ปี 66 พบแรงงานไทยเครียดจัด สูงอันดับ 1 – สสส. เสนอโปรแกรม MIO แก้ไขปัญหาสุขภาพจิต มุ่งดูแลสุขภาวะอย่างจริงจังทุกมิติ

“สุขภาพที่ดี ไม่ใช่เพียงแค่สุขภาพกายเท่านั้น แต่สุขภาพจิตนั้นก็สำคัญ” เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2566 นายพงษ์ศักดิ์ ธงรัตนะ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะองค์กร สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ระบุว่า สืบเนื่องจากวันแรงงานแห่งชาติ 2566 สสส. สานพลัง กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้เปิดเผยว่า ในปี 2566 แรงงานไทยเครียดจัด โทรสายด่วนสุขภาพจิต สูงอันดับ 1 พร้อมเผยที่ทำงานแบบไหนอยากร่วมงานด้วย ซึ่งจากข้อมูลสายด่วนสุขภาพจิต 1323 เมื่อเดือนมกราคม ปี 2566 พบว่า วัยแรงงาน ที่มีอายุระหว่าง 20-59 ปี ได้ขอรับบริการเรื่องความเครียด วิตกกังวล ไม่มีความสุขในการทำงาน สูงเป็นอันดับ 1 จำนวนกว่า 5,989 สาย จากทั้งหมด 8,009 สาย ซึ่งเป็นสิ่งสะท้อนว่าแรงงานไทยกำลังประสบปัญหาสุขภาพจิต และจำเป็นต้องได้รับการดูแลสุขภาวะอย่างจริงจังในทุกมิติ

ที่ผ่านมา สสส.ร่วมกับ กรมสุขภาพจิต ผลักดัน กฎหมายว่าด้วยการจัดสวัสดิการในสถานประกอบกิจการ พ.ศ. 2548 โดยกำหนดให้มีการตรวจสุขภาพประจำปี เช่น การตรวจร่างกายและสภาวะจิตใจ ซึ่งเป็นสวัสดิการตามที่กฎหมายกำหนด รวมถึงประเมินสุขภาพจิตในสถานประกอบการด้วยระบบ Mental Health Check in ปีละ 1 ครั้ง พร้อมทั้งได้เปิดเผย จากการสอบถาม “ที่ทำงานแบบไหนอยากร่วมงานด้วย”  ส่วนใหญ่ระบุว่า คือ ที่ทำงานที่มีสิ่งแวดล้อมดีเหมาะสมกับการทำงาน บรรยากาศดีไม่มีมลพิษทางอารมณ์ ใส่ใจผู้อื่น รับผิดชอบในหน้าที่ของตนเอง เครื่องมือทันสมัยครบครัน เพื่อนร่วมงานเป็นมิตร ให้เกียรติ มีเป้าหมายในการทำงานเพื่อองค์กรเดียวกัน ทำงานอย่างเป็นระบบ เป็นต้น

ภาพจาก : PPTV

โดย สสส. ร่วมกับ กรมสุขภาพจิต ได้สนับสนุนการแก้ไขปัญหาผ่าน “โครงการสานเสริมพลังภาคีเครือข่ายและขยายผลองค์กรแห่งสติเพื่อสุขภาวะและคุณภาพชีวิตด้วยโปรแกรมสติในองค์กร” (Mindfulness in Organization : MIO) ภายใต้แนวคิด Happy Workplace มุ่งส่งเสริมให้มีความสุข ในการทำงาน ใช้ชีวิตอย่างมีสติ ลดความเครียด ความวิตกกังวล สู่สังคมที่ร่วมสร้างองค์กรแห่งความสุข โดยมีวิทยากร ผู้เชี่ยวชาญร่วมเผยแพร่ความรู้กว่า 60 คน ซึ่งโปรแกรม MIO ได้นำไปใช้ในหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคการศึกษาแล้วกว่า 100 แห่งทั่วประเทศ ในจำนวนนี้ยกระดับเป็นองค์กรสุขภาวะต้นแบบที่เป็นแหล่งเรียนรู้ 25 แห่ง ต่อยอดเป็นนวัตกรรมหนังสือดิจิทัล “เลือก รับ ปรับ ใช้” รวมถึงงานวิจัยด้านประสิทธิผลของ MIO อีก 5 เรื่อง

โปรแกรม MIO มีหลักการสำคัญ คือ การนำจิตวิทยาสติ (mindfulness psychology) สมาธิ/สติในแนวจิตวิทยาและศาสตร์สมอง (neuro science) มาใช้ภายในองค์กร เน้นการสร้างความเข้าใจและการปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง เน้นการพัฒนาจากระดับบุคคลไปสู่ทีม และองค์กร เพื่อช่วยเสริมสร้าง “ความสุข” ให้แก่บุคลากร โดยแบ่งออกเป็น 3 หลักสูตร ได้แก่ 1. หลักสูตรสำหรับผู้บริหาร 2. หลักสูตรสำหรับวิทยากร และ 3. หลักสูตรสำหรับบุคคลทั่วไป ผู้สนใจสามารถเรียนรู้ หลักสูตรสร้างสุขด้วยสติในองค์กรใน รูปแบบ e-Learning ได้ที่ www.thaimio.com/elearning/ 

อย่างไรก็ดี ไม่ว่าจะอาชีพใดแรงงานก็ควรจะได้รับประโยชน์จากงานที่มีคุณค่าและมั่งคงทั้งด้านร่างกายและจิตใจ อันเป็นสิ่งที่นายจ้างและสถานประกอบการไม่ควรละเลย

● อ่านข่าวและบทความที่เกี่ยวข้อง
ข้อยกเว้นทางกฎหมายและการจ้างงานนอกระบบ อุปสรรคต่อการมีงานที่มีคุณค่าของแรงงานทำงานบ้าน
รายงาน ILO เผยว่า ยังมีคนอีก 1.6 พันล้านคน ในเอเชียและแปซิฟิกที่ขาดการคุ้มครองทางสังคมด้านสุขภาพ 
ILO รับข้อตกลงแรงงานระดับโลกฉบับแรก เสริมคุณค่าด้านสภาพการทำงานและสิทธิ ให้ครอบคลุมนักฟุตบอลอาชีพทั้งชายและหญิง 
ILO รายงานสภาพการทำงานภาคเกษตรไทย พร้อมชี้แรงงานข้ามชาติ ยังเผชิญการจ้างงานที่ไม่เป็นธรรม 

ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG3 สุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี
– (3.4) ลดการตายก่อนวัยอันควรจากโรคไม่ติดต่อให้ลดลงหนึ่งในสาม ผ่านทางการป้องกันและการรักษาโรค และสนับสนุนสุขภาพจิตและความเป็นอยู่ที่ดี ภายในปี 2573
– (3.8) การมีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า รวมถึงการป้องกันความเสี่ยงทางการเงิน การเข้าถึงการบริการสาธารณสุขจำเป็นที่มีคุณภาพ และเข้าถึงยาและวัคซีนจำเป็นที่ปลอดภัย มีประสิทธิภาพ มีคุณภาพ ในราคาที่สามารถซื้อหาได้
#SDG8 งานที่มีคุณค่าและการเติบโตทางเศรษฐกิจ
– (8.5) บรรลุการจ้างงานเต็มที่และมีผลิตภาพ และการมีงานที่มีคุณค่าสำหรับหญิงและชายทุกคน รวมถึงเยาวชนและผู้มีภาวะทุพพลภาพ และให้มีการจ่ายที่เท่าเทียมสำหรับงานที่มีคุณค่าเท่าเทียมกัน ภายในปี 2573
– (8.8) ปกป้องสิทธิแรงงานและส่งเสริมสภาพแวดล้อมในการทำงานที่ปลอดภัยและมั่นคงสำหรับผู้ทำงานทุกคน รวมถึงผู้ทำงานต่างด้าว โดยเฉพาะหญิงต่างด้าว และผู้ที่ทำงานเสี่ยงอันตราย

แหล่งที่มา:
สายด่วนสุขภาพจิตเผย”ความเครียด-กังวล-ทำงานไม่มีความสุข” ปัญหาใหญ่อันดับ 1 ของแรงงานไทย – สสส. 
ปี 66 แรงงานไทยเครียดจัด แห่โทรปรึกษาสายด่วนสุขภาพจิต : PPTVHD36 

ผลงานนี้ได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิเพื่อการพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ ภายใต้โครงการเร่งรัดการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนด้านสุขภาพของประเทศไทย

Author

  • Praewpan Sirilurt

    Knowledge Communication | มนุษย์ผู้เชื่อว่า “การสื่อสารสามารถเชื่อมต่อความรู้สึกของกันและกันได้” ไม่ว่าจะเป็นใคร อยู่ที่ไหน หรือเผชิญกับอะไรอยู่ การสื่อสารจะช่วยบอกเล่าเรื่องราวส่งไปให้แก่ผู้อื่นได้รับรู้

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น