การประชุมเวทีหารือระดับสูงทางการเมืองว่าด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืน (High-Level Political Forum on Sustainable Development: HLPF) ประจำปี พ.ศ.2566 (ค.ศ. 2023) หรือ ‘HLPF 2023’ ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 10-19 กรกฎาคม 2566 ณ นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ได้เสร็จสิ้นลงแล้ว ในปีนี้มีการทบทวนความก้าวหน้าของเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน 5 เป้าหมาย ได้แก่ SDG6 SDG7 SDG9 SDG11 และ SDG17 รวมทั้งการพิจารณาความเชื่อมโยงกับเป้าหมายอื่น ๆ นอกจากนี้ประเทศต่าง ๆ ยังได้นำเสนอ รายงานการทบทวนการดำเนินงานตามวาระการพัฒนาที่ยั่งยืนระดับชาติโดยสมัครใจ (Voluntary National Reviews: VNR)
สำหรับการประชุมในสัปดาห์แรก (10-14 กรกฎาคม 2566) เพ่งความสนใจไปที่สาระสำคัญของการขับเคลื่อนพลิกโฉมเชิงพื้นที่ พิจารณาวิธีคิดของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และถกสนทนาถึงความท้าทายของประเทศกำลังพัฒนาที่เป็นเกาะขนาดเล็ก ประเทศรายได้ปานกลาง ประเทศในภูมิภาคแอฟริกา ประเทศพัฒนาน้อยที่สุด และประเทศกำลังพัฒนาที่ไม่มีทางออกทะเล
สรุปภาพรวมและประเด็นสำคัญของการประชุม HLPF ในสัปดาห์แรก มีดังนี้
วันที่ 10 กรกฎาคม : ผู้แทนของรัฐบาลทั่วโลกที่เข้าร่วมประชุมเพ่งความสนใจที่ SDG17 ซึ่งมีการทบทวนความก้าวหน้าทุกปี โดยมีการหารือถึงการรับมือกับวิกฤติของการจัดหาเงินทุน และการลงทุนเพื่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน รวมถึงการถกสนทนาเกี่ยวกับบทบาทของวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ในการกระตุ้นให้เกิดการพลิกโฉมและสนับสนุนการฟื้นคืนที่ขับเคลื่อนด้วยวิทยาศาสตร์ นอกจากนี้ยังมีการเสนอถึงความจำเป็นในการปฏิรูปสถาบันทางการเงินแบบพหุภาคี (Multilateral Financial Institutions: MFIs) โดยร่วมมองหาแนวทางระดมเงินเพิ่มเติมนอกเหนือจากเป้าหมายการระดมทุนเพื่อต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เดิมตั้งไว้ที่ 1 แสนล้านเหรีญสหรัฐฯ
วันที่ 11 กรกฎาคม : ผู้ร่วมประชุมได้ทบทวนความก้าวหน้าของ SDG6 โดยมีการชื่นชมถึงผลสำเร็จของการประชุม ‘UN 2023 Water’ ที่จัดไปเมื่อปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ซึ่งได้กำหนดวาระการดำเนินการเกี่ยวกับน้ำอย่างเป็นรูปธรรม นอกจากนี้ในที่ประชุมยังเรียกร้องให้มีการริเริ่มยุทธศาสตร์เกี่ยวกับน้ำ ริเริ่มกระบวนการที่จะนำไปสู่อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยน้ำ (UN Water Convention) รวมทั้งให้มีการจัดตั้งศูนย์วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีระดับภูมิภาคเพื่อเสริมสร้างการแบ่งปันความรู้ และสร้างการมีส่วนร่วมของชุมชนกับผู้มีอำนาจในกระบวนการพหุภาคี
วันที่ 12 กรกฎาคม : ผู้ร่วมประชุมได้ทบทวนความก้าวหน้าของ SDG7 โดย Damilola Ogunbiyi ผู้แทนพิเศษเลขาธิการของ ‘Sustainable Energy for All’ และประธานร่วม UN Energy ระบุว่า “SDG7 ไม่มีแนวโน้มจะความก้าวหน้าเพิ่มขึ้น แต่ยังมีโอกาสและหน้าที่ในการพลิกกลับแนวโน้มดังกล่าว” และ “พลังงานเป็นเรื่องที่เชื่อมโยงกับการบรรลุถึง 2 ใน 3 ของเป้าหมายย่อย 169 เป้าหมายของ SDGs” ขณะที่บรรดาผู้แทนรัฐบาลเพ่งความสนใจและเน้นย้ำถึงความจำเป็นในการทำให้เป็นประชาธิปไตยและความหลากหลาย การสร้างงานใหม่ในภาคพลังงานสะอาด การป้องกันการฟอกเขียว และการส่งเสริมให้เกิดประสิทธิภาพในการใช้พลังงาน รวมถึงการจัดการความต้องการใช้พลังงานให้เพียงพอ นอกจากนี้ยังมีการเน้นย้ำว่าการบรรลุความสำเร็จในการเปลี่ยนผ่านพลังงานที่เป็นธรรมจำเป็นต้องตระหนักและเคารพสิทธิของชนพื้นเมือง
วันเดียวกันนั้น ยังมีการทบทวนความก้าวหน้าของ SDG9 โดยวิทยากรเน้นย้ำถึงความต้องการของภาคส่วนต่าง ๆ ต่อโครงสร้างพื้นฐานแบบบูรณาการ เหมาะสม และมีความเป็นนวัตกรรม ตั้งแต่การคมนาคม สัญญาณอินเทอร์เน็ต ไปจนถึงการผลิตอาหาร ทั้งยังมีการยอมรับว่าภาคเอกชนมีบทบาทในการขับเคลื่อนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่เป็นนวัตกรรมและมีความสามารถในตั้งรับปรับตัว ควบคู่ไปกับการทำงานของภาครัฐเพื่อสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวย
วันที่ 13 กรกฎาคม : ผู้ร่วมประชุมได้ทบทวนความก้าวหน้าของ SDG11 โดย Maimunah Mohd Sharif ผู้อำนวยการบริหารของโครงการตั้งถิ่นฐานมนุษย์แห่งสหประชาชาติ (UN-Habitat) เน้นย้ำถึงความชัดเจนในการจำแนกเขตเมืองที่เพิ่มขึ้นโดยจำเป็นต้องคิดวางแผนใหม่ว่าจะจัดการกับการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์อย่างไร พร้อมทั้งเน้นย้ำว่าวาระใหม่แห่งการพัฒนาเมือง (New Urban Agenda: NUA) ได้ระบุถึงวิสัยทัศน์ เป้าหมาย และความผูกพันที่ชัดเจน ซึ่งผู้มีส่วนได้ส่วนเสียสามารถนำไปปรับใช้ได้
ผู้เข้าร่วมประชุมให้ความสนใจกับกลยุทธ์ในการบริหารจัดการและความร่วมมือ โดยระบุถึงประโยชน์และความจำเป็นของการดำเนินการเชิงพื้นที่ ทั้งยังมีการเรียกร้องให้รัฐบาลระดับท้องถิ่นมีโอกาสมากขึ้นในการเข้าร่วมกระบวนการพหุภาคี นอกจากนี้วิทยากรได้ให้ข้อเสนอแนะที่น่าสนใจ เช่น ควรมีการระดมเจตจำนงทางการเมือง (political will) เพื่อสร้างหลักประกันว่าจะมีการเข้าถึงบริการขั้นพื้นฐานที่เท่าเทียม เช่น น้ำสะอาด พลังงาน และที่อยู่อาศัยที่เหมาะสม
วันที่ 14 กรกฎาคม : มี 9 ประเทศ ร่วมนำเสนอ VNRs ได้แก่ ลิกเตนสไตน์ บอสเนียและเฮอร์เซโกวีนา คอโมโรส แซมเบีย บาร์เบโดส รวันดา เวียดนาม บูร์กินาฟาโซ และกัมพูชา
การประชุม HLPF 2023 จะจัดอีกครั้งในเดือนกันยายนปีนี้ โดยจะเป็นการประชุมระดับประมุขแห่งรัฐและรัฐบาลภายใต้การดำเนินการของสมัชชาใหญ่แห่งสหระชาชาติ (UN General Assembly: UNGA) เพื่อทบทวนสถานะของ SDGs อย่างครอบคลุม จัดการกับผลกระทบจากวิกฤตการณ์ที่หลากหลายและเชื่อมโยงกันซึ่งประเทศทั่วโลกเผชิญ พร้อมทั้งแนะแนวทางการเมืองระดับสูงสำหรับการพลิกโฉมและเร่งรัดดำเนินการให้บรรลุวาระการพัฒนา 2030 ได้
● อ่านข่าวและบทความที่เกี่ยวข้อง
– SDG Updates | เตรียมตัวสำหรับ HLPF 2023 ในปีครึ่งทางของวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน 2030
– กระทรวง พม. นำเสนอสถานการณ์ SDG 5 ของประเทศไทย ในเวทีประชุม HLPF พร้อมเน้นย้ำการขับเคลื่อน SDGs ในระดับพื้นที่
– SDGs in Focus for HLPF 2022: วิกฤติระบบนิเวศบนบกและทางทะเลต้องเร่งลงมือแก้ไขแบบเชื่อมโยงกัน เพื่อรักษาโลกที่หลากหลายทางชีวภาพและชีวิตที่มั่นคงของคนและสัตว์
– SDGs in Focus for HLPF 2022: โลกหลังโควิดมีเด็กหญิงราว 11 ล้านคนเสี่ยงไม่ได้เรียน ต้องเร่งสร้างคุณภาพทางการศึกษาที่มีความเท่าเทียมทางเพศ
– SDG Updates | สำรวจสถานะ 5 เป้าหมาย SDGs ในเอเชียและแปซิฟิก ก่อนนับถอยหลังสู่การประชุม HLPF 2565
ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG6 น้ำสะอาดและการสุขาภิบาล
#SDG7 พลังงานสะอาดที่เข้าถึงได้
#SDG9 โครงสร้างพื้นฐาน นวัตกรรม เเละอุตสาหกรรม
#SDG11 เมืองเเละชุมชนที่ยั่งยืน
#SDG17 ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
แหล่งที่มา : HLPF 2023 Reviews SDGs 6, 7, 9, 11, and 17, Begins Discussion of VNRs (IISD)
ผลงานนี้ได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิเพื่อการพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ ภายใต้โครงการเร่งรัดการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนด้านสุขภาพของประเทศไทย