เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2566 องค์การอาหารและยาของสหรัฐอเมริกา (Food and Drug Administration: FDA) อนุมัติการใช้วัคซีนป้องกันไวรัส ‘Respiratory Syncytial Virus’ หรือ ไวรัส RSV ชนิดแรกของโลก ชื่อว่า “Arexvy” ผลิตโดยบริษัท GlaxoSmithKline Biologicals หรือ GSK ซึ่งเป็นบริษัทชีวเภสัชภัณฑ์ระดับโลก
RSV เป็นเชื้อไวรัสที่ติดต่อได้ง่ายซึ่งทำให้เกิดการติดเชื้อที่ปอดและระบบทางเดินหายใจในทุกกลุ่มอายุ การแพร่กระจายของเชื้อ RSV เป็นไปตามฤดูกาล โดยทั่วไปจะเริ่มในช่วงฤดูใบไม้ร่วงและสูงสุดในฤดูหนาว ในผู้สูงอายุ RSV เป็นสาเหตุทั่วไปของโรคติดเชื้อเฉียบพลันของระบบหายใจส่วนล่าง (lower respiratory tract disease : LRTD) ที่ส่งผลต่อปอดและอาจทำให้เกิดโรคปอดบวมและหลอดลมฝอยอักเสบ โดยพบว่าในสหรัฐอเมริกา ผู้ที่มีอายุมากกว่า 65 ปี เสียชีวิตจากการติดเชื้อดังกล่าวประมาณ 6,000 – 10,000 คนต่อปี ขณะที่เด็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบ เสียชีวิต 100 – 300 คนต่อปี
วัคซีน Arexvy ซึ่งเป็นวัคซีนตัวแรกของโลกสำหรับป้องกันโรคดังกล่าวจึงนับว่าเป็นความก้าวหน้าที่มีสำคัญอย่างมาก โดยวัคซีนข้างต้นใช้เวลาผลิตยาวนานกว่า 60 ปี
Peter Marks ผู้อำนวยการศูนย์การทดลองและวิจัยด้านชีววิทยา องค์การอาหารและยาของสหรัฐอเมริกา กล่าวถึงความความสำเร็จในการผลิตวัคซีนข้างต้นว่า “การอนุมัติวัคซีน RSV ตัวแรกในวันนี้ถือเป็นความสำเร็จที่สำคัญด้านสาธารณสุขในการป้องกันโรคที่อาจเป็นอันตรายถึงชีวิต และสะท้อนถึงความมุ่งมั่นอย่างต่อเนื่องของ FDA ในการสนับสนุนการพัฒนาวัคซีนที่ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพสำหรับใช้ในสหรัฐอเมริกา”
ด้านประสิทธิภาพของวัคซีนข้างต้น พบว่าผลจากการศึกษาของ GSK ซึ่งทดลองให้ผู้เข้าร่วมประมาณ 12,500 คนได้รับยา Arexvy และผู้เข้าร่วม 12,500 คนได้รับยาหลอก ในบรรดาผู้เข้าร่วมที่ได้รับ Arexvy และผู้เข้าร่วมที่ได้รับยาหลอก (placebo) วัคซีนช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคติดเชื้อเฉียบพลันของระบบหายใจส่วนล่าง (lower respiratory tract disease : LRTD) ที่เกี่ยวข้องกับ RSV ได้อย่างมีนัยสำคัญถึง 82.6% และลดความเสี่ยงในการเกิดโรคติดเชื้อเฉียบพลันของระบบหายใจส่วนล่างที่เกี่ยวข้องกับ RSV ที่รุนแรงได้ถึง 94.1%
สำหรับประเทศไทย ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยเมื่อปี 2565 ว่า RSV ในเด็กไทย มีอุบัติการณ์การติดเชื้อที่สูง เป็นแล้วเป็นซ้ำได้ ขณะที่ข้อมูลจากกรมควบคุมโรคระบุว่าข้อมูลการเฝ้าระวังโรคติดเชื้อไวรัส RSV ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 30 กันยายน 2565 มีการส่งตรวจตัวอย่างทั้งหมด 3,235 ตัวอย่าง พบติดเชื้อ RSV จำนวน 523 ตัวอย่าง คิดเป็นร้อยละ 16.17 โดยพบมากที่สุดในเด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี ร้อยละ 52.20 อายุ 3-5 ปี ร้อยละ 34.03 และอายุ 6-15 ปี ร้อยละ 9.37 นอกจากนี้ยังพบผู้ป่วยกลุ่มอายุ 60 ปีขึ้นไป ร้อยละ 2.10
อย่างไรก็ดี แม้การพัฒนาวัคซีนเพื่อป้องกันเชื้อ RSV ในไทยยังไม่ประสบผลสำเร็จ แต่กระทรวงสาธารณสุขของไทยก็ได้เข้าร่วมโครงการ The RSV Surveillance Pilot ตามแนวทางขององค์การอนามัยโลก กับอีก 14 ประเทศ เพื่อร่วมศึกษาและแลกเปลี่ยนข้อมูลมาใช้ในการกำหนดนโยบายและมาตรการป้องกันโรค ตลอดจนการบริหารวัคซีนที่อาจนำมาใช้ได้ในอนาคต
● อ่านข่าวและบทความที่เกี่ยวข้อง
– เมื่อวัคซีนเป็นเรื่องของ ‘ข้อมูล’ : 5 วิธีจากสภาเศรษฐกิจโลกสร้าง ‘ความเชื่อมั่น’ เรื่องวัคซีน
– WHO อนุมัติใช้ “วัคซีนต้านมาลาเรียตัวแรกของโลก” กับเด็กในทวีปแอฟริกาแล้ว
– 70 เมืองเข้าร่วม ‘The Partnership for Healthy Cities’ เพื่อสร้างชุมชนเมืองที่ห่างไกลจากโรค NCDs
– ตัวเลขจากรายงานยูนิเซฟพบว่า มีเด็ก 1 ใน 10 คนทั่วโลก ใช้ชีวิตอยู่กับความพิการ และมีแนวโน้มสูงที่จะไม่ได้เข้าโรงเรียน
ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG3 สุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี
– (3.2) ยุติการตายที่ป้องกันได้ของทารกแรกเกิดและเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี โดยทุกประเทศมุ่งลดอัตราการตายในทารกลงให้ต่ำถึง 12 คน ต่อ การเกิดมีชีพ 1,000 คน และลดอัตราการตายในเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ลงให้ต่ำถึง 25 คน ต่อการเกิดมีชีพ 1,000 คน ภายในปี 2573
– (3.4) ลดการตายก่อนวัยอันควรจากโรคไม่ติดต่อให้ลดลงหนึ่งในสาม ผ่านทางการป้องกันและการรักษาโรค และสนับสนุนสุขภาพจิตและความเป็นอยู่ที่ดี ภายในปี 2573
– (3.8) บรรลุการมีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า รวมถึงการป้องกันความเสี่ยงทางการเงิน การเข้าถึงการบริการสาธารณสุขจำเป็นที่มีคุณภาพ และเข้าถึงยาและวัคซีนจำเป็นที่ปลอดภัย มีประสิทธิภาพ มีคุณภาพ ในราคาที่สามารถซื้อหาได้
– (3.b) สนับสนุนการวิจัยและการพัฒนาวัคซีนและยาสำหรับโรคติดต่อและไม่ติดต่อที่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อประเทศกำลังพัฒนา ให้มีการเข้าถึงยาและวัคซีนจำเป็นในราคาที่สามารถซื้อหาได้ ตามปฏิญญาโดฮาความตกลงว่าด้วยสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาที่เกี่ยวกับการค้าและการสาธารณสุข ซึ่งเน้นย้ำสิทธิสำหรับประเทศกำลังพัฒนาที่จะใช้บทบัญญัติในความตกลงว่าด้วยสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาที่เกี่ยวกับการค้าอย่างเต็มที่ในเรื่องการผ่อนปรนเพื่อจะปกป้องสุขภาพสาธารณะและโดยเฉพาะการเข้าถึงยาโดยถ้วนหน้า
#SDG17 ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
– (17.17) สนับสนุนและส่งเสริมหุ้นส่วนความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาครัฐ-ภาคเอกชน และประชาสังคม สร้างบนประสบการณ์และกลยุทธ์ด้านทรัพยากรของหุ้นส่วน
แหล่งที่มา
– FDA Approves First Respiratory Syncytial Virus (RSV) Vaccine (FDA)
– US drug regulator approves world’s first RSV vaccine (BBC)
– กระทรวงสาธารณสุข ร่วมมือกับ องค์การอนามัยโลกเฝ้าระวังโรคติดเชื้อทางเดินหายใจจากเชื้ออาร์เอสวี (กระทรวงวิทยาศาสตร์ กระทรวงสาธารณะ)
ผลงานนี้ได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิเพื่อการพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ ภายใต้โครงการเร่งรัดการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนด้านสุขภาพของประเทศไทย
Last Updated on พฤษภาคม 15, 2023