ดร.นาอีม เเลนิ
“ประเทศไทยเจอปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง ซ้ำซากทุกปี” เป็นวลีที่ปรากฏขึ้นในบทสนทนาทุกครั้งเมื่อต้องพูดถึงการจัดการน้ำของไทย ตลอดระยะเวลาหลายสิบปีที่ผ่านมาเราจะเห็นความพยายามปรับปรุงระบบบริหารจัดการน้ำให้มีประสิทธิภาพทั้งการออกกฎหมายเพื่อบริหารจัดการน้ำ การจัดตั้งคณะกรรมการ หน่วยงานจำนวนมากเข้ามามีส่วนร่วมเพื่อทำให้ประเทศไทยหลุดพ้นจากสภาวะ “ฤดูแล้งน้ำขาด ฤดูฝนน้ำเกิน” ทว่าความพยายามมากมายเหล่านั้นก็ยังไม่ทำให้เราเข้าใกล้สภาวะที่เรียกได้ว่า “มั่นคงทางน้ำ” มากนัก ผนวกกับสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลก การเปลี่ยนแปลงของจำนวนประชากร การเติบโตของเมือง
ปัจจัยเหล่านี้ยิ่งเพิ่มความซับซ้อนแก่การบริหารจัดการน้ำขึ้นไปอีก
SDG Updates ฉบับนี้ ขอพาผู้อ่านทำความเข้าใจถึงผลกระทบของการบริหารจัดการน้ำที่ส่งผลวงกว้างแผ่ออกไปไกลยิ่งกว่า “เรื่องของน้ำ” แนวคิดที่ควรคำนึงถึงในการบริหารจัดการน้ำภายใต้บริบทที่เปลี่ยนไป และโจทย์การบริหารจัดการน้ำแบบใดที่รัฐบาลไม่ว่าจะมาจากฟากฝั่งการเมืองไหนก็พึงควรหยิบไปขบคิด
01 – “การจัดการน้ำ” กระทบต่อการพัฒนาที่ยั่งยืนในทุกมิติอย่างไร
การบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืนยังคงเป็นอุปสรรคในการจัดการสิ่งแวดล้อมและการจัดการนโยบายสาธารณะในหลายประเทศ โดยเฉพาะการบริหารจัดการน้ำอย่างสมดุลที่ไม่กักเก็บน้ำในปริมาณมากเกินไป (too much) ไม่น้อยเกินไป (too little) และรักษาคุณภาพให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสมและการรักษาระบบนิเวศต้นน้ำและระบบน้ำอย่างยั่งยืนทั้งระบบ
จากรายงานความยั่งยืนแห่งสหประชาชาติปี 2565 [1] หลายประเทศทั่วโลกเผชิญสภาวะที่ทำให้เกิดปัญหาความมั่นคงด้านน้ำ อันเกิดจากความต้องการใช้น้ำที่เพิ่มสูงขึ้นของชุมชนเมือง อุตสาหกรรม และนิคมอุตสาหกรรม รวมถึงเขตพื้นที่เศษฐกิจพิเศษ การเจริญเติบโตของภาคการบริการของเมืองใหญ่และเขตเศรษฐกิจท่องเที่ยว ความต้องการใช้น้ำเพื่อเป็นต้นทุนทางเศรษฐกิจเพิ่มสูงขึ้น ทำให้เกิดการเพิ่มการพัฒนาพื้นที่แหล่งน้ำในเขตพื้นที่ทางธรรมชาติ ส่งผลต่อสภาพเสื่อมโทรมของพื้นที่ชุ่มน้ำและระบบนิเวศของแหล่งน้ำและพื้นที่ป่าต้นน้ำ เชื่อมโยงมิติความเปราะบางของสังคมโดยเฉพาะภาคเกษตรกรรม ซึ่งเป็นภาคส่วนใหญ่ของประเทศและมีความอ่อนไหวต่อความเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในอัตราที่สูง
การบริหารจัดการน้ำเกี่ยวข้องโดยตรงกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนเป้าหมาย ที่ 6 คือสร้างหลักประกันว่าจะมีการจัดให้มีน้ำและสุขอนามัยสำหรับทุกคนและมีการบริหารจัดการที่ยั่งยืน (ensure availability and sustainable management of water and sanitation for all) ที่มีประเด็นย่อยเกี่ยวข้องกับการใช้น้ำเพื่อสุขอนามัย การจัดการมลพิษทางน้ำและบำบัดน้ำเสีย การแก้ใขและเสริมประสิทธิภาพการใช้น้ำ การบริหารจัดการลุ่มน้ำ และประเด็นย่อยที่เกี่ยวข้องกับระบบนิเวศและการมีส่วนร่วมของชุมชน การประเมิน SDG เป้าหมายที่ 6 ของประเทศไทยยังมีส่วนที่ต้องปรับปรุง โดยเฉพาะเป้าหมายย่อย 6.1 บรรลุเป้าหมายการให้ทุกคนเข้าถึงน้ำดื่ม เป้าหมายย่อย 6.3 ปรับปรุงคุณภาพน้ำ เป้าหมายย่อย 6.4 เพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำในทุกภาคส่วน และเป้าหมายย่อย 6.6 ปกป้องและฟื้นฟูระบบนิเวศที่เกี่ยวข้องกับแหล่งน้ำ [2]
ในขณะเดียวกันผู้เขียนมองว่าการบริหารจัดการน้ำไม่ได้เกี่ยวโยงเฉพาะเพียงเป้าหมายที่ 6 แต่การการบริหารจัดการน้ำเป็นองค์ประกอบสำคัญที่ส่งผลต่อการพัฒนาที่ยั่งยืนทุกมิติ ในกรอบแนวคิดและแผนภาพความเกี่ยวโยงของการบริหารจัดการน้ำกับการพัฒนามิติอื่นในแต่ละเป้าหมายของการพัฒนาที่ยั่งยืน เช่น การบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืนมีผลต่อการรักษาระบบนิเวศและความหลากหลายทางชีวภาพของสิ่งมีชีวิตบนดินและระบบนิเวศ (เป้าหมายที่ 15) และสิ่งมีชีวิตในน้ำ ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (เป้าหมายที่ 14) การจัดการน้ำอย่างสมดุลและคำนึงถึงความแปรปรวนและความเสี่ยงส่งผลต่อการบรรลุเป้าหมายที่ 11 คือการสร้างเมืองที่ปลอดภัยและพร้อมรับต่อภัยพิบัติที่เกี่ยวข้องกับอุทกภัยในเมือง และทรัพยากรน้ำเป็นต้นทุนการผลิตที่จำเป็นต่อการสร้างผลิตภาพทางเศรษฐกิจเพื่อการแก้ไขความจน ในเป้าหมายที่ 1 การผลิตอาหารเพื่อลดความหิวโหย ในเป้าหมายที่ 2 และเป็นพื้นฐานในการสร้างเสริมสุขภาวะและสุขภาพกายที่ดี ในเป้าหมายที่ 3 จะเห็นได้ว่าการบริหารจัดการน้ำอย่างมีสมดุลและมีประสิทธิภาพเป็นปัจจัยสำคัญในการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน [3] ที่จำเป็นต้องคำนึงถึงการทำความเข้าใจระบบน้ำ การประเมินและให้คุณค่าความสำคัญของทรัพยากรน้ำ และการบริหารจัดการน้ำแบบบูรณาการอย่างเป็นธรรมและสมดุล
แผนภาพที่ 1 ผลการประเมิน SDG 6 น้ำสะอาดและสุขาภิบาล
ที่มา: รายงานความก้าวหน้าเป้าหมายความยั่งยืนของประเทศไทยปี พ.ศ. 2559-2563
(สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ, 2564)
แผนภาพที่ 2 ความเชื่อมโยงของน้ำกับแต่ละเป้าหมาย SDG
ที่มา: UN High Level Panel on Water (HLPW) 2021
02 – แนวคิดการบริหารจัดการน้ำระดับโลกและการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของไทย
แนวคิดการบริหารจัดการน้ำระดับโลก
แนวคิดเรื่องการบริหารจัดการน้ำ (water governance) มีความเชื่อมโยงโดยตรงกับแนวคิดการพัฒนาที่ยั่งยืน (sustainable development) ในขณะที่ทั่วโลกให้ความสำคัญกับกรอบแนวคิดการจัดการน้ำเพื่อความยั่งยืนและเน้นการมีส่วนร่วมอย่างเป็นธรรมของชุมชนและผู้ที่เกี่ยวข้อง เช่น แนวคิดความมั่นคงด้านน้ำ (water security) ซึ่งเป็นแนวคิดที่สำคัญในการขับเคลื่อนโนบายสาธารณะที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการน้ำในสภาวะความเสี่ยงและความเปลี่ยนแปลง
องค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (Organization for Economic Cooperation and Development : OECD) ได้ให้ความหมายในรายงานการศึกษาที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงด้านน้ำ [4] ว่าคือการรักษาระดับความเสี่ยงที่มีผลต่อความสามารถในการให้บริการทรัพยากรน้ำอย่างทั่วถึงและคำนึงถึงการรับมือและลดผลกระทบจากระบบน้ำต่อประชาชน กล่าวคือนอกจากประชาชนสามารถใช้น้ำเพื่ออุปโภคและบริโภคอย่างเพียงพอและไม่ได้รับผลกระทบกับความเสี่ยงที่เกี่ยวกับน้ำแล้ว การบริหารจัดการน้ำยังต้องเพิ่มศักยภาพให้ประชาชนพร้อมรับมือฟื้นกลับได้ และปรับตัวดี (resilience water management) ชุมชนสามารถพึ่งพาตนเองในด้านทรัพยากรน้ำและสามารถรักษาระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อมได้อย่างเหมาะสม การบริหารจัดการน้ำที่ได้ปลายทางเช่นว่านั้นวางอยู่บนพื้นฐานของแนวคิด ต่อไปนี้
- แนวคิดการบริหารจัดการน้ำอย่างบูรณาการ (Integrated Water Resource Management:IWRM) และแนวคิดที่เชื่อมโยงกัน (Integrated Water and Land Resources Management:IWLRM) ที่ให้ความสำคัญกับการจัดการน้ำอย่างครบวงจรและครอบคลุมเพื่อการจัดการทรัพยากรน้ำให้เหมาะสมนอกจากความต้องการเศรษฐกิจและภาคครัวเรือน ให้ครอบคลุมเป้าหมายทางด้านสังคม ธรรมชาติ และวัฒนธรรม ตลอดจนคำนึงถึงความเชื่อมโยงกับการใช้ที่ดิน กล่าวคือ การบริหารจัดการน้ำไม่สามารถแยกจากการวางแผนพัฒนาพื้นที่ (spatial planning) การจัดสรรการใช้ที่ดิน และการวางแผนโครงสร้างพื้นฐานและการจัดการเมือง เพราะการบริหารจัดการโครงสร้างพื้นฐานและพื้นที่กายภาพมีผลกระทบโดยตรงต่อทางน้ำ ระบบนิเวศน้ำ และมวลน้ำ เมื่อการบริหารจัดการน้ำต้องมีมุมมองเชิงพื้นที่เข้ามามีส่วนร่วมจึงต้องใช้มุมมองจากแนวคิดที่สองเข้ามาร่วมด้วย
- แนวคิดการบริหารจัดการน้ำว่าด้วยการให้ความสำคัญกับการวางแผนบริหารเชิงลุ่มน้ำหรือ (river basin management) และ คุณค่าของการใช้น้ำในแนวคิด valuing water ที่ต้องอาศัยความร่วมในการบริหารน้ำที่ข้ามเขตการปกครองแต่ต้องอาศัยความเข้าใจและหลักการบริหารจัดการเชิงพื้นที่ (area-based management) โดยเฉพาะการมีส่วนร่วมและความเข้าใจอย่างลึกซึ้งของบริบทเชิงพื้นที่ การให้ความสำคัญเกี่ยวกับการทำความเข้าใจความต้องการของผู้ใช้น้ำและความพยายามจัดการและสร้างความสมดุลคุณค่าของการใช้น้ำ [5] และแนวคิดการวางแผนเรื่องน้ำอย่างบูรณาการกับประเด็นการเชื่อมโยงกันระหว่างความมั่นคงทางน้ำ กับความมั่นคงทางอาหาร พลังงาน และทรัพยากรธรรมชาติ แนวคิดเหล่านี้เป็นแนวคิดที่ผู้เชี่ยวชาญด้านการบริหารจัดการน้ำ นักสิ่งแวดล้อม องค์การระหว่างประเทศ และรัฐบาลทั่วโลกให้ความสำคัญ ไม่ใช่แค่เพียงตอบโจทย์ความยั่งยืนของประเทศและชุมชน แต่เพื่อความอยู่รอดของประชาชนกับสภาวะความเสี่ยงต่าง ๆ เกี่ยวกับกับการขาดน้ำ ผลกระทบจากภัยพิบัติ ความขัดแย้ง และความรุนแรงจากการแย่งชิงทรัพยากรน้ำ ที่นักนโยบายต้องตระหนักถึงหลักการบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นธรรม และพร้อมรับความเสี่ยงที่มีผลต่อการบริหารจัดการน้ำภาพรวมของประเทศ
แนวคิดการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของไทย
ประเทศไทยมีความพยายามที่จะบริหารจัดการน้ำภาพรวมทั้งระบบและบูรณาการข้อมูลน้ำ แผนงาน โครงการ และกฎหมายในแนวทางการจัดการน้ำแบบบูรณาการ เป็นความพยายามของภาครัฐที่ต้องการสร้างระบบบูรณาการเพื่อจัดการกับข้อจำกัดของการจัดการน้ำที่มีอยู่เดิม (bureaucratic challenges) เช่นที่อำนาจและหน้าที่การบริหารจัดการอยู่ใน 48 หน่วยงาน ภายใต้การกำกับทำงานของ 13 กระทรวง จะเห็นได้ว่า อำนาจการจัดการน้ำและปัจจัยที่เกี่ยวข้องอย่างกระจัดกระจายและรวมศูนย์ที่ส่วนกลาง ความซับซ้อนของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและกฎหมายหลายฉบับที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการน้ำ ทั้งทางน้ำ พื้นที่รับน้ำและระบบนิเวศน้ำ และขาดการมีส่วนร่วมของหน่วยงานท้องถิ่นและชุมชนทั้งด้านทรัพยากรน้ำและทรัพยากรธรรมชาติ ที่ดิน และสิ่งแวดล้อม พัฒนาการล่าสุดตั้งแต่ปี 2561 ของการจัดการน้ำโดยภาครัฐของไทย มีการตั้งขึ้นของหน่วยงานกลางด้านโนยบายและบูรณาการการจัดการน้ำ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ การออกกฎหมายบูรณาการแผนภาพรวมการจัดการน้ำ พ.ร.บ. ทรัพยากรน้ำแห่งชาติ การจัดตั้งคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ และการกำหนดและจัดทำแผนแม่บททรัพยากรน้ำแห่งชาติ 20 ปีเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการทำงานร่วมกันข่องหน่วยงานเพื่อการจัดการทรัพยากรน้ำ และความพยามยามในการจัดการน้ำและบูรณาการบริหารจัดการเชิงพื้นที่ (area-based management) [6] ผ่านการตั้งคณะกรรมการลุ่มน้ำทั้ง 22 ลุ่มน้ำ ตาม พ.ร.บ. น้ำ เพื่อเป็นกลไกการจัดการน้ำเชิงพื้นที่ตามระดับลุ่มน้ำ
จากความพยายามในอดีตจนถึงปัจจุบัน ผู้เขียนพบว่ามีพัฒนาการเชิงสถาบัน (institutional development) เกิดขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ ทั้งเชิงการบริหาร องค์กร และกฎระเบียบการจัดการน้ำ ความเปลี่ยนแปลงที่อาจเกิดขึ้นเพราะว่าภัยพิบัติอย่างน้ำท่วม ปี 2554 หรือ แรงกดดันจากผลกระทบของภัยธรรมชาติ และการเปลี่ยนแปลงของรัฐบาล กลไกที่เริ่มของภาครัฐประกอบด้วยหน่วยงานกลาง กฎหมายน้ำ แผนแม่บท กรรมการพื้นที่ลุ่มน้ำ เป็นกลไกและเครื่องมือของรัฐที่มีอยู่ในปัจจุบันและได้กล่าวมาข้างต้นนั้นในช่วงแรกเริ่มและก่อร่างขึ้นใหม่ ตลอดจนการพัฒนาระบบบูรณาการแผนงาน Thai Water Plan และการวางผังน้ำ สามารถวิเคราะห์ได้ว่าการแก้โจทย์การบริหารจัดการน้ำของไทยในปัจจุบันพยายามเปลี่ยนผ่านจากการบริหารการจัดการน้ำแบบต่างคนต่างทำภายใต้ข้อจำกัดการทำงานแบบเน้นเฉพาะภาคส่วน (sectorial) สู่การทำงานแบบบูรณาการมากขึ้น ภายใต้เป้าหมายร่วมและงบประมาณนี้ ซึ่งการเปลี่ยนผ่าน (transition) ยังอยู่ในช่วงแรกเริ่ม (kick-off stage) ที่ยังต้องติดตามการดำเนินงานของการพัฒนาเชิงองค์กรและสถาบันที่เกิดขึ้น
03 – โจทย์การบริหารจัดการน้ำของประเทศและข้อเสนอต่อรัฐบาลใหม่
อย่างไรก็ตามความพยายามการเปลี่ยนแปลงในการเปลี่ยนผ่านการจัดการน้ำที่มีเป้าหมายให้สร้างระบบบูรณาการมากขึ้นและลดความเสี่ยงและผลกระทบต่อประชาชาน การเปลี่ยนผ่าน (transition) การบริหารจัดการน้ำทั้งประเทศ ที่ยังอยู่ในระยะริเริ่มดำเนินการ (take-off) ที่ยังต้องอาศัยเวลาและปัจจัยทางการเมืองและการสนับสนุนของทุกภาคส่วน ให้สามารถเร่งการพัฒนา (acceleration) และการรักษาระดับของการพัฒนาในระยะคงที่ (stabilization) ตามแนวคิดการบริหารการเปลี่ยนผ่านของระบบ (system transition pathways) [8] ของ Van der Brugge and Rotmans) (2007) นั้น ผู้เขียนขอระบุข้อเสนอแนะต่อการบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืนในการวิเคราะห์สองประการหลัก
ประการแรก คือการกำหนดและวิเคราะห์โจทย์ใหม่ แบบใหม่ และแบบใหญ่ของประเทศ โจทย์การบริหารจัดการน้ำต้องเชื่อมโยงกับมิติความเข้าใจและมุมมองประเด็นนโยบายอื่นอย่างสมดุล เช่นการให้ความสำคัญกับประเด็นเชื่อมโยงแบบ nexus system management and design การให้ความสำคัญกับประเด็นเชื่อมโยงการจัดการน้ำกับมิติเรื่องความมั่นคงทางอาหาร การใช้ที่ดินหรืออาจเรียกว่า water-food-land nexus เช่น การนำเสนอเป้าหมายเชิงนโยบายเพื่อระบบอาหาร ที่ดิน น้ำ และมหาสมุทรที่ยั่งยืน [7]:
“ระบบเกษตรและอาหารที่มีความสมดุล ยั่งยืน และปรับตัวได้ (sustainable, balanced and resilient agriculture and food system) เกี่ยวข้องกับความสมดุลและความเชื่อมโยงของมิติทั้งสามของการพัฒนาที่ยั่งยืน ได้แก่ มิติทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม” (รายงานการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทย มุมมองจากเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างภาคส่วน เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทย พ.ศ. 2565)
หรือในมุมองความมั่นคงที่ต้องพิจารณาความมั่นทางด้านพลังงานเข้ามาในการพิจารณาด้วย เพราะน้ำคือต้นทุนการผลิตอาหารและไฟฟ้า ซึ่งต้องอาศัยการออกแบบโจทย์นโยบายการจัดการน้ำแบบร่วมคิดร่วมสร้าง ไม่ควรแยกประเด็นการจัดการน้ำจากมิติความมั่นคงและความยั่งยืนในมิติอื่น อย่างที่กล่าวไปตอนต้น มิติการจัดการน้ำนั้นเชื่อมโยงเป็นพื้นฐานสำคัญของการผลักดันและส่งเสริมการพัฒนาอย่างยั่งยืนในมิติและเป้าหมายอื่น ๆ ต่อไปคือโจทย์เชิงพื้นที่ที่ทั่วโลกให้ความสำคัญกับการบูรณาการการจัดการน้ำกับการวางแผนพัฒนาเชิงพื้นที่ (area-integrated water management) การให้ความสำคัญกับในแนวทางการทางสิ่งแวดล้อมเป็นฐานเพื่อการแก้ปัญหาทางด้านการจัดการน้ำ (nature-based solution) และการสนับสนุนศักยภาพเพื่อพร้อมรับและปรับตัวของพื้นที่ตามภัยธรรมชาติของแต่ละท้องที่
ในการขับเคลื่อนการเปลี่ยนผ่านการบริหารจัดการน้ำต้องอาศัยการนำโจทย์เหล่านี้ในการกำหนดแผนและนโยบายของประเทศตั้งแต่ระดับยุทธศาสตร์ (strategic level) [9] คือการกำหนดโจทย์ใหญ่ที่นอกเหนือจากการเพิ่มผลิตภาพการใช้น้ำ แต่ต้องคำนึงถึงความเสี่ยงระบบดิน น้ำ อากาศปัจจุบันโดยเฉพาะความเสี่ยงของเมืองและที่อยู่อาศัยของชุมชน ประชาชนและกลุ่มเปราะบาง ในระดับ (tactical level) การสร้างแนวร่วมและเสริมสร้างกลไกการขับเคลื่อนที่มีอยู่กับโจทย์ใหม่ โจทย์ยั่งยืนการบริหารจัดการน้ำ พร้อมกับการกำนดการประเมินผลลัพธ์การบริหารจัดการน้ำที่มีประสิทธิภาพและตอบโจทย์ “ผลลัพธ์” ของเป้าหมาย SDGs ในระดับการดำเนินงาน (operational level) คือการกำหนดเป้าหมายร่วมในระดับพื้นที่และการทดลองการทำงานแบบบูรณาการในพื้นที่ การนำเป้าหมายในการนำโจทย์ใหม่มาดำเนินงานในแต่ละระดับ เสริมโครงสร้างกลไกการจัดน้ำอย่างบูรณาการ
ประการที่สอง คือการออกแบบกลไกการทำงานร่วมการอย่างมีประสิทธิภาพ ส่วนสำคัญของการดำเนินนโยบายคือการออกแบบกลไกการทำงานที่ผลักดันนโยบายในเชิงปฏิบัติ ผู้เขียนเสนอการออกแบบและกำหนดกลไกการทำงานร่วมกันข้ามระดับ (multi-level governance) [10] และการถ่ายทอดนโยบายลงสู่พื้นที่และการวิเคราะห์สภาพปัญหาที่จะนำไปสู่การแก้ใขปัญหาจากการกำหนดโจทย์ภาพใหญ่การจัดการน้ำอย่างยั่งยืน การเปลี่ยนมุมมองจากการถ่ายทอดนโยบายจากบนลงสู่พื้นที่ข้างล่างเป็นการทำงานร่วมกับการทำงานเพื่อขับเคลื่อนเป้าหมายร่วมการจัดการน้ำ การแก้ไขปัญหาจัดการน้ำอย่างครอบคลุม (holistic approach) การทำงานร่วมกันโดยมีท้องถิ่นเป็นตัวขับเคลื่อนนโยบาย ในขณะที่ส่วนราชการหรือกรมเฉพาะทางด้านน้ำสนับสนุนการทำงานในเป้าหมายร่วมกัน
ผู้เขียนมองว่าโจทย์การบริหารจัดการน้ำในระดับพื้นที่ไม่ใช่การเพิ่มอัตราเร่งการกระจายอำนาจเเต่ควรเป็นการออกแบบการทำงานของท้องถิ่นอย่างมีประสิทธิภาพหรืออาจเรียกว่าเป็น “decentralization by design” คือต้องออกแบบการทำงานร่วมกัน การใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีในการสร้างกลไกการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ การสนับสนุน อนุญาต และทำให้เกิดขึ้นได้ (enabling) การทำงานแนวทางนวัตกรรมเชิงนโยบายและการทดลองนโยบาย (policy innovation) ที่ต้องอาศัยการเพิ่มศักยภาพของท้องถิ่นอย่างรัดกุมและรอบด้าน เพื่อเสริมศักยภาพการเปลี่ยนผ่านการจัดการน้ำแบบบูรณาการ ตอบโจทย์ความเป็นธรรมของการจัดสรรทรัพยากรน้ำ และตอบโจทย์คุณค่าการจัดการน้ำที่หลากหลายทั้งระบบนิเวศ คุณภาพของพื้นที่ (spatial quality) และวัฒนธรรม องค์ความรู้ งานวิจัย ที่เกี่ยวกับการวิเคราะห์ศักยภาพท้องถิ่น การดำเนินงานกฎหมายที่เกี่ยวข้องและการจัดการและถ่ายทอดงบประมาณจึงเป็นเงื่อนไขเชิงสถาบันที่สำคัญที่จะออกแบบการทำงานและความสัมพันธ์ของการทำงานร่วมกันของท้องถิ่น ลุ่มน้ำ ภูมิภาค และระดับชาติ
04 – บทสรุป
เห็นได้ว่าการบริหารจัดการน้ำเป็นเรื่องที่ซับซ้อน และหลายประเทศทั่วโลกก็เจอปัญหาที่คล้ายกัน โจทย์การบริหารจัดการน้ำจึงมีความเกี่ยวข้องมากกว่าเเค่เป้าหมาย 6 ของ SDGs แต่เป็นต้นทุนในการขับเคลื่อนเป้าหมายอื่นในแทบทุกมิติของเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน โจทย์ใหม่ที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืนจึงกว้างกว่าการบริหารทรัพยากรให้เพียงพอในทุกพื้นที่ แต่ต้องเสริมร้อยกับโจทย์นโยบายสาธารณะและความมั่นคงมิติอื่นด้านระบบอาหาร มหาสมุทร ที่ดินและพลังงาน ที่ต้องอาศัยการขับเคลื่อนที่มากกว่าเครื่องมือการจัดการหรือกำกับของภาครัฐแต่ต้องเป็นการออกแบบการทำงานร่วมกันเพื่อขับเคลื่อนและเปลี่ยนผ่านสู่การจัดการแบบบูรณาการ พร้อมรับ ฟื้นกลับและปรับตัว (resilient water system) ที่ต้องอาศัยการสนับสนุนของการเมือง ภาควิชาการ และภาคประชาชน
บทความวิชาการนำเสนอผลจากการทบทวนเอกสารและข้อค้นพบเบื้องต้นจากโครงการวิจัยเรื่อง “การศึกษาโครงสร้างเชิงสถาบันการบริหารจัดการน้ำของประเทศไทย: วิเคราะห์ภาพรวมเชิงระบบ” โครงการวิจัยจากงบกองทุนวิจัย (คณะรัฐศาสตร์) ปีงบประมาณ 2566
พิมพ์นารา อินต๊ะประเสริฐ – บรรณาธิการ
อติรุจ ดือเระ – พิสูจน์อักษร
วิจย์ณี เสนแดง – ภาพประกอบ
● อ่านข่าวและบทความที่เกี่ยวข้อง
– World Water Week 2022 – UN ชี้ภัยเเล้งที่ขยายวงกว้างทำคนทั่วโลกต้องการน้ำเพิ่มขึ้น ขณะที่ความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงน้ำสะอาดยังคงมีอยู่มาก
– คนจะยังขาด น้ำสะอาด สุขาภิบาล และสุขอนามัย ในอนาคต หากยังละเลยในปัญหาและทำงานช้าเช่นปัจจุบัน
– รายงานความคืบหน้าด้านน้ำโดย UN Water ชี้ สถานการณ์น้ำของโลกไม่เป็นไปตามแผน #SDG6– 2564 ปีของวิกฤติน้ำในโลก: น้ำล้น แห้งแล้งไป ปนเปื้อนมาก ภัยพิบัติน้ำเกิดถี่ขึ้น
ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG6 น้ำสะอาดและการสุขาภิบาล
– (6.4) เพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำในทุกภาคส่วนและสร้างหลักประกันว่าจะมีการใช้น้ำและจัดหาน้ำที่ยั่งยืน เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำ และลดจำนวนประชาชนที่ประสบความทุกข์จากการขาดแคลนน้ำ ภายในปี 2573
– (6.5) ดำเนินการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำแบบองค์รวมในทุกระดับ รวมถึงผ่านทางความร่วมมือระหว่างเขตแดนตามความเหมาะสม ภายในปี 2573
– (6.b) สนับสนุนและเพิ่มความเข้มแข็งในการมีส่วนร่วมของชุมชนท้องถิ่นในการปรับปรุงการจัดการน้ำและสุขอนามัย
#SDG11 เมืองเเละชุมชนที่ยั่งยืน
– (11.1) สร้างหลักประกันว่าทุกคนเข้าถึงที่อยู่อาศัยและการบริการพื้นฐานที่เพียงพอ ปลอดภัย ในราคาที่สามารถจ่ายได้และยกระดับชุมชนแออัด ภายในปี พ.ศ. 2573
– (11.3) ยกระดับการพัฒนาเมืองและขีดความสามารถให้ครอบคลุมและยั่งยืนเพื่อการวางแผนและการบริหารจัดการการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์อย่างมีส่วนร่วม บูรณาการและยั่งยืนในทุกประเทศ ภายในปี พ.ศ. 2573
#SDG13 การรับมือกับการเปลี่ยนเเปลงสภาพภูมิอากาศ
– (13.b) ส่งเสริมกลไกที่จะเพิ่มขีดความสามารถในการวางแผนและการบริหารจัดการที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างมีประสิทธิผลในประเทศพัฒนาน้อยที่สุด และรัฐกำลังพัฒนาที่เป็นเกาะขนาดเล็ก โดยให้ความสำคัญต่อผู้หญิง เยาวชน ชุมชนท้องถิ่นและชุมชนชายขอบ
#SDG15 ระบบนิเวศบนบก
– (15.1) สร้างหลักประกันว่าจะมีการอนุรักษ์ การฟื้นฟู และการใช้ระบบนิเวศบนบกและแหล่งน้ำจืดในแผ่นดิน รวมทั้งบริการทางระบบนิเวศอย่างยั่งยืน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ป่าไม้ พื้นที่ชุ่มน้ำ ภูเขาและพื้นที่แห้งแล้ง โดยเป็นไปตามข้อบังคับภายใต้ความตกลงระหว่างประเทศ ภายในปี พ.ศ. 2563
#SDG17 ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
– (17.14) ยกระดับความสอดคล้องเชิงนโยบายเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
– (17.17) สนับสนุนและส่งเสริมหุ้นส่วนความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาครัฐ-ภาคเอกชน และประชาสังคม สร้างบนประสบการณ์และกลยุทธ์ด้านทรัพยากรของหุ้นส่วน
อ้างอิง:
[1] UN Sustainable Development Goals. (2022). Water Action Decade. Retrieved from https://www.un.org/sustainabledevelopment/water-action-decade/
[2] สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ. (2021). รายงานความก้าวหน้าเป้าหมายการพัฒนาท่ียั่งยืนของประเทศไทย พ.ศ. 2559-2563. Retrieved from http://sdgs.nesdc.go.th
[3] UN High Level Panel on Water (HLPW) 2021.
[4] OECD. (2018). Implementing the OECD Principles on Water Governance.
[5] United Nations, The United Nations World Water Development Report 2021: Valuing Water. UNESCO, Paris.
[6] สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ แผนแม่บททรัพยากรน้ำแห่งชาติ
[7] SDSN Thailand, SDG Move, & IHPP Thailand. (2022). รายงานการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทยมุมมองจากเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างภาคส่วน เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทย พ.ศ. 2565.
[8] Brugge, R. V. D., & Rotmans, J. (2007). Towards transition management of European water resources. Water Resources Management, 21, 249-267.
[9] Loorbach, D. (2010). Transition management for sustainable development: a prescriptive, complexity‐based governance framework. Governance, 23(1), 161-183.
[10] OECD. (2011). Water governance in OECD countries: A multi-level approach: OECD.