปลอดภัยมีประสิทธิภาพ มีคุณภาพ และมีราคาที่สามารถซื้อหาได้

เข้าถึงได้ที่: กรมควบคุมโรค เผยผู้ติดเชื้อโควิด-19 สูงขึ้น 2 เท่า

ผลงานนี้ได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิเพื่อการพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ ภายใต้โครงการเร่งรัดการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนด้านสุขภาพของประเทศไทย

Author

  • Pimnara Intaprasert

    Editor | คนทำงานข้ามสายที่ชอบมองภาพใหญ่และอยากเห็นงานพัฒนามองทุกศาสตร์อย่างเชื่อมโยง

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น