จากการสำรวจข่าวสารความเคลื่อนไหวที่เกี่ยวข้องและส่งผลต่อการขับเคลื่อน SDGs ระหว่างวันที่ 3 – 9 มิถุนายน 2566 มีข่าวสารความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจ ดังนี้
ภาคแก้ไขอนุสัญญาบาเซลเริ่มบังคับใช้ในไทย
ภาคแก้ไขของอนุสัญญาบาเซลว่าด้วยการเคลื่อนย้ายข้ามพรมแดนของของเสียอันตรายซึ่งไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่ให้สัตยาบัน ได้เริ่มบังคับใช้อย่างเป็นทางการในประเทศไทยเมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2566 โดยสาระสำคัญของข้อบทดังกล่าวกำหนดว่าประเทศในกลุ่มองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) สหภาพยุโรป (EU) และลิกเตนสไตน์ ต้องยกเลิกการส่งออกของเสียอันตรายภายใต้อนุสัญญาบาเซลฯ มายังประเทศที่ให้สัตยาบันแก่ภาคแก้ไขของอนุสัญญาบาเซล หมายความว่าประเทศไทยต้องห้ามนำเข้าของเสียอันตรายภายใต้อนุสัญญาบาเซลจากกลุ่มประเทศข้างต้น ซึ่งส่วนใหญ่เป็นประเทศพัฒนาแล้ว โดยเด็ดขาด
ทั้งนี้ ปุณญธร จึงสมาน มูลนิธิบูรณะนิเวศ กล่าวว่า “การตัดสินใจของรัฐบาลไทยเป็นก้าวสำคัญในการแก้ไขปัญหาขยะนำเข้า อย่างไรก็ตาม ก้าวต่อไปที่สำคัญไม่แพ้กัน คือการออกกฎหมายห้ามนำเข้าของเสียอันตรายในระดับประเทศ ที่ควรครอบคลุมทั้งของเสียอันตรายภายใต้อนุสัญญาบาเซลและของเสียที่ต้องได้รับการพิจารณาเป็นพิเศษในภาคผนวก 2 ซึ่งจะรวมไปถึงขยะพลาสติกและขยะอิเล็กทรอนิกส์อีกหลายประเภท”
ประเด็นดังกล่าวสอดคล้องกับการขับเคลื่อน SDG11 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 11.6 ลดผลกระทบทางลบของเมืองต่อสิ่งแวดล้อมรวมถึงการให้การจัดการขยะมูลฝอย และของเสียอื่น ๆ และ SDG12 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 12.4 บรรลุเรื่องการจัดการสารเคมีและของเสียทุกชนิด
เข้าถึงได้ที่: ไทยเริ่มบังคับใช้ “ภาคแก้ไขอนุสัญญาบาเซล” (มูลนิธิบูรณะนิเวศ)
ประกาศกระทรวงทรัพยากรฯ กำหนดให้โครงการกำแพงกันคลื่นทุกขนาดต้องทำ EIA
วันที่ 7 มิถุนายน 2566 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่ประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่องกำหนดโครงการ กิจการ หรือการดำเนินการ ซึ่งต้องจัดทำรายการประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม และหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม กำหนดให้กำแพงกันคลื่นทุกขนาด ต้องทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (environmental impact assessment – EIA)
ประกาศดังกล่าวนับเป็นความสำเร็จอีกขั้นของภาคประชาชนและประชาสังคม เช่น กลุ่ม Beach for Life และกลุ่มทวงคืนชายหาด ที่พยายามเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ไขกฎหมายให้โครงการกำแพงกันคลื่นกลับมาทำ EIA ภายหลังจากที่ถูกเพิกถอนไม่ต้องทำมาตั้งแต่ปี 2557
ประเด็นดังกล่าวสอดคล้องกับการขับเคลื่อน SDG14 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 14.5 ภายในปี พ.ศ. 2563 อนุรักษ์พื้นที่ทางทะเลและชายฝั่ง SDG16 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 16.7 สร้างหลักประกันว่าจะมีกระบวนการตัดสินใจที่มีความรับผิดชอบ ครอบคลุม มีส่วนร่วม
เข้าถึงได้ที่: เผยแพร่ประกาศกระทรวงทรัพย์ โครงการกำแพงกันคลื่นทุกขนาด ต้องทำ EIA (ประชาไท)
เครือข่ายองค์กรพัฒนาเอกชน ไม่ยอมรับนโยบาย BCG เสนอรัฐบาลหน้ายกเลิก
วันที่ 5 มิถุนายน 2566 เนื่องในวันสิ่งแวดล้อมโลก เครือข่ายองค์กรพัฒนาเอกชน ทั้ง คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) และสมัชชาองค์กรเอกชนด้านการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ (สคส.) ร่วมประกาศจุดยืน ไม่ยอมรับนโยบาย BCG ภายใต้วาทกรรม “ฟอกเขียว” กลุ่มทุน โดยระบุเหตุผลสำคัญว่าแนวคิด BCG เป็นหลักการที่ดี แต่รัฐบาลกลับใช้เรื่องนี้เคลือบแฝงไปในทางไม่บริสุทธิ์ ด้วยการใช้วาทกรรมนี้รองรับเครื่องมือของกลุ่มทุนที่ไร้ความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมและชีวิตผู้คน ขั้นตอนต่อไปจะมีการรวบรวมรายชื่อองค์กรภาคประชาชนร่วมสนับสนุนข้อเสนอนี้ ก่อนส่งตัวแทนเข้าหารือพรรคการเมืองที่เตรียมจัดตั้งรัฐบาล เพื่อให้เข้าใจภาพรวมปัญหาดังกล่าว และเดินหน้าตามข้อเสนอของภาคประชาชนในการยกเลิกนโยบาย BCG ต่อไป
ประเด็นดังกล่าวสอดคล้องกับการขับเคลื่อน SDG8 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 8.4 ปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้ทรัพยากรของโลกในการบริโภคและการผลิตอย่างต่อเนื่อง SDG12 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 12.1 ดำเนินการให้เป็นผลตามกรอบระยะ 10 ปีของแผนงานว่าด้วยแบบแผนการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน เเละเป้าหมายย่อยที่ 12.2 บรรลุการจัดการที่ยั่งยืนและการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างมีประสิทธิภาพ เเละ SDG16 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 16.7 สร้างหลักประกันว่าจะมีกระบวนการตัดสินใจที่มีความรับผิดชอบ ครอบคลุม มีส่วนร่วม
เข้าถึงได้ที่: กป.อพช. -สคส. ประกาศจุดยืน ไม่ยอมรับนโยบาย BCG ย้ำ เอื้อทุน ฟอกเขียว (The Active)
ประเทศร่ำรวยที่ปล่อยคาร์บอนอาจต้องจ่ายค่าชดเชยกว่า 6 ล้านล้านดอลลาร์ต่อปี
วารสารวิชาการ Nature Sustainability เผยแพร่งานวิจัยเกี่ยวกับการปล่อยคาร์บอนซึ่งระบุว่าประเทศร่ำรวยอาจต้องจ่ายค่าชดเชยด้านสภาพอากาศสูงถึง 6 ล้านล้านดอลลาร์ต่อปี ให้กับบรรดาประเทศกำลังพัฒนาซึ่งมียอดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำ โดยประเทศเหล่านี้จำเป็นต้องมีเงินทุนมากพอเพื่อใช้ในการยุติการพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิลในอนาคต เนื่องจากประเทศกำลังพัฒนาส่วนใหญ่มีสัดส่วนการปล่อยก๊าซเรือนกระจกขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศต่ำมากหากเทียบกับประเทศร่ำรวยตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ซึ่งโครงการวิจัยนี้เป็นครั้งแรกที่เสนอให้ประเทศมหาอำนาจต้องรับผิดชอบต่อการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างไม่ยุติธรรมดังที่กล่าวไปข้างต้น รวมถึงสหราชอาณาจักร สหรัฐอเมริกา เยอรมนี ญี่ปุ่น และรัสเซีย ที่ควรจ่ายเงินค่าชดเชยให้กับเหล่าประเทศที่มีส่วนทำให้โลกร้อนน้อยที่สุด
ทั้งนี้ ในการประชุมสุดยอด COP27 ของ UN เมื่อปีที่แล้ว ประเทศต่าง ๆ ก็เคยเห็นพ้องที่จะจัดตั้งกองทุน ‘การสูญเสียและความเสียหาย’ เพื่อจัดหาเงินทุนและจ่ายชดเชยทั้งทางเศรษฐกิจและทางอ้อมให้กับประเทศยากจนที่ไม่อาจหลีกหนีจากเหตุสภาพอากาศรุนแรงอันเป็นผลพวงจากโลกรวน
ประเด็นดังกล่าวสอดคล้องกับการขับเคลื่อน SDG13 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 13.2 บูรณาการมาตรการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในนโยบาย และ 13.a ดำเนินการให้เกิดผลตามพันธกรณีที่ผูกพันต่อประเทศพัฒนาแล้วซึ่งเป็นภาคีของอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
เข้าถึงได้ที่: ประเทศร่ำรวยเสี่ยงต้องจ่ายเงินชดเชยด้านสภาพอากาศสูงถึง 170 ล้านล้านดอลลาร์ จากการปล่อยคาร์บอนมหาศาล (The Standard)
แพทย์ลาออกกระทบระบบสาธารณสุขไทย สพง. แนะวัฒนธรรมองค์กรที่ตึงเครียดมีส่วน
ปัญหาการขาดแคลนแพทย์ในระบบสาธารณสุขถูกหยิบยกมาพูดถึงอีกครั้งภายหลังเกิดปรากฏการณ์แพทย์..ลาออกจำนวนมากเนื่องจากภาระงานที่หนักเกินไปแต่ค่าตอบแทนน้อย เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2566 นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข จึงออกมาระบุถึงความพยายามของ สธ. ในการดูแลบุคลากรในสังกัดทุกวิชาชีพเน้น 4 เรื่อง ซึ่งดำเนินการมาตลอด คือ การเพิ่มค่าตอบแทน สวัสดิการ ความก้าวหน้าในการทำงาน และเรื่องภาระงาน
ด้าน นพ.ณัฐ ศิริรัตน์บุญขจร ตัวแทนจากสหภาพแพทย์ผู้ปฏิบัติงาน (สพง.) เปิดเผยกับ “The Coverage” ว่ายังมีอีก 5 ประเด็น ที่ สธ. ไม่พูดถึงและสามารถพัฒนาให้ดีขึ้นกว่าที่เป็น ได้แก่ 1) เรื่องวัฒนธรรมองค์กรที่ไม่ค่อยดี หรือการดูถูก ดุด่าจากอาจารย์ที่เป็นผู้ดูแล 2) กรอบอัตรากำลังของระบบราชการที่แข็งตัว ทำให้การจะเพิ่มแพทย์ในโรงพยาบาลติดอุปสรรคในหลายส่วน 3) การจัดสรรแพทย์ Intern ไปอยู่ในโรงพยาบาล 4) การเพิ่มคุณภาพของแพทย์ที่จบใหม่ และ 5) การกำหนดเกณฑ์ภาระงานที่ถูกต้อง ซึ่งต้องทำควบคู่ไปกับการกำหนดชั่วโมงการทำงานนอกเวลา (เวร) ของแพทย์
ประเด็นดังกล่าวสอดคล้องกับการขับเคลื่อน SDG3 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 3.c เพิ่มการใช้เงินสนับสนุนด้านสุขภาพ และการสรรหา การพัฒนา การฝึกฝน และการเก็บรักษากำลังคนด้านสุขภาพในประเทศกำลังพัฒนา
เข้าถึงได้ที่: ‘สหภาพแพทย์ผู้ปฏิบัติงาน’ เปิด 5 ประเด็นที่ สธ. ไม่พูดถึง (The Coverage)
ผลงานนี้ได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิเพื่อการพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ ภายใต้โครงการเร่งรัดการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนด้านสุขภาพของประเทศไทย