วันนี้ (21 มิถุนายน 2566) Sustainable Development Solutions Network (SDSN) ได้เผยแพร่ “รายงานการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Report) และ SDG Index ประจำปี 2566 ซึ่งเป็นฉบับที่แปดหลังจากเริ่มจัดทำและเผยแพร่ครั้งแรกมาตั้งแต่ปี 2558 โดยถือได้ว่าเป็นการรายงานผลที่ให้ข้อมูลสถานการณ์ SDGs ที่เป็นปัจจุบันที่สุดอย่างต่อเนื่อง และเป็นการจัดอันดับผลการดำเนินงานด้าน SDGs ที่ได้รับการยอมรับทั่วโลก
ในปีนี้นับว่าเป็นครึ่งทาง (midterm) ของการขับเคลื่อน SDGs รายงานข้างต้นจึงมาในธีม “World at Risk of Losing a Decade of Progress on the UN Sustainable Development Goals” หรือ “โลกกำลังเสี่ยงที่จะสูญเสียทศวรรษแห่งความก้าวหน้าในการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ” เนื้อหาประกอบด้วยข้อค้นพบจากสถานการณ์ความก้าวหน้าและความถดถอยของการดำเนินงานขับเคลื่อน SDGs ทั้งระดับโลกและระดับภูมิภาค ไปจนถึงบทสังเคราะห์ และข้อเสนอแนะจากคณะผู้เชี่ยวชาญเพื่อการแก้ปัญหาความท้าทายต่าง ๆ ที่เหนี่ยวรั้งความมุ่งมั่นและความพยายามของทุกภาคส่วนเพื่อการบรรลุ SDGs ให้ทันภายในปี 2573
ภาพรวมสถานการณ์ SDGs ระดับโลก อย่างรวบรัดที่ปรากฏในจดหมายข่าว (press release) พบว่ามีประเด็นที่น่าสนใจ เช่น
- ณ ครึ่งทางของการขับเคลื่อน SDGs ระดับโลก พบว่ายังไม่สามารถบรรลุเป้าหมายใดได้
- ยังคงขาดแคลนเงินทุนสนับสนุนการขับเคลื่อน SDGs สำหรับประเทศกำลังพัฒนาและประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่
- ทุกประเทศควรใช้แรงผลักดัน ณ ครึ่งทางของการขับเคลื่อน SDGs เพื่อทบทวนและแก้ไขยุทธศาสตร์การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนระดับชาติ รวมถึงกรอบการลงทุนเพื่อ SDGs ในระยะยาว
- มีการนำร่องเพิ่มดัชนีชี้วัดเรื่องการสนับสนุนความร่วมมือพหุภาคี ซึ่งประเทศที่ได้คะแนนในส่วนนี้สูงสุด ได้แก่ อาร์เจนตินา บาร์เบโดส ชิลี เยอรมนี จาเมกา และเซเชลส์
- ประเทศร่ำรวยยังคงสร้างผลกระทบทางลบต่อประเทศอื่น ๆ โดยเมื่อพิจารณารูปแบบการบริโภคพบว่าอุตสาหกรรมสิ่งทอและเสื้อผ้าเป็นภาคส่วนสำคัญที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากที่สุด
- วิธีการทางวิทยาศาสตร์มีความจำเป็นสำหรับการขับเคลื่อน SDGs ในทุกระดับและการสร้างความเข้มแข็งแก่ความรู้รับผิดชอบต่อผลกระทบจากปฏิบัติการต่าง ๆ (accountability)
การจัดอันดับ SDG Index ระดับโลก ปีนี้มีประเทศที่ถูกจัดอันดับทั้งสิ้น 166 ประเทศ เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว (2565) 163 ประเทศ โดยประเทศที่ติด Top 5 อันดับแรก ประกอบด้วย ฟินแลนด์ สวีเดน เดนมาร์ก เยอรมนี และออสเตรีย ตามลำดับ ขณะที่ประเทศที่ถูกจัดอยู่ใน 5 อันดับสุดท้าย ประกอบด้วย โซมาเลีย (อันดับ 162) เยเมน (อันดับ 163) ชาร์ด (อันดับ 164) สาธารณรัฐแอฟริกากลาง (อันดับ 165) และซูดานใต้ (อันดับ 166)
ส่วนประเทศไทย ปีนี้ได้รับการจัดอันดับอยู่ที่อันดับ 43 ของโลก ขยับดีขึ้น 1 อันดับจากปี 2565 ซึ่งอยู่ที่ 44 สำหรับคะแนนรวมได้ 74.7 คะแนน เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าเพียง 0.6 คะแนน อย่างไรก็ดี ยังถือว่าสูงกว่าคะแนนเฉลี่ยระดับภูมิภาคเอเชียตะวันออกและเอเชียใต้ ซึ่งอยู่ที่ 67.2 คะแนน
หากเปรียบเทียบกับประเทศในภูมิภาคอาเซียนด้วยกัน พบว่าประเทศไทยยังครองอันดับ 1 เป็นปีที่ 5 ติดต่อกัน (2562 – 2566) ตามมาด้วย เวียดนาม (อันดับ 55) สิงคโปร์ (อันดับ 64) อินโดนีเซีย (อันดับ 75) มาเลเซีย (อันดับ 78) ฟิลิปปินส์ (อันดับ 98) บรูไนดารุซซาลาม (อันดับ 102) กัมพูชา (อันดับ 103) ลาว (อันดับ 115) และเมียนมา (อันดับ 125) ซึ่งเมื่อเทียบกับปี 2565 พบว่ามีเพียง 4 ประเทศเท่านั้นที่มีอันดับก้าวหน้าขึ้นคือ ไทย อินโดนีเซีย กัมพูชา และลาว ขณะที่อีก 5 ประเทศมีอันดับถดถอยลง ได้แก่ สิงคโปร์ มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ บรูไนดารุซซาลาม และเมียนมา ส่วนเวียดนามเป็นประเทศเดียวที่อันดับไม่มีการเปลี่ยนแปลง
นอกจากนี้ หากเทียบกับประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและเอเชียใต้ พบว่าไทยรั้งอันดับที่ 3 เป็นรองจากญี่ปุ่น (อันดับ 21) และเกาหลีใต้ (อันดับ 31)
ทั้งนี้ หากพิจารณาสถานะรายเป้าหมายเทียบของไทยในปีนี้กับปี 2565 มีข้อค้นพบที่น่าสนใจ ดังนี้
- เป้าหมายที่มีสถานะบรรลุเป้าหมายแล้ว (สีเขียว) สามารถบรรลุเป้าหมายเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งเป้าหมาย คือ SDG4 (การศึกษาที่มีคุณภาพ) จากเดิมที่ปี 2565 มีเพียง SDG1 (ยุติความยากจน) เท่านั้นที่สามารถอยู่ในสถานะดังกล่าว อย่างไรก็ดีค่าสีสถานะที่ปรากฏตามรายงานฉบับนี้พิจารณาจาก 2 ตัวชี้วัดที่มี ‘สถานะแย่ที่สุด’ ในเป้าหมายนั้นเมื่อเปรียบเทียบกับสถานการณ์ของทุกประเทศทั่วโลกจึงจำเป็นต้องพิจารณาถึงรายละเอียดข้อมูลในระดับตัวชี้วัดเพิ่มเติม
- เป้าหมายที่มีสถานะท้าทาย (สีส้ม) มีทั้งสิ้น 10 เป้าหมายเท่ากับปี 2565 ได้แก่ SDG5 (ความเท่าเทียมทางเพศ) SDG6 (น้ำสะอาดและการสุขาภิบาล) SDG7 (พลังงานสะอาดที่เข้าถึงได้) SDG8 (งานที่มีคุณค่าและการเติบโตทางเศรษฐกิจ) SDG9 (โครงสร้างพื้นฐาน นวัตกรรม และอุตสาหกรรม) SDG10 (ลดความเหลื่อมล้ำ) SDG11 (เมืองและชุมชนที่ยั่งยืน) SDG12 (การผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน) SDG13 (การรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ) และ SDG17 (ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน)
- เป้าหมายที่มีสถานะท้าทายมาก (สีแดง) มีทั้งสิ้น 5 เป้าหมายเท่ากับปี 2565 ได้แก่ SDG2 (ขจัดความหิวโหย) SDG3 (สุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี) SDG14 (ทรัพยากรทางทะเล) SDG15 (ระบบนิเวศบนบก) และ SDG16 (สังคมสงบสุข ยุติธรรม และสถาบันที่เข้มแข็ง)
- ปีนี้ไม่มีเป้าหมายใดของไทยอยู่ในสถานะยังคงมีความท้าทายบางส่วน (สีเหลือง)
SDG Move จะนำเสนอข้อมูลการวิเคราะห์สถานการณ์ของประเทศไทยตาม SDG Index เร็ว ๆ นี้
● อ่านข่าวและบทความที่เกี่ยวข้อง
– SDG Updates | เปิดรายงาน Sustainable Development Report 2022 และ SDG Index 2022
– Director’s Note: 13: สถานะ SDGs ประเทศไทย SDG Index vs รายงานความก้าวหน้าเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทย พ.ศ. 2559-2563
– SDG Insights | Inside SDG Index: ไขข้อข้องใจ SDG Index – ไทยยั่งยืนกว่าสิงคโปร์จริงหรือ? และอันดับ SDG Index เป็นผลงานรัฐบาล คสช. และ พปชร. หรือไม่ เพียงใด ?
– SDG Insights | Inside SDG Index : เจาะลึก SDG Index 2021 ของประเทศไทย
– SDG Updates | เปิดรายงาน Sustainable Development Report และ SDG Index 2021
– Director’s Note: 05 สิ่งที่ควรเข้าใจก่อนอ่าน Sustainable Development Report และSDG Index
– SDG Insights | สถานะประเทศไทยจาก SDG Index: 4 ปีผ่านไป อะไรดีขึ้นหรือแย่ลงบ้าง ?
ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG1 ยุติความยากจน
#SDG2 ขจัดความหิวโหย
#SDG3 สุขภาพเเละความเป็นอยู่ที่ดี
#SDG4 การศึกษาที่มีคุณภาพ
#SDG5 ความเท่าเทียมทางเพศ
#SDG6 น้ำสะอาดและการสุขาภิบาล
#SDG7 พลังงานสะอาดที่เข้าถึงได้
#SDG8 งานที่มีคุณค่าและการเติบโตทางเศรษฐกิจ
#SDG9 โครงสร้างพื้นฐาน นวัตกรรม เเละอุตสาหกรรม
#SDG10 ลดความเหลื่อมล้ำ
#SDG11 เมืองเเละชุมชนที่ยั่งยืน
#SDG12 การผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน
#SDG13 การรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
#SDG14 ทรัพยากรทางทะเล
#SDG15 ระบบนิเวศบนบก
#SDG16 สังคมสงบสุข ยุติธรรม และสถาบันเข้มแข็ง
#SDG17 ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
แหล่งที่มา : Sustainable Development Report (SDSN)
ผลงานนี้ได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิเพื่อการพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ ภายใต้โครงการเร่งรัดการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนด้านสุขภาพของประเทศไทย