Site icon SDG Move

Director’s Note: 28: พรรคก้าวไกลกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน

สวัสดีครับทุกท่าน

เพิ่งผ่านกันไปสด ๆ ร้อน ๆ กับการเลือกตั้งทั่วไปประจำปี 2566 เมื่อวันอาทิตย์ที่ 14 พฤษภาคม 2566 ที่ผ่านมา และผลการเลือกตั้งอย่างไม่เป็นทางการสื่อว่า พรรคก้าวไกล ได้จำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) เป็นอันดับ 1 เกินสามหลักตามที่พรรคตั้งเป้าหมายไว้ แม้ว่าขณะนี้จำนวน ส.ส. อาจมีการขยับขึ้นลงบ้างเล็กน้อยแต่คะแนนก็ทิ้งห่างจากพรรคอันดับสองคือ พรรคเพื่อไทย ซึ่งเป็นพรรคฝั่งประชาธิปไตยเช่นกัน ผลการเลือกตั้งครั้งนี้บอกกับพวกเราทุกคนว่า ผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่ออกมาใช้สิทธิต้องการการเปลี่ยนแปลงให้ประเทศไปสู่ความเป็นประชาธิปไตยมากเพียงใด 

ในฐานะที่โดยหลักการจะต้องเป็นพรรคที่จัดตั้งรัฐบาลและดำเนินนโยบายที่เสนอเอาไว้ พรรคก้าวไกลจะมีส่วนในการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) มากเพียงใด ยังมีประเด็นความยั่งยืนใน SDGs ใด ที่พรรคก้าวไกลหรือพรรคใด ๆ ยังไม่ได้กล่าวถึงบ้าง และอะไรจะเป็นความท้าทายสำคัญในการผลักดันให้ประเทศไทยเข้าใกล้เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนได้มากที่สุดเมื่อถึงปี ค.ศ. 2030 


01 – นโยบายพรรคก้าวไกลกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs)

SDGs เป็นชุดเป้าหมายการพัฒนาขององค์การสหประชาชาติสำหรับคนธรรมดาทุกคนในโลก ที่ประเทศสมาชิกทุกประเทศรวมถึงประเทศไทยได้ไปให้คำมั่นว่าจะร่วมกันบรรลุภายในปีค.ศ. 2030 ซึ่งเหลืออีกราว 7 ปี ปัญหาหนึ่งของการทำงานเรื่อง SDGs ก็คือ มันมีเป้าหมายจำนวนมาก (17 เป้าหมายหลัก 169 เป้าหมายย่อย) ดังนั้นเพื่อให้การวิเคราะห์เรื่องนี้ง่ายขึ้นเราจึงทำการรวบเป้าหมายข้างต้นออกเป็นธีม 7 ธีม1 ประกอบด้วย 

  1. ระบบเศรษฐกิจที่เป็นธรรมและยั่งยืน
  2. ระบบอาหารที่ยั่งยืนและโภชนาการที่ดี
  3. ที่อยู่อาศัย โครงสร้างพื้นฐานและการจัดการเมือง
  4. คุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดี
  5. การลดผลกระทบและการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
  6. ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
  7. การบริหารจัดการภาครัฐและความยุติธรรม

ทั้ง 7 ธีมนี้ ครอบคลุมมิติสำคัญของความยั่งยืน ทั้งเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และธรรมาภิบาล รวมถึงจะเป็นจุดคานงัดสำคัญในการผลักดันให้เกิดการพัฒนาที่ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังและไม่สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม 

SDG Policy Focus คอลัมน์ช่วงเลือกตั้งของ SDG Move ได้วิเคราะห์นโยบายของพรรคการเมืองที่มีการประกาศอย่างเป็นทางการบนเว็บไซต์ของพรรคจำนวน 9 พรรค ที่มีประชาชนให้ความสนใจและมีโอกาสเข้าไปกำหนดนโยบาย และพบว่า พรรคก้าวไกลเป็น 1 ใน 4 พรรคที่มีนโยบายครอบคลุมทั้ง 7 ธีมนี้ และเป็นพรรคที่มีจำนวนนโยบายที่สอดคล้องมากที่สุดในทั้ง 4 พรรคในทุกธีมด้วย แม้ว่าในธีมระบบเศรษฐกิจที่เป็นธรรมและยั่งยืน และคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดี จะมีจำนวนนโยบายเท่ากับพรรคเพื่อไทยก็ตาม 

นอกจากนี้พรรคก้าวไกลยังได้เสนอนโยบายที่พรรคอื่นไม่เสนอ 3 นโยบายคือ

ดังนั้น อาจกล่าวได้ว่า พรรคก้าวไกลมีนโยบายที่สนับสนุนเป้าหมาย SDGs ครอบคลุมที่สุด จากในบรรดาพรรคการเมืองทั้งหมด และยังให้ความสำคัญกับกระบวนการดำเนินนโยบายและการเปลี่ยนผ่านไปสู่ความยั่งยืนอย่างมีความเป็นธรรมและไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง (just and inclusive transtion) ซึ่งเป็นประเด็นที่สำคัญแต่ไม่ได้กล่าวไว้ชัดนักในเป้าหมาย SDGs อันจะทำให้การขับเคลื่อน SDGs มีความยั่งยืนได้อย่างแท้จริง


02 – ประเด็นความไม่ยั่งยืนที่พรรคก้าวไกลไม่ได้กล่าวถึง 

อย่างไรก็ดี พรรคก้าวไกลอาจยังไม่ได้มีนโยบายที่ชัดเจนในการจัดการกับประเด็นการพัฒนาที่ไม่ยั่งยืนของประเทศไทยครบทุกประเด็น ซึ่งหลายประเด็นเป็นประเด็นที่ประเทศไทยมีสถานะวิกฤติหรือน่าเป็นห่วง จากการประเมินของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเปรียบเทียบกับประเทศอื่น ซึ่งมีทั้งหมด 12 ประเด็น ได้แก่

ประเด็นด้านความมั่นคงและการพัฒนามนุษย์ (People)

ประเด็นด้านความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ (Prosperity)

ประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน (Planet)

ประเด็นด้านความสันติภาพและความเป็นธรรม (Peace)

จริงอยู่ที่ประเด็นเหล่านี้เมื่อพิจารณาแล้วอาจไม่ใช่ประเด็นที่อยู่ในความสนใจของสังคมมากนัก แต่หลายประเด็นนั้นเป็นพื้นฐานของการมีคุณภาพชีวิตที่ดีของคนในสังคมทุกกลุ่ม เช่น ภาวะทุพโภชนาการและขาดสารอาหารส่งผลต่อพัฒนาการของเด็กและศักยภาพตลอดช่วงชีวิต – ความหลากหลายทางชีวภาพทั้งในไร่นาและในธรรมชาติมีความสำคัญต่อระบบนิเวศสำคัญต่อวิถีชีวิตชาวบ้านจำนวนมากและเป็นฐานสำหรับการพัฒนาเศรษฐกิจฐานชีวภาพ (Bioeconomy) – ปัญหาวัณโรคที่แม้จะมีความชุกในกลุ่มของแรงงานข้ามชาติและผู้คุมขัง แต่นี่ก็เป็นกลุ่มคนที่ถูกลืมที่สุดในนโยบายรัฐ – ความเข้มแข็งของครอบครัวเป็นฐานของการพัฒนาคน – ขยะพลาสติกหากไม่จัดการจะย้อนกลับมามีผลอย่างสำคัญต่อสุขภาพของมนุษย์ผ่านระบบอาหาร ๆ เป็นต้น และอีกหลายประเด็นเป็นประเด็นที่เชื่อมโยงกับคุณภาพชีวิตของผู้คนหลายกลุ่ม เช่น คนพิการและแรงงาน


03 – ความท้าทายในการขับเคลื่อนเป้าหมาย SDGs ที่ต้องจัดการและสานต่อ

การขับเคลื่อน SDGs ในประเทศไทยเองมีประเด็นความท้าทายที่ยังเป็นช่องว่าง บางประเด็นเป็นประเด็นที่ริเริ่มแล้วในรัฐบาลก่อนแต่ยังต้องมีการสานต่อ ประเด็นเหล่านี้ประกอบด้วย

  1. ความสอดคล้องของนโยบายและกฎหมาย: มีประเด็นทางนโยบายและกฎหมายหลายประเด็นที่ขัดกับการบรรลุเป้าหมาย SDGs เช่น ตัวบทและ/หรือการบังคับใช้กฎหมายและนโยบายที่เกี่ยวข้องกับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจหมุนเวียน การบริหารจัดการน้ำ การส่งเสริมพลังงานหมุนเวียนและการเข้าถึงพลังงาน การจัดการให้การผลิตอาหารยั่งยืน การแก้ปัญหาหมอกควัน การเข้าถึงข้อมูลภาครัฐ การกระจายอำนาจ เป็นต้น หลายนโยบายอยู่ในสิ่งที่พรรคก้าวไกลได้เสนออยู่แล้ว ความสอดคล้องของนโยบายและกฎหมายจะมีส่วนสำคัญในการผลักดันให้การขับเคลื่อนเกิดขึ้นจริงอย่างมีประสิทธิภาพ
  2. เครือข่ายและความร่วมมือข้ามภาคส่วน: ปัจจุบันกลไกการมีส่วนร่วมของเยาวชนและภาคเอกชน (รายใหญ่) ในการขับเคลื่อนเป้าหมาย SDGs นั้นมีอยู่แล้วในคณะอนุกรรมการเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (กพย.) แต่รัฐบาลก่อนกลับมิได้จัดให้มีกลไกการมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคมและภาควิชาการในระดับนโยบายแต่อย่างใด เป็นเพียงการขับเคลื่อนระดับหน่วยงาน/เป้าหมาย และระดับพื้นที่เท่านั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่การขับเคลื่อน SDGs ต้องมีกลไกทางการ/กึ่งทางการที่สร้างการมีส่วนร่วมระดับนโยบายให้กับภาคประชาสังคมและภาควิชาการ นอกจากนี้กฎหมายและนโยบายที่เกี่ยวข้องกับภาคประชาสังคมในรัฐบาลก่อนยังมุ่งไปในทิศทางของการกดขี่และควบคุมมากกว่าอำนวยความสะดวกเพื่อร่วมกันพัฒนาอีกด้วย 
  3. ความรู้ การวิจัย และนวัตกรรม: แม้ว่าวงการวิจัยจะตื่นตัวเรื่อง SDGs มากยิ่งขึ้น แต่การให้ทุนวิจัยยังเน้นไปที่ประเด็นวิจัยที่เป็นเครื่องมือ (instrument) ในการบรรลุนโยบายรัฐ ในขณะที่งานวิจัยเชิงวิพากษ์ตั้งคำถามกับนโยบายรัฐและใช้ให้เห็นปัญหาสำคัญที่เกิดจากนโยบายรัฐนั้นแทบไม่มีทุนวิจัยจัดสรรให้แต่อย่างใด ซึ่งงานวิจัยลักษณะนี้สำคัญต่อการสร้างความเป็นธรรมและลดความเหลื่อมล้ำด้านต่าง ๆ ในสังคมเป็นอย่างมาก 
  4. ระบบข้อมูลและสถิติ: จากการประเมินของ UNESCAP ในปีค.ศ. 2022 ประเทศไทยมีตัวชี้วัด SDGs ที่เพียงพอใช้การได้ 143 ตัวชี้วัด (จาก 231 ตัวชี้วัด) มีแต่ไม่เพียงพอหรือยังไม่เหมาะสมกับการใช้งานอีก 34 ตัวชี้วัด และไม่มีข้อมูลอีก 54 ตัวชี้วัด นอกจากนี้ประเทศไทยยังขาดระบบ dashboard เพื่อการประเมินความก้าวหน้า SDGs ของประเทศไทยเองที่มีการรายงานข้อมูลเป็นประจำทุกปีอีกด้วย ภายใต้สถานการณ์แบบนี้ คณะกรรมการ กพย. ยังยุบคณะอนุกรรมการที่รับผิดชอบด้านข้อมูลและสถิติภายใต้ กพย. ไปแล้วอีกด้วย ซึ่งการขาดอนุกรรมการดังกล่าวทำให้หลายประเด็นที่ต้องเป็นการตัดสินใจแบบข้ามเป้าหมายและข้ามหน่วยงานด้านข้อมูลสถิติเป็นเรื่องที่ทำได้ยาก
     
  5. ระบบอภิบาลเพื่อขับเคลื่อน SDGs: กลไกอภิบาลการขับเคลื่อนหลักของ SDGs ในประเทศไทยคือคณะกรรมการเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (กพย.) ซึ่งควรจะทำหน้าที่เป็นกลไกข้ามกระทรวง (cross-ministerial mechanism) เพื่อให้การขับเคลื่อนเป็นไปอย่างบูรณาการ อย่างไรก็ดี การประชุมเพียงปีละ 1 ครั้งไม่อาจทำให้เกิดการประสานงานข้ามกระทรวงได้ การยุบคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนยิ่งทำให้การขับเคลื่อนข้ามกระทรวงขึ้นอยู่กับความกระตือรือร้นของกระทรวงที่รับผิดชอบเป้าหมายหลักและเป้าหมายย่อย ซึ่งระดับแต่ละกระทรวงก็ให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อน SDGs ไม่เท่ากัน
  6. การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และศักยภาพเพื่อการขับเคลื่อน SDGs: การสร้างกำลังพลที่เข้าใจและตระหนักถึงความสำคัญของการบรรลุเป้าหมาย SDGs ในทุกภาคส่วนมีความสำคัญอย่างยิ่ง แต่ที่ผ่านมาภาครัฐดำเนินการเพียงการทำให้สังคม “รู้จัก” คำว่า SDGs ในขณะที่สิ่งสำคัญจริง ๆ คือการทำให้คนทุกคนได้รับการศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (Education for Sustainable Development: ESD) ซึ่ง ESD นั้นเป็นมากกว่าการรู้จัก SDGs แต่ครอบคลุมไปถึงการเข้าใจประเด็นเนื้อหาสำคัญที่เกี่ยวข้องกับการเป็นพลเมืองโลกและการพัฒนาที่ยั่งยืน และการมีวิธีคิดและทักษะที่จำเป็นต่อการขับเคลื่อนการพัฒนาที่ยั่งยืนอีกด้วย อย่างไรก็ดี ESD นั้นยังคงเป็นหลักสูตรทางเลือกในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน และไม่ปรากฏในนโยบายของกระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแต่อย่างใด มีเพียงแต่การขับเคลื่อนมากบ้างน้อยบ้างในมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ตามความตระหนักและการให้ความสำคัญเท่านั้น
  7. การเงินเพื่อการพัฒนา: การเงินเพื่อการพัฒนาเป็นสิ่งหนึ่งที่มีการดำเนินการอยู่อย่างแข็งขัน ทั้งการขับเคลื่อนของภาคการเงิน และตลาดเงินตลาดทุน ที่ผลักดันให้ภาคธุรกิจจะต้องดำเนินการเพื่อความยั่งยืนมากขึ้น การกำหนด Thailand Taxonomy เพื่อทำให้ทุกคนเข้าใจตรงกันว่าการดำเนินธุรกิจแบบเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมหมายถึงอะไรและอยู่บนมาตรฐานเดียวกัน เป็นจุดเริ่มที่ดีมากของการผลักดันให้ภาคธุรกิจมีความยั่งยืนมากขึ้นและป้องกันการฟอกเขียว (green wash) แต่ช่องว่างที่สำคัญของกลไกการเงินเพื่อการพัฒนาคือ กลไกการเงินสำหรับภาคประชาสังคมและภาควิชาการเพื่อการร่วมขับเคลื่อนการพัฒนาที่ยั่งยืนร่วมกับภาครัฐ ซึ่งหากมีกลไกลักษณะที่ชัดเจนและหลากหลายกว่าที่เป็นอยู่จะทำให้การขับเคลื่อนภาคประชาชนในประเด็นต่าง ๆ ก้าวหน้ามากกว่านี้และเข้าถึงคนกลุ่มต่าง ๆ ได้ทั่วถึงกว่านี้มาก

04 – สรุป

โดยสรุป พรรคก้าวไกลเป็นพรรคที่มีนโยบายที่สอดคล้องกับการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนมากที่สุดในบรรดาพรรคการเมืองทั้งหมด อย่างไรก็ดี ยังมีอีกหลายประเด็นที่พรรคก้าวไกลไม่ได้กล่าวถึงในนโยบาย จึงน่าจะเป็นการดีที่พรรคก้าวไกลในฐานะแกนนำรัฐบาลชุดใหม่ในอนาคตจะพิจารณานโยบายจากพรรคเพื่อไทยและเสรีรวมไทยที่ครอบคลุมประเด็นความยั่งยืนที่พรรคก้าวไกลไม่ได้กล่าวถึง และนำมาขับเคลื่อนร่วมกัน นอกจากนี้ยังควรพิจารณาประเด็นวิกฤติและ/หรือน่าเป็นห่วงด้านความยั่งยืนของประเทศไทยที่ไม่ได้อยู่ในนโยบายของพรรคใดเลยมาขับเคลื่อนด้วย

นอกจากนี้ พรรคก้าวไกลในฐานะผู้นำรัฐบาลยังควรให้ความสำคัญกับกลไกการการขับเคลื่อนเป้าหมาย SDGs ทั้ง 7 ประการข้างต้นด้วย ซึ่งหลายประเด็นเป็นเรื่องของการเพิ่มพื้นที่เชิงนโยบายและการมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนของภาคประชาสังคม ภาควิชาการและภาคประชาชนอย่างเป็นระบบ ซึ่งการให้ความสำคัญกับกลไกเหล่านี้จะช่วยสนับสนุนให้การขับเคลื่อนการพัฒนาที่ยั่งยืนทุกประเด็นเป็นไปอย่างมีพลัง มีส่วนร่วม ยั่งยืนและไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังได้จริง


1 แนวทางการจัดกลุ่มเป็นธีมนี้เริ่มมีการใช้กันมากขึ้นในงานวิชาการเกี่ยวกับ SDGs ซึ่งเรียกธีมเหล่านี้ว่า Sustainability Transformation หากท่านสนใจโปรดดู Global Sustainable Development Report 2019, Sachs et.al. 2019, และบทความภาษาไทยของ SDG Move ที่นี่

Author

  • ผู้อำนวยการศูนย์ และนักเศรษฐศาสตร์ ที่หันมาสนใจเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืนผ่านมุมของกลไกการบริหารจัดการ (Governance) และนโยบายสาธารณะ (Public Policy)

Exit mobile version