Site icon SDG Move

SDG Spotlight – 6 ข่าว SDGs น่าสนใจในรอบสัปดาห์ที่ 3 ประจำเดือนพฤษภาคม 2566

จากการสำรวจข่าวสารความเคลื่อนไหวที่เกี่ยวข้องและส่งผลต่อการขับเคลื่อน SDGs ระหว่างวันที่  13 – 19 พฤษภาคม 2566 มีข่าวสารความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจ ดังนี้

ก้าวไกลหารือนโยบายสิ่งแวดล้อมในการทำ MOU กับพรรคร่วมรัฐบาล

วันที่ 16 พฤษภาคม 2566 พรรคก้าวไกลซึ่งเป็นพรรคที่ได้รับเลือก ส.ส. มากที่สุด (อย่างไม่เป็นทางการ) จากการเลือกตั้งทั่วไป เปิดเผยว่าได้เตรียมความพร้อมนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมและพลังงาน 3 ประเด็น เพื่อเข้าหารือกับ 5 พรรคการเมืองที่จะร่วมจัดตั้งรัฐบาล ได้แก่ พรรคเพื่อไทย พรรคประชาชาติ พรรคเป็นธรรม พรรคเสรีรวมไทย และพรรคไทยสร้างไทย ในการจัดทำบันทึกความเข้าใจ (memorandum of understanding: MOU) สำหรับจัดตั้งรัฐบาล

ทั้ง 3 ประเด็น ประกอบด้วย 1) นโยบายด้านสิ่งแวดล้อม 2) นโยบายฝุ่น PM 2.5 และ 3) นโยบายโซลาร์เซลกับค่าไฟฟ้า โดย เดชรัตน์ สุขกำเนิด ผู้อำนวยการ Think Forward Center พรรคก้าวไกล ระบุว่า “เรื่อง PM2.5 ต้องเตรียมให้พร้อมสำหรับต้นปีหน้า เราไม่อยากให้เกิดภาพแบบนี้อีก โดยเฉพาะปีหน้ามีเอลนิญโญก็จะมีความแล้งเยอะ เพราะฉะนั้นปัญหามันอาจจะเยอะกว่าปีนี้ก็ได้ ขณะที่เรื่องขยะอาจไม่สามารถเปลี่ยนแปลงใน 100 วันแรกได้ แต่คงต้องเจรจาว่านโยบายขยะจะเอาอะไรบ้างซึ่งจะแยกเป็นประเภท ๆ เช่นขยะอุตสาหกรรมจะเอาอย่างไร ขยะมลพิษจะเอาอย่างไร”

ประเด็นดังกล่าวสอดคล้องกับการขับเคลื่อน SDG3 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 3.9 ลดจำนวนการตายและการเจ็บป่วยจากสารเคมีอันตรายและจากมลพิษและการปนเปื้อนทางอากาศ SDG11 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 11.6 ลดผลกระทบทางลบต่อสิ่งแวดล้อมต่อหัวประชากรในเขตเมือง รวมถึงการให้ความสนใจเป็นพิเศษต่อการจัดการคุณภาพอากาศ SDG 13 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 13.1 เสริมภูมิต้านทานและขีดความสามารถในการปรับตัวต่ออันตรายและภัยพิบัติทางธรรมชาติที่เกี่ยวข้องกับภูมิอากาศในทุกประเทศ 13.2 บูรณาการมาตรการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในนโยบาย ยุทธศาสตร์ และการวางแผนระดับชาติ และ SDG17 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 17.14 ยกระดับความสอดคล้องเชิงนโยบายเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน

เข้าถึงได้ที่: ฝุ่น PM 2.5 – โซลาร์เซลล์ – ขยะ” สามนโยบายสิ่งแวดล้อมใน MOU พรรคร่วมรัฐบาล ก้าวไกลเผย (GreenNews) 

เครือข่ายประชาชนเชียงใหม่ยื่นอุทธรณ์ศาล กรณียื่นฟ้อง 4 ฝ่ายละเลยแก้ปัญหาฝุ่น

วันที่ 17 พฤษภาคม 2566 ตัวแทนเครือข่ายประชาชนเชียงใหม่ แถลงความคืบหน้าผ่านเพจเฟซบุ๊ก “ประชาไท” กรณียื่นฟ้อง 4 ฝ่าย ได้แก่ 1) พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี 2) คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ 3)​ คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (กลต.) และ 4) คณะกรรมการกำกับตลาดทุน (ก.ต.ท.)  ต่อศาลปกครองเชียงใหม่ ด้วยเหตุผลว่าทั้ง 4 ฝ่ายไม่ปฏิบัติหน้าที่ตามที่กฎหมายและแผนวาระแห่งชาติการแก้วิกฤตฝุ่น PM2.5 กำหนดให้ต้องปฏิบัติ 

สำหรับความคืบหน้าในการยื่นฟ้องดังกล่าว  ศาลปกครองเชียงใหม่มีคำสั่งรับฟ้องคดีเฉพาะผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 และ 2 เท่านั้น แต่ในส่วนของผู้ถูกฟ้องที่ 3 และ 4 ศาลปกครองมีคำสั่งไม่รับฟ้อง ตัวแทนเครือข่ายประชาชนเชียงใหม่ซึ่งเป็นแกนนำในการยื่นฟ้องจึงออกมาเคลื่อนไหวเพื่อยื่นอุทธรณ์คำสั่งไม่รับฟ้องของศาลปกครองเชียงใหม่อีกครั้ง โดยให้เหตุผลสำคัญว่าผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 และ ที่ 4 เป็นผู้มีอำนาจหน้าที่ในการกำกับดูแลภาคธุรกิจที่เข้ามาระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ตามมาตรา 14 และ มาตรา 16/6 ตามพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 ไม่ว่า บริษัทจดทะเบียนฯ นั้นจะกระทำเอง หรือโดยบริษัทลูก บริษัทร่วมกิจการร่วมค้า ห่วงโซ่อุปทาน เมื่อดำเนินการ ณ ที่ใด บริษัทจดทะเบียนฯ จะต้องดำเนินกิจการโดยไม่ก่อให้เกิดผลกระทบสิ่งแวดล้อมและละเมิดสิทธิมนุษยชน

ประเด็นดังกล่าวสอดคล้องกับการขับเคลื่อน SDG11 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 11.6 ลดผลกระทบทางลบต่อสิ่งแวดล้อมต่อหัวประชากรในเขตเมือง รวมถึงการให้ความสนใจเป็นพิเศษต่อการจัดการคุณภาพอากาศ SDG12 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 12.4 บรรลุการจัดการสารเคมีและของเสียทุกชนิดตลอดวงจรชีวิตของสิ่งเหล่านั้นด้วยวิธีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และ SDG16 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 16.6 พัฒนาสถาบันที่มีประสิทธิผล มีความรับผิดชอบ และโปร่งใสในทุกระดับ และ 16.10 สร้างหลักประกันว่าสาธารณชนสามารถเข้าถึงข้อมูลและมีการปกป้องเสรีภาพขั้นพื้นฐาน 

เข้าถึงได้ที่: ยื่นอุทธรณ์พรุ่งนี้ คดีฝุ่นชม. ดันบรรทัดฐานใหม่-ความรับผิดชอบลงทุนข้ามแดน (GreenNews) 

สงครามและ Climate Change ทำให้มีผู้พลัดถิ่นเพิ่มสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์

ศูนย์เฝ้าติดตามสถานการณ์การพลัดถิ่นภายในประเทศ (Internal Displacement Monitoring Centre: IDMC)มีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่เจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เผยแพร่รายงานล่าสุดเกี่ยวกับผู้พลัดถิ่นในประเทศ (Internally Displaced People: IDPs) ว่ามีจำนวนเพิ่มสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์จนถึง 71.1 ล้านคนทั่วโลกเมื่อปี 2565 เนื่องจากเหตุผลด้านสงครามและวิกฤตสภาพภูมิอากาศโลก

รายงานข้างต้นอธิบายด้วยว่า ปัญหาความขัดแย้งและการใช้ความรุนแรงมีส่วนกระตุ้นให้เกิดผู้พลัดถิ่นภายในประเทศสูงถึง 28.3 ล้านคนทั่วโลก ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยในรายงานประจำปีตลอดช่วงทศวรรษที่ผ่านมาถึง 3 เท่า ขณะที่ภัยพิบัติต่าง ๆ เช่นภัยแล้ง ภัยน้ำท่วม และคลื่นรังสีความร้อนซึ่งล้วนเป็นผลพวงจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศโลก เป็นสาเหตุที่ทำให้มีผู้พลัดถิ่นอีกกว่า 32.6 ล้านคนในปีที่ผ่านมา 

ประเด็นดังกล่าวสอดคล้องกับการขับเคลื่อน SDG10 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 10.7 อำนวยความสะดวกในการอพยพและเคลื่อนย้ายคนให้เป็นไปด้วยความสงบ ปลอดภัยเป็นไปตามระเบียบ และมีความรับผิดชอบ SDG11 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่11.5 ลดจำนวนการตายและจำนวนคนที่ได้รับผลกระทบและลดการสูญเสียโดยตรงทางเศรษฐกิจที่เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศของโลกที่เกิดจากภัยพิบัติ  SDG13 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 13.1 เสริมภูมิต้านทานและขีดความสามารถในการปรับตัวต่ออันตรายและภัยพิบัติทางธรรมชาติที่เกี่ยวข้องกับภูมิอากาศ และ SDG16 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 16.1 ลดความรุนแรงทุกรูปแบบและอัตราการตายที่เกี่ยวข้องในทุกแห่ง

เข้าถึงได้ที่: รายงานล่าสุดชี้ ผู้พลัดถิ่นในประเทศสูงเป็นประวัติการณ์ถึง 71.1 ล้านคนทั่วโลกเมื่อปี 2022 เนื่องจากสงคราม-วิกฤตสภาพภูมิอากาศโลก (The Standard) 

WHO เสนอความครอบคลุมในการใช้ถนนเพื่อความปลอดภัยของคนทุกคน

สัปดาห์ความปลอดภัยทางถนนแห่งสหประชาชาติ ครั้งที่ 7 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 15-21 พฤษภาคม 2566 โดยหนึ่งในเรื่องที่น่าสนใจคือการเผยแพร่ข้อมูลขององค์การอนามัยโลกเกี่ยวกับความปลอดภัยทางถนนที่เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม อีกทั้งส่งเสริมความเสมอภาค การเดินทางที่ปลอดภัยสำหรับทุกคน

ประเด็นสำคัญจากข้อมูลที่องค์การอนามัยโลกระบุ ได้แก่ 1) การขยายตัวของเมืองด้วยการสร้างถนนใหม่นั้นไม่มีความยั่งยืน เพราะนำไปสู่ปัญหาจราจรติดขัดซึ่งเป็นต้นตอของปัญหาสุขภาพตามมา 2) วิสัยทัศน์ใหม่ในการเดินทางควรเป็นการออกแบบถนนเพื่อทุกคนด้วยการลงทุนสำหรับการเดินทางที่หลากหลาย เช่น การเดินเท้า การใช้จักรยาน และ 3) รัฐบาลควรสร้างความมั่นใจว่าผู้ประสบอุบัติเหตุสามารถเข้าถึงบริการฉุกเฉินและการกู้ชีพที่มีคุณภาพ 

ทั้งนี้ พบว่าในแต่ละปีมีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนมากถึง 1.3 ล้านราย และผู้บาดเจ็บมากกว่า 50 ล้านรายต่อปี ขณะที่ข้อมูลผู้เสียชีวิตสะสมประเทศไทย ปี 2565 จากศูนย์ข้อมูลอุบัติเหตุเพื่อเสริมสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยทางถนน (ThaiRSC) เผยว่า มีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนท้องถนนสะสม 13,814 ราย อุบัติเหตุบนท้องถนนจึงเป็นวาระเร่งด่วนที่ภาคส่วนที่เกี่ยวข้องต้องร่วมมือกันแก้ไข

ประเด็นดังกล่าวสอดคล้องกับการขับเคลื่อน SDG3 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 3.6 ลดจำนวนการตายและบาดเจ็บจากอุบัติเหตุจากการจราจรทางถนนทั่วโลกลงครึ่งหนึ่ง ภายในปี 2563 และ SDG11 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 11.2 ภายในปี 2573 จัดให้ทุกคนเข้าถึงระบบคมนาคมขนส่งที่ยั่งยืน เข้าถึงได้ ปลอดภัย ในราคาที่สามารถจ่ายได้ พัฒนาความปลอดภัยทางถนน 

เข้าถึงได้ที่: องค์การอนามัยโลก กระตุ้นตระหนักแนวคิดการเดินทางปลอดภัย สร้างถนนเพื่อคนแทนรถยนต์ (The Reporter) 

การประหารชีวิตปี 2565 สูงสุดในรอบ 5 ปี พบกว่า 55 ประเทศยังใช้โทษประหาร

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล แถลง “รายงานสถานการณ์โทษประหารชีวิตและการประหารชีวิตในปี 2565” พบประเด็นที่น่าสนใจ ดังนี้ 

ประเด็นดังกล่าวสอดคล้องกับการขับเคลื่อน SDG16 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 16.1 ลดความรุนแรงทุกรูปแบบและอัตราการตายที่เกี่ยวข้องในทุกแห่งให้ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ

เข้าถึงได้ที่: โทษประหารชีวิตในปี 2565: การประหารชีวิตเพิ่มขึ้นสูงสุดในรอบ 5 ปี (Amnesty Thailand)

ประเทศทั่วโลกเตรียมเข้าร่วมประชุมจัดทำสนธิสัญญาแก้ปัญหามลพิษขยะพลาสติก

วันที่ 29 พฤษภาคม 2566 รัฐบาล ภาคเอกชน และองค์กรภาคประชาสังคมจากหลายประเทศทั่วโลกจะประชุมร่วมกัน ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส เพื่อหารือเรื่องการจัดทำสนธิสัญญาที่มีผลผูกพันทางกฎหมายระหว่างประเทศว่าด้วยมลพิษขยะพลาสติก (plastic pollution) ซึ่งจะเป็นการประชุมหารือครั้งที่ 2 โดยมีความคาดหวังที่จะออกร่างข้อมติฉบับแรก (zero draft) เพื่อนำไปพิจารณาต่อในการประชุมครั้งที่ 3 

 Katharina Rall นักวิจัยอาวุโสด้านสิ่งแวดล้อม ของ Human Rights Watch เผยถึงสนธิสัญญาข้างต้นว่า “รัฐบาลจำเป็นต้องสร้างหลักประกันให้แน่ใจว่าสนธิสัญญาฉบับใหม่นั้นระบุแหล่งที่มาของมลพิษพลาสติกขั้นสูงสุด ซึ่งก็คือการผลิตเชื้อเพลิงฟอสซิล” เนื่องจากการผลิต การใช้ และการกำจัดพลาสติกมีส่วนทำให้เกิดวิกฤตสภาพภูมิอากาศ และอาจก่อให้เกิดอันตรายอย่างมากต่อสิทธิมนุษยชนของผู้คนทั่วโลก 

ประเด็นดังกล่าวสอดคล้องกับการขับเคลื่อน SDG12 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 12.5 ภายในปี 2573 จะต้องลดการเกิดของเสียโดยให้มีการป้องกัน การลดการแปรรูป และ 12.c ทำให้การอุดหนุนเชื้อเพลิงฟอสซิลที่ไร้ประสิทธิภาพและนำไปสู่การบริโภคที่สิ้นเปลืองมีความสมเหตุสมผล SDG13 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ เสริมภูมิต้านทานและขีดความสามารถในการปรับตัวต่ออันตรายและภัยพิบัติทางธรรมชาติที่เกี่ยวข้องกับภูมิอากาศ และ SDG17 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 17.17 สนับสนุนและส่งเสริมหุ้นส่วนความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาครัฐ-ภาคเอกชน และประชาสังคม 

เข้าถึงได้ที่: Plastics Treaty: Phase Out Fossil Fuels to End Pollution (Human Rights Watch)

ผลงานนี้ได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิเพื่อการพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ ภายใต้โครงการเร่งรัดการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนด้านสุขภาพของประเทศไทย

Author

  • Knowledge Communication | สนใจประเด็นสันติภาพ ความมั่นคงมนุษย์ เเละสิ่งเเวดล้อมทางทะเล ใช้ชีวิตโดยเชื่อในสมดุลมากกว่าความสมบูรณ์เเบบ

Exit mobile version