จากการสำรวจข่าวสารความเคลื่อนไหวที่เกี่ยวข้องและส่งผลต่อการขับเคลื่อน SDGs ระหว่างวันที่ 29 กรกฎาคม – 4 สิงหาคม 2566 มีข่าวสารความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจ ดังนี้
“เทอร์โมฮาไลน์” อาจหยุดไหลเร็วกว่าที่คาดการณ์ ส่งผลให้สภาพอากาศสุดขั้วรุนแรงขึ้น
ทีมนักวิจัยมหาวิทยาลัยโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ก เผยผลการวิจัยที่ค้นพบว่ากระแสน้ำ AMOC ในแอตแลนติกเหนือ หนึ่งในส่วนสำคัญของเทอร์โมฮาไลน์ (Thermohaline Circulation) ซึ่งคอยทำหน้าที่รักษาสมดุลของภูมิอากาศ จะหยุดการไหลเวียนเร็วกว่าที่เคยคาดการณ์กันไว้ โดยผลกระทบสำคัญที่จะเกิดขึ้นจากเหตุการณ์นี้ เช่น สภาพภูมิอากาศโลกจะเกิดความวิบัติ อุณหภูมิในประเทศแถบซีกโลกเหนือจะแปรปรวนในระดับ 10-15 องศาเซลเซียส สภาพอากาศแบบสุดขั้วจะรุนแรงขึ้น ประเทศต่าง ๆ ในเขตละติจูดกลางจะเกิดความหนาวเย็นมากและยาวนาน
สำหรับสาเหตุที่ทำให้เทอร์โมฮาไลน์หยุดไหล เกิดจากอุณหภูมิโลกที่เพิ่มสูงขึ้นจากโลกร้อน ส่งผลให้ธารน้ำแข็งของเกาะกรีนแลนด์เกิดการละลาย จนความเค็มของน้ำทะเลบริเวณดังกล่าวเจือจางและทำให้กระบวนการจมตัวของมวลน้ำบริเวณดังกล่าวค่อย ๆ ช้าลงจนหยุด ส่งผลให้สายพานการไหลเวียนทั้งระบบทั่วโลกจะไหลช้าลงจนในที่สุดก็จะหยุดชะงักตามไปด้วย
ประเด็นดังกล่าวสอดคล้องกับการขับเคลื่อน SDG13 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 13.1 เสริมภูมิต้านทานและขีดความสามารถในการปรับตัวต่ออันตรายและภัยพิบัติทางธรรมชาติที่เกี่ยวข้องกับภูมิอากาศในทุกประเทศ
เข้าถึงได้ที่: วิบัติภูมิอากาศ? เมื่อกระแสน้ำแอตแลนติก (AMOC) ที่คอยรักษาสมดุลภูมิอากาศโลกกำลังจะหยุดไหลเวียน (The Standard)
โลกร้อนกำลังรุนแรงขึ้น เสี่ยงกระทบภาคเกษตรสูงถึง 2.85 ล้านบาท
เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2566 รศ. ดร.วิษณุ อรรถวานิช คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บรรยายในหัวข้อ “สถานการณ์โลกร้อนและผลกระทบต่อเกษตรและอาหาร” ในงานเสวนา “รับมือและปรับเปลี่ยนให้ทัน ป้องกันวิกฤติภาวะโลกร้อน” ชี้ว่าปัญหาภาวะโลกร้อนที่กำลังรุนแรงขึ้นส่งผลกระทบต่อภาคเกษตรกรไทยอย่างมาก โดยตั้งแต่ปี 2554 เชื่อมโยงถึงอนาคตปี 2588 มูลค่าขั้นตํ่าของความเสียหายต่อภาคเกษตรไทยจะอยู่ที่ 6 แสนล้านบาท หรือสูงขึ้นไปถึง 2.85 ล้านล้านบาท โดยภาคที่จะได้รับผลกระทบมากที่สุด คือภาคใต้และภาคตะวันออก เนื่องจากพืชที่ปลูกส่วนใหญ่เป็นไม้ยืนต้นและเป็นพืชที่มีมูลค่าเพิ่มสูง ต่างจากภาคกลางและภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่ปลูกพืชล้มลุก มูลค่าอาจจะเสียหายน้อยกว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงจำเป็นต้องลงทุนเพื่อแก้ปัญหานี้อย่างเร่งด่วน
ประเด็นดังกล่าวสอดคล้องกับการขับเคลื่อน SDG2 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 2.4 สร้างหลักประกันว่าจะมีระบบการผลิตอาหารที่ยั่งยืนและดำเนินการตามแนวปฏิบัติทางการเกษตรที่มีภูมิคุ้มกัน และ SDG13 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 13.1 เสริมภูมิต้านทานและขีดความสามารถในการปรับตัวต่ออันตรายและภัยพิบัติทางธรรมชาติที่เกี่ยวข้องกับภูมิอากาศในทุกประเทศ และ 13.3 พัฒนาการศึกษา การสร้างความตระหนักรู้ และขีดความสามารถของมนุษย์และของสถาบันในเรื่องการลดผลกระทบและการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
เข้าถึงได้ที่: จับตา “โลกร้อน” ทุบสถิติใหม่ เกษตรไทย เสี่ยงเสียหาย 2.8 ล้านล้าน (ฐานเศรษฐกิจ)
กรมการปกครองสั่งนายอำเภอ 878 อำเภอทั่วประเทศ ตรวจสอบผู้ผลิต-จำหน่ายดอกไม้เพลิง
หลังเกิดเหตุการณ์โกดังเก็บพลุระเบิดบริเวณตลาดมูโนะ อ.สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส รวมถึงเหตุการณ์ในลักษณะเดียวกันที่เกิดขึ้นใน จ.เชียงใหม่ ก่อนหน้านี้ ล่าสุด วันที่ 30 กรกฎาคม 2566 นายแมนรัตน์ รัตนสุคนธ์ อธิบดีกรมการปกครอง ได้สั่งการให้นายอำเภอทั้ง 878 อำเภอทั่วประเทศ ดำเนินการตามแนวทางการควบคุม ตรวจสอบผู้รับใบอนุญาตให้ทำ สั่ง นำเข้า หรือค้า ซึ่งดอกไม้เพลิง ตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด และเร่งตรวจสอบสถานที่ที่อาจเป็นโกดังเก็บดอกไม้เพลิง หรืออาคารลักลอบเก็บดอกไม้เพลิง รวมถึงที่มาของดอกไม้เพลิงดังกล่าวว่าได้มาอย่างไร เพื่อควบคุมและป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์ซ้ำรอยอีก
ประเด็นดังกล่าวสอดคล้องกับการขับเคลื่อน SDG3 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 3.9 ลดจำนวนการตายและการเจ็บป่วยจากสารเคมีอันตรายและจากมลพิษ SDG11 เมืองและชุมชนที่ยั่งยืน 11.5 ลดจำนวนผู้เสียชีวิตและผู้ที่ได้รับผลกระทบตลอดจนลดความสูญเสียโดยตรงทางเศรษฐกิจเทียบเคียงกับ GDP ของโลก ที่เกิดจากภัยพิบัติ SDG12 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 12.4 บรรลุการจัดการสารเคมีและของเสียทุกชนิดตลอดวงจรชีวิตของสิ่งเหล่านั้นด้วยวิธีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และ SDG16 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 16.6 พัฒนาสถาบันทุกระดับให้มีประสิทธิผล มีความรับผิดชอบ และโปร่งใส
เข้าถึงได้ที่: กรมการปกครองสั่ง 878 อำเภอตรวจแหล่งเก็บดอกไม้ไฟ (Thai PBS)
ยูเนสโกเรียกร้องให้โรงเรียนห้ามการใช้สมาร์โฟนในห้องเรียน หวั่นกระทบคุณภาพการศึกษา
องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Educational, Scientific and Cultural Organization) หรือ ยูเนสโก (UNESCO) เรียกร้องให้มีการห้ามใช้สมาร์ทโฟน-แท็บเล็ตในห้องเรียน โดยชี้ว่าการใช้โทรศัพท์มือถือมากเกินไปเชื่อมโยงกับประสิทธิภาพการศึกษาที่ลดลง และการใช้เวลาบนหน้าจอนาน ๆ จะส่งผลเสียต่อความมั่นคงทางอารมณ์ของเด็ก พร้อมเตือนผู้กำหนดนโยบายในสถาบันการศึกษาแต่ละแห่งให้ระวังการเปิดรับเทคโนโลยีดิจิทัล โดยอ้างว่า ผลเชิงบวกในเรื่องของการเรียนรู้และประสิทธิภาพทางเศรษฐกิจอาจถูกนำเสนอเกินจริงไป และสิ่งใหม่ ๆ ก็ไม่ได้ดีกว่าเสมอไป
ความเคลื่อนไหวของยูเนสโกข้างต้นเป็นการส่งข้อความที่ชัดเจนว่าเทคโนโลยีดิจิทัลโดยรวม รวมถึงปัญญาประดิษฐ์ ควรอยู่ภายใต้การศึกษาที่มี “มนุษย์เป็นศูนย์กลาง” เสมอ และไม่ควรแทนที่ปฏิสัมพันธ์แบบเห็นหน้าระหว่างนักเรียนกับครู
ประเด็นดังกล่าวสอดคล้องกับการขับเคลื่อน SDG4 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 4.1 สร้างหลักประกันว่าเด็กชายและเด็กหญิงทุกคนสำเร็จการศึกษาระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษาที่มีคุณภาพ 4.a สร้างและยกระดับสถานศึกษา ตลอดจนเครื่องมือและอุปกรณ์การศึกษาที่อ่อนไหวต่อเด็ก ผู้พิการ และเพศภาวะ และจัดให้มีสภาพแวดล้อมทางการเรียนรู้ที่ปลอดภัย ปราศจากความรุนแรง ครอบคลุมและมีประสิทธิผลสำหรับทุกคน
เข้าถึงได้ที่: สหประชาชาติหนุน ห้ามใช้สมาร์ทโฟน-แท็บเล็ตในห้องเรียน (PPTV)
รัฐบาลกัมพูชาสั่งปิดกั้นเว็บไซต์และแพลตฟอร์มออนไลน์ของสื่อข่าวอิสระ ก่อนการเลือกตั้งทั่วไป
เดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา รัฐบาลกัมพูชาออกคำสั่งให้ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต (internet service provider – ISP) ทำการปิดกั้นเว็บไซต์และบัญชีสื่อสังคมออนไลน์ของสื่ออิสระรายใหญ่ 3 แห่ง ได้แก่ The Cambodia Daily, Radio Free Asia (RFA), and Kamnotra เนื่องจากความกังวลจากการที่สื่อนำเสนอข่าวที่ส่งผลกระทบต่อความน่าเชื่อถือและชื่อเสียงของรัฐบาล
โรฮิต มหาจาร ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการสื่อสารของ RFA ระบุว่า “RFA ประณามคำสั่งของรัฐบาลกัมพูชาให้ผู้บริการอินเทอร์เน็ตทำการปิดกั้นเนื้อหาของ RFA บนแพลตฟอร์มออนไลน์ ถือเป็นการละเมิดกฎหมายของกัมพูชาอย่างชัดเจน และยังเป็นความพยายามที่จะเซ็นเซอร์การกระจายข่าวสารอย่างอิสระก่อนการเลือกตั้งในวันที่ 23 กรกฎาคมด้วย”
ด้าน Phil Robertson ผู้แทนผู้อำนวยการประจำภูมิภาคเอเชียของ Human Rights Watch ระบุว่า “การปิดกั้นการเข้าถึงเว็บไซต์ของสื่ออิสระเพื่อป้องกันชาวกัมพูชาจากการเข้าถึงแหล่งข่าวที่ไม่ได้สนับสนุนรัฐบาล สะท้อนว่านายกรัฐมนตรีฮุน เซน ขาดความเอาใจใส่ในเรื่องเสรีภาพประชาธิไตยและเสรีภาพในการแสดงออก”
ประเด็นดังกล่าวสอดคล้องกับการขับเคลื่อน SDG16 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 16.10 สร้างหลักประกันว่าสาธารณชนสามารถเข้าถึงข้อมูลและมีการปกป้องเสรีภาพขั้นพื้นฐาน
เข้าถึงได้ที่: Cambodia: Access to Independent Media Blocked (Human Rights Watch) และ รัฐบาลกัมพูชาสั่งปิดกั้นเว็บไซต์ข่าวก่อนเปิดคูหาเลือกตั้ง (VOA Thai)
UN เผยการค้ามนุษย์เพิ่มมากขึ้นจากเหตุความขัดแย้งและ climate change
เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2566 ซึ่งเป็นวันยุติการค้ามนุษย์สากล องค์การสหประชาชาติออกคำเตือนว่าวิกฤติโลก ความขัดแย้ง และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาสกำลังทำให้ความเสี่ยงของการค้ามนุษย์เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มคนไร้รัฐ คนยากจนและไม่มีงานทำอย่างเพียงพอ มักตกเป็นกลุ่มเป้าหมายแรกของกระบวนการค้ามนุษย์ ด้าน António Guterres เลขาธิการองค์การสหประชาชาติ เรียกการค้ามนุษย์ว่าเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานและเสรีภาพอย่างร้ายแรง ทั้งยังเป็นอาชาญกรรมที่อาศัยความเปราะบางและเพิ่มขึ้นในช่วงเวลาแห่งความขัดแย้ง ความไม่มั่นคง โดยมีผู้คนตกเป็นเป้าหมายมากขึ้นในปัจจุบัน
ประเด็นดังกล่าวสอดคล้องกับการขับเคลื่อน SDG16 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 16.2 ยุติการข่มเหง การแสวงหาประโยชน์อย่างไม่ถูกต้อง การค้ามนุษย์
เข้าถึงได้ที่: UN calls for urgent action against human trafficking (UN)
ผลงานนี้ได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิเพื่อการพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ ภายใต้โครงการเร่งรัดการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนด้านสุขภาพของประเทศไทย