วันที่ 15 กรกฎาคม 2566 นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เปิดเผยถึงความก้าวหน้าของการดำเนินนโยบาย “ร้านยาบริการดูแลเจ็บป่วยเล็กน้อย 16 กลุ่มอาการ” (common illnesses) เพื่อเพิ่มการเข้าถึงบริการรักษาพยาบาลให้กับผู้ป่วยสิทธิบัตรทองกรณีที่มีภาวะเจ็บป่วยเล็กน้อย
กลุ่มอาการดังกล่าวประกอบด้วย 1) ปวดหัว 2) เวียนหัว 3) ปวดข้อ 4) เจ็บกล้ามเนื้อ 5) ไข้ 6) ไอ 7) เจ็บคอ 8) ปวดท้อง 9) ท้องผูก 10) ท้องเสีย 11) ถ่ายปัสสาวะขัด ปัสสาวะลำบาก ปัสสาวะเจ็บ 12) ตกขาวผิดปกติ 13) อาการทางผิวหนัง ผื่น คัน 14) บาดแผล 15) ความผิดปกติต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นกับตา และ 16) ความผิดปกติต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นกับหู
ภายหลังดำเนินการมาแล้ว 8 เดือน พบว่า มีร้านยาทั่วประเทศเข้าร่วมให้บริการ 1,090 แห่ง และมีประชาชนใช้สิทธิบัตรทองฯ เข้ารับบริการเป็นจำนวนมาก โดยข้อมูล ณ วันที่ 14 กรกฎาคม 2566 มีประชาชนเข้ารับบริการโครงการฯ แล้ว 189,035 คน เป็นจำนวน 335,993 ครั้ง ในร้านยา 1,090 แห่ง สำหรับอาการที่มีการเข้ารับบริการมากที่สุด 5 อันดับแรก คือ อาการไข้ ไอ และเจ็บคอ จำนวน 134,638 ราย รองลงมาเป็นอาการปวดข้อ เจ็บกลามเนื้อ จำนวน 76,201 ราย อาการทางผิวหนัง ผื่น คัน จำนวน 43,416 ราย อาการปวดท้อง จำนวน 32,038 ราย และอาการความผิดปกติต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นกับตา จำนวน 19,236 ราย
นพ.จเด็จ กล่าวว่า จากผลตอบรับด้วยดีของประชาชนผู้ใช้สิทธิบัตรทอง สปสช. เตรียมหารือกับสภาเภสัชกรรม เพื่อเชิญชวนร้านยาทั่วประเทศที่มีจำนวน 17,000 แห่ง มาเข้าร่วมให้บริการเพิ่มเติม โดยในปี 2567 ตั้งเป้าหมายให้มีร้านยาทั่วประเทศเข้าร่วมจำนวน 5,000 แห่ง และให้มีร้านยาที่ร่วมบริการดูแลเจ็บป่วยเล็กน้อย 16 กลุ่มอาการอย่างน้อยกระจายอย่างน้อยอำเภอละ 1 แห่ง เนื่องจากบางจังหวัดมีหลายอำเภอ จึงอยากให้มีบริการร้านยาที่ทั่วถึงทุกพื้นที่ และในอนาคตก็ตั้งเป้าหมายให้ร้านยาทุกแห่งเข้ามาร่วมให้บริการนี้เพื่อร่วมดูแลประชาชนในระบบบัตรทองฯ
นโยบายดังกล่าวริเริ่มจากเป้าหมายที่ต้องการให้ประชาชนเข้าถึงการรักษาตามอาการเบื้องต้นได้ง่าย สะดวก ไม่ยุ่งยาก และไม่เสียเวลาก่อน ซึ่งในทางการแพทย์การเข้ารับการรักษาผู้ป่วยจะไม่ได้มาด้วยโรค แต่จะมาด้วยอาการ อาการบางอย่างที่เจ็บป่วยเล็กน้อย หากได้ยาบรรเทาก็หายได้ เช่น เมื่อเกิดภาวะเครียด ทำให้ปวดหัว เมื่อได้กินยาและพักผ่อนก็ดีขึ้นและหายได้ การมีร้านยากระจายทุกชุมชนจึงเป็นทางเลือกที่ดี อย่างไรก็ตามหากกินยาแล้วไม่หาย ก็ต้องไปพบแพทย์เพื่อตรวจรักษาต่อไป
ประชาชนสิทธิบัตรทองที่ต้องการเข้ารับ “ร้านยาบริการดูแลเจ็บป่วยเล็กน้อย 16 กลุ่มอาการ” เพียงนำบัตรประชาชนไปรับบริการได้ที่ร้านยาที่เข้าร่วมให้บริการ โดยสังเกตหน้าร้านจะมีสติกเกอร์ “ร้านยาคุณภาพของฉัน ให้บริการเจ็บป่วยเล็กน้อย” หรือเข้าไปดูรายชื่อร้านยาที่เข้าร่วมโครงการได้ที่เว็บไซต์ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ
สติกเกอร์ “ร้านยาคุณภาพของฉัน ให้บริการเจ็บป่วยเล็กน้อย”
● อ่านข่าวและบทความที่เกี่ยวข้อง
– หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าหยุดชะงักเพราะโควิด-19 ทำให้หลายคนยากจนขั้นรุนแรงเพราะต้องจ่ายค่ารักษาพยาบาล
– คนที่ต้องแบกรับภาระหนี้ที่ไม่มีหลักประกันในช่วงวัยผู้ใหญ่ มีแนวโน้มเจ็บป่วยมากกว่าเมื่อเริ่มแก่ตัว
– การปกครองระบอบประชาธิปไตยมีความเชื่อมโยงกับการมีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่มีประสิทธิภาพมากกว่า
– การลดเงินอุดหนุนยารักษาโรคในเลบานอน ทำให้ค่ายาแพงและอาจมีจำนวนประชากรเสียชีวิตเพิ่มขึ้น
ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG3 สุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี
– (3.8) บรรลุการมีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า รวมถึงการป้องกันความเสี่ยงทางการเงิน การเข้าถึงการบริการสาธารณสุขจำเป็นที่มีคุณภาพ และเข้าถึงยาและวัคซีนจำเป็นที่ปลอดภัย มีประสิทธิภาพ มีคุณภาพ และมีราคาที่สามารถซื้อหาได้
– (3.c) เพิ่มการใช้เงินสนับสนุนด้านสุขภาพ และการสรรหา การพัฒนา การฝึกฝน และการเก็บรักษากำลังคนด้านสุขภาพในประเทศกำลังพัฒนา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศพัฒนาน้อยที่สุดและรัฐกำลังพัฒนาที่เป็นเกาะขนาดเล็ก
– (3.d) เสริมขีดความสามารถของทุกประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศกำลังพัฒนา ในด้านการแจ้งเตือนล่วงหน้า การลดความเสี่ยง และการบริหารจัดการความเสี่ยงด้านสุขภาพทั้งในระดับประเทศและระดับโลก
แหล่งที่มา : เผย 8 เดือน สิทธิบัตรทองตอบรับเจ็บป่วยเล็กน้อยรับยาที่ร้านยากว่า 3.3 แสนครั้ง (ประชาไท)
ผลงานนี้ได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิเพื่อการพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ ภายใต้โครงการเร่งรัดการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนด้านสุขภาพของประเทศไทย