How to ใช้มาตรฐานความยั่งยืนของเอกชนมาช่วยรัฐรายงานความก้าวหน้า SDGs

ตามกระบวนการปกติภาครัฐจะรายงานความคืบหน้าตาม SDGs ของประเทศตนเองผ่านการส่งรายงานการทบทวนระดับชาติโดยสมัครใจ (Voluntary National Reviews: VNRs) โดยที่ข้อมูลเหล่านี้เป็นการรวบรวมและประมวลผลโดยตัวรัฐทำให้ที่ผ่านมา VNRs มักประสบความท้าทายสำคัญคือ มาตรฐานและประสิทธิภาพที่ได้จากการรายงานของแต่ละประเทศนั้นแตกต่างกัน เพราะการได้รับการสนับสนุนข้อมูลที่ต่างกัน

เพื่อสนับสนุนให้ภาครัฐมีข้อมูลที่สามารถทำการทบทวนได้อย่างมีมาตรฐาน International Institute for Sustainable Development (IISD) จึงได้เผยแพร่ “Standards and the Sustainable Development Goals: Leveraging Sustainability Standards for Reporting on SDG Progress” รายงานที่ทำการสำรวจถึงวิธีการที่จะทำให้รัฐสามารถใช้ประโยชน์จากมาตรฐานความยั่งยืนโดยสมัครใจ (Voluntary Sustainability Standards: VSSs) มาช่วยสนับสนุนการทบทวนความก้าวหน้าตาม VNRs 

มาตรฐานความยั่งยืนโดยสมัครใจ (VSSs) เป็นมาตรฐานที่ออกแบบและพัฒนาโดยองค์กรพัฒนาเอกชน (NGOs) และบริษัทเอกชน เพื่อใช้เป็นเกณฑ์กำหนดมาตรฐานของผลิตภัณฑ์ให้สอดคล้องกับแนวคิดความยั่งยืนทางเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และกลายเป็นมาตรฐานที่มีบทบาทในห่วงโซ่คุณค่าทั้งจากเกษตรกรไปจนถึงผู้ค้าปลีก การออกใบรับรอง 

รายงานฉบับนี้ ให้ความสนใจไปที่การศึกษาว่ามาตรฐานความยั่งยืนโดยสมัครใจ (VSSs) กับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) มีความเชื่อมโยงกันอย่างไร และภาครัฐกับเอกชนสามารถใช้ประโยชน์จากความเชื่อมโยงนี้ได้หรือไม่? ในชั้นนี้รายงานมุ่งหาวิธีการที่จะทำให้ VSSs เข้ามาช่วยสนับสนุนการรายงาน VNRs ของรัฐบาลตาม SDGs  โดยมุ่งเป้าไปที่เป้าหมายย่อย (target) SDG2 ยุติความหิวโหย SDG6 น้ำและสุขภิบาล SDG12 การผลิตและบริโภคที่ยั่งยืน  และSDG15 ระบบนิเวศบนบก ผ่านประเทศที่นำมาศึกษา 3 ประเทศ คือ อินเดีย แทนซาเนีย และยูกันดา 

จากการศึกษาแสดงให้เห็นว่าเกณฑ์ด้านเนื้อหาของ VSSs สามารถรวมอยู่ใน VNRs เพื่อรายงานความคืบหน้าของ SDG ได้  เนื่องจาก VSSs และ SDGs มีวัตถุประสงค์และเป้าหมายที่เกี่ยวข้องจำนวนมากสอดคล้องกัน โดยเฉพาะข้อมูลในส่วนกรณีศึกษา “แนวปฏิบัติที่ดีที่สุด” ที่ปรากฏใน VSSs สามารถนำมาเป็นส่วนหนึ่งของการรายงานของรัฐบาลต่อ การประชุมเวทีหารือระดับสูงทางการเมืองว่าด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืน (High-Level Political Forum on Sustainable Development: HLPF) ได้ นอกจากนี้รายงานยังได้รวบรวมและแนะนำลิสต์มาตรฐานการรายงานโดยสมัครใจที่น่าจะสามารถช่วยอำนวยความสะดวกในการรายงาน VNRs พร้อมช่องทางการเข้าถึงหน่วยงานผู้ดูแลมาตรฐานเหล่านั้นเอาไว้อีกด้วย 

● อ่านข่าวและบทความที่เกี่ยวข้อง
–  GRI & UNGC เผยเเพร่เเนวทางการทำรายงานความยั่งยืนของภาคธุรกิจฉบับปรับปรุง หวังให้มีการเปรียบเทียบเเละเข้าถึงข้อมูลที่สะดวกขึ้น
สำนักเลขาธิการ UN รวบรวมสารสำคัญ VNR ปี 2022 นำเสนอความท้ายทายในการเร่งบรรลุ SDGs ของ 45 ประเทศ
ทุกประเทศที่รายงาน VNR ปี 2021 นำเสนอสถานการณ์ของ SDG 3 และ SDG 8 รองลงมาคือ SDG 5

ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG12 การผลิตและบริโภคที่ยั่งยืน
– (12.6) สนับสนุนให้บริษัท โดยเฉพาะบริษัทข้ามชาติและบริษัทขนาดใหญ่ รับแนวปฏิบัติที่ยั่งยืนไปใช้ และผนวกข้อมูลด้านความยั่งยืนลงวงจรการรายงานของบริษัทเหล่านั้น
#SDG17 หุ้นส่วนความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
– (17.14) ยกระดับความสอดคล้องเชิงนโยบายเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
– (17.17) สนับสนุนและส่งเสริมหุ้นส่วนความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาครัฐ-ภาคเอกชน และประชาสังคม สร้างบนประสบการณ์และกลยุทธ์ด้านทรัพยากรของหุ้นส่วน

เเหล่งที่มา: State of Sustainability Initiatives Review: Standards and the Sustainable Development Goals

ผลงานนี้ได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิเพื่อการพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ ภายใต้โครงการเร่งรัดการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนด้านสุขภาพของประเทศไทย

Last Updated on พฤษภาคม 12, 2023

Author

  • Pimnara Intaprasert

    Editor | คนทำงานข้ามสายที่ชอบมองภาพใหญ่และอยากเห็นงานพัฒนามองทุกศาสตร์อย่างเชื่อมโยง

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น