อาจต้องใช้เวลาอีก 131 ปี กว่าโลกจะมี ‘ความเท่าเทียมทางเพศ’ เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2566 สภาเศรษฐกิจโลก (World Economic Forum: WEF) เผยแพร่รายงาน Global Gender Gap Report 2023 หรือ รายงานสถานการณ์ช่องว่างระหว่างเพศระดับโลก ประจำปี 2566 เป็นฉบับที่ 17 กล่าวถึง ความเท่าเทียมทางเพศทั่วโลกที่ฟื้นตัวขึ้นเทียบเท่าระดับก่อนโควิด-19 แต่ยังคงดำเนินไปอย่างเชื่องช้า รวมถึงเน้นย้ำประเด็นการเพิ่มการมีส่วนร่วมทางเศรษฐกิจของผู้หญิงและการบรรลุความเสมอภาคทางเพศในการเป็นผู้นำ ทั้งในภาคธุรกิจและภาครัฐ อันเป็นกลไกหลักในการแก้ปัญหาช่องว่างระหว่างเพศ
รายงานสถานการณ์ช่องว่างระหว่างเพศระดับโลก ประจำปี 2566 นำเสนอดัชนีช่องว่างระหว่างเพศจาก 146 ประเทศ โดยเปรียบเทียบช่องว่างระหว่างเพศ 4 มิติ ได้แก่ 1. โอกาสและการมีส่วนร่วมทางเศรษฐกิจ (economic participation and opportunity) 2. การได้รับการศึกษา (educational attainment) 3. สุขภาพและการมีชีวิตรอด (health and survival) และ 4. อำนาจทางการเมือง (political empowerment)
รายงานข้างต้นมีประเด็นสำคัญ สรุปได้ดังนี้
- คะแนนช่องว่างระหว่างเพศของโลกปี 2566 จากการประเมินผล 146 ประเทศ พบมีความก้าวหน้าขึ้นเล็กน้อย จากปี 2565 ซึ่งได้คะแนนอยู่ที่ 68.1% สำหรับปี 2566 คะแนนอยู่ที่ 68.4% ซึ่งดีขึ้น 0.3% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว
- เมื่อพิจารณาผลการประเมินตั้งแต่ปี 2549 ถึง 2566 พบว่า คะแนนเฉลี่ยโลกอยู่ที่ 68.6% ขยับขึ้นเล็กน้อย 4.1 % นับตั้งแต่มีรายงานเปิดตัวดัชนีในปี 2549 และเมื่อเทียบกับอัตราความก้าวหน้าในปัจจุบัน จะใช้เวลา 131 ปีจึงจะบรรลุความเท่าเทียมทั้งหมด แม้ว่าคะแนนความเท่าเทียมทั่วโลกจะฟื้นคืนสู่ระดับก่อนเกิดโรคระบาด แต่อัตราการเปลี่ยนแปลงโดยรวมยังชะลอตัวลงอย่างมาก
- ตามดัชนีช่องว่างระหว่างเพศของโลกปี 2566 ยังไม่มีประเทศใดบรรลุความเท่าเทียมทางเพศอย่างสมบูรณ์ แต่มีเพียง 9 ประเทศเท่านั้นที่ปิดช่องว่างระหว่างเพศได้อย่างน้อย 80% ได้แก่ ไอซ์แลนด์ นอร์เวย์ ฟินแลนด์ นิวซีแลนด์ สวีเดน เยอรมนี นิการากัว นามิเบีย และลิทัวเนีย โดยไอซ์แลนด์ ยังครองตำแหน่งสูงสุด 91.2% เเละยังคงเป็นประเทศเดียวที่ปิดช่องว่างระหว่างเพศได้มากกว่า 90%
- ความคืบหน้าโดยรวมในปี 2566 ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการปรับปรุงในการปิดช่องว่างด้านความสำเร็จทางการศึกษา โดย 117 จาก 146 ประเทศ ซึ่งประเทศที่ได้รับการประเมินผล ได้ปิดช่องว่างดังกล่าวแล้วอย่างน้อย 95% ขณะเดียวกัน ช่องว่างโอกาสและการมีส่วนร่วมทางเศรษฐกิจได้ปิดลง 60.1% ช่องว่างการเสริมอำนาจทางการเมืองเพียง 22.1% และช่องว่างระหว่างเพศด้านสุขภาพและการอยู่รอด 96%
- ขณะที่ ดัชนีความก้าวหน้าช่องว่างระหว่างเพศของประเทศไทยอยู่ที่ อันดับ 74 ขยับอันดับขึ้น 5 อันดับจากอันดับที่ 79 ในปี 2565 ด้วยคะแนน 0.711 คะแนน เพิ่มขึ้น 0.002 คะแนน
นอกจากนี้ รายงานได้เน้นย้ำถึงการเพิ่มการมีส่วนร่วมทางเศรษฐกิจของผู้หญิงและการบรรลุความเสมอภาคทางเพศในการเป็นผู้นำ ทั้งในภาคธุรกิจและภาครัฐบาล ซึ่งทั้งสองภาคส่วน ถือเป็นกลไกสำคัญในการแก้ปัญหาช่องว่างระหว่างเพศที่เกิดขึ้นในด้านครัวเรือน สังคม และเศรษฐกิจ ซึ่งจำเป็นจะต้องอาศัยการดำเนินการร่วมกัน การประสานงาน โดยผู้นำภาครัฐและเอกชนจะเป็นเครื่องมือในการเร่งความคืบหน้าเกี่ยวกับความเท่าเทียมทางเพศและจุดประกายความก้าวหน้าที่มากขึ้น
จากรายงานช่องว่างระหว่างเพศทั่วโลกในมิติต่าง ๆ ทั้งด้านโอกาสและการมีส่วนร่วมทางเศรษฐกิจ การได้รับการศึกษา สุขภาพและการมีชีวิตรอด และอำนาจทางการเมือง ล้วนมีผลทำให้เกิดความเกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงกัน เพื่อสร้างความเท่าเทียมทางเพศ จำเป็นจะต้องเร่งความก้าวหน้าในมิติต่าง ๆ ให้ดีขึ้น เพื่อสร้างหมุดหมายและแรงจูงใจในการบรรลุผลสำหรับการแก้ไขปัญหาในระยะยาว
● อ่านข่าวและบทความที่เกี่ยวข้อง
– Global Gender Gap Report 2021 เผย 10 ประเทศที่ดีที่สุดในการเป็นผู้หญิง
– ญี่ปุ่นพิจารณาให้บริษัทระบุข้อมูลรายได้เฉลี่ยตามเพศในรายงานประจำปี เพื่อลดช่องว่าง – สร้างความเท่าเทียม
– ผู้ประกอบการหญิงในบอตสวานาเติบโตมากขึ้น แต่ยังเผชิญกับความไม่เท่าเทียมระหว่างเพศในการแบ่งแยกทางดิจิทัล
– SDG Updates | อีก 135 ปี โลกถึงจะมี ‘ความเท่าเทียมทางเพศ’ – สรุปรายงาน GLOBAL GENDER GAP REPORT 2021
ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG5 ความเท่าเทียมทางเพศ
– (5.1) ยุติการเลือกปฏิบัติทุกรูปแบบที่มีต่อผู้หญิงและเด็กหญิงในทุกที่
– (5.5) สร้างหลักประกันว่าผู้หญิงจะมีส่วนร่วมอย่างเต็มที่และมีประสิทธิผลและมีโอกาสที่เท่าเทียมในการเป็นผู้นำในทุกระดับของการตัดสินใจในเรื่องของการเมือง เศรษฐกิจ และกิจกรรมสาธารณะ
#SDG10 ลดความเหลื่อมล้ำ
– (10.2) ให้อำนาจและส่งเสริมความครอบคลุมด้านสังคม เศรษฐกิจและการเมืองสำหรับทุกคน โดยไม่คำนึงถึงอายุ เพศ ความบกพร่องทางร่างกาย เชื้อชาติ ชาติพันธุ์ แหล่งกำเนิด ศาสนา หรือสถานะทางเศรษฐกิจหรือสถานะอื่น ๆ ภายในปี 2573
– (10.3) สร้างหลักประกันว่าจะมีโอกาสที่เท่าเทียมและลดความไม่เสมอภาคของผลลัพธ์ รวมถึงการขจัดกฎหมาย นโยบาย และแนวทางปฏิบัติที่เลือกปฏิบัติ และส่งเสริมการออกกฎหมาย นโยบาย และการปฏิบัติที่เหมาะสมในเรื่องนี้
แหล่งที่มา: Global Gender Gap Report 2023 | World Economic Forum
ผลงานนี้ได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิเพื่อการพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ ภายใต้โครงการเร่งรัดการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนด้านสุขภาพของประเทศไทย