จากการสำรวจข่าวสารความเคลื่อนไหวที่เกี่ยวข้องและส่งผลต่อการขับเคลื่อน SDGs ระหว่างวันที่ 24 – 30 มิถุนายน 2566 มีข่าวสารความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจ ดังนี้
WEF เผย 10 เทคโนโลยีใหม่สร้างผลกระทบเชิงบวก กว่าครึ่งเกี่ยวกับการพัฒนาที่ยั่งยืน
World Economic Forum เปิดตัวรายงาน ‘Top 10 Emerging Technologies’ ประจำปี 2566 โดยนำเสนอ 10 เทคโนโลยีใหม่ที่น่าจะส่งผลกระทบเชิงบวกต่อเศรษฐกิจและสังคม ในอีก 3-5 ปีข้างหน้า ซึ่งมีเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาที่ยั่งยืนโดยตรงกว่า 5 เทคโนโลยี /แนวทางได้แก่ 1) เชื้อเพลิงการบินที่ยั่งยืน (sustainable aviation fuel) ที่ช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในอุตสาหกรรมการบิน 2) metaverse เพื่อสุขภาพจิต (metaverse for mental health) ที่ปัจจุบันกำลังถูกนำไปใช้ในการรักษาสุขภาพจิตหลายวิธี 3) เซ็นเซอร์ติดพืช (wearable plant sensors) ซึ่งเป็นวิธีตรวจสอบสุขภาพและคุณภาพของพืชที่ง่ายดายและมีประสิทธิภาพสูงขึ้น 4) คลาวด์คอมพิวติ้งแบบยั่งยืน (sustainable computing) และ 5) การดูแลสุขภาพที่ใช้ AI (AI-facilitated healthcare)
ประเด็นดังกล่าวสอดคล้องกับการขับเคลื่อน SDG2 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 2.4 สร้างหลักประกันว่าจะมีระบบการผลิตอาหารที่ยั่งยืน SDG3 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 3.4 ลดการตายก่อนวัยอันควรและสนับสนุนสุขภาพจิต และ 3.d เสริมขีดความสามารถของทุกประเทศในการบริหารจัดการความเสี่ยงด้านสุขภาพทั้งในระดับประเทศและระดับโลก SDG7 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 7.2 เพิ่มสัดส่วนของพลังงานหมุนเวียนในสัดส่วนพลังงานของโลก และ SDG9 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 9.b สนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยี การวิจัยและนวัตกรรมภายในประเทศกำลังพัฒนา
เข้าถึงได้ที่: World Economic Forum เปิดโผ 10 อันดับเทคโนโลยีเกิดใหม่มาแรง! ประจำปี 2023 (The Standard)
สำนักพิมพ์ KOPI ร้องเรียน กสม. หวั่นถูกคุกคามเสรีภาพ
วันที่ 27 มิถุนายน 2566 คณะทำงาน สำนักพิมพ์โกปี KOPI เข้าพบเจ้าหน้าที่สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) สำนักงานประจำจังหวัดสงขลา เพื่อรายงานสถานการณ์และข้อกังวลเรื่องความไม่ปลอดภัยของคณะทำงาน เนื่องจากมีการติดตามของเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รอมน) และตำรวจท้องที่ ระหว่างจัดค่ายถอดบทเรียนนวัตกรรมสร้างสรรค์กับโครงการ Tadika Lerning Board Game By KOPI PRO ณ จ.นครราชสีมา เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2566 ที่ผ่านมา
พฤติกรรมของเจ้าหน้าที่ดังกล่าวคือแอบถ่ายรูปเเละมีการบันทึกเสียงการสนทนา อีกทั้งยังสอบถามพนักงานโรงเเรมเกี่ยวกับรายชื่อผู้ที่จะเข้าร่วมกิจกรรมโดยไม่ได้เเจ้งว่าตนเป็นใคร มาจากหน่วยงานใด ส่งผลให้ คณะทำงาน KOPI รู้สึกไม่ปลอดภัยกับการที่ถูกติดตามมาถึงสถานที่อบรม
ประเด็นดังกล่าวสอดคล้องกับการขับเคลื่อน SDG16 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 16.10 สร้างหลักประกันว่าสาธารณชนสามารถเข้าถึงข้อมูลและมีการปกป้องเสรีภาพขั้นพื้นฐาน
เข้าถึงได้ที่: คณะทำงานสำนักพิมพ์โกปี ร้อง กสม. เหตุหวั่นไม่ปลอดภัยถูกบุคคลอ้างเป็น จนท.ฝ่ายความมั่นคงติดตาม (ประชาไท)
ผลสำรวจเผยเยาวชนไทยสูบบุหรี่ร้อยละ 9.1 ส่วนใหญ่ถูกเพื่อนชักชวน
กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ และ กองสุขศึกษา เผยแพร่รายงานสถานการณ์พฤติกรรมการใช้บุหรี่ไฟฟ้าของเยาวชนไทยที่ศึกษาผ่านการให้คนไทยทั่วประเทศตอบแบบสำรวจ จำนวน 61,688 คน โดยเก็บข้อมูลระหว่างวันที่ 25 เมษายน – 6 มิถุนายน 2566 พบว่าในภาพรวมของประเทศ เยาวชนสูบบุหรี่ไฟฟ้าร้อยละ 9.1 โดยส่วนใหญ่ถูกชักชวนจากเพื่อนร้อยละ 92.2 รองลงมาถูกชักชวนจากญาติร้อยละ 3.2 และจากคนในครอบครัวร้อยละ 1.6 นอกจากนี้ยังพบว่าเยาวชนที่สูบบุหรี่มวนจะสูบบุหรี่ไฟฟ้าร่วมด้วยสูงถึงร้อยละ 43.9 ซึ่งทำให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพเพิ่มมากขึ้น
ประเด็นดังกล่าวสอดคล้องกับการขับเคลื่อน SDG3 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 3.4 ลดการตายก่อนวัยอันควรจากโรคไม่ติดต่อให้ลดลงหนึ่งในสาม เป้าหมายย่อยที่ 3.5 เสริมสร้างการป้องกันและการรักษาการใช้สารในทางที่ผิด และเป้าหมายย่อยที่ 3.a เพิ่มความเข้มแข็งในการดำเนินงานตามกรอบอนุสัญญาขององค์การอนามัยโลกว่าด้วยการควบคุมยาสูบ
เข้าถึงได้ที่: ผลสำรวจวัยรุ่นติดบุหรี่ไฟฟ้าเนื่องจากเพื่อนชวน-พบสูบร่วมบุหรี่มวน (PPTV)
คลินิกของ UNODC ประสบความสำเร็จในการบำบัดรักษาผู้ติดยาเสพติด
วันที่ 26 มิถุนายน 2566 ซึ่งตรงกับวันต่อต้านยาเสพติดโลก เว็บไซต์ข่าวขององค์การสหประชาชาติเปิดเผยเรื่องราวของ ‘Watcharapol Mahaprom’ คนไทยคนแรกที่ประสบความสำเร็จในการบำบัดรักษาการติดสารเสพติดผ่านคลินิกที่ดำเนินการโดยสำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (UNODC) ประจำประเทศไทย ในการสนับสนุน ‘Ozone’ มูลนิธิที่ทํางานเพื่อเป็นทางเลือกในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้ใช้สารเสพติด
Watcharapol หนึ่งในผู้ใช้บริการเผยถึงประสบการณ์การเข้ารับบริการกับ Ozone ว่า “ที่นั่น ผมรู้สึกเหมือนเป็นส่วนตัวมากขึ้น และรู้สึกว่าพวกเขาดูแลในระดับรายบุคคลมากขึ้นและไม่ตัดสินผม เช่นนั้นผมจึงเป็นอิสระและกล้าที่จะเปิดเผยเกี่ยวกับการใช้ยาและพฤติกรรมทั่วไปของผมได้” ซึ่งต่างจากการใช้บริการโรงพยาบาลรัฐทั่วไปที่อาจรู้สึกไม่มีความเป็นส่วนตัวและถูกตัดสินได้ง่าย
ประเด็นดังกล่าวสอดคล้องกับการขับเคลื่อน SDG3 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 3.5 เสริมสร้างการป้องกันและการรักษาการใช้สารในทางที่ผิด ซึ่งรวมถึงการใช้ยาเสพติดในทางที่ผิดและการใช้แอลกอฮอล์ในทางที่เป็นอันตราย
เข้าถึงได้ที่: First Person: Reducing the harm caused by drugs in Thailand (UN)
โลกยังไม่บรรลุข้อตกลงภาษีการปล่อยก๊าซเรือนกระจากการขนส่งระหว่างประเทศ
การประชุม ‘The Summit for a New Global Financing Pact’ ณ กรุงปารีส ระหว่างวันที่ 22 – 23 มิถุนายน 2566 ปิดฉากลงโดยปราศจากข้อตกลงเรื่องภาษีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เกิดจากการขนส่งระหว่างประเทศซึ่งเป็นหนึ่งในข้อตกลงที่ถูกคาดหวังว่าจะสามารถบรรลุได้ในการประชุมดังกล่าว เนื่องจากเป็นประโยชน์แก่การช่วยเหลือประเทศกำลังพัฒนาให้สามารถจัดการความท้าทายด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้มากขึ้น
ทั้งนี้ ผู้นำระดับโลก เช่น Emmanuel Macron ประธานาธิบดีฝรั่งเศส/ Janet Yellen ตัวแทนรัฐบาลสหรัฐอเมริกา/ Li Qiang นายกรัฐมนตรีจีน และผู้นำภาคการเงิน เช่น Ajay Banga ประธานธนาคารโลก และ Kristalina Georgieva ผู้อำนวยการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund: IMF) ล้วนตบเท้ากันเข้าร่วมประชุมดังกล่าว โดย Macron ระบุถึงความล้มเหลวในครั้งนี้โดยเน้นย้ำไปที่ประเทศผู้นำโลกว่า “หากจีน สหรัฐฯ และประเทศที่สำคัญ ๆ ในยุโรปไม่ร่วมบรรลุข้อตกลง การจะเก็บภาษีก็ย่อมไม่ก่อให้เกิดผลกระทบหรือการเปลี่ยนแปลงใด ๆ”
ประเด็นดังกล่าวสอดคล้องกับการขับเคลื่อน SDG3 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 13.1 เสริมภูมิต้านทานและขีดความสามารถในการปรับตัวต่ออันตรายและภัยพิบัติทางธรรมชาติที่เกี่ยวข้องกับภูมิอากาศ และเป้าหมายย่อยที่ 13.2 บูรณาการมาตรการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในนโยบาย ยุทธศาสตร์ และการวางแผนระดับชาติ SDG17 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 17.1 เสริมความแข็งแกร่งของการระดมทรัพยากรภายในประเทศ โดยรวมถึงการสนับสนุนระหว่างประเทศไปยังประเทศกำลังพัฒนา เเละเป้าหมายย่อยที่ 17.14 ยกระดับความสอดคล้องเชิงนโยบายเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
เข้าถึงได้ที่: Paris climate summit ends without global shipping tax deal (Aljazeera)
รัฐบาลทั่วโลกลงนามในสนธิสัญญาทะเลหลวงอย่างเป็นทางการ
วันที่ 19 มิถุนายน 2566 ตัวแทนรัฐบาลจากประเทศทั่วโลกที่เข้าร่วมประชุม ณ องค์การสหประชาชาติได้ลงนามรับสนธิสัญญาทะเลหลวง (Ocean Treaty) อย่างเป็นทางการ ภายหลังจากที่เคยมีการลงนามอย่างไม่เป็นทางการในร่างสนธิสัญญาไปเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ก่อนที่ร่างดังกล่าวถูกนำไปแปลเป็นภาษาทางการของสหประชาชาติ ผ่านกระบวนการตรวจสอบทางกฎหมาย และนำกลับมาให้ประเทศสมาชิกลงนามอย่างเป็นทางการอีกครั้ง
การลงนามข้างต้น ส่งผลให้รายละเอียดที่ระบุในสนธิสัญญาจะถูกบังคับใช้เพื่อสร้างเขตคุ้มครองทางทะเล อย่างไรก็ดีต้องอาศัยความร่วมมือจากประเทศที่ลงนามอย่างแข็งขัน ตั้งแต่การให้สัตยาบันในเบื้องต้นไปจนถึงการออกแบบนโยบายหรือยุทธศาสตร์ระดับชาติให้สอดคล้องกับการนำสนธิสัญญาดังกล่าว ซึ่งหากสำเร็จจะช่วยบรรลุเป้าหมายการปกป้องมหาสมุทรให้ได้อย่างน้อยร้อยละ 30% ภายในปี 2573 ตามแผน 30×30
ประเด็นดังกล่าวสอดคล้องกับการขับเคลื่อน SDG14 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 14.2 บริหารจัดการและปกป้องระบบนิเวศทางทะเลและชายฝั่งอย่างยั่งยืน 4.c เพิ่มพูนการอนุรักษ์และการใช้มหาสมุทรและทรัพยากรเหล่านั้นอย่างยั่งยืน และ SDG17 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 17.14 ยกระดับความสอดคล้องเชิงนโยบายเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน และ 17.17 สนับสนุนและส่งเสริมหุ้นส่วนความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาครัฐ-ภาคเอกชน และประชาสังคม
เข้าถึงได้ที่: สนธิสัญญาทะเลหลวง : ร่างผ่าน สมาชิกยูเอ็นรับ สถานีต่อไป… รัฐบาล (Greenpeace)
ผลงานนี้ได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิเพื่อการพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ ภายใต้โครงการเร่งรัดการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนด้านสุขภาพของประเทศไทย