ทุกปีสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และภาคีเครือข่าย ร่วมจัดทำ “รายงานสุขภาพคนไทย ปี 2566 ” นำเสนอ 12 ตัวชี้วัด “ปัจจัยสังคมกำหนดสุขภาพ” (Social Determinants of Health: SDH) โดยมีการกำหนดกรอบการนำเสนอข้อมูลจากทิศทางและเป้าหมาย 7 เป้าหมายในยุทธศาสตร์ 10 ปี (2565–2574) ของ สสส. ได้แก่ ยาสูบและสิ่งเสพติด แอลกอฮอล์ อาหาร กิจกรรมทางกาย อุบัติเหตุทางถนน สุขภาพจิต และสิงแวดล้อม ในเชิงสภาพแวดล้อม ได้แก่ ครอบครัว โรงเรียน สถานที่ทำางาน ชุมชน และนโยบาย 10 สถานการณ์เด่นทางสุขภาพ และ 4 ผลงานดี ๆ เพื่อสุขภาพคนไทย ซึ่งเป็นการรวบรวมประเด็นสำคัญทั้งในด้านสุขภาพ สังคม และเศรษฐกิจ โดยเป็นประโยชน์และแนวทางในการแก้ปัญหาสุขภาพที่ยั่งยืนได้
10 สถานการณ์เด่นด้านสุขภาพในรอบปี 2566 สามารถสรุปได้ ดังนี้
- ปัญหายาเสพติดในชุมชน – ข้อมูลการเข้ารับการบำบัดรักษายาเสพติดปี 2564 พบว่า ยาบ้าเป็นยาเสพติดที่แพร่ระบาดมากที่สุด ถึงร้อยละ 75 รองลงมาคือ ไอซ์ ร้อยละ 8.6 กัญชาแห้ง ร้อยละ 4.7 และเฮโรอีนร้อยละ 3.9 ตามลำดับ โดยมีประชากรอายุ 18-24 ปี ซึ่งเป็นกลุ่มวัยรุ่นและเยาวชน มีสัดส่วนเข้าไปเกี่ยวข้องกับยาเสพติดมากที่สุด
- บุหรี่ไฟฟ้ารุกคืบในไทย – บุหรี่ไฟฟ้า นอกจากจะมีสารนิโคติน และสารก่อมะเร็งแล้ว ยังประกอบไปด้วยโลหะหนักต่าง ๆ ที่มีพิษต่อปอด ไต ซึ่งจากข้อมูลพบว่า เกินครึ่งของผู้สูบบุหรี่ไฟฟ้าในไทยเป็นกลุ่มเยาวชน อายุ 15-24 ปี ซึ่งภัยคุกคามจากบุหรี่ไฟฟ้าต่อเด็กและเยาวชน เป็นปัญหาสังคมและปัญหาสาธารณสุขที่ต้องแก้ไขอย่างจริงจัง
- ความปลอดภัยบนทางม้าลายและคนเดินเท้า – ก่อนการแพร่ระบาดของโควิด-19 พบผู้เสียชีวิตทางถนนที่เป็นคนเดินเท้าประมาณ 1,200 คนต่อปี โดยเกิดจากการข้ามถนน ประมาณ 400 คนต่อปี การแก้ปัญหาเพื่อลดอุบัติเหตุของคนเดินเท้า และผู้ข้ามถนนทั้งด้านพฤติกรรมของผู้ขับขี่และคนเดินเท้า ด้านกายภาพ และการทำงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จึงเป็นสิ่งสำคัญ เพื่อลดความสูญเสียที่ไม่อาจประเมินค่าได้
- การแก้ไขกฎหมายสุรา – จากร่าง พ.ร.บ.สุราก้าวหน้า มีวัตถุประสงค์เพื่อปลดล็อกสุราชุมชน เป็นการลดเรื่องการผูกขาดการผลิตและจำหน่ายสุราโดยกลุ่มทุนขนาดใหญ่ โดยให้ความสำคัญกับเป้าหมายทางเศรษฐกิจเปิดพื้นที่ให้ผู้ผลิตสุรารายย่อยมากขึ้น ซึ่งควรมีการวางมาตรการให้ครอบคลุมถึงผลกระทบที่อาจเกิดจากสุราด้วย
- ระบบบริการสาธารณสุขในกรุงเทพมหานคร กับการปฏิรูประบบปฐมภูมิ – บทเรียนจากอดีตจนถึงปัจจุบัน ชี้ให้เห็นความจำเป็นที่จะเสริมสร้างระบบบริการสาธารณสุขระดับปฐมภูมิในกรุงเทพมหานครให้มีความเข้มแข็งพร้อมรับมือกับภัยคุกคามสุขภาพต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น
- ประเทศไทยกับความมั่นคงทางอาหาร – มีความมั่นคงทางอาหารอยู่ในเกณฑ์ดี แต่ยังมีจุดอ่อนจากการที่เกษตรกรและผู้ประกอบการรายย่อยขาดการรวมกลุ่มที่เข้มแข็งและยั่งยืน ขาดความรู้ ข้อมูล และเทคโนโลยีในการผลิตและการตลาด ขณะที่ ต้นทุนการผลิตสินค้าเกษตรและอาหารก็สูงขึ้น อีกทั้งกฎหมายยังขาดความยืดหยุ่น ไม่สามารถปรับตัวให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี สังคม และการค้าสมัยใหม่
- สังคมไทยกับความรอบรู้ด้านสุขภาพ – ประเทศไทยมีสถิติการเจ็บป่วยด้วยโรคเรื้อรังสูง โดยมีผู้ใช้บริการในแผนกฉุกเฉินมากขึ้น หรือใช้บริการทางการแพทย์เมื่อมีอาการหนัก สะท้อนถึงข้อจำกัดในความรอบรู้ด้านสุขภาพ ซึ่งมีส่วนช่วยให้คนจำนวนมากสามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพให้เกิดความสมดุลของวิถีชีวิตและสุขภาพ
- ปัญหาแก็งค์คอลเซ็นเตอร์ – ปี 2564 ประเทศไทยมีการโทรศัพท์เพื่อหลอกลวงจากแก๊งคอลเซ็นเตอร์กว่า 6.4 ล้านครั้ง เพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันของปี 2563 ถึง 270% และพบการส่งข้อความ SMS หลอกลวงทางการเงินเพิ่มขึ้นถึง 57% แต่การรับมือกับปัญหาดังกล่าวมีข้อจำกัดทั้งในด้านกฎหมาย การขาดการประสานงานระหว่างหน่วยงานต่าง ๆ และการสร้างภูมิคุ้มกันให้กับคนในสังคม
- ประเทศไทยกับสังคมสูงอายุ – ปี 2565 มีสัดส่วนผู้สูงอายุของไทยเพิ่มเป็นร้อยละ 20 ของประชากรทั้งหมด ทำให้สังคมไทยเป็น “สังคมสูงอายุอย่างสมบูรณ์” และในปี 2583 คาดว่าจำนวนผู้สูงอายุของไทยจะเพิ่มเป็น 20.5 ล้านคนคิดเป็นร้อยละ 31.4 ของประชากรทั้งหมด จึงจำเป็นต้องมีการเตรียมการเข้าสู่สังคมสูงอายุในทุกระดับทั้งระดับบุคคล ชุมชน สังคม และประเทศ
- การส่งเสริมสมุนไพรไทย – พบว่า ตลาดสมุนไพรไทยมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ในปี 2565 การบริโภคผลิตภัณฑ์สมุนไพรในประเทศมีมูลค่าสูงถึง 52,104 ล้านบาท โดยมีมูลค่าการส่งออกสมุนไพรและผลิตภัณฑ์เป็นอันดับ 1 ในภูมิภาคอาเซียน คิดเป็นมูลค่ากว่าหนึ่งหมื่นล้านบาท
สามารถติดตาม 12 ตัวชี้วัด “ปัจจัยสังคมกำหนดสุขภาพ” 4 ผลงานดี ๆ เพื่อสุขภาพคนไทย และบทความพิเศษ คำสัญญาของไทยใน “คอป” (COP: Conference of Parties) กับการรับมือ “โลกรวน” ได้ในรายงานสุขภาพคนไทย ประจำปี 2566
● อ่านข่าวและบทความที่เกี่ยวข้อง
– ย้อนอ่าน ’10 สถานการณ์เด่นด้านสุขภาพ’ ของไทยในเกือบสองทศวรรษที่ผ่านมา
– SDG Updates | รายงานสุขภาพคนไทย 2565 – เปิดข้อมูลสุขภาพ และครอบครัวไทย ใต้วิกฤติโควิด 19
– SDG Updates | สำรวจผลกระทบของโควิด-19 ต่อสุขภาพจิตของคนไทยใน 1 ปีที่ผ่านมา เพื่อดูแลสุขภาพจิตใจกันให้มากขึ้นในปี 2564
ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG2 ขจัดความหิวโหย
– (2.c) นำมาตรการที่สามารถสร้างหลักประกันได้ว่าตลาดโภคภัณฑ์อาหารและตลาดอนุพันธ์สามารถทำงานได้อย่างเหมาะสม และอำนวยความสะดวกในการเข้าถึงข้อมูลของตลาดและข้อมูลสำรองอาหารได้อย่างทันการณ์ เพื่อจำกัดความผันผวนของราคาอาหารที่รุนแรง
#SDG3 สุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี
– (3.4) ลดการตายก่อนวัยอันควรจากโรคไม่ติดต่อให้ลดลงหนึ่งในสาม ผ่านทางการป้องกันและการรักษาโรค และสนับสนุนสุขภาพจิตและความเป็นอยู่ที่ดี ภายในปี 2573
– (3.5) เสริมสร้างการป้องกันและการรักษาการใช้สารในทางที่ผิดรวมถึงการใช้ยาเสพติดในทางที่ผิดและการใช้แอลกอฮอล์ในทางที่เป็นอันตราย
– (3.6) ลดจำนวนการตายและบาดเจ็บจากอุบัติเหตุจากการจราจรทางถนนทั่วโลกลงครึ่งหนึ่ง ภายในปี 2563
– (3.8) บรรลุการมีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า รวมถึงการป้องกันความเสี่ยงทางการเงิน การเข้าถึงการบริการสาธารณสุขจำเป็นที่มีคุณภาพ และเข้าถึงยาและวัคซีนจำเป็นที่ปลอดภัย มีประสิทธิภาพ มีคุณภาพ ในราคาที่สามารถซื้อหาได้
– (3.b) สนับสนุนการวิจัยและการพัฒนาวัคซีนและยาสำหรับโรคติดต่อและไม่ติดต่อที่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อประเทศกำลังพัฒนา ให้มีการเข้าถึงยาและวัคซีนจำเป็นในราคาที่สามารถซื้อหาได้ ตามปฏิญญาโดฮาความตกลงว่าด้วยสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาที่เกี่ยวกับการค้าและการสาธารณสุข ซึ่งเน้นย้ำสิทธิสำหรับประเทศกำลังพัฒนาที่จะใช้บทบัญญัติในความตกลงว่าด้วยสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาที่เกี่ยวกับการค้าอย่างเต็มที่ในเรื่องการผ่อนปรนเพื่อจะปกป้องสุขภาพสาธารณะและโดยเฉพาะการเข้าถึงยาโดยถ้วนหน้า
– (3.d) เสริมขีดความสามารถสำหรับทุกประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศกำลังพัฒนา ในเรื่องการแจ้งเตือนล่วงหน้า การลดความเสี่ยง และการบริหารจัดการความเสี่ยงด้านสุขภาพในระดับประเทศและระดับโลก
#SDG12 การผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน
– (12.4) บรรลุการจัดการสารเคมีและของเสียทุกชนิดตลอดวงจรชีวิตของสิ่งเหล่านั้นด้วยวิธีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ตามกรอบความร่วมมือระหว่างประเทศที่ตกลงกันแล้ว และลดการปลดปล่อยสิ่งเหล่านั้นออกสู่อากาศ น้ำ และดินอย่างมีนัยสำคัญ เพื่อจะลดผลกระทบทางลบต่อสุขภาพของมนุษย์และสิ่งแวดล้อมให้มากที่สุดภายในปี 2563
แหล่งที่มา: รายงานสุขภาพคนไทย – thaihealthreport
ผลงานนี้ได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิเพื่อการพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ ภายใต้โครงการเร่งรัดการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนด้านสุขภาพของประเทศไทย