วันที่ 9 พฤษภาคม 2566 สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เขต 12 สงขลา คณะกรรมการเขตสุขภาพเพื่อประชาชน (กขป.) เขต 12 ศูนย์อนามัยที่ 12 ยะลา จังหวัดและองค์การบริหารส่วนจังหวัด ยะลา ปัตตานี นราธิวาส ร่วมลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) 13 ฝ่าย เพื่อขับเคลื่อนการป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์วัยรุ่นในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ พร้อมกำหนดวาระ “จังหวัดชายแดนใต้ไร้ครรภ์วัยรุ่นภายในปี พ.ศ. 2570”
ความร่วมมือดังกล่าวมุ่งเน้นไปที่การส่งเสริมการใช้ทุนทางสังคม ศาสนา วัฒนธรรมและมิติอื่น ๆ มาเป็นเครื่องมือหลักในการแก้ปัญหา เช่น การเสริมสร้างพลังและบทบาทของสตรีแกนนำระดับหมู่บ้านเพื่อเป็นเครือข่ายดูแลเด็กและสตรีกลุ่มเปราะบาง และการหนุนเสริมพลังอำนาจการตัดสินใจของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในระดับพื้นที่ เช่น สภาสันติสุขตำบล ศูนย์ช่วยเหลือสังคม
นายชาติวุฒิ วังวล ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ สสส. ระบุว่า การป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น เป็นหนึ่งในประเด็นสำคัญอย่างเร่งด่วนของงานสร้างเสริมสุขภาวะทางเพศของสสส. ซึ่งข้อมูลจากกรมอนามัยเปิดเผยว่าปี 2564 ประเทศไทยมีวัยรุ่น (อายุ 10-19 ปี) ตั้งครรภ์มากถึง 49,018 คน คิดเป็น 9.3% ของจำนวนหญิงคลอดบุตรในไทย
สำหรับพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ แม้อัตราการคลอดของแม่วัยรุ่นจะไม่สูงมากนัก แต่การตั้งครรภ์ซ้ำซึ่งเป็นอีกปัญหาความท้าทายที่เชื่อมโยงกับการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นกลับมีค่าเฉลี่ยสูงกว่าค่าเฉลี่ยระดับประเทศ โดยผลจากการสำรวจปี 2565 พบว่าการตั้งครรภ์ซ้ำในหญิงอายุน้อยกว่า 20 ปี ใน จังหวัดยะลาอยู่ที่ 18.28% ปัตตานี 19.85% และนราธิวาส 20.71% ขณะที่ค่าเฉลี่ยระดับเขตอยู่ที่ 16.18% และระดับประเทศอยู่ที่เพียง 14.29%
ทั้งนี้ เหตุผลที่การตั้งครรภ์ในวัยรุ่นเป็นปัญหาที่ต้องเร่งแก้ไขก็เพราะกระทบต่อสุขภาพ โอกาสในการดำรงชีวิตของวัยรุ่นที่ตั้งครรภ์ และส่งผลต่อเศรษฐกิจของประเทศ เนื่องจากก่อให้เกิดการสูญเสียรายได้หรือมีรายได้ที่ลดลง โดยรายงานวิเคราะห์ต้นทุนทางเศรษฐศาสตร์และวิธีการแก้ปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นในประเทศไทย ของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ระบุว่าพบการลดลงของรายได้ตลอดช่วงชีวิตของกลุ่มผู้หญิงอายุ 15-19 ปี จากการมีบุตรเร็ว อยู่ที่ประมาณ 255 พันล้านบาท คิดเป็น 1.6% ของ GDP ประเทศ ขณะที่การศึกษาของกองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติ (United Nations Population Fund: UNFPA) ระบุว่าการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นจะส่งผลให้เกิดแรงกดดันทางสังคมต่อแม่ที่ตั้งครรภ์ทำให้อาจไม่สามารถศึกษาได้อย่างต่อเนื่อง และยังเป็นส่วนหนึ่งของวงจรความยากจนและการบังคับแต่งงาน
การผสานความร่วมมือระหว่าง สสส. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งระดับส่วนกลางและระดับพื้นที่ จึงนับว่าเป็นอีกหนึ่งความก้าวหน้าของความพยายามที่จะป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น ซึ่งเป็นประโยชน์แก่เยาวชนคนหนุ่มสาวและประเทศทั้งในทางสังคมและเศรษฐกิจ
● อ่านข่าวและบทความที่เกี่ยวข้อง
– สธ. ประกาศ ‘ทำแท้งได้ ’ ไม่ผิดกฎหมาย แต่ต้องอยู่ในหลักเกณฑ์ อายุครรภ์ 12 – 20 สัปดาห์ เพื่อคุ้มครองสิทธิแม่และชีวิตของทารกในครรภ์
– การตายของหญิงมีครรภ์ลดลงได้ โดยใช้ Google Maps ช่วยวิเคราะห์เหตุความล่าช้าของการเดินทางเข้ารับบริการสุขภาพ
– การตายของมารดาในเนปาลเพิ่มขึ้น เพราะโควิด-19 ทำให้หญิงตั้งครรภ์พลาดการตรวจสุขภาพและเลือกคลอดที่บ้าน
– อัตราวัยรุ่นตั้งครรภ์ในสกอตแลนด์ ต่ำสุดในเกือบ 30 ปี เพราะความรู้วิธีคุมกำเนิดที่ดีขึ้นและไลฟ์สไตล์วัยรุ่นที่เปลี่ยนไป
– การคุมกำเนิดฟรี ทำให้การตั้งครรภ์ในวัยรุ่นและการทำแท้งในฟินแลนด์ลดลง
– หน่วยดูแลสุขภาพแม่และเด็กเคลื่อนที่ในสหรัฐฯ ช่วยให้สตรีตั้งครรภ์ได้ฝากท้องฟรี
– รายงานการทบทวนเชิงกลยุทธ์และข้อเสนอแนะต่อการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นฯ โดย UNFPA Thailand
ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG3 สุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี
– (3.1) ลดอัตราการตายของมารดาทั่วโลกให้ต่ำกว่า 70 ต่อการเกิดมีชีพ 1 แสนคน ภายในปี 2573
– (3.7) สร้างหลักประกันถ้วนหน้า ในการเข้าถึงบริการสุขภาพทางเพศและอนามัยเจริญพันธ์ รวมถึงการวางแผนครอบครัว และข้อมูลข่าวสารและความรู้และการบูรณาการอนามัยเจริญพันธุ์ไว้ในยุทธศาสตร์และแผนงานระดับชาติ ภายในปี 2573
#SDG5 ความเท่าเทียมทางเพศ
– (5.6) สร้างหลักประกันว่าจะมีการเข้าถึงสุขภาพทางเพศและอนามัยเจริญพันธุ์และสิทธิด้านการเจริญพันธุ์โดยถ้วนหน้า ตามที่ตกลงในแผนปฏิบัติการของการประชุมนานาชาติว่าด้วยประชากรและการพัฒนา และปฏิญญาปักกิ่งและเอกสารทบทวนผลลัพธ์จากการประชุมเหล่านั้น
ผลงานนี้ได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิเพื่อการพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ ภายใต้โครงการเร่งรัดการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนด้านสุขภาพของประเทศไทย