องค์การสหประชาชาติ (United Nation: UN) เผยแพร่รายงานการพัฒนาที่ยั่งยืนระดับโลก (Global Sustainable Development Report: GSDR) ประจำปี 2566 ซึ่งเขียนโดยนักวิทยาศาสตร์กว่า 15 คน จากกลุ่มนักวิทยาศาสตร์อิสระ (Independent Group of Scientists: IGS) โดยมีเป้าประสงค์สำคัญเพื่อสนับสนุนการดำเนินการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (sustainable development goals: SDGs) ให้มีความก้าวหน้ามากขึ้น และเป็นข้อมูลสำคัญสำหรับติดตามและทบทวน ณ ครึ่งทางของการบรรลุวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. 2030
รายงานข้างต้นเผยแพร่ราย 4 ปี โดยฉบับล่าสุดนี้เป็นฉบับที่ยังแก้ไขไม่สมบูรณ์ ซึ่งถูกจัดทำขึ้นเบื้องต้นเพื่อเป็นข้อมูลแก่การประชุมเวทีหารือระดับสูงทางการเมืองว่าด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืน (High-Level Political Forum on Sustainable Development: HLPF) ประจำปี 2566 ซึ่งจะเริ่มในวันที่ 10 กรกฎาคมที่จะถึง โดยรายงานมีจุดโฟกัสหลักคือ “การเร่งรัดการพลิกโฉมผ่านจุดตั้งต้นที่สำคัญ และทำให้วิทยาศาสตร์สามารถสนับสนุนการเร่งรัดนั้นได้”
เนื้อหาของรายงานมีความยาวกว่า 202 หน้า ระบุสาระสำคัญ เช่น
- ณ ครึ่งทางของการขับเคลื่อน SDGs พบว่ายังอยู่ห่างไกลจากหนทางที่จะบรรลุความสำเร็จ ทั้งยังมีความน่ากังวลเพิ่มมากขึ้นกว่าปี 2562 โดยการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่มีความยืดเยื้อ ความขัดแย้ง อัตราเงินเฟ้อ และค่าครองชีพที่เพิ่มสูงขึ้นเป็นปัจจัยสำคัญส่งผลให้ความก้าวหน้าในการบรรลุ SDGs บางเป้าหมายลดน้อยถอยลง
- เรียกร้องให้มีการเสริมสร้างศักยภาพในการพลิกโฉมระดับบุคคล สถาบัน และเครือข่าย เพื่อวางกลยุทธ์ คิดค้นสิ่งใหม่ จัดการความขัดแย้ง ระบุและเอาชนะอุปสรรค และรับมือกับวิกฤตและความเสี่ยง
- เสนอ 5 มาตรการในการพัฒนาเงื่อนไขพื้นฐานสำหรับการขับเคลื่อนเพื่อบรรลุ SDGs ได้แก่ 1) ลงทุนในการป้องกันและแก้ปัญหาความขัดแย้ง 2) เพิ่มพื้นที่ทางการคลัง (fiscal space) ซึ่งเป็นแนวคิดในการพิจารณาความยั่งยืนทางการคลังจากส่วนต่างระหว่างระดับหนี้สาธารณะต่อ GDP ที่เกิดขึ้นจริงกับระดับเพดานหนี้สาธารณะต่อ GDP ที่คำนวณขึ้น 3) สนับสนุนกลุ่มคนชายขอบ 4) การใช้ประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัล และ 5) การลงทุนด้านความเท่าเทียมทางเพศ
- การพลิกโฉมไม่เพียงแต่เป็นเรื่องที่เป็นไปได้เท่านั้น แต่เป็นเรื่องจำเป็นยิ่งยวด โดยเรียกร้องให้ใช้เวลาและทรัพยากรที่มีอยู่อย่างรอบคอบและเกิดประสิทธิภาพ ทั้งควรทำงานร่วมกันระหว่างภาคส่วนต่าง ๆ
- นอกจาก 4 คันโยก/วิธีการที่ถูกเสนอในรายงาน GSDR 2019 เพื่อนำมาใช้พลิกโฉมในจุดตั้งต้น ซึ่งได้แก่ ระบบอภิบาล (governance) เศรษฐกิจและการเงิน (economy and finance) วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (science and technology) และการดำเนินการส่วนบุคคลและส่วนรวม (individual and collective action) รายงานฉบับล่าสุดนี้ยังระบุว่าการเสริมสร้างศักยภาพ (capacity building) เป็นวิธีการหรือคันโยกที่ 5 สำหรับขับเคลื่อน
นอกจากนี้รายงานยังระบุถึงการเรียกร้องให้มีการดำเนินการ โดยเสนอให้ประเทศสมาชิกเพิ่มเติมรายละเอียดหรือขยายขอบเขตสำหรับกรอบการพลิกโฉม SDGs (SDG Transformation Framework) ทั้งสิ้น 6 ประการ ได้แก่
- แผนปฏิบัติการระดับชาติเพื่อต่อต้านแนวโน้มเชิงลบหรือความชะงักงันในการดำเนินการเพื่อบรรลุ SDGs
- การวางแผนระดับท้องถิ่นและอุตสาหกรรมเพื่อผลักดันเข้าสู่แผนระดับชาติ
- การริเริ่มผ่านวาระปฏิบัติการแอดดิสอาบาบา (Addis Ababa Action Agenda: AAAA) หรือวาระอื่น ๆ เพื่อเพิ่มพื้นที่ทางการคลัง รวมถึงการปฏิรูปภาษี การปรับโครงสร้างหนี้ การบรรเทาทุกข์ และเพิ่มการมีส่วนร่วมจากสถาบันการเงินระหว่างประเทศสำหรับการดำเนินการขับเคลื่อน SDGs
- การลงทุนในข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับ SDGs เครื่องมือทางวิทยาศาสตร์ และการเรียนรู้เชิงนโยบาย
- ความร่วมมือเพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งแก่โซ่ข้อกลางระหว่างวิทยาศาสตร์ – นโยบาย – สังคม
- มาตรการเสริมสร้างความรับผิดรับชอบของรัฐบาลและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอื่น ๆ
รายงานข้างต้นใช้มุมมองระดับภูมิภาคและข้ามสาขาศาสตร์ ซึ่ง IGS รวบรวมระหว่างการปรึกษาหารือหลายครั้ง ทั้งนี้ สภาวิทยาศาสตร์ระหว่างประเทศ (International Science Council: ISC) ประสานให้มีการตรวจสอบรายงานในเชิงเทคนิคโดยภาควิทยาศาสตร์ ก่อนจะเผยแพร่ฉบับสมบูรณ์อีกครั้งในเดือนกันยายน 2566
● อ่านข่าวและบทความที่เกี่ยวข้อง
– SDG Updates | (EP.1/2) Sustainability Transformation: ปรับวิธีคิด เปลี่ยนวิธีการ พลิก “ระบบ” จากฐานรากในทศวรรษสุดท้ายแห่งการลงมือทำ
– SDG Insights | Transformative Partnership และทุนทางสังคม กับอนาคตของสังคมไทยในโลกยุค (หลัง) โควิด-19
– SDG Updates | ACT NOW! in “DECADE OF ACTION (2021-2030)” : อัปเดตความก้าวหน้า สำรวจความท้าทาย แล้วลงมือทำได้เลย!
– SDG Updates | ACT NOW! in “DECADE OF ACTION (2021-2030)” : อัปเดตความก้าวหน้า สำรวจความท้าทาย แล้วลงมือทำได้เลย!
ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG1 ขจัดความยากจน
#SDG2 ขจัดความหิวโหย
#SDG3 สุขภาพเเละความเป็นอยู่ที่ดี
#SDG4 การศึกษาที่มีคุณภาพ
#SDG5 ความเท่าเทียมทางเพศ
#SDG6 น้ำสะอาดและการสุขาภิบาล
#SDG7 พลังงานสะอาดที่เข้าถึงได้
#SDG8 งานที่มีคุณค่าและการเติบโตทางเศรษฐกิจ
#SDG9 โครงสร้างพื้นฐาน นวัตกรรม เเละอุตสาหกรรม
#SDG10 ลดความเหลื่อมล้ำ
#SDG11 เมืองเเละชุมชนที่ยั่งยืน
#SDG12 การผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน
#SDG13 การรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
#SDG14 ทรัพยากรทางทะเล
#SDG15 ระบบนิเวศบนบก
#SDG16 สังคมสงบสุข ยุติธรรม และสถาบันเข้มแข็ง
#SDG17 ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
แหล่งที่มา : “Transformations are Possible, and Inevitable”: GSDR 2023 (IISD)
ผลงานนี้ได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิเพื่อการพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ ภายใต้โครงการเร่งรัดการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนด้านสุขภาพของประเทศไทย