Site icon SDG Move

Editor’s pick 02 |  อนาคตของ SDGs  กับ 7 ประเด็นท้าทายที่ไม่ปรากฏในนโยบายพรรครัฐบาล

สวัสดีผู้อ่านทุกท่าน

จดหมายข่าวฉบับนี้สรุปประเด็นสำคัญต่อการขับเคลื่อน SDGs ที่เกิดขึ้นในรอบสองเดือนที่ผ่านมา และเนื่องจากเป็นห้วงเวลาที่มีการประชุมเวทีนานาชาติจำนวนมาก องค์การระหว่างประเทศจึงได้เผยแพร่สถานการณ์ SDGs ทั้งในภาพรวมและเชิงประเด็น ส่วนสถานการณ์ภายในประเทศช่วงที่ผ่านมาเราเผชิญกับปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะ PM 2.5 อีกทั้งเรายังอยู่ในช่วงเวลาสำคัญคือการเลือกตั้งทั่วไป ปี 2566 ที่จดหมายข่าวฉบับนี้จะได้กล่าวถึงด้วย

เช่นเคย จดหมายข่าวฉบับนี้ประกอบด้วยเนื้อหาทั้งหมด 3 ส่วน


Editor’s note

อนาคตของ SDGs  หลังรัฐบาลชุดใหม่

รอบสองเดือนที่ผ่านมาคงไม่มีประเด็นใดอยู่ในวงความสนใจและมีผลต่อทิศทางของสังคมไทยมากไปกว่าการเลือกตั้งทั่วไปที่สิ้นสุดลงเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคมที่ผ่านมา หลายฝ่ายต่างจับตามองว่านโยบายไทยภายใต้การบริหารของรัฐบาลชุดใหม่จะนำพาประเทศไปสู่ทิศทางใด ในฐานะคนทำงานในแวดวง SDGs เรามักได้ยินข้อคำถามที่ว่า “หากมีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลชุดใหม่แล้ว SDGs จะหายไปหรือไม่?”

ในทางหลักการ SDGs เป็นวาระการพัฒนาระดับโลกที่ประเทศไทยได้ให้คำมั่นไว้ต่อสหประชาชาติ ดังนั้น แม้จะเปลี่ยนแปลงรัฐบาลก็มิได้ทำให้คำมั่นที่ไทยเคยให้ไว้สิ้นผลผูกพันไป ส่วนในทางปฏิบัติประเด็นตามเป้าหมาย SDGs นั้นถูกนำไปบรรจุในแผนพัฒนาระดับประเทศ เช่น แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 แผนปฏิบัติราชระดับกระทรวง ระดับกรม กล่าวคือ ประเด็นการพัฒนาตาม SDGs ถูกกระจายลงสู่ส่วนงานระดับต่าง ๆ อย่างน้อยที่สุดก็ลงไปสู่ฝ่ายแผนงาน ฝ่ายติดตามประเมินผลไปแล้ว ประกอบท่าทีในทางระหว่างประเทศของไทย โดยกรมองค์การระหว่างประเทศ กระทรวงต่างประเทศ รายงานความก้าวหน้าตาม SDGs ผ่านการจัดทำรายงานโดยสมัครใจ (VNRs) สม่ำเสมอทุกปี จึงเป็นไปได้ยากที่รัฐบาลชุดใหม่จะปัดตก ไม่รับหลักการหรือยกเลิกการดำเนินงานไปโดยสิ้นเชิง

นอกจากนี้ หากพิจารณาถึงความสอดคล้องเชิงนโยบายของพรรคแกนนำจัดตั้งรัฐบาล อาทิ ก้าวไกล เพื่อไทย ไทยสร้างไทย เสรีรวมไทย ต่างมีนโยบายที่สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ทั้งยังมีความครอบคลุมทั้งในเชิงเนื้อหา เชิงกระบวนการทิศทางการทำงานของรัฐบาลชุดใหม่จึงมีแนวโน้มที่จะหนุนเสริม ผลักดันให้สังคมไทยมุ่งสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนมากกว่าการถูกปัดตกทิ้งดังที่มีความกังวล  อย่างไรก็ดี ไม่ตัดความเป็นไปได้ที่อาจมีการแปลงเปลี่ยนระบบหรือโครงสร้างการทำงานที่ปัจจุบันประเทศไทยใช้กลไกของคณะกรรมการเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (กพย.) เป็นกลไกกลางในการขับเคลื่อน ทว่า จากการดำเนินงานที่ผ่านมากลไก กพย. ถูกใช้ในลักษณะของการติดตาม รายงานผลเท่านั้น ยังพบการทำงานเชิงรุก การทำหน้าที่เป็นตัวกลางเชื่อมประสานภาคส่วนค่อนข้างน้อย หากรัฐบาลชุดใหม่มีความตั้งใจที่จะขับเคลื่อน SDGs ก็เป็นไปได้ว่าอาจมีการปรับเปลี่ยนเชิงกระบวนการทำงานได้

ในขั้นต้นจึงขอสรุปให้ผู้ทำงานในภาคส่วนการพัฒนาและมีความตั้งใจจะนำ SDGs มาใช้วางใจได้ว่า การเปลี่ยนแปลงรัฐบาลชุดใหม่มิได้ทำ SDGs สิ้นผลหรือหายไปจากประเทศไทยอย่างแน่นอน แต่อาจมีการเปลี่ยนแปลงเชิงกระบวนการที่เป็นไปตามปกติของการเปลี่ยนผ่านผู้กำหนดนโยบาย

7 ประเด็นท้าทายที่ไม่ปราฏในนโยบายพรรครัฐบาล

ผลจากการวิเคราะห์นโยบายของพรรคการเมืองผ่านบทความ  SDG Policy focus SDG Policy Focus : เลือกตั้ง 66 นโยบายพรรคไหนตอบโจทย์ SDGs ที่สุด เราพบว่านโยบายของพรรคแกนนำจัดตั้งรัฐบาลนั้นมีความสอดคล้องกับประเด็นที่บรรจุใน SDGs อย่างมาก ทว่าก็ยังมีประเด็นที่เป็นความท้าทายสำคัญของสังคมไทย บางประเด็นอยู่ในสถานะวิกฤตตามสถานะ SDGs มาหลายปี แต่ประเด็นเหล่านี้กลับไม่ปรากฏในนโยบายของพรรคการเมืองใดเลย   ได้แก่ 

1. การจัดการค้นหาและรักษาเชื้อวัณโรค ทั้งที่ประเทศไทยเป็น 1 ใน 14 ประเทศที่ WHO จัดให้อยู่ในกลุ่มประเทศภาระวัณโรคสูง นโยบายที่จะช่วยค้นหาเเละรักษาผู้ป่วยอย่างครอบคลุมมากที่สุดจึงเป็นโจทย์สำคัญที่จะลดภาระวัณโรคในไทย

2. การป้องกันและแก้ไขปัญหาความรุนแรงในครอบครัว ปี 2565 องค์การสหประชาชาติเคยระบุว่าประเทศไทยติด 1 ใน 10 ของโลก ผู้ชายใช้ความรุนแรงต่อเด็กและผู้หญิง อย่างต่อเนื่อง และส่วนใหญ่เป็นบุคคลในครอบครัว สถิติจาก สสส. เปิดเผยว่าถูกกระทำความรุนแรงทางร่างกายหรือจิตใจ ไม่น้อยกว่า 7 คน/วัน และมีสถิติผู้หญิงที่เข้ารับการบำบัดรักษา แจ้งความร้องทุกข์ประมาณปีละ 30,000 คน

3. การประกันความเป็นธรรมในการเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากความหลากหลายทางพันธุกรรมของเกษตรกรรายย่อย 

ที่ผ่านมาระบบผลิตอาหารของประเทศมุ่งผลิตพืชผลการเกษตรสายพันธุ์เดียวกัน ชนิดเดียวกันเพื่อตอบสนองความต้องการของตลาด และง่ายต่อการวางแผนบริหารจัดการ ทำให้ความหลากหลายทางพันธุกรรมมิใช่ประเด็นที่ถูกพูดถึงหรือให้ความสำคัญในวงกว้างมากนัก แต่หากพิจารณาแง่มุมของการผลิตอาหารให้กว้างไปกว่าการผลิตเพื่อตอบโจทย์ตลาด  ความหลากหลายทางพันธุกรรมนั้นเป็นเสมือนหลักประกันที่ทำให้เกษตรกรมีทางเลือกและความสามารถในการตั้งรับปรับตัวจากปัจจัยที่ไม่คาดคิด เช่น โรคระบาดในพืช ภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลง การสามารถเข้าถึงและเลือกใช้พันธุกรรมที่หลากหลายช่วยลดความเสี่ยง และความรุนแรงของผลกระทบให้เกษตรกรได้มากกว่าการปลูกผลผลิตเกษตรเชิงเดี่ยว  

4. การส่งเสริมการให้ความรู้และผนวกประเด็นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศไว้ในหลักสูตรการศึกษา เนื่องจากการเปลี่ยนเเปลงสภาพภูมิอากาศเป็นประเด็นร่วมสมัยที่ก่อผลกระทบวงกว้างต่อหลายภาคส่วน และประเทศไทยมีความเสี่ยงด้านภูมิอากาศโลกสูงเป็นอันดับ 9 ของโลก การส่งเสริมการเรียนรู้ ทำความเข้าใจถึงต้นสายปลายเหตุ ผลกระทบ เเละเเนวทางตั้งรับปรับตัวจึงเป็นเรื่องที่ควรผลักดันไว้ในเนื้อหาทางการศึกษา  รายงานการศึกษา “การประเมินผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและความเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อมต่อเด็กในประเทศไทย” ของยูนิเซฟ พบว่า นโยบายและแผนที่มีอยู่ในประเทศไทยยังไม่มีมาตรการเพื่อสนับสนุนการปรับตัวต่อการเปลี่ยนสภาพภูมิอากาศในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงสูง และยังขาดมาตรการเฉพาะเพื่อปกป้องเด็กจากผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและความเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อม

5. การจัดการขยะพลาสติกในทะเล ปี 2564 ประเทศไทยติดอันดับ 1 ใน 10 ประเทศที่ทิ้งขยะพลาสติกลงทะเลมากที่สุดในโลก มีปริมาณมากถึง 22.8 ล้านกิโลกรัม ขยะพลาสติกเป็นหนึ่งในสาเหตุการตายของสัตว์ทะเล ทำลายระบบนิเวศทางทะเล ทำให้นาโนพลาสติกปนเปื้อนในสัตว์ทะเลและอาจก่ออันตรายต่อผู้บริโภคในอีกทอดหนึ่ง นอกจากนี้ยังเป็นปัญหาสิ่งแวดล้อมข้ามพรมแดนที่ต้องอาศัยความร่วมมือระหว่างประเทศ ที่แม้แต่ละประเทศรวมถึงไทยจะมีแผนงานและมาตรการการจัดการขยะพลาสติกแล้ว ขณะที่ในระดับภูมิภาคก็มีแผนปฏิบัติการภูมิภาคอาเซียนว่าด้วยการต่อต้านขยะทะเล พ.ศ. 2564 – 2568 (ASEAN Regional Action Plan for Combating Marine Debris, 2021 – 2025) แล้ว ทว่ายังไม่มีความแน่ชัดถึงความเพียงพอของระดับความเข้มข้นในมาตรการ ทรัพยากรสนับสนุน การขับเน้นให้เป็นเรื่องสำคัญจึงต้องได้รับความสนใจจากผู้กำหนดนโยบาย ทั้งนี้ หากพิจารณานโยบายหาเสียงของพรรคแกนนำรัฐบาลจะพบว่า มาตรการจัดการขยะถูกระบุว่าจัดการทุกแหล่งกำเนิด ในแง่หนึ่งอาจหมายความว่าครอบคลุมถึงการจัดการขยะในทะเลแล้ว แต่ในทางกลับกัน การมิได้ถูกขับเน้นออกมาอย่างชัดเจนแต่แรกอาจเสี่ยงต่อการถูกลดทอนลำดับความสำคัญ หรือมีความเบาบางในการจัดการได้เช่นกัน

6. การเปลี่ยนผ่านพลังงานที่เป็นธรรม (Just energy transition) โดยเฉพาะ การรองรับผลกระทบต่อแรงงานจากการเปลี่ยนผ่านไปสู่พลังงานสะอาด  การเปลี่ยนผ่านพลังงานจากพลังงานฟอสซิลไปสู่พลังงานสะอาด เช่น การเปลี่ยนมาสู่อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า แรงงานไทยในอุตสาหกรรมยานยนต์นั้น มีประมาณ 800,000 คน การผลิตรถยนต์ไฟฟ้าที่ใช้ชิ้นส่วนน้อยกว่าอุตสาหกรรมแบบเดิม 10 เท่า ทำให้แรงงานต้องปรับเปลี่ยนทักษะ และหากปรับตัวไม่ทันจะมีผู้ได้รับผลกระทบกลุ่มใหญ่ การเปลี่ยนผ่านจำเป็นต้องคำนึงความเป็นธรรม การมีนโยบายที่ช่วยเหลือหรือพัฒนาศักยภาพของเเรงงานให้ทันต่อการเปลี่ยนผ่านจะช่วยให้พวกเขาไม่ถูกทิ้งไว้ข้างหลัง

7. การคุ้มครองและอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ  การประชุม COP27 เน้นย้ำถึงความสำคัญของความหลากหลายทางชีวภาพต่อการจัดการกับภาวะโลกร้อนและการเปลี่ยนแปลงสภาพภุมิอากาศว่า ‘ไม่มีทางเป็นไปได้‘ ที่จะจำกัดอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกไม่ให้เพิ่มสูงขึ้นถึง 1.5 องศาเซลเซียส ตามความตกลงปารีส (Paris Agreement) หากไม่มีการปกป้องและฟื้นฟูธรรมชาติอย่างเร่งด่วน การอนุรักษ์ ฟื้นฟู พัฒนา เเละใช้ประโยชน์จากทรัพยากรทางชีวภาพที่หลากหลาย รวมถึงการป้องกันการสูญพันธุ์ของพืชเเละสัตว์จึงมีผลโดยตรงต่อการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ  ดังนั้น หากรัฐบาลต้องการให้ประเทศไทยเป็นส่วนหนึ่งของการร่วมจัดการไม่ให้อุณหภูมิเลิกสูงเกิน 1.5 องศาเซลเซียส ลำพังเพียงนโยบายการยับยั้งการปล่อยก๊าซเรือนกระจก การซื้อจายคาร์บอนเครดิตเท่าที่เสนอมาจึงไม่เพียงพอ และจำต้องผนวกประเด็นความหลากหลายทางชีวภาพเข้าไปอยู่ในลำดับความสำคัญด้วย

7 ประเด็นข้างต้นส่วนใหญ่เป็นประเด็นที่หน่วยงานภาครัฐผู้รับผิดชอบนั้นเห็นถึงปัญหา และเริ่มจัดให้มีมาตรการรองรับจัดการอยู่บ้างแล้ว การไม่มีนโยบายจากพรรคการเมืองมิได้หมายความว่าประเด็นเหล่านี้จะไม่ถูกจัดการเลย เพียงแต่หากผู้กำหนดนโยบายรับรู้และเล็งเห็นความสำคัญของประเด็นดังกล่าวจะมีส่วนช่วยปรับทิศทาง และหนุนเสริมหน่วยงานผู้รับผิดชอบได้อย่างดียิ่งขึ้น จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องขับเน้น ส่งสารให้ไปถึงผู้กำหนดนโยบาย 


อ่านบทความฉบับเต็ม และอินโฟกราฟิกเข้าใจง่ายได้ที่นี่

Highlight issues

จากการติดตามข่าวสารและประเด็นที่เกี่ยวข้องหรือส่งผลกระทบต่อ SDGs ทั้งระดับนานาชาติ และประเทศไทย ภายใต้โครงการ SDG Watch ในช่วงปลายเดือนมีนาคม จนถึงต้นเดือนพฤษภาคม 2566 ยังพบว่าประเด็นมีข่าวสารที่เกี่ยวข้องหรือส่งผลกระทบต่อ SDGs อย่างมีนัยยะสำคัญ ดังสรุปได้ ดังนี้


ระดับนานาชาติ


  1. รายงานโดย ESCAP เปิดเผยว่า เอเชีย-แปซิฟิก ต้องใช้เวลาอีก 42 ปี จึงจะบรรลุเป้าหมาย SDGs ที่ควรจะบรรลุในปี 2030 รายงาน “Asia and the Pacific SDG Progress Report” ประจำปี 2566 โดยคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติ (ESCAP)  เพื่อนำเสนอความก้าวหน้าในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก ระบุถึงผลสำคัญว่า ความก้าวหน้าในการดำเนินการเพื่อบรรลุ SDGs ของภูมิภาคนี้คืบหน้าขึ้นร้อยละ 14.4 เมื่อเทียบกับปี 2560(2017) อยู่ที่ร้อยละ 4.4 ซึ่งนับว่าเป็นความคืบหน้าที่น้อยมากเมื่อเทียบกับระยะเวลาที่เหลืออยู่อีกประมาณ 7 ปี ก่อนที่วาระ SDGs จะสิ้นสุดลงในปี 2573(2030) และหากเป็นเช่นนี้ต่อไป ESCAP คาดการณ์ว่าภูมิภาคนี้จะต้องใช้เวลาอีก 42 ปีจึงจะสามารถบรรลุเป้าหมาย SDGs ได้
  1. รายงาน UNCTAD ชี้มหาสมุทรกำลังถูกคุกคาม จากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา (United Nations Conference on Trade and Development : UNCTAD) ได้เผยแพร่รายงาน  Trade and Environment Review 2023 วิเคราะห์เศรษฐกิจมหาสมุทร (ocean economy) ของโลก ซึ่งมีมูลค่าระหว่าง 3 – 6 พันล้านดอลลาร์ และประเมินว่ากิจกรรมของมนุษย์และวิกฤตการณ์ที่เกิดขึ้นทั่วโลกส่งผลกระทบอย่างมากต่อภาคส่วนต่าง ๆ เช่น การประมง อาหารทะเล การขนส่งและการท่องเที่ยวทางทะเลและชายฝั่ง

    รายงานสะท้อนให้เห็นว่าทรัพยากรทางทะเลกำลังถูกคุกคามจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ มลภาวะ และการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ (biodiversity loss) ซึ่งจากการประเมิน พบว่า ปัจจุบันมีการลงทุนมูลค่า 2.8 ล้านล้านดอลลาร์ สำหรับแก้ปัญหามหาสมุทรให้ยั่งยืน ทั้งสิ้น 4 วิธี ได้แก่ หนึ่ง การอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าชายเลน สอง การลดคาร์บอนของการส่งสินค้าระหว่างประเทศ สาม การผลิตอาหารที่ได้จากทะเลอย่างยั่งยืน และ สี่ การผลิตพลังงานจากกังหันลมนอกชายฝั่ง ซึ่งคาดว่าหากแก้ปัญหาดังกล่าวได้ จะให้ผลประโยชน์สูงสุดถึง 15.5 ล้านล้านดอลลาร์ภายในปี 2593 และหากไม่มีข้อตกลง “Global Blue Deal” คาดว่าผลประโยชน์ดังกล่าวและเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน SDG14 ทรัพยากรทางทะเล จะดำเนินการเป็นไปได้ยากขึ้น ซึ่งเวลานี้ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะกำหนดแนวทางใหม่และเพิ่มการลงทุนที่มากขึ้น เพื่อสร้างเศรษฐกิจมหาสมุทรที่ยั่งยืน
  1. UN Water รายงานความคืบหน้าเรื่องน้ำ ชี้สถานการณ์การบรรลุเป้าหมาย SDG6 ยังไม่เป็นไปตามแผนรายงาน“United Nations World Water Development Report 2023: Partnerships and Cooperation for Water” ที่เผยแพร่ใน UN 2023 Water Conference ระหว่างวันที่ 22-24 มีนาคม 2566  ระบุว่า การใช้น้ำทั่วโลกเพิ่มขึ้นประมาณ 1% ต่อปีในช่วง 40 ปีที่ผ่านมา จากการเติบโตของประชากร การพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และรูปแบบการบริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป ที่คาดว่าการใช้น้ำจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในอัตราใกล้เคียงกันจนถึงปี 2593 โดยการเพิ่มขึ้นส่วนใหญ่ จะกระจุกตัวอยู่ในประเทศรายได้ปานกลางและรายได้ต่ำ ซึ่งการขาดแคลนน้ำกำลังกลายเป็นปัญหาเฉพาะถิ่น จากรายงานพบว่า โดยเฉลี่ยร้อยละ 10 ของประชากรโลกอาศัยอยู่ในประเทศที่ต้องเผชิญกับความเครียดหรือวิกฤตด้านน้ำ พร้อมเตือนว่าปัจจุบัน ความคืบหน้าภาพรวมเป้าหมายทั้งหมดของ SDG6 น้ำสะอาดและการสุขาภิบาลนั้นไม่เป็นไปตามแผนที่วางไว้ และในบางพื้นที่ พบว่าอาจต้องเร่งดำเนินการเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 4 เท่า เพื่อให้บรรลุเป้าหมายตามกำหนดวาระการพัฒนาที่ยั่งยืนปี 2573
  1. UNGA มีมติขอศาลยุติธรรมระหว่างประเทศให้ความเห็นเชิงปรึกษาว่ารัฐมีหน้าที่ ความรับผิดต่อ Climate change อย่างไร เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2566 สมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ (UNGA) มติ(แบบฉันทามติ) ยื่นขอให้ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (ICJ) ให้ความเห็นเชิงปรึกษา (advisory opinion) ถึงพันธกรณีของรัฐภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยเฉพาะการดำเนินการเพื่อรับประกัน การปกป้องระบบภูมิอากาศจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของมนุษย์ และยังขอให้ศาลให้ความเห็นเพิ่มเติมเกี่ยวกับผลทางกฎหมายจากการที่รัฐกระทำหรือละเว้นการกระทำที่ก่อให้เกิดอันตรายอย่างสำคัญต่อระบบภูมิอากาศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลกระทบต่อรัฐกำลังพัฒนาที่เป็นเกาะขนาดเล็ก และต่อประชาชนทั้งในรุ่นปัจจุบัน และคนรุ่นหลัง การขอความเห็นเชิงปรึกษา เป็นกระบวนการตามกฎหมายระหว่างประเทศที่ให้รัฐหรือองค์การระหว่างประเทศสามารถยื่นขอคำปรึกษาต่อศาลยุติธรรมระหว่างประเทศเพื่อให้ศาลช่วยแนะนำ หรือตีความประเด็นข้อกฎหมายที่มีความคลุมเครือให้ชัดเจนมากขึ้น การยื่นขอความเห็นครั้งนี้จึงนับเป็นความพยายามสำคัญในการสร้างความชัดเจนแก่หน้าที่และความรับผิดของรัฐต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่มีความคลุมเครือ ขาดสภาพบังคับและการดำเนินการที่เป็นไปอย่างล่าช้ามาโดยตลอด

อ่านข่าวฉบับเต็มโดยคลิกที่รูปภาพ


ประเทศไทย


ความเคลื่อนไหวสำคัญของประเทศไทยในรอบ 2 เดือนที่ผ่านมาเน้นหนักไปในด้านสิ่งแวดล้อมที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ โดยเฉพาะปัญหาฝุ่น PM2.5 สถานการณ์การเผาข้ามแดน นอกจากนี้ยังมีการศึกษาถึงความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อเด็ก ที่เป็นการศึกษาผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากากาศต่อกลุ่มเป้าหมายเฉพาะฉบับแรกของไทย ขณะที่สถานการณ์ด้านการประมงมีการเผยแพร่รายงาน “อุตสาหกรรมอวนลากในประเทศไทย” ที่ฉายถึงสถานการณ์การทำประมงเกินขนาด และการใช้เครื่องมือที่ส่งผลกระทบต่อชนิดพันธุ์ ดังสรุปได้ดังนี้

  1. ปัญหาฝุ่น PM2.5 และการเผาข้ามแดน ในรอบเดือนมีนาคม เมษายน 2566 สถานการณ์ฝุ่น PM2.5 และหมอกควันกลับมารุนแรงขึ้นโดยเฉพาะบริเวณภาคเหนือของประเทศไทยดัชนีคุณภาพอากาศชี้ว่าค่าฝุ่น PM2.5 สูงเกินค่ามาตรฐานและอยู่ในระดับที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพประชาชน ผนวกกับปรากฏการณ์เอลนีโญในปีนี้ทำให้ประเทศไทยและเพื่อนบ้านเผชิญกับสภาวะอากาศร้อนจัดกระตุ้นให้เกิดไฟป่าตามแนวพรมแดนรุนแรงกว่าหลายปีที่ผ่านมา ส่งผลให้สังคมจับตาและเริ่มมีบทสนทนาเกี่ยวกับการถกถามถึงนโยบายการจัดการปัญหาโดยเฉพาะการจัดการกับการเผาในภาคเกษตร สาเหตุหลักของฝุ่น PM2.5
  2. ผลประเมินจากยูนิเซฟเผย “เด็กอีสาน-ใต้” เสี่ยงสูงจาก Climate change ผลการประเมินจาก รายงานการศึกษา “การประเมินผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและความเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อมต่อเด็กในประเทศไทย” ของยูนิเซฟ ชี้ว่า เด็กในประเทศไทยกำลังเผชิญความเสี่ยงสูงต่อผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยเด็กในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคใต้ จำนวน 10 จังหวัด เป็นกลุ่มที่เผชิญความเสี่ยงสูงสุดต่อผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศระหว่างปี พ.ศ. 2559 – 2578 โดยเฉพาะภายใต้สถานการณ์ RCP4.5 (การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในระดับปานกลาง) ได้แก่ อุบลราชธานี นครราชสีมา ศรีษะเกษ นครศรีธรรมราช นราธิวาส สุรินทร์ สงขลา บุรีรัมย์ ขอนแก่น และสุราษฎร์ธานี ทั้งยังระบุข้อสังเกตที่ต้องจัดการต่อว่านโยบายและแผนที่มีอยู่ในประเทศไทยยังไม่มีมาตรการเพื่อสนับสนุนการปรับตัวต่อการเปลี่ยนสภาพภูมิอากาศในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงสูง และยังขาดมาตรการเฉพาะเพื่อปกป้องเด็กจากผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและความเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อม
  3. สถานการณ์ประมงไทย กับผลกระทบจากการใช้อวนลาก มูลนิธิความยุติธรรมเชิงสิ่งแวดล้อม (Environmental Justice Foundation: EJF) เผยแพร่รายงาน “อุตสาหกรรมอวนลากในประเทศไทย” เผยสถานการณ์การใช้อวนลากในประเทศไทยและผลกระทบที่เกิดขึ้น  เนื้อหาบางส่วนจากรายงานระบุว่า แม้ประเทศไทยจะเริ่มปฏิรูปการประมงมาตั้งแต่ปี 2558 แต่การฟื้นตัวของระบบนิเวศในปี 2564 ยังคงเชื่อมโยงกับปริมาณสัตว์น้ำที่ลดลง โดยหากพิจารณาสถิติเกี่ยวกับปริมาณสัตว์น้ำที่จับได้ต่อหน่วยลงแรงประมง (catch per unit effort: CPUE) ซึ่งเป็นหน่วยที่มักใช้วัดความอุดมสมบูรณ์ของสัตว์น้ำ จะพบว่าบริเวณท่าเรือสำคัญ 3 แห่ง ที่มักใช้จดทะเบียนเรืออวนลาก ได้แก่ จังหวัดนครศรีธรรมราช จังหวัดสมุทรสงคราม และจังหวัดสมุทรปราการ ล้วนเป็นพื้นที่ที่มีค่า CPUE ต่ำสุดในประเทศ

    นอกจากนี้ ข้อมูลการจับสัตว์น้ำของเรืออวนลากตั้งแต่ปี 2551-2562 แสดงให้เห็นว่ามีปริมาณสินค้า (หน่วยวัดเป็นตัน) ลดลงจาก 784,991 ตันในปี 2551 เหลือ 637,213 ตันในปี พ.ศ. 2562 นับเป็นสัดส่วน 19% ในขณะเดียวกัน น้ำหนักตันกรอสรวมของเรือลากอวนกลับเพิ่มสูงขึ้นจาก 154,972 ตันในปี 2551 เป็น 201,426 ตันในปี 2562 (เพิ่มขึ้น 30%) สะท้อนว่าผู้ประกอบการมีการทำประมงเกินขนาดด้วยความคิดว่าการใช้เรือเชิงอุตสาหกรรมที่มีขนาดใหญ่ขึ้นจะทำให้จับสัตว์น้ำได้มากขึ้นซึ่งขัดแย้งกับความเป็นจริงในปัจจุบัน  การประมงอวนลากที่ยังคงดำเนินต่อเนื่องในไทยข้างต้น จึงส่งผลกระทบให้เกิดปัญหาทางทะเลที่สำคัญคือการทำลายล้างสัตว์น้ำเศรษฐกิจขนาดเล็ก เนื่องจากประมงอวนลากเป็นวิธีที่ทำให้เกิดการจับปลาเป็ดแท้และปลาเป็ดเทียมเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก
  4. สสส. เปิดเผยข้อมูลล่าสุดพบว่าแรงงานไทยเครียดจัด สูงอันดับ 1 ของกลุ่มผู้ขอรับคำปรึกษาจากสายด่วนสุขภาพจิต  สสส. สานพลัง กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้เปิดเผยว่า ในปี 2566 แรงงานไทยเครียดจัด โทรสายด่วนสุขภาพจิต สูงอันดับ 1 ซึ่งจากข้อมูลสายด่วนสุขภาพจิต 1323 เมื่อเดือนมกราคม ปี 2566 พบว่า วัยแรงงาน ที่มีอายุระหว่าง 20-59 ปี ได้ขอรับบริการเรื่องความเครียด วิตกกังวล ไม่มีความสุขในการทำงาน สูงเป็นอันดับ 1 จำนวนกว่า 5,989 สาย จากทั้งหมด 8,009 สาย ซึ่งเป็นสิ่งสะท้อนว่าแรงงานไทยกำลังประสบปัญหาสุขภาพจิต และจำเป็นต้องได้รับการดูแลสุขภาวะอย่างจริงจังในทุกมิติ

Our Activities



พิมพ์นารา อินต๊ะประเสริฐ – บรรณาธิการ
อติรุจ ดือเระ – เจ้าหน้าที่สื่อสาร
แพรวพรรณ ศิริเลิศ – เจ้าหน้าที่สื่อสาร
วิจย์ณี เสนเเดง – ภาพประกอบ
กนกพร บุญเลิศ – ประสานงาน

Author

Exit mobile version