SDG Spotlight – 6 ข่าว SDGs น่าสนใจในรอบสัปดาห์ที่ 3 ประจำเดือนกรกฎาคม 2566

จากการสำรวจข่าวสารความเคลื่อนไหวที่เกี่ยวข้องและส่งผลต่อการขับเคลื่อน SDGs ระหว่างวันที่  17  – 21 กรกฎาคม 2566 มีข่าวสารความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจ ดังนี้

สศก. เผยผลผลิตพืชหดตัว ร้อยละ 1.6 ผลสภาพอากาศแปรปรวน-ต้นทุนสูง 

นายฉันทานนท์ วรรณเขจร เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) โฆษกกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้เปิดเผยว่า ภาวะเศรษฐกิจการเกษตรไตรมาส 2 ปี 2566 (เมษายน-มิถุนายน) พบว่า ขยายตัวร้อยละ 0.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2565 โดยสาขาปศุสัตว์ ประมง บริการทางการเกษตร และป่าไม้ ขยายตัวเพิ่มขึ้น ขณะที่ สาขาพืชหดตัวร้อยละ 1.6 สินค้าพืชที่มีผลผลิตลดลง เนื่องจากปริมาณน้ำน้อยกว่าปีที่ผ่านมา อีกทั้งสภาพอากาศที่แปรปรวนทำให้พื้นที่ทางภาคตะวันออกมีฝนตกชุกต่อเนื่องสลับกับมีลมพายุส่งผลให้สินค้ากลุ่มผลไม้ดอกและผลร่วงหล่นเสียหาย ขณะที่พื้นที่ทางภาคใต้มีฝนน้อยและสภาพอากาศร้อน ส่งผลให้สินค้าปาล์มน้ำมันและยางพารามีผลผลิตลดลง

นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ ที่ต้องติดตามเฝ้าระวัง เช่น สถานการณ์ในประเทศและต่างประเทศ ราคาปัจจัยการผลิตที่ทำให้ต้นทุนการผลิตและเงินเฟ้อที่ยังอยู่ในระดับสูง ส่งผลต่อกำลังซื้อและการลงทุนของเกษตรกร และความขัดแย้งทางด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่ส่งผลต่อเศรษฐกิจโลก

ประเด็นดังกล่าวสอดคล้องกับการขับเคลื่อน SDG2 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 2.4 ทำให้เกิดความมั่นใจในระบบการผลิตอาหารและการปฏิบัติด้านการเกษตรที่ยืดหยุ่นเพื่อเพิ่มผลิตภาพผลผลิตและผลผลิตที่จะช่วยรักษาระบบนิเวศน์ที่จะเพิ่มความเข้มแข็งในศักยภาพในการปรับตัวกับการเปลี่ยนแปลงของอากาศ ภูมิอากาศที่เลวร้าย, ความแห้งแล้ง, น้ำท่วม และความเสียหาย และเพื่อปรับปรุงคุณภาพดินและที่ดินอย่างก้าวกระโดด ภายในปี 2573

เข้าถึงได้ที่ : สศก. เผย GDP เกษตร โตขึ้น 0.3% เตือน สภาพอากาศแปรปรวน-ต้นทุนสูง อาจส่งผลให้หดตัวลง – The Reporters

Beach for life ร้อง 4 หน่วยงาน สอบเอกชนอ้างสิทธิ-ก่อสร้างบนหาดปากบารา

กลุ่มอนุรักษ์ชายหาด Beach for life เรียกร้อง 4 หน่วยงานราชการ ได้แก่ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กรมเจ้าท่า องค์การบริหารส่วนตำบลปากน้ำ และอำเภอละงู จังหวัดสตูล ระงับการก่อสร้างและตรวจสอบสิทธิครอบครองหาดปากบารา สตูล จากเหตุการณ์กรณีที่เอกชนรายหนึ่งอ้างสิทธิ์ในที่ดินบนชายหาดปากบารา หมู่ที่  6 ตำบลปากน้ำ อำเภอละงู จังหวัดสตูล และดำเนินการก่อสร้างสิ่งปลูกสร้างในลักษณะการขุดชายหาด และหล่อเสาคอนกรีต เพื่อเตรียมดำเนินการก่อสร้างสิ่งปลูกสร้างถาวรบนพื้นที่ โดยพื้นที่ชายหาดดังกล่าวประชาชนใช้ประโยชน์ร่วมกันมาอย่างต่อเนื่อง แต่เอกชนกลับอ้างว่ามีเอกสารสิทธิ์ ทำให้เกิดคำถามถึงความเหมาะสมในการดำเนินการ

กลุ่มอนุรักษ์ชายหาด จึงขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องตามที่ได้กล่าวมาข้างต้น ดำเนินการตามข้อเรียกร้องต้องสั่งรื้อถอน หากพบไม่มีสิทธิตามอ้างให้แล้วเสร็จภายใน 15 วัน และขอให้ปฏิบัติหน้าที่อย่างตรงไปตรงมา เพื่อรักษาประโยชน์สาธารณะในการใช้ประโยชน์ชายหาดปากบารา

ประเด็นดังกล่าวสอดคล้องกับการขับเคลื่อน SDG14 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 14.2 บริหารจัดการและปกป้องระบบนิเวศทางทะเลและชายฝั่งอย่างยั่งยืนเพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบทางลบที่มีนัยสำคัญ รวมถึงโดยการเสริมภูมิต้านทานและปฏิบัติการเพื่อฟื้นฟู เพื่อบรรลุการมีมหาสมุทรที่มีสุขภาพดีและมีผลิตภาพ ภายในปี 2563 และ 14.5 ภายในปี 2563 อนุรักษ์พื้นที่ทางทะเลและชายฝั่งอย่างน้อยร้อยละ 10 ให้เป็นไปตามกฎหมายในประเทศและระหว่างประเทศ และอยู่บนพื้นฐานของข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ที่ดีที่สุดที่มีอยู่ และ SDG16 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 16.7 สร้างหลักประกันว่าจะมีกระบวนการตัดสินใจที่มีความรับผิดชอบ ครอบคลุม มีส่วนร่วม และมีความเป็นตัวแทนที่ดี ในทุกระดับการตัดสินใจ

เข้าถึงได้ที่ : จี้ “กรมทะเล-กรมเจ้าท่า” สอบกรณี “เอกชนอ้างสิทธิ-ก่อสร้างบนหาดปากบารา”- Greennews 

แรงงานสิ่งทอในเมียนมา ถูกจับขึ้นศาลทหารเพราะชุมนุมเรียกร้องขึ้นค่าแรง

ตัวแทนกลุ่มคนงานสิ่งทอในเมียนมาที่ทำงานให้สายการผลิตของเสื้อผ้ายี่ห้อดัง Zara ถูกจับขึ้นศาลทหารหลังจากที่มีการประท้วงเรียกร้องขึ้นค่าแรง นักกิจกรรมด้านแรงงานในเมียนมาเปิดเผยว่า คนงานสิ่งทอและนักสหภาพแรงงาน 7 ราย กำลังจะต้องเผชิญกับการดำเนินคดีข้อหายุยงปลุกปั่นในศาลทหาร หลังจากที่พวกเขารณรงค์เรียกร้องให้มีการขึ้นค่าจ้างที่โรงงานสิ่งทอที่ผลิตป้อนให้กับบริษัท Inditex ทำให้ตอนนี้บริษัทสัญชาติสเปนเจ้าของ Zara กำลังหาทางปลีกตัวออกจากประเทศ 

คดีดังกล่าวเปิดเผยให้เห็นถึงสภาพที่เลวร้ายที่คนงานเมียนมาต้องเผชิญในการทำงานภาคอุตสาหกรรมสิ่งทอ โดยบริษัทหลายบริษัทที่ย้ายกิจการออกจากประเทศเมียนมาหลังจากที่มีการรัฐประหารเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2564 ซึ่งการรัฐประหารนี้ส่งผลให้สิทธิแรงงานเลวร้ายมากยิ่งขึ้น มีนักสหภาพแรงงานและนักกิจกรรมแรงงานถูกสังหารรวมแล้ว 53 ราย ถูกจับกุม 300 ราย รวมทั้งแบรนด์ต่างๆ ไม่สามารถเข้ามากำกับดูแลในเรื่องสภาพการจ้างงานภายในเมียนมาเองได้ ทำให้แรงงานขาดกลไกในการต่อสู้และกฎหมายใด ๆ รองรับ

ประเด็นดังกล่าวสอดคล้องกับการขับเคลื่อน SDG 8 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 8.7 ดำเนินมาตรการที่มีประสิทธิภาพโดยทันที เพื่อขจัดแรงงานที่ถูกบังคับ ยุติความเป็นทาสสมัยใหม่และการค้ามนุษย์ และยับยั้งและกำจัดการใช้แรงงานเด็กในรูปแบบที่เลวร้ายที่สุด 8.8 ปกป้องสิทธิแรงงานและส่งเสริมสภาพแวดล้อมในการทำงานที่ปลอดภัยและมั่นคงสำหรับผู้ทำงานทุกคน รวมถึงผู้ทำงานต่างด้าว โดยเฉพาะหญิงต่างด้าว และผู้ที่ทำงานเสี่ยงอันตราย และ SDG16 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 16.2 ยุติการข่มเหง การแสวงหาประโยชน์อย่างไม่ถูกต้อง การค้ามนุษย์ และความรุนแรงและการทรมานทุกรูปแบบที่มีต่อเด็ก และ 16.3 ส่งเสริมหลักนิติธรรมทั้งในระดับชาติและระหว่างประเทศ และสร้างหลักประกันว่าทุกคนสามารถเข้าถึงความยุติธรรมอย่างเท่าเทียม

เข้าถึงได้ที่ : แรงงานสิ่งทอในพม่า ถูกจับขึ้นศาลทหารเพราะชุมนุมเรียกร้องขึ้นค่าแรง | ประชาไท Prachatai.com

คณะมนตรีความมั่นคง UN จัดประชุมหารือความเสี่ยง AI เป็นครั้งแรก

คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (United Nations Security Council: UNSC) จัดการประชุมว่าด้วยประเด็นเกี่ยวกับปัญญาประดิษฐ์หรือ AI เป็นครั้งแรก ซึ่งร่วมกันปรึกษารหารือถึงความเสี่ยงที่อาจเกิดจาก AI และความจำเป็นที่ต้องกำกับดูแล

อันโตนิโอ กูเตอร์เรส เลขาธิการ UN ระบุว่า AI มีศักยภาพในการปรับปรุงด้านการดูแลสุขภาพ การศึกษา และด้านอื่น ๆ ของชีวิตผู้คนแต่ก็มีศักยภาพสำหรับการกระทำในสิ่งที่ดีและเลวร้ายให้เกิดขึ้นได้ จึงกล่าวเตือนว่า การใช้เทคโนโลยีในทางที่ผิดอาจส่งผลร้ายแรงต่อสันติภาพและความมั่นคงของโลก พร้อมชี้ว่า AI สามารถถูกนำไปใช้เพื่อเผยแพร่ข้อมูลที่บิดเบือนและทำสิ่งอื่น ๆ ในเชิงลบได้ จึงเรียกร้องให้มีการสร้างกฎระเบียบระหว่างประเทศเพื่อควบคุมความเสี่ยงที่เกิดจาก AI และขอให้ห้ามผลิตและใช้งานระบบอาวุธทำลายล้างอัตโนมัติที่ทำงานโดยปราศจากการควบคุมหรือการกำกับดูแลของมนุษย์ นอกจากนี้ ผู้แทนจากหลายประเทศสมาชิกยังกล่าวว่า UN ควรทำงานร่วมกับบริษัทเอกชนและผู้เชี่ยวชาญ เพื่อสร้างกรอบการทำงานระหว่างประเทศ

ประเด็นดังกล่าวสอดคล้องกับการขับเคลื่อน SDG9 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 9.c เพิ่มการเข้าถึงเทคโนโลยีด้านข้อมูลและการสื่อสาร และพยายามที่จะจัดให้มีการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตโดยถ้วนหน้าและในราคาที่สามารถจ่ายได้ ในประเทศพัฒนาน้อยที่สุด ภายในปี 2563 และ SDG16 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 16.3 ส่งเสริมหลักนิติธรรมทั้งในระดับชาติและระหว่างประเทศ และสร้างหลักประกันว่าทุกคนสามารถเข้าถึงความยุติธรรมอย่างเท่าเทียม

เข้าถึงได้ที่ : คณะมนตรีความมั่นคง UN จัดประชุมหารือความเสี่ยง AI เป็นครั้งแรก – Thestandard

HLPF 2023 ปิดฉากลงแล้วที่ประชุมเน้นย้ำความร่วมมือจากภาคเอกชนจำเป็นต่อการขับเคลื่อน SDGs 

สิ้นสุดลงแล้ว การประชุมการประชุมเวทีหารือระดับสูงทางการเมืองว่าด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืน (High-Level Political Forum on Sustainable Development: HLPF) ประจำปี พ.ศ. 2566 นับสิบวันที่ผ่านมา ผู้นำระดับโลก ผู้กำหนดนโยบายและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ได้ร่วมประชุมหารือเพื่อทบทวนความคืบหน้า แบ่งปันประสบการณ์ และหารือเกี่ยวกับกลยุทธ์สำหรับการมุ่งสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งปีนี้มุ่งไปในธีมของ “เร่งการฟื้นตัวจากโควิด-19 และเร่งการดำเนินการตามวาระการพัฒนาที่ยั่งยืนปี 2030 ในทุกระดับอย่างเต็มรูปแบบ” โดยตระหนักถึงความท้าทายที่ของวิกฤตทางด้านสุขภาพที่เกิดขึ้นในทั่วโลก

การแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบเป็นวงกว้างในทุกด้านของสังคม เช่น ความไม่เท่าเทียมที่มีอยู่นั้นทวีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น รวมถึงขัดขวางการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งประเด็นสำคัญประการหนึ่งจาก HLPF คือการยอมรับว่าการบรรลุ SDGs ต้องใช้ความพยายามร่วมกันของรัฐบาล ประชาสังคม ธุรกิจ และบุคคลทั่วไป โดยการส่งเสริมความร่วมมือจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหลายภาคส่วน รวมถึงการระดมทรัพยากรเพื่อเร่งความคืบหน้าไปสู่เป้าหมายเป็นสิ่งสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคเอกชน มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน ผ่านการดำเนินธุรกิจและการลงทุนที่มีความรับผิดชอบ สำหรับผลลัพธ์การประชุม HLPF ครั้งนี้ จะนำไปสานต่อในการประชุม SDG Summit ในเดือนกันยายน

ประเด็นดังกล่าวสอดคล้องกับการขับเคลื่อน SDG17 หุ้นส่วนความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน 

เข้าถึงได้ที่ : Behind at halftime, but all still to play for in race to 2030 goals as top political forum closes | UN News

‘ก้าวไกล’ อภิปรายขยายประกันสังคมคุ้มครองแรงงานนอกระบบ พร้อมชี้หนี้สูญ-การลงทุน

เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2566 สิทธิพล วิบูลย์ธนากุล สส. บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ร่วมอภิปรายรายงานผลการดำเนินการกองทุนประกันสังคม ชี้ปัญหาคุ้มครองไม่ครอบคลุมแรงงานนอกระบบรวม 18 ล้านคน ตกหล่น 96% ทั้งที่แรงงานนอกระบบนั้นเป็นปัจจัยสำคัญในความเข้มแข็งของธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก ซึ่งเป็นรากฐานทางเศรษฐกิจของประเทศ  ประการต่อมา ระบบประกันสังคมภาคสมัครใจไม่จูงใจมากพอในการดึงดูดผู้ประกันตนมากขึ้น และประการสุดท้าย คือการขาดการบูรณาการระหว่างหน่วยงานภาครัฐต่างๆ ที่จะส่งเสริมให้คนเข้าสู่ระบบประกันสังคมมากขึ้น จึงแนะนำให้ปรับปรุงกองทุนประกันสังคมให้เท่าเทียม มีมาตรการดึงธุรกิจเข้าระบบ แก้ปัญหาการเข้าถึง

นอกจากประเด็นดังกล่าว ด้านนายศุภณัฐ มีนชัยนนท์ สส.พรรคก้าวไกล ได้เผยข้อมูลว่า ปัจจุบันกองทุนประกันสังคม มีการลงทุนจำนวนมาก แต่ที่น่าจับตามองคือการลงทุนในหุ้นเอกชนด้านพลังงานและน้ำมัน ซึ่งมีการลงทุนจำนวนมาก 260 ล้านหุ้น จำนวนเงิน 7,600 ล้านบาท หากเปรียบเทียบกับหุ้นตัวอื่น ๆ ไม่ได้อยู่ใน SET 50 หุ้นที่สามารถทำกำไรได้  รวมถึงมีหนี้สูญและสงสัยว่าจะกลายเป็นหนี้สูญจำนวนมากในปี 2563  มีหนี้สูญ 37 ล้านบาท และหนี้สงสัยว่าจะสูญ 450 ล้านบาทในปี 2564 มีหนี้สูญ 80 ล้านบาท และหนี้สงสัยว่าจะสูญ 281 ล้านบาท มีแนวโน้มว่าหนี้สูญเหล่านี้จะเพิ่มขึ้นต่อเนื่องทุกปี 

ขณะที่ นายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม ได้ออกมาชี้แจงกรณีการนำเงินประกันสังคมไปลงทุนนั้น ผ่านการเห็นชอบจากคณะกรรมการลงทุน โดยที่ผ่านมากองทุนประกันสังคม และได้มีการนำเงินลงใน SET 100  ของตลาดหลักทรัพย์  มีขาดทุนบางส่วนและได้กำไร โดยปี 2564 ได้รับผลตอบแทนจากการลงทุน 62,000 ล้านบาท ซึ่งส่วนที่ตั้งงบแสดงสถานะหนี้สูญเพิ่มขึ้น 5 หมื่นล้าน เนื่องจากมีหนี้ค้างจ่าย 2 ทาง  คือ รัฐบาลค้างจ่าย เเละ นายจ้างปิดกิจการและสูญหาย สะสมมาตั้งแต่ปี 2533 ขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการตามกฎหมาย และจากการประมาณการสถานะกองทุนประกันสังคม  ระบุว่าสถานะกองทุน ประกันสังคม จนถึงปี 2570 คาดจะมีเงินลงทุนสะสมคิดเป็นมูลค่ากว่า 3 ล้านล้านบาท

ประเด็นดังกล่าวสอดคล้องกับการขับเคลื่อน SDG8 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 8.5 บรรลุการจ้างงานเต็มที่และมีผลิตภาพ และการมีงานที่มีคุณค่าสำหรับทุกคนให้มีการจ่ายที่เท่าเทียม 8.8 ปกป้องสิทธิแรงงานและส่งเสริมสภาพแวดล้อมในการทำงานที่ปลอดภัยและมั่นคงสำหรับผู้ทำงานทุกคน และ SDG10 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 10.2 เสริมสร้างศักยภาพและส่งเสริมความครอบคลุมทางสังคม เศรษฐกิจ และการเมืองสำหรับทุกคน และ 10.3สร้างหลักประกันถึงโอกาสที่เท่าเทียมและลดความไม่เสมอภาคของผลลัพธ์ รวมถึงโดยการขจัดกฎหมาย นโยบาย และแนวทางปฏิบัติที่เลือกปฏิบัติ 

เข้าถึงได้ที่ : ‘ก้าวไกล’ อภิปรายขยายประกันสังคมคุ้มครองแรงงานนอกระบบ ยกระดับสิทธิให้เท่าเทียม | ประชาไท Prachatai.com และ เปิดเม็ดเงินกองทุน ‘ประกันสังคม’ มีเท่าไหร่ เสี่ยงล้มละลายจริงหรือไม่ – คมชัดลึก

ผลงานนี้ได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิเพื่อการพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ ภายใต้โครงการเร่งรัดการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนด้านสุขภาพของประเทศไทย

Last Updated on กรกฎาคม 25, 2023

Author

  • Praewpan Sirilurt

    Knowledge Communication | มนุษย์ผู้เชื่อว่า “การสื่อสารสามารถเชื่อมต่อความรู้สึกของกันและกันได้” ไม่ว่าจะเป็นใคร อยู่ที่ไหน หรือเผชิญกับอะไรอยู่ การสื่อสารจะช่วยบอกเล่าเรื่องราวส่งไปให้แก่ผู้อื่นได้รับรู้

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น