เมื่อวันที่ 11 – 12 พฤษภาคม 2566 สำนักงานกิจการเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติ (UN Department of Economic and Social Affairs: UN DESA) และ UN-Energy จัดการประชุม “Global Expert Group” โดยมีผู้เชี่ยวชาญจากหลายภาคส่วนทั่วโลก เช่น หน่วยงานขององค์การสหประชาชาติ ตัวแทนรัฐบาล ภาควิชาการ ภาคประชาสังคม และภาคเอกชน เข้าร่วม
การประชุมข้างต้นจัดขึ้น ณ สำนักงานใหญ่องค์การสหประชาชาติ นครนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยมีเป้าประสงค์หลักเพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการทบทวนการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนครึ่งเทอมแรก (mid-point review) เฉพาะเป้าหมายที่ 7 ซึ่งการทบทวนจริง จะจัดขึ้นในการประชุมเวทีหารือระดับสูงทางการเมืองว่าด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืน (High-level Political Forum on Sustainable Development: HLPF) เดือนกรกฎาคมปีนี้
ผู้เข้าร่วมประชุมต่างยอมรับว่าการเข้าถึงพลังงานสะอาดมีความเชื่อมโยงกับวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน 2573 ทั้งหมด และการบรรลุ SDGs ได้ ก็ขึ้นอยู่กับความก้าวหน้าในการขับเคลื่อน SDG7 นอกจากนี้ยังมีประเด็นการสนทนาแลกเปลี่ยนที่สำคัญอีก 3 ประเด็น ดังนี้
- การขับเคลื่อน SDG7 ในระดับโลก รวมถึงโอกาสและความท้าทาย
- วิธีการในการบรรลุ SDG7 เช่น การระดมหุ้นส่วนความร่วมมือและการริเริ่มดำเนินการ
- แนวทางเสริมสร้างความเข้มแข็งแก่ความร่วมมือระดับโลกในการขับเคลื่อน SDG7
Heather Adair-Rohani รักษาการหัวหน้าฝ่ายคุณภาพอากาศ พลังงาน และสุขภาพจากองค์การอนามัยโลก ในฐานะประธานการประชุมปรับปรุงรายงานความก้าวหน้าด้านพลังงาน หรือ “Tracking SDG 7: The Energy Progress Report” เน้นย้ำว่าอัตราการเข้าถึงไฟฟ้าของประชากรทั่วโลกเพิ่มขึ้นจาก 84% ในปี 2543 เป็น 91% ในปี 2563 อย่างไรก็ดีหากแนวโน้มความก้าวหน้าการเข้าถึงไฟฟ้ายังคงดำเนินต่อไปเช่นปัจจุบัน ประชากรโลกอีกกว่า 1.9 พันล้านคน จะยังคงไม่สามารถเข้าถึงการทำครัวโดยใช้พลังงานสะอาด (clean cooking) ภายในปี 2573
ขณะที่ผู้เข้าร่วมประชุมเรียกร้องให้เพ่งความสนใจเรื่องการทำครัวโดยใช้พลังงานสะอาดไปที่ภูมิภาคแอฟริกา เนื่องจากจากเป็นภูมิภาคที่น่ากังวลและยังขาดการเข้าถึงพลังานไฟฟ้าที่ครอบคลุมโดยเห็นว่าต้องอาศัยความร่วมมือกันหลายภาคส่วนและสนับสนุนความช่วยเหลือด้านการเงินสำหรับเพิ่มการเข้าถึงไฟฟ้าที่จะช่วยให้เข้าถึงการทำครัวโดยใช้พลังงานไฟฟ้าสะอาดมากขึ้น
สำหรับประเทศไทย แม้การเข้าถึงไฟฟ้าจะขยายความครอบคลุมเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่ยังมีบางพื้นที่ที่มีความลำบากในการเข้าถึงไฟฟ้าได้ โดยเฉพาะพื้นที่ที่ตั้งอยู่นอกเขตการให้บริการของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคและการไฟฟ้านครหลวง จึงเป็นเหตุให้โรงเรียนอีกกว่า 4,939 แห่ง เช่น โรงเรียนบนดอย โรงเรียนชายแดน ต้องอาศัยไฟฟ้าจากแหล่งกำเนิดอื่น เช่น โซลาร์เซลล์ เครื่องปั่นไฟ นอกจากนี้ “ค่าไฟฟ้า” ที่ถีบตัวแพงขึ้น ก็เป็นอีกประเด็นท้าทายที่อาจเสี่ยงให้คนบางกลุ่มไม่อาจเข้าถึงไฟฟ้าได้อย่างต่อเนื่อง
● อ่านข่าวและบทความที่เกี่ยวข้อง
– SDG Vocab | 19 – Modern Energy Services – บริการพลังงานสมัยใหม่
– UN เผยแพร่ร่างกำหนดการประชุม HLPF กรกฎาคม 2565 เน้นการมีส่วนร่วมและการฟื้นฟูมุ่งสู่ความยั่งยืน
– Tracking SDG7: 10 ปีที่ผ่านมา พลังงานยังมีช่องว่างระหว่างภูมิภาค และประเทศด้อยพัฒนายังคงถูกทิ้งไว้ข้างหลัง
– รัฐสภายุโรปผ่านร่างข้อเสนอห้ามจำหน่ายรถยนต์เเละรถตู้ใช้ดีเซล-แก๊สโซลีน ภายในปี 2578 เป็นต้นไป
– รัฐบาลสหรัฐฯ ประกาศเปลี่ยนรถโรงเรียนเป็นระบบไฟฟ้า เพื่อลดการปล่อยคาร์บอนและลดมลพิษทางอากาศ
– รายงาน ‘ลดคาร์บอนเป็นศูนย์’ จากภาคการขนส่งในเอเชีย ชี้หลักสำคัญ 6 ข้อ สู่พลังงานสะอาดในอนาคต
– EU เตรียมเสนอข้อกำหนดให้ประเทศสมาชิกปรับปรุงระบบพลังงานในอาคารให้ปล่อยคาร์บอนน้อยลงภายใน 10 ปีนี้
– EU ร่างข้อเสนอให้ก๊าซธรรมชาติและพลังงานนิวเคลียร์เป็นทางเลือกเปลี่ยนผ่านพลังงานและการลงทุนที่ยั่งยืน
– SDG Insights | เติมเต็มความเป็นธรรมที่อาจหล่นหาย ผ่านมุมมองการเปลี่ยนผ่านพลังงานอุตสาหกรรมยานยนต์ (EP. 16)
– “Tracking SDG 7 ประจำปี 2565” ระบุ 773 ล้านคนทั่วโลกยังเข้าไม่ถึงไฟฟ้า และการศึกษาที่มีคุณภาพต้องอาศัยความเท่าเทียมด้านพลังงาน
ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG7 พลังงานสะอาดที่เข้าถึงได้
– (7.1) สร้างหลักประกันว่ามีการเข้าถึงการบริการพลังงานสมัยใหม่ที่เชื่อถือได้ ในราคาที่สามารถซื้อหาได้ ภายในปี 2573
– (7.a) ยกระดับความร่วมมือระหว่างประเทศในการอำนวยความสะดวกในการเข้าถึงการวิจัย และเทคโนโลยีพลังงานที่สะอาด โดยรวมถึงพลังงานทดแทน ประสิทธิภาพการใช้พลังงาน และเทคโนโลยีเชื้อเพลิงฟอสซิลชั้นสูงและสะอาด และสนับสนุนการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานและเทคโนโลยีพลังงานที่สะอาด ภายในปี 2573
#SDG17 ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
– (17.16) ยกระดับหุ้นส่วนความร่วมมือระดับโลกเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยร่วมเติมเต็มหุ้นส่วนความร่วมมือจากภาคส่วนที่หลากหลายซึ่งจะระดมและแบ่งปันความรู้ ความเชี่ยวชาญ เทคโนโลยี และทรัพยากรด้านการเงิน เพื่อจะสนับสนุนการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในทุกประเทศ โดยเฉพาะในประเทศกำลังพัฒนา
– (17.18) ยกระดับการสนับสนุนด้านการเสริมสร้างขีดความสามารถให้กับประเทศกำลังพัฒนา รวมถึงประเทศพัฒนาน้อยที่สุดและรัฐกำลังพัฒนาที่เป็นเกาะขนาดเล็ก ให้เพิ่มการมีอยู่ของข้อมูลทีมีคุณภาพ ทันเวลาและเชื่อถือได้ ที่จำแนกตามรายได้ เพศ อายุ เชื้อชาติพันธุ์ สถานะการอพยพ ความพิการ ตำแหน่งทางภูมิศาสตร์ และคุณลักษณะอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องตามบริบทของประเทศ ภายในปี 2563
แหล่งที่มา : Global Expert Group Meeting Prepares for Mid-point Review of SDG 7 (IISD)
ผลงานนี้ได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิเพื่อการพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ ภายใต้โครงการเร่งรัดการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนด้านสุขภาพของประเทศไทย