Site icon SDG Move

SDG Updates | SDG Index 2023 สถานการณ์โลก – อาเซียน – ไทยหลังผ่านมาครึ่งทาง

เผยแพร่อย่างเป็นทางการแล้วสำหรับ “รายงานการพัฒนาที่ยั่งยืน” (Sustainable Development Report: SDR) และ SDG Index  2023 (2566)  จัดทำโดย Sustainable Development Solutions Network (SDSN) เครือข่ายนักวิชาการทำงานเพื่อสนับสนุนการบรรลุการพัฒนาที่ยั่งยืนที่ทำงานใกล้ชิดกับองค์การสหประชาชาติ จัดทำรายงานการพัฒนาที่ยั่งยืนเพื่อติดตามสถานการณ์การขับเคลื่อนเพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนทั้งในภาพรวมระดับโลก รวมถึงสถานการณ์แต่ละประเทศมาอย่างต่อเนื่องเป็นประจำทุกปี ทั้งยังเป็นรายงานฉบับเดียวที่มีการจัดอันดับความก้าวหน้าในการขับเคลื่อนของทุกประเทศมาตั้งแต่ปี 2015 

สำหรับปีนี้รายงานจัดทำขึ้นในวาระโอกาสที่ SDGs ก้าวเข้าสู่ครึ่งหลังของการดำเนินการอย่างเป็นทางการมาในธีม “World at Risk of Losing a Decade of Progress on the UN Sustainable Development Goals” หรือ “โลกกำลังเสี่ยงที่จะสูญเสียทศวรรษแห่งความก้าวหน้าในการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ”   SDG Updates ฉบับนี้จะฉายให้เห็นภาพรวมสถานการณ์ระดับโลก อาเซียน และไฮไลต์สถานการณ์ของประเทศไทยในปีนี้พร้อมย้อนรอยการเดินทางตลอดครึ่งทางแรกที่ผ่านมา


00 – ข้อควรทราบก่อนอ่านรายงาน 


01 – สถานการณ์ภาพรวม SDGs ในระดับโลก

“ผ่านมาครึ่งทางโลกยังไม่บรรลุเป้าหมายใดเลย มี 6 เป้าหมายวิกฤติ  และเป้าหมายเกินครึ่งไม่มีความคืบหน้าในการดำเนินการ”

แม้ว่าค่าเฉลี่ยของคะแนนความคืบหน้าทั่วโลกจะยังคงเพิ่มขึ้น แต่การเพิ่มขึ้นนั้นเป็นไปได้อย่างล่าช้าลงกว่าที่ควรจะเป็นเนื่องจากผลของการระบาดของโควิด-19 และวิกฤตการณ์ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นสงคราม พลังงาน อาหาร ส่งผลให้ค่าครองชีพพุ่งสูงขึ้น  หากพิจารณาคะแนนดัชนีะจะพบว่าการเพิ่มขึ้นของคะแนนในช่วงปี  2016 – 2019 ก่อนการระบาดของโควิด – 19 นั้นเป็นไปอย่างสม่ำเสมอและหากไม่มีวิกฤติอันเหนือความคาดหมายนี้คะแนนเฉลี่ยของโลกจะมีแนวโน้มขยับขึ้นไปจนทะลุ 68 คะแนนตามเส้นประสีฟ้า แต่ทว่าผลจากวิกฤติดังกล่าวทำให้ความก้าวหน้าตั้งแต่ปี 2020 เป็นต้นมาช้าลงจนปัจจุบันก็ยังไม่อาจขยับขึ้นไปถึง 67 คะแนนได้ 

ยิ่งไปกว่านั้นเมื่อพิจารณาตามความสามารถทางเศรษฐกิจพบว่าประเทศที่มีรายได้สูงส่วนใหญ่ (HICs) สามารถบรรเทาผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมจากวิกฤตการณ์ต่าง ๆ ไปได้แล้วเนื่องจากมีเครื่องมือทางการเงินที่มีเสถียรภาพกว่าเมื่อเทียบกับประเทศรายได้ปานกลางและรายได้ต่ำ อย่างไรก็ดีผลของการที่ทุกประเทศต่างจำต้องกลับไปซ่อมแซมฟื้นฟูปัญหาเศรษฐกิจ สังคมภายในประเทศเป็นผลให้กลไกทางการเงิน และการสนับสนุนทรัพยากรอื่น ๆ เพื่อจัดการกับเป้าหมายด้านสิ่งแวดล้อมและความหลากหลายทางชีวภาพทั้งภายในและระหว่างประเทศเป็นไปอย่างจำกัด ไม่ว่าจะเป็นการส่งเสริมการผลิตและบริโภคที่ยั่งยืน (SDG 12)  การลดผลกระทบและรับมือต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (SDG 13) การแก้ไขปัญหาความเสื่อมโทรมของระบบนิเวศทางทะเล (SDG14) และระบบนิเวศบนบก (SDG 15) 

คะแนนเฉลี่ยดัชนี SDG Index ของโลกตั้งแต่ปี 2010 – 2022

“โลกเผชิญวิกฤติปากท้อง ความเป็นอยู่ สิ่งแวดล้อม สันติภาพ”

ผลลัพธ์ของสภาวะชะงักงันนี้สะท้อนผ่านสถานะ SDGs ของโลกเมื่อผ่านมาแล้วครึ่งทางโดยเปรียบเทียบกับสถานการณ์เมื่อปี 2015 ซึ่งเป็นปีที่เริ่มต้นบทสนทนาการกำหนดวาระการพัฒนา 2030 หรือ SDGs ผลการประเมินของรายงานฉบับนี้แสดงค่าสีสถานะ SDGs ทั้ง 17 เป้าหมายโดยสรุปเป็นประเด็นสำคัญ  6  ประเด็น ดังนี้

  1. แม้ผ่านมาแล้วครึ่งทางแต่โลกยังไม่บรรลุเป้าหมายใดเลย
  2. 6 เป้าหมายอยู่ในสถานะท้าทายมาก (สีแดง) หรือเรียกอีกอย่างว่าอยู่ในสถานการณ์วิกฤติมีความท้าทายอย่างมากหากจะผลักดันให้บรรลุเป้าหมายเหล่านี้ในปี 2030 ได้แก่ SDG2 ขจัดความหิวโหย SDG3 สุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี SDG11 เมืองและชุมชนที่ยั่งยืน SDG14 ทรัพยากรทางทะเล SDG15 ระบบนิเวศบนบก  และ SDG16 ความสงบสุข ยุติธรรมและสถาบันเข้มแข็ง
  3. 9 เป้าหมายอยู่ในสถานะท้าทาย (สีส้ม) ได้แก่ SDG1 ขจัดความยากจน SDG5 ความเท่าเทียมทางเพศ  SDG6 น้ำสะอาดและการสุขาภิบาล SDG7 พลังงานสะอาดที่เข้าถึงได้ SDG8 งานที่มีคุณค่าและการเติบโตทางเศรษฐกิจ SDG9 โครงสร้างพื้นฐาน นวัตกรรม และอุตสาหกรรม SDG10 ลดความเหลื่อมล้ำ SDG13 การรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และ SDG17 ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
  4. 2 เป้าหมายอยู่ในสถานะยังคงมีความท้าทายบางส่วน (สีเหลือง) หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งว่าใกล้เคียงกับการบรรลุเป้าหมายมากที่สุด ได้แก่ SDG4 การศึกษาที่มีคุณภาพ SDG12 การผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน
  5. เป้าหมายเกินครึ่งอยู่ในแนวโน้ม “ไม่คืบหน้า”  เมื่อเทียบกับปี 2015 แล้วมีถึง 10 เป้าหมายที่มีแนวโน้มการดำเนินการไม่คืบหน้า (ลูกศรสีส้ม) ได้แก่ SDG1 ขจัดความยากจน SDG2 ขจัดความหิวโหย  SDG4 การศึกษาที่มีคุณภาพ  SDG6 น้ำสะอาดและการสุขาภิบาล SDG8 งานที่มีคุณค่าและการเติบโตทางเศรษฐกิจ SDG10 ลดความเหลื่อมล้ำ SDG11 เมืองและชุมชนที่ยั่งยืน SDG13 การรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ SDG14 ทรัพยากรทางทะเล SDG15 ระบบนิเวศบนบก  และ SDG16 ความสงบสุข ยุติธรรมและสถาบันเข้มแข็งและ SDG17 ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน 
  6. 67% ของ Target ไม่มีความคืบหน้า อีก 15% ถดถอย บรรลุแล้วเพียง 18% ข้อมูลสถานการณ์ความก้าวหน้ารายเป้าหมายย่อย (target) ซึ่งเป็นส่วนที่ช่วยขยายความและให้รายละเอียดการดำเนินการแต่ละเป้าหมาย พบว่าเป้าหมายย่อยส่วนใหญ่จำนวน 67% อยู่ในสถานะ “ไม่มีความคืบหน้า”  อีก 15% อยูในสถานะ “ถดถอย” กล่าวคือ นอกจากไม่มีความคืบหน้าแล้วสถานการณ์ยังแย่ไปกว่าปี 2015 ซึ่งเป็นปีฐาน มีเป้าหมายย่อยเพียง 18% เท่านั้นที่ระบุว่าอยู่ในสถานะบรรลุแล้วหรืออยู่ในทิศทางที่สามารถบรรลุได้ทันปี 2030 

ส่วนในแง่การจัดอันดับ SDG Index ระดับโลก ปีนี้มีประเทศที่ถูกจัดอันดับทั้งสิ้น 166 ประเทศ เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว (2022) 163 ประเทศ โดยประเทศที่ติด Top 5 อันดับแรก ประกอบด้วย อันดับ 1 ฟินแลนด์ 86.8 คะแนน อันดับ 2 สวีเดน 86.0 คะแนน อันดับ 3 เดนมาร์ก 85.7 คะแนน อันดับ 4 เยอรมนี 83.4 คะแนน  และอันดับ 5 ออสเตรีย 82.3 คะแนน ตามลำดับ ขณะที่ประเทศที่ถูกจัดอยู่ใน 5 อันดับสุดท้าย ประกอบด้วย โซมาเลีย (อันดับ 162) เยเมน (อันดับ 163) ชาร์ด (อันดับ 164) สาธารณรัฐแอฟริกากลาง (อันดับ 165) และซูดานใต้ (อันดับ 166)


“ยุโรปตะวันออกและเอเชียกลางมีเป้าหมายวิกฤติน้อยที่สุด ส่วนแอฟริกาใต้ซาฮารามีเป้าหมายวิกฤติมากที่สุด”

เมื่อพิจารณาสถานการณ์ตามภูมิภาคพบว่า ภูมิภาคที่มีประเทศอยู่ในกลุ่มรายได้สูงไปจนถึงรายได้ปานกลางขั้นสูงเช่น ยุโรป ลาตินอเมริกา จะมีสถานะการพัฒนาในด้านสังคม ความเป็นอยู่ การเติบโตทางเศรษฐกิจในระดับที่ค่อนข้างดี กล่าวคือ ปรากฏสถานะวิกฤติตามเป้าหมายดังกล่าวค่อนข้างน้อย แต่ยังปรากฏความท้าทายมากในเป้าหมายด้านสิ่งแวดล้อมและสันติภาพ อาทิ SDG14 ทรัพยากรทางทะเล SDG15ระบบนิเวศบนบก และ SDG16 ความสงบสุข ยุติธรรมสถาบันที่เข้มแข็ง ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากความขัดแย้งในภูมิภาคเช่น สงครามในยูเครน  

ส่วนภูมิภาคที่มีประเทศอยู่ในกลุ่มรายได้น้อย และกลุ่มรายได้ปานกลางค่อนน้อย เผชิญความท้าทายอย่างมากในการบรรลุเป้าหมายที่เกี่ยวกับคุณภาพชีวิต การเติบโตทางเศรษฐกิจ ทั้งยังเผชิญกับสภาพความเสื่อมโทรมและผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ดังเห็นได้จากการที่สถานะ SDG14 และ SDG15 ของกลุ่มประเทศดังกล่าวอยู่ในสถานะสีแดงด้วยเช่นกัน  ทว่า กลุ่มประเทศเหล่านี้กลับมีสถานการณ์การดำเนินการเพื่อบรรลุ SDG12 การผลิตและบริโภคที่ยั่งยืน และ SDG13 ในประเด็นเกี่ยวกับการลดปัญหาและรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยเฉพาะประเด็นเกี่ยวกับการควบคุมการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอยู่ในสถานะบรรลุแล้ว (สีเขียว) สะท้อนว่ากลุ่มประเทศเหล่านี้มีแนวโน้มการใช้หรือเป็นตัวการในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสาเหตุสำคัญของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศน้อย แต่ยังคงเผชิญกับวิกฤติด้านความหลากหลายทางชีวภาพและความเสื่อมโทรมของระบบนิเวศ

นอกจากนี้หากพิจารณาถึงระดับความวิกฤติลงไปในรายภูมิภาคพบว่า ภูมิภาคแอฟริกาใต้ซาฮารามีเป้าหมายที่อยู่ในสถานะวิกฤติ (สีแดง) มากที่สุดถึง 15 เป้าหมายจาก 17 เป้าหมาย ขณะที่ภูมิภาคที่มีสถานะเป้าหมายวิกฤติน้อยที่สุดได้แก่  ยุโรปตะวันออกและเอเชียกลาง มีเป้าหมายที่อยู่ในสถานะวิกฤติ (สีแดง) 3 เป้าหมายเท่านั้น


02 – สถานการณ์ของอาเซียน

“ประเด็นท้าทายยังอยู่ในด้านสิ่งแวดล้อมและสันติภาพเช่นเดิม แต่เมียนมาน่าเป็นห่วงที่สุด”

สถานการณ์การขับเคลื่อน SDGs ของประเทศสมาชิกสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือ อาเซียน มีความใกล้เคียงกันกับปีที่แล้ว โดยหากเปรียบเทียบกับประเทศในภูมิภาคอาเซียนด้วยกัน พบว่าประเทศไทยยังครองอันดับ 1 เป็นปีที่ 5 ติดต่อกัน (2562 – 2566) ตามมาด้วย อันดับ 2 เวียดนาม   อันดับ 3 สิงคโปร์ อันดับ 4 อินโดนีเซีย อันดับ 5 มาเลเซีย อันดับ 6 ฟิลิปปินส์ อันดับ 7 บรูไนดารุซซาลาม อันดับ 8 กัมพูชา อันดับ 9 ลาว และ อันดับ 10 เมียนมา  โดยประเทศที่มีสถานการณ์น่าเป็นห่วงที่สุดทั้งในมิติของอันดับ และสถานะรายเป้าหมายคือ เมียนมา เพราะนอกจากจะเป็นประเทศที่มีอันดับและคะแนนท้ายตารางอาเซียนติดต่อกันหลายปีแล้ว ปีนี้เมียนมายังเป็น 1 ใน 5 ประเทศที่รายงานระบุว่ามีจำนวนเป้าหมายย่อย (target) ที่แสดงสถานะถดถอยมากที่สุด (ประเทศที่เป้าหมายย่อยอยู่ในสถานะถดถอยมากที่สุดตามรายงานปีนี้ได้แก่ เมียนมา เวเนซูเอลา ปาปัวนิวกินี เยเมน และเลบานอน) ทั้งยังเป็น 1 ใน 5 ประเทศที่ไม่เคยส่งหรือนำเสนอรายงานผลการทบทวนการดำเนินงานตามวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. 2030 ระดับชาติโดยสมัครใจ’ (Voluntary National Review: VNR) เลยแม้แต่ครั้งเดียว

อาเซียนมีประเทศสมาชิกทั้งหมด 10 ประเทศ ได้แก่ กัมพูชา ไทย บรูไนดารุซซาลาม เมียนมา ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย ลาว เวียดนาม สิงคโปร์ และอินโดนีเซีย

เมื่อพิจารณาสถานะของทั้ง 17 เป้าหมาย SDGs จะเห็นว่าเป้าหมาย SDGs ที่มีความท้าทายมาก (สีแดง) ร่วมกันเกินครึ่งหนึ่ง (เกิน 5 ประเทศ)  คือเป้าหมายดังต่อไปนี้

3 ประเทศสมาชิกที่มีสถานะน่าห่วงกังวล

ประเทศสมาชิกอาเซียนส่วนใหญ่จะมีเป้าหมายที่อยู่ในสถานะท้าทายมาก (สีแดง) ราว 3 -6 เป้าหมาย ทว่ามีสมาชิก 3 ประเทศที่มีเป้าหมาย SDGs อยู่ในสถานะท้าทายมากเกินครึ่งหนึ่ง หรือตั้งแต่ 8 เป้าหมาย ได้แก่


03 – สถานการณ์ประเทศไทย

อันดับและคะแนนดัชนีของประเทศไทยตั้งแต่ปี 2016 (2559) ดีขึ้นอย่างสม่ำเสมอ โดยปี 2016 ซึ่งเป็นปีแรกที่ SDR เริ่มประเมินสถานการณ์ของประเทศไทยนั้นอยู่ในอันดับที่ 61 คะแนนดัชนีอยู่ที่ 62.6 คะแนน จากนั้นเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จนปี 2019 (2562) อันดับและคะแนนของประเทศไทยพุ่งขึ้นก้าวกระโดดอยู่ที่อันดับที่ 40 คะแนนดัชนีอยู่ที่ 73 คะแนนจากนั้นค่อยไต่ระดับเรื่อยมาจนปัจจุบันปี 2023 (2566) ประเทศไทยอยูู่ในอันดับที่ 43 ของโลก คะแนนดัชนีอยู่ที่ 74.7 เพิ่มขึ้นร้อยละ 19.45 เมื่อเทียบกับคะแนนในปี 2016 และยังเป็นอันดับ 1 ของอาเซียนติดต่อกันเป็นปีที่ 5 

สถานการณ์สถานะและแนวโน้ม SDG Index ประจำปี 2566 (ค.ศ. 2023) ของประเทศไทย

2 เป้าหมายที่บรรลุแล้ว

ในปีนี้มี 2 เป้าหมาย SDGs ที่มีสถานะบรรลุเป้าหมายแล้ว (สีเขียว) คือ SDG1 ขจัดความยากจน และ SDG4 การศึกษาที่มีคุณภาพ เพิ่มขึ้นจาก 5 ปีที่ผ่านมาที่มีเพียง SDG1 บรรลุเป้าหมายเพียงเป้าหมายเดียวมาตลอด  อย่างไรก็ดีค่าสีสถานะที่ปรากฏตามรายงานฉบับนี้พิจารณาจาก 2 ตัวชี้วัดที่มี ‘สถานะแย่ที่สุด’ ในเป้าหมายนั้นเมื่อเปรียบเทียบกับสถานการณ์ของทุกประเทศทั่วโลกจึงจำเป็นต้องพิจารณาถึงรายละเอียดข้อมูลในระดับตัวชี้วัดเพิ่มเติม 

สำหรับผลการบรรลุ SDG1 ยุติความยากจนนั้นมีเป้าหมายคือการประเมินของรายงานฉบับนี้ใช้ข้อมูลตัวชี้วัด 2 ตัว คือ  (1) อัตราส่วนของประชากรที่มีรายได้ต่อวันน้อยกว่า $2.15 ซึ่งเป็นรายได้ขั้นต่ำตามเกณฑ์ของธนาคารโลกในปี 2017 (2560) (2) อัตราส่วนของประชากรที่มีรายได้ต่อวันน้อยกว่า $3.65  ทำให้ประเทศไทยบรรลุสถานะดังกล่าว ทั้งนี้ เส้นความยากจนของประเทศปี 2564 อยู่ที่ 2,803 บาท  ขณะที่ รายงานเรื่องสถานการณ์ความยากจนความเหลื่อมล้ำปี 2564 (2021) จัดทำโดยสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เป็นรายงานที่ประมวลสถานการณ์ความยากจนภายในประเทศฉบับล่าสุด พบว่ามีประชากรที่ถือว่าเป็นคนจนร้อยละ  6.32 และคิดเป็นจำนวนคนจน 4.4 ล้านลดลงจากปีก่อน 2563 (2020) ที่มีสัดส่วนคนจนร้อยละ 6.83  ดังนั้นในการประเมินด้วยหลักเกณฑ์ภายในประเทศที่กำหนดเส้นความยากจนสูงกว่าเส้นความยากจนสากลประเทศไทยจึงยังถือว่ามีคนจนขั้นต่ำสุดอยู่และยังไม่บรรลุเป้าหมายในการยุติความยากจนตาม SDG1

ส่วนผลการประเมิน SDG4 การศึกษาที่มีคุณภาพ ซึ่งเป็นปีแรกที่ประเทศไทยบรรลุสถานะดังกล่าวตามเกณฑ์ของรายงาน SDR นั้น ปีนี้รายงานใช้ข้อมูล 4 ตัวชี้วัด ได้แก่ (1) ร้อยละของเด็กอายุ 4-6 ปีที่ได้รับการเตรียมความพร้อมก่อนประถมศึกษา  (2) อัตราการเข้าเรียนสุทธิในระดับประถมศึกษา (3) อัตราการสำเร็จการศึกษาในชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น และ (4) อัตราการรู้หนังสือของประชากรอายุ 15 – 24 ปี  ข้อมูลจากรายงานระบุว่าประเทศไทยบรรลุเป้าหมายทั้ง 4 ตัวชี้วัดส่งผลให้ SDG4 อยู่ในสถานะบรรลุแล้ว (สีเขียว)

ทว่า จากรายงานสถานการณ์ภายในประเทศนั้นมีข้อเท็จจริงที่ฉายภาพสถานการณ์ต่างกัน อาทิ รายงานความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาปี 2565 โดยกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) เปิดเผยว่า ตั้งแต่ปีการศึกษา 2563-2565 พบว่า มีนักเรียนยากจนพิเศษในระดับการศึกษาภาคบังคับเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2565 มีจำนวนมากถึง 1,307,152 คน ความยากจนและความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาที่ยังคงรุนแรงในประเทศไทยจะเป็นปัจจัยเชิงลบที่ส่งผลต่อการเข้าถึงการศึกษา ดังนั้น ในการประเมินสถานการณ์ด้านการศึกษาเพื่อตอบคำถามว่าประเทศไทยบรรลุ SDG4 หรือไม่นั้นยังจำเป็นต้องอาศัยชุดข้อมูลในมิติอื่น ๆ พิจารณาควบคู่กันไปด้วย

สถานะบรรลุเป้าหมายแล้ว (สีเขียว) คือ SDG1 ขจัดความยากจน และ SDG4 การศึกษาที่มีคุณภาพ

| ประเด็นวิกฤติของปี 2023 

เป้าหมายที่มีสถานะท้าทายมาก (สีแดง) มีทั้งสิ้น 5 เป้าหมายเท่ากับปี 2022 (2565)  ได้แก่ SDG2 (ขจัดความหิวโหย) SDG3 (สุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี) SDG14 (ทรัพยากรทางทะเล) SDG15 (ระบบนิเวศบนบก) และ SDG16 (สังคมสงบสุข ยุติธรรม และสถาบันที่เข้มแข็ง) 

| ประเด็นวิกฤติของไทยในครึ่งทางแรก  

หากย้อนกลับไปพิจารณาสถานะ SDGs แต่ละเป้าหมายตลอด 7 ปีที่มีการประเมินพบว่ามีเป้าหมายที่ประเทศไทยอยู่ในสถานะท้าทายมาก (สีแดง) หรือวิกฤติ เป็นระยะเวลานานและยังเป็นความท้าทายอยู่ในปัจจุบัน ดังนี้

คะแนน “ความมุ่งมั่นและความพยายามของรัฐบาลในการดำเนินการขับเคลื่อน SDGs” (Government Efforts and Commitments to the SDGs)

ปีนี้เป็นปีที่ 2 ที่รายงาน SDR จัดให้มีการให้คะแนน “ความมุ่งมั่นและความพยายามของรัฐบาลในการดำเนินการขับเคลื่อน SDGs” ซึ่งเป็นผลจากการสำรวจของ SDSN เพื่อติดตามว่ารัฐบาลในแต่ละประเทศได้ผนวกรวม SDGs เข้าไปในการทำงานมากน้อยเพียงใด โดยพิจารณาจากหลักเกณฑ์ ดังต่อไปนี้

  1. มีการรายงานผลการทบทวนการดำเนินงานตามวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. 2030 ระดับชาติโดยสมัครใจ (Voluntary National Review: VNR)
  2. มีการแถลงการณ์ทางการระดับสูงเกี่ยวกับ SDGs 
  3. มีการผนวก SDGs เข้าไปในยุทธศาสตร์และแผนปฏิบัติงานระดับประเทศ
  4. มีการผนวก SDGs เข้าไปในงบประมาณระดับชาติ
  5. มีการติดตามและประเมินผล SDGs ระดับชาติ
  6. มีการกำหนดหน่วยงานเจ้าภาพในการดำเนินงาน SDGs

รายงานฉบับนี้ประมวลผลจากการสำรวจวิธีการที่รัฐบาลขับเคลื่อน SDGs ตลอด 7 ปีที่ผ่านมาว่า การยอมรับและบูรณาการวาระตาม SDGs ของรัฐบาลโดยส่วนใหญ่นั้นเป็นไปในลักษณะ “อ่อนนุ่ม” (soft) อีกทั้งแต่ละประเทศก็มีแนวปฏิบัติและขั้นตอนการจัดการเพื่อผนวกประเด็นการพัฒนาเหล่านี้เข้าไปในการบริหารจัดการภายในที่แตกต่างกันอย่างมาก  รายงานกล่าวว่ารัฐบาลขาดการดำเนินการในเรื่องที่ “แข็งขัน” หรือ “ยาก” (hard) โดยเฉพาะการสนับสนุนงบประมาณระยะยาวเพื่อการขับเคลื่อน SDGs รวมไปถึงการผนวก SDGs เข้าไปอยู่ในระบบงบประมาณ ข้อมูลที่น่าสนใจจากการสำรวจ อาทิ

การผนวก SDGs เข้าไปในการขับเคลื่อนนโยบายจำแนกตามกลุ่มรายได้

ในด้านคะแนนการประเมินในปีนี้ SDSN ได้สำรวจและจัดอันดับคะแนนความมุ่งมั่นและความพยายามจำนวน 74 ประเทศ จากที่ปีที่แล้วประเมิน 60 ประเทศ เช่นเดียวกับปีที่แล้วการประเมินมีการแบ่งช่วงการให้คะแนนความมุ่งมั่น ตามช่วงลำดับคะแนน ตั้งแต่ 0-40 คะแนน เท่ากับ ระดับต่ำมาก (สีแดง) 40-50 คะแนน เท่ากับ ระดับต่ำ (สีส้ม) 50-65 คะแนน เท่ากับ ระดับปานกลาง (สีเหลือง) 65-80 คะแนน เท่ากับ ระดับสูง (เขียวอ่อน) และ 80-100 คะแนน เท่ากับ ระดับสูงมาก (สีเขียวเข้ม)

การประเมินในปีนี้มี 4 ประเทศที่ได้คะแนนระดับสูงมาก (สีเขียวเข้ม) ได้แก่ สวีเดน 81.9 คะแนน สวิตเซอร์แลนด์
81.4 คะแนน เนเธอร์แลนด์ 80.5 คะแนน และฟินแลนด์ 80.4 คะแนน ส่วนประเทศไทย ปีนี้มีคะแนนรวมอยู่ที่ 66.8 อยู่ในอันดับที่ 25 จาก 74 ประเทศ จัดอยู่ในช่วงระดับสูง (สีเขียวอ่อน) เพิ่มขึ้นมาจากปีที่แล้วที่อยู่ในระดับปานกลาง (สีเหลือง)


บทส่งท้าย

สถานการณ์ตามรายงาน SDR และ SDG Index ในปีนี้บ่งชี้ถึงความท้าทายและมีความเป็นไปได้น้อยลงทุกขณะที่จะบรรลุเป้าหมาย SDGs ให้ทันปี 2030 สิ่งที่รายงานยังคงเน้นย้ำให้ประเทศสมาชิกร่วมมือกันในการดำเนินการยังคงเป็นเรื่องการตัดสินใจเชิงนโยบาย และระดับความเข้มข้นของการดำเนินงานของรัฐที่ต้องเพิ่มความ “หนักแน่น” “จริงจัง” โดยเฉพาะการให้ความสำคัญกับกลไกทางการเงินระยะยาวเพื่อการขับเคลื่อน SDGs และการลดผลกระทบที่ประเทศพัฒนามาแล้วสร้างขึ้นในพื้นที่หรือดินแดนของประเทศกำลังพัฒนาหรือพัฒนาน้อยที่สุด รวมไปถึงการให้ความช่วยเหลือรัฐหมู่เกาะขนาดเล็กที่จะได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอันเป็นผลพวงมาจากการพัฒนาทางเศรษฐกิจที่ร้อนแรง ขาดความสมดุลตลอดศตวรรษที่ผ่านมา  เพราะการจะเพิ่มแรงผลักดันให้บรรลุเป้าหมายชุดนี้ในช่วงครึ่งหลังเต็มไปด้วยซ้ำซ้อน ท้าทายเป็นอย่างมากเมื่อเทียบกับช่วงครึ่งทางที่ผ่านมา


● อ่านข่าวและบทความที่เกี่ยวข้อง
 SDG Index 2023 ไทยรั้งอันดับ 43 ของโลก อันดับ 3 ของเอเชีย พบ SDG1 และ SDG4 อยู่ในสถานะบรรลุเป้าหมายแล้ว
–  SDG Updates | เปิดรายงาน Sustainable Development Report 2022 และ SDG Index 2022
– Director’s Note: 13: สถานะ SDGs ประเทศไทย SDG Index vs รายงานความก้าวหน้าเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทย พ.ศ. 2559-2563
– SDG Insights | Inside SDG Index: ไขข้อข้องใจ SDG Index – ไทยยั่งยืนกว่าสิงคโปร์จริงหรือ? และอันดับ SDG Index เป็นผลงานรัฐบาล คสช. และ พปชร. หรือไม่ เพียงใด ?
– SDG Insights | Inside SDG Index : เจาะลึก SDG Index 2021 ของประเทศไทย
– SDG Updates | เปิดรายงาน Sustainable Development Report และ SDG Index 2021
– Director’s Note: 05 สิ่งที่ควรเข้าใจก่อนอ่าน Sustainable Development Report และSDG Index
– SDG Insights | สถานะประเทศไทยจาก SDG Index: 4 ปีผ่านไป อะไรดีขึ้นหรือแย่ลงบ้าง ?

ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG1 ขจัดความยากจน
#SDG2 ขจัดความหิวโหย
#SDG3 สุขภาพเเละความเป็นอยู่ที่ดี
#SDG4 การศึกษาที่มีคุณภาพ
#SDG5 ความเท่าเทียมทางเพศ
#SDG6 น้ำสะอาดและการสุขาภิบาล
#SDG7 พลังงานสะอาดที่เข้าถึงได้
#SDG8 งานที่มีคุณค่าและการเติบโตทางเศรษฐกิจ
#SDG9 โครงสร้างพื้นฐาน นวัตกรรม เเละอุตสาหกรรม
#SDG10 ลดความเหลื่อมล้ำ
#SDG11 เมืองเเละชุมชนที่ยั่งยืน
#SDG12 การผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน

#SDG13 การรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
#SDG14 ทรัพยากรทางทะเล
#SDG15 ระบบนิเวศบนบก
#SDG16 สังคมสงบสุข ยุติธรรม และสถาบันเข้มแข็ง
#SDG17 ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน

พิมพ์นารา อินต๊ะประเสริฐ – เรียบเรียง
เนตรธิดาร์ บุนนาค อติรุจ ดือเระ และแพรวพรรณ ศิริเลิศ – พิสูจน์อักษร
วิจย์ณี เสนแดง – ภาพประกอบ

Author

Exit mobile version