Site icon SDG Move

SDG Spotlight – 6 ข่าว SDGs น่าสนใจในรอบสัปดาห์ที่ 1 ประจำเดือนกรกฎาคม 2566

จากการสำรวจข่าวสารความเคลื่อนไหวที่เกี่ยวข้องและส่งผลต่อการขับเคลื่อน SDGs ระหว่างวันที่  1 – 7 กรกฎาคม 2566 มีข่าวสารความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจ ดังนี้

ธปท. และ ก.ล.ต. เผยแพร่มาตรฐานกลางการจัดกลุ่มกิจกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

วันที่ 5 กรกฎาคม 2566 คณะทำงานขับเคลื่อนการกำหนดนิยามและจัดหมวดหมู่โครงการหรือกิจกรรมในภาคเศรษฐกิจที่ยั่งยืนที่มีธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เป็นประธานร่วม ได้เผยแพร่รายงาน “Thailand Taxonomy” ฉบับสมบูรณ์ฉบับแรก ซึ่งเป็นรายงานเกี่ยวกับมาตรฐานกลางในการกำหนดนิยามและจัดกลุ่มกิจกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมของไทย โดยอ้างอิงหลักวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อมและยึดมั่นเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ในปี 2593 ไม่ให้อุณหภูมิโลกให้สูงขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียสตามที่สมาชิกภายใต้ความตกลงปารีส (Paris Agreement) ตกลงร่วมกัน

ประเด็นดังกล่าวสอดคล้องกับการขับเคลื่อน SDG12 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 12.6 สนับสนุนให้บริษัท โดยเฉพาะบริษัทข้ามชาติและบริษัทขนาดใหญ่ รับแนวปฏิบัติที่ยั่งยืนไปใช้ และ SDG13 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 13.2 บูรณาการมาตรการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในนโยบาย ยุทธศาสตร์ และการวางแผนระดับชาติ 

เข้าถึงได้ที่: เปิดตัว “Thailand Taxonomy” มาตรฐานกลางสู่เศรษฐกิจสีเขียวไทย (GreenNews)

ภาคประชาชนค้านส่งเด็กเมียนมากลับประเทศ ร้องให้คุ้มครองตามอนุสัญญาสิทธิเด็ก

วันที่ 5 กรกฎาคม 2566 ณ สถานีตำรวจภูธรบ้านดู่ อ.เมือง จ.เชียงราย เด็กนักเรียนที่ไม่มีเอกสารทางทะเบียนราษฎร์และสัญชาติไทยจากโรงเรียนแห่งหนึ่งในจังหวัดอ่างทอง จำนวน 126 คน ถูกนำตัวไปยังสถานสงเคราะห์ต่าง ๆ กว่า 5 แห่ง ก่อนถูกส่งกลับไปยังประเทศต้นทาง โดยมีตัวแทนของกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) และ พล.ต.ต.ฐิตวัฒน์ สุริยฉาย ผู้บังคับการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยีคอยให้การดูแล 

ขณะที่ภาคประชาชนคัดค้านกระบวนการส่งเด็กกลับ โดยชี้ว่าละเมิดสิทธิการศึกษาและ พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก อีกทั้งยังเป็นการผลักดันเด็กกลับไปเผชิญอันตรายในภาวะสงคราม โดย สันติพงษ์ มูลฟอง ผู้จัดการมูลนิธิเครือข่ายสถานะบุคคล กล่าวว่าเด็กต้องได้รับการคุ้มครองทั้งตามอนุสัญญาสิทธิเด็ก และ พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก โดยเด็กเหล่านี้ต้องไม่ถูกดำเนินคดีและไม่สมควรมีการผลักดันเด็กออกนอกประเทศ เพราะต้องคำนึกถึงความปลอดภัย โดยเฉพาะเมื่อพบว่าเด็กเหล่านั้นเดินทางมาจากประเทศที่ตกอยู่ในสภาวะสงคราม 

ประเด็นดังกล่าวสอดคล้องกับการขับเคลื่อน SDG4 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 4.1 สร้างหลักประกันว่าเด็กชายและเด็กหญิงทุกคนสำเร็จการศึกษาระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษาที่มีคุณภาพ และ 4.5 สร้างหลักประกันว่ากลุ่มที่เปราะบางซึ่งรวมถึงผู้พิการ ชนพื้นเมือง และเด็ก เข้าถึงการศึกษาและการฝึกอาชีพทุกระดับ SDG10 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 10.3 สร้างหลักประกันถึงโอกาสที่เท่าเทียมและลดความไม่เสมอภาคของผลลัพธ์ และ SDG16 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 16.2 ยุติการข่มเหง การแสวงหาประโยชน์อย่างไม่ถูกต้อง การค้ามนุษย์ และความรุนแรงและการทรมานทุกรูปแบบที่มีต่อเด็ก

เข้าถึงได้ที่: รุมค้านส่งเด็กไร้เอกสารทะเบียนใน รร.อ่างทอง 126 ราย กลับเมียนมา เสี่ยงเผชิญอันตรายจากภาวะสงคราม (ประชาไท)

ครม. มีมติเปลี่ยนชื่อกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม เป็น กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม

วันที่ 5 กรกฎาคม 2566 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้เปลี่ยนชื่อ ‘กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อมกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม’ เป็น ‘กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม พ.ศ. …’ เพื่อให้สอดคล้องกับการปรับปรุงภารกิจของส่วนราชการเป็นหน่วยงานขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศ ทำให้เกิดการปรับปรุงโครงสร้างการแบ่งส่วนราชการของหน่วยงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ดังนี้ ร่างกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการ กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อมกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พ.ศ. … , ร่างกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการ สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(ฉบับที่ ..) พ.ศ. …

ประเด็นดังกล่าวสอดคล้องกับการขับเคลื่อน SDG13 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 13.1 เสริมภูมิต้านทานและขีดความสามารถในการปรับตัวต่ออันตรายและภัยพิบัติทางธรรมชาติที่เกี่ยวข้องกับภูมิอากาศ และ SDG17 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 17.14 ยกระดับความสอดคล้องเชิงนโยบายเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน

เข้าถึงได้ที่: ครม. เห็นชอบ ร่างพระราชกฤษฎีกาเปลี่ยนชื่อกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม เป็นกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม พ.ศ. …(สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์) 

ข้อบัญญัติพื้นที่สีเขียวผ่านมติสภา กทม. ฉลุย หวังเป็นต้นแบบให้จังหวัดอื่น

วันที่ 5 กรกฎาคม 2566 สภากรุงเทพมหานคร (กทม.) ลงมติที่สำคัญต่อร่างข้อบัญญัติ กทม. เรื่องกำหนดลักษณะของอาคารและพื้นที่ว่างนอกอาคาร เพื่อการรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม (ร่างข้อบัญญัติพื้นที่สีเขียว) เสนอขึ้นโดย พุทธิพัชร์ ธันยาธรรมนนท์ สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) เขตยานนาวา พรรคก้าวไกล ซึ่งระบุว่ากฎหมายเพิ่มพื้นที่สีเขียวฉบับนี้จะเป็นมาตรการเชิงรุก เพื่อปกป้องสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน และจะเป็นตัวอย่างที่ดีให้สมาชิกและสภาต่าง ๆ ทั่วประเทศไทย ในการเสนอข้อบัญญัติเพื่อดูแลสิทธิขั้นพื้นฐานด้านสุขภาพของประชาชนทุกคน

ร่างข้อบัญญัติข้างต้นจะกำหนดให้ผู้ที่จะสร้าง ซ่อมแซม หรือต่อเติมอาคารใหม่ จะต้องมีพื้นที่สีเขียวคิดเป็น 50% ของพื้นที่ว่างนอกอาคาร ตามที่กฎหมายควบคุมอาคารกำหนดให้พื้นที่บ้านอยู่อาศัย 100 ตารางเมตร ต้องมีพื้นที่ว่าง 30 ตารางเมตร ส่วนตึกแถว สำนักงาน และทาวน์เฮาส์ กำหนดให้ 10% ของพื้นที่ต้องเป็นพื้นที่ว่าง 

ประเด็นดังกล่าวสอดคล้องกับการขับเคลื่อน SDG11 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 11.3 ยกระดับการพัฒนาเมืองและขีดความสามารถให้ครอบคลุมและยั่งยืน และ 11.7 จัดให้มีการเข้าถึงพื้นที่สาธารณะสีเขียวที่ปลอดภัยครอบคลุมและเข้าถึงได้ และ SDG17 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 17.14 ยกระดับความสอดคล้องเชิงนโยบายเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน

เข้าถึงได้ที่: สภา กทม. ผ่านวาระ 1 ‘ร่างข้อบัญญัติพื้นที่สีเขียว’ กำหนดทุกอาคารสร้าง-ซ่อม-ต่อเติมใหม่ ต้องมีพื้นที่สีเขียว 50% ของพื้นที่ว่างนอกอาคาร (The Standard)

รายงานฉบับใหม่ชี้ผู้หญิงและเด็กคือกลุ่มที่เผชิญแรงกดดันจากวิกฤติน้ำมากที่สุด

วันที่ 6 กรกฎาคม 2566 องค์การอนามัยโลก (World Health Organization: WHO) และ กองทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ (United Nations Children’s Fund: UNICEF) เผยแพร่รายงาน ‘Progress on household drinking water, sanitation and hygiene 2000-2022: Special focus on gender’ ระบุถึงความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงน้ำดื่ม สุขาภิบาล และสุขอนามัยในครัวเรือน โดยภาพรวมพบว่าคนกว่า 2.2 พันล้านคนทั่วโลกยังไม่มีระบบการจัดการน้ำดื่มที่ปลอดภัยในบ้าน และกว่า 3.4 พันล้านคนยังคงเข้าไม่ถึงการสุขาภิบาลที่ปลอดภัย นอกจากนี้รายงานยังเน้นย้ำว่าผู้หญิงและเด็กหญิงเป็นกลุ่มที่ต้องแบกรับแรงกดดันจากวิกฤติน้ำและการสุขาภิบาลระดับโลกมากที่สุด

ประเด็นดังกล่าวสอดคล้องกับการขับเคลื่อน SDG5 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 5.a ดำเนินการปฏิรูปเพื่อให้ผู้หญิงมีสิทธิที่เท่าเทียมในทรัพยากรทางเศรษฐกิจ และ SDG6 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 6.1 บรรลุเป้าหมายการให้ทุกคนเข้าถึงน้ำดื่มที่ปลอดภัย และ 6.2 บรรลุเป้าหมายการให้ทุกคนเข้าถึงการสุขาภิบาลและสุขอนามัยที่พอเพียงและเป็นธรรม

เข้าถึงได้ที่: Women and girls bear brunt of global water and sanitation crisis (UN News)

UNCTAD ชี้ต้องปิดช่องว่างการลงทุนเพื่อการเปลี่ยนผ่านพลังงานในประเทศกำลังพัฒนา

การประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา (UN Conference on Trade and Development: UNCTAD) เผยแพร่รายงาน ‘World Investment Report 2023’  โดยเนื้อหาสำคัญส่วนหนึ่งระบุว่าประเทศกำลังพัฒนาเผชิญกับช่องว่างมูลค่ากว่า 4 ล้านล้านดอลลาร์ในการลงทุนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ส่งผลให้ยังไม่สามารถขับเคลื่อนโลกให้บรรลุอนาคตสีเขียว (green future) ได้ หากไม่ช่วยเหลือประเทศกำลังพัฒนาปิดช่องว่าง 2 ล้านล้านดอลลาร์ในการลงทุนเพื่อการเปลี่ยนผ่านพลังงาน อย่างไรก็ดี ข่าวดีที่ปรากฏในรายงานคือบริษัทด้านพลังงานในบรรดาบริษัทข้ามชาติชั้นนำกว่า 100 แห่ง ได้หันไปสนใจใช้พลังงานหมุนเวียนมากขึ้นและขายออกสินทรัพย์ที่ใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลในอัตราประมาณ 1.5 หมื่นล้านดอลลาร์ต่อปี

ประเด็นดังกล่าวสอดคล้องกับการขับเคลื่อน SDG7 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 7.a ยกระดับความร่วมมือระหว่างประเทศเพื่ออำนวยความสะดวกในการเข้าถึงการวิจัย และเทคโนโลยีพลังงานที่สะอาด และ SDG17 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 17.3 ระดมทรัพยากรทางการเงินสำหรับประเทศกำลังพัฒนาเพิ่มเติม จากแหล่งที่หลากหลาย และ 17.9 เพิ่มพูนการสนับสนุนระหว่างประเทศสำหรับการดำเนินการด้านการเสริมสร้างขีดความสามารถที่มีประสิทธิผล

เข้าถึงได้ที่: Developing countries face $4 trillion investment gap in SDGs (UN News)

ผลงานนี้ได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิเพื่อการพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ ภายใต้โครงการเร่งรัดการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนด้านสุขภาพของประเทศไทย

Author

  • Knowledge Communication | สนใจประเด็นสันติภาพ ความมั่นคงมนุษย์ เเละสิ่งเเวดล้อมทางทะเล ใช้ชีวิตโดยเชื่อในสมดุลมากกว่าความสมบูรณ์เเบบ

Exit mobile version