ผู้นำกลุ่มประเทศ G7 แสดงความมุ่งมั่น – ที่จะบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ภายในปี 2573 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์

กลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำ 7 ประเทศ (Group of Seven : G7)  ได้แก่ แคนาดา ฝรั่งเศส เยอรมนี อิตาลี ญี่ปุ่น สหราชอาณาจักร และสหรัฐอเมริกา ร่วมกับสหภาพยุโรป ได้ร่วมการประชุมสุดยอด เป็นเวลา 3 วัน ระหว่างวันที่ 19 – 21 พฤษภาคม 2566 ที่เมืองฮิโรชิมา ประเทศญี่ปุ่น โดยผู้นำกลุ่ม G7 พร้อมใจกันแสดง “ความมุ่งมั่นที่จะเผชิญกับความท้าทายระดับโลกและกำหนดเส้นทางเพื่ออนาคตที่ดีกว่า” ซึ่งผู้นำกลุ่มประเทศ G7 ได้ตระหนักถึงความเชื่อมโยงระหว่างการลดความยากจนและการแก้ปัญหาวิกฤตการณ์ด้านสภาพอากาศและธรรมชาติ บรรดาผู้นำจึงให้คำมั่นสัญญาที่จะเร่งดำเนินการเพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน 

การประชุมวันที่ 20 พฤษภาคม ได้มีการออกแถลงการณ์ “G7 Hiroshima Leaders’ Communiqué” มีเนื้อหาสาระจำนวน 40 หน้า ซึ่งแสดงความตระหนักถึงความเชื่อมโยงระหว่างการลดความยากจนและการแก้ปัญหาวิกฤตการณ์ด้านสภาพอากาศและธรรมชาติ และการแก้ปัญหาความเปราะบางของหนี้ในประเทศที่มีรายได้ต่ำและปานกลาง (Low-to-Middle-Income Countries : LMICs) พร้อมเน้นย้ำถึงความมุ่งมั่นของผู้นำในการ “ระดมทรัพยากรทั้งภาครัฐและเอกชนที่จำเป็นเพื่อรับมือกับความท้าทายและสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านที่เป็นธรรม” โดยกลุ่มผู้นำให้คำมั่นสัญญาที่จะสร้างความก้าวหน้าอย่างเป็นรูปธรรมในวาระนี้ ในการที่ประชุมสำคัญต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้น เช่น การประชุมสุดยอดเกี่ยวกับข้อตกลงทางการเงินใหม่ (Summit on a New Financial Pact)  การประชุมสุดยอดผู้นำกลุ่ม G20 การประชุม SDG Summit การประชุมประจำปีของกลุ่มธนาคารโลก (World Bank Group : WBG) และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund : IMF)  ประจำปี พ.ศ. 2566 และการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (UNFCCC COP 28) เป็นต้น 

ทั้งนี้ กลุ่มผู้นำยังให้ความมุ่งมั่นในการฟื้นฟูความร่วมมือระหว่างประเทศและเสริมสร้างความเข้มแข็งของความร่วมมือระดับพหุภาคี (multilateralism) เพื่อกลับมาตั้งต้นสู่การดำเนินการเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนที่ได้ออกนอกลู่นอกทางไป พร้อมเน้นความสำคัญในการจัดการประเด็นการพัฒนา มนุษยธรรม สันติภาพและความมั่นคงร่วมกัน

ขณะที่ เรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม ผู้นำต่างเเสดงความแน่วแน่ในความมุ่งมั่นที่จะรักษาเป้าหมายอุณหภูมิโลกไม่ให้สูงขึ้นถึง 1.5 องศาเซลเซียส ให้อยู่ไม่ไกลเกินเอื้อม โดยเพิ่มการดำเนินการในทศวรรษนี้ เพื่อหยุดยั้งและฟื้นฟูการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพภายในปี 2573 และรับประกันความมั่นคงด้านพลังงาน โดยใช้ประโยชน์จากการทำงานร่วมกันและตระหนักถึงลักษณะการพึ่งพาซึ่งกันและกัน โดยให้คำมั่นที่จะเปลี่ยนแปลงไปสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (net-zero) เศรษฐกิจหมุนเวียน การตั้งรับปรับตัวต่อสภาพภูมิอากาศ การแก้ไขมลพิษทางอากาศ และเศรษฐกิจจากการอนุรักษ์ธรรมชาติ (nature-positive economy) ขณะเดียวกันก็รับประกันการเติบโตและการพัฒนาทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืนและครอบคลุม และเสริมสร้างการตั้งรับปรับตัวทางเศรษฐกิจ พร้อมเน้นย้ำถึงความจำเป็นเร่งด่วนและโอกาสในการเร่งการเปลี่ยนผ่านสู่การใช้พลังงานสะอาด เพื่อเพิ่มให้เกิดความมั่นคงทางพลังงาน 

นอกจากแถลงการณ์ฉบับดังกล่าว ผู้นำกลุ่มประเทศ G7 ยังให้คำมั่นสัญญา (commitment) เกี่ยวกับเรื่องการตั้งรับปรับตัวทางเศรษฐกิจ (economic resilience) และความมั่นคงทางเศรษฐกิจ การค้า ความมั่นคงทางอาหาร สุขภาพ แรงงาน การศึกษา การเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัล วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพศ และสิทธิมนุษยชน 

น่าติดตามต่อว่าประเด็นที่ได้จากการประชุมของชาติสมาชิกกลุ่ม G7 ที่ปิดฉากลงไปในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา จะนำไปสู่การสร้างการขับเคลื่อนเป้าหมายที่วางไว้ในประเด็นต่าง ๆ ในเวทีการประชุมสำคัญระดับโลกอื่น ๆ ต่อไปหรือไม่ อย่างไร

● อ่านข่าวและบทความที่เกี่ยวข้อง
กลุ่มประเทศ G7 ตกลงยุติให้เงินอุดหนุนการผลิตไฟฟ้าจากถ่านหินทั้งหมดภายในปี 2021 
ความขัดแย้งรัสเซียและยูเครน อาจฉุดรั้งความก้าวหน้าการเปลี่ยนผ่านพลังงานเพื่อจัดการวิกฤตสภาพภูมิอากาศ 
สรุปประชุม COP27 อะไรคือประเด็นที่น่าจับตามอง เน้นย้ำ “ความสูญเสียและเสียหาย” จากภาวะโลกร้อน
COP 27 ย้ำการปกป้อง ‘ความหลากหลายทางชีวภาพ’ เชื่อมโยงกับ ‘การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ’ เป็นเรื่องที่ไม่อาจแยกออกจากกัน 
ประชุม COFO ครั้งที่ 26 นานาประเทศหารือความเชื่อมโยงของป่าไม้-การเกษตร กับ ‘climate change’ หวังหยุดยั้งการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ 

ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG7 พลังงานสะอาดที่เข้าถึงได้
– (7.a) ยกระดับความร่วมมือระหว่างประเทศในการอำนวยความสะดวกในการเข้าถึงการวิจัย และเทคโนโลยีพลังงานที่สะอาด โดยรวมถึงพลังงานทดแทน ประสิทธิภาพการใช้พลังงาน และเทคโนโลยีเชื้อเพลิงฟอสซิลชั้นสูงและสะอาด และสนับสนุนการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานและเทคโนโลยีพลังงานที่สะอาด ภายในปี 2573
#SDG8 งานที่มีคุณค่าและการเติบโตทางเศรษฐกิจ
– (8.3) ส่งเสริมนโยบายที่มุ่งเน้นการพัฒนาที่สนับสนุนกิจกรรมที่มีผลิตภาพ การสร้างงานที่มีคุณค่า ความเป็นผู้ประกอบการ ความสร้างสรรค์และนวัฒกรรม และให้การสนับสนุนการรวมตัวและการเติบโตของวิสาหกิจรายย่อย ขนาดเล็ก และขนาดกลาง ตลอดจนการเข้าถึงบริการทางการเงิน
– (8.10) เสริมความแข็งแกร่งของสถาบันทางการเงินภายในประเทศเพื่อส่งเสริมและขยายการเข้าถึงการธนาคาร การประกัน และบริการทางการเงินแก่ทุกคน
#SDG13 การรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
– (13.1) เสริมภูมิต้านทานและขีดความสามารถในการปรับตัวต่ออันตรายและภัยพิบัติทางธรรมชาติที่เกี่ยวข้องกับภูมิอากาศในทุกประเทศ
– (13.2) บูรณาการมาตรการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในนโยบาย ยุทธศาสตร์ และการวางแผนระดับชาติ
– (13.3) พัฒนาการศึกษา การสร้างความตระหนักรู้ และขีดความสามารถของมนุษย์และของสถาบันในเรื่องการลดปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การปรับตัว การลดผลกระทบ การเตือนภัยล่วงหน้า
– (13.a) ดำเนินการให้เกิดผลตามพันธกรณีที่ผูกมัดต่อประเทศพัฒนาแล้วซึ่งเป็นภาคีของอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่มีเป้าหมายร่วมกันระดมทุนจากทุกแหล่งให้ได้จำนวน 1 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ ต่อปี ภายในปี 2563 เพื่อจะแก้ปัญหาความจำเป็นของประเทศกำลังพัฒนาในบริบทของการดำเนินการด้านการบรรเทาที่ชัดเจนและมีความโปร่งใสในการดำเนินงานและทำให้กองทุน Green Climate Fund ดำเนินการอย่างเต็มที่โดยเร็วที่สุดผ่านการให้ทุน
#SDG15 ระบบนิเวศบนบก
– (15.a) ระดมและเพิ่มทรัพยากรทางการเงินจากทุกแหล่งอย่างมีนัยสำคัญเพื่ออนุรักษ์และใช้ความหลากหลายทางชีวภาพและระบบนิเวศอย่างยั่งยืน
#SDG17 ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
– (17.3) ระดมทรัพยากรทางการเงินเพิ่มเติมจากแหล่งที่หลากหลายไปยังประเทศกำลังพัฒนา
– (17.16) ยกระดับหุ้นส่วนความร่วมมือระดับโลกเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยร่วมเติมเต็มหุ้นส่วนความร่วมมือจากภาคส่วนที่หลากหลายซึ่งจะระดมและแบ่งปันความรู้ ความเชี่ยวชาญ เทคโนโลยี และทรัพยากรด้านการเงิน เพื่อจะสนับสนุนการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในทุกประเทศ โดยเฉพาะในประเทศกำลังพัฒนา

แหล่งที่มา: G7 Leaders Recommit to Achieve SDGs by 2030, Net Zero by 2050 | News | SDG Knowledge Hub | IISD 

ผลงานนี้ได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิเพื่อการพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ ภายใต้โครงการเร่งรัดการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนด้านสุขภาพของประเทศไทย

Author

  • Praewpan Sirilurt

    Knowledge Communication | มนุษย์ผู้เชื่อว่า “การสื่อสารสามารถเชื่อมต่อความรู้สึกของกันและกันได้” ไม่ว่าจะเป็นใคร อยู่ที่ไหน หรือเผชิญกับอะไรอยู่ การสื่อสารจะช่วยบอกเล่าเรื่องราวส่งไปให้แก่ผู้อื่นได้รับรู้

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น