เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2566 ซึ่งเป็นวันสากลว่าด้วยชนพื้นเมืองดั้งเดิมของโลก (International Day Of the World’s Indigenous People) และวันชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) และสภาชนเผ่าพื้นเมืองประเทศไทย (สชพ.) ร่วมกับหุ้นส่วนความร่วมมือจากหลายภาคส่วน จัดงานกิจกรรมรณรงค์และเฉลิมฉลองเนื่องในวันสากลชนเผ่าพื้นเมืองโลกและวันชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย ประจำปี 2566 ภายใต้ธีม “พลังเยาวชนชนเผ่าพื้นเมือง ร่วมสร้างสรรค์สังคมสู่การเปลี่ยนแปลง” ณ ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร ตลิ่งชัน กรุงเทพฯ
งานดังกล่าว มีกิจกรรมที่น่าสนใจซึ่งมุ่งส่งเสริมให้มีการแสดงออกถึงความภูมิใจในอัตลักษณ์ของชนพื้นเมือง และสร้างการตระหนักถึงความสำคัญของชนเผ่าพื้นเมือง กิจกรรมภายในงาน เช่น
- กิจกรรมสานฝันและความหวังของเด็กและเยาวชนชนเผ่าพื้นเมือง: “เยาวชนชนเผ่าพื้นเมืองไทย ร่วมสานใจเสริมพลังให้กล้าแกร่ง ร่วมเปลี่ยนแปลงสร้างสังคมที่ยั่งยืน”
- เยี่ยมชมนิทรรศการและชิมอาหารชนเผ่าพื้นเมือง
- เสวนาสาธารณะ เรื่อง “สานพลังความร่วมมือภาคีสนับสนุนการจัดการพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์และส่งเสริมสิทธิชนเผ่าพื้นเมือง”
- เปิดพื้นที่นำเสนออัตลักษณ์และวิถีวัฒนธรรมชนเผ่าพื้นเมืองร่วมสมัย เช่น นวัตกรรมอาหารชนเผ่าพื้นเมือง การแสดงชุดแต่งกายชนเผ่าพื้นเมือง และการแสดงศิลปะ ดนตรี และวัฒนธรรมร่วมสมัย
สำหรับกิจกรรมสานฝันและความหวัง เยาวชน 3 คนจาก 3 หมู่บ้าน มาถ่ายทอดประสบการณ์และแรงบันดาลใจ ได้แก่
- สุชาติ มาเยอะ ชาติพันธุ์อาข่า เยาวชนจากบ้านแม่จันใต้ อ.แม่สรวย จ.เชียงราย เล่าเรื่องราวการเป็นพลังขับเคลื่อนและยกระดับการผลิตกาแฟในหมู่บ้านให้สามารถขายได้ในตลาด จากที่เริ่มต้นมียอดสั่งซื้อ 500 กิโลกรัมต่อปี จนยอดสั่งซื้อเพิ่มขึ้นมากว่า 50 ตันต่อปี ช่วยสร้างงานและสร้างเงินแก่คนในหมู่บ้าน
- จุฑามาส เรือนนุ่น เยาวชนมอแกลนบ้างทุ่งหว้า อ.ตะกั่วป่า จ.พังงา ถ่ายทอดเรื่องราวกลุ่มชาวเลอันดามันที่ถูกกีดกันและคุกคามจากคนภายนอกด้วยกติกาที่ไม่เป็นธรรม โดยเฉพาะการต่อสู้กับโครงการพัฒนาทางเศรษฐกิจต่าง ๆ ซึ่งยื้อแย่งและไล่ที่ของชาวมอแกลน เช่นพื้นที่สุสาน ที่มีการฝังร่างของบรรพบุรุษมานานกว่าสามร้อยปี กำลังถูกแย่งไปพัฒนาพื้นที่เป็นที่จอดรถ
- ประหยัด เสือชูชีพ เยาวชนจากบ้านแม่ปอคี อ.ท่าสองยาง จ.ตาก นำเสนอเรื่องการเคลื่อนไหวและผลักดันการทำให้พื้นที่ชุมชนของเขาเป็นพื้นที่คุ้มครองพิเศษทางวัฒนธรรม เพื่อรักษาไว้ซึ่งภูมิปัญญาในการทำไร่หมุนเวียน การใช้ชีวิตตั้งแต่การเกิด แต่งงาน ไปจนถึงความตายของคนปกาเกอะญอ
ขณะที่ที่รัฐสภา ผู้แทนจากสภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย ประมาณ 50 คน จากทั้งหมด 40 กว่ากลุ่มชาติพันธุ์ เดินทางไปยื่นหนังสือขอประธานสภาฯ นำร่าง พ.ร.บ. สภาชนเผ่าพื้นเมืองฯ แห่งประเทศไทย พ.ศ.….. กลับมาบรรจุในวาระการประชุมอีกครั้ง โดยร่างกฎหมายฉบับดังกล่าว เครือข่ายชนเผ่าพื้นเมืองฯ ได้รวบรวมรายชื่อจำนวน 12,888 คน เข้าชื่อเสนอกฎหมายร่วมกัน และได้ผ่านเข้าไปบรรจุในวาระการประชุมแล้ว แต่มีเหตุให้ต้องหยุดไปหลังจากรัฐบาลชุดพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ประกาศยุบสภาเพื่อเลือกตั้งใหม่
● อ่านข่าวและบทความที่เกี่ยวข้อง
– ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ คุกคามระบบผลิตอาหารที่เก่าแก่ของชนพื้นเมืองทั่วโลก
– ผู้ป่วยชนพื้นเมืองอะบอริจิน รู้สึกว่าได้รับการดูแลและประสบการณ์ที่ดีกว่าจากบุคลากรทางการแพทย์ที่เป็นชนพื้นเมืองเหมือนกัน
– Change agent ตัวจริง: หรือชนพื้นเมืองคือผู้ขับเคลื่อน ‘ความยั่งยืน’ อย่างแท้จริงตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน
– ชวนติดตามกิจกรรมและชมภาพยนตร์ในสัปดาห์ชนพื้นเมือง (Indigenous Week 2021) วันที่ 8-12 กุมภาพันธ์ 2564
– แคนาดา-บริติชโคลัมเบีย จับมือพัฒนาข้อตกลงทวิภาคีอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ พร้อมทำงานร่วมกับชนพื้นเมือง
– มหาวิทยาลัยในแอตแลนติกร่วมจัดตั้งโครงการสนับสนุนเงินทุน เพื่อดึงดูดนักศึกษาชนพื้นเมืองและผิวสีเข้าเรียนโรงเรียนธุรกิจมากขึ้น
– 9 สิงหาคม วันสากลว่าด้วยชนพื้นเมืองดั้งเดิมของโลก – UN DESA จัดงานเฉลิมฉลองภายใต้ธีม “บทบาทสตรีพื้นเมืองในการอนุรักษ์และถ่ายทอดภูมิปัญญาท้องถิ่น”
ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG10 ลดความเหลื่อมล้ำ
– (10.2) ให้อำนาจและส่งเสริมความครอบคลุมด้านสังคม เศรษฐกิจและการเมืองสำหรับทุกคน โดยไม่คำนึงถึงอายุ เพศ ความบกพร่องทางร่างกาย เชื้อชาติ ชาติพันธุ์ แหล่งกำเนิด ศาสนา หรือสถานะทางเศรษฐกิจหรือสถานะอื่น ๆ ภายในปี 2573
#SDG11 เมืองเเละชุมชนที่ยั่งยืน
– (11.4) เสริมความพยายามที่จะปกป้องและคุ้มครองมรดกทางวัฒนธรรมและทางธรรมชาติของโลก
#SDG17 ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
– (17.17) สนับสนุนและส่งเสริมหุ้นส่วนความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาครัฐ-ภาคเอกชน และประชาสังคม สร้างบนประสบการณ์และกลยุทธ์ด้านทรัพยากรของหุ้นส่วน
แหล่งที่มา : 3 เรื่องราวสร้างแรงบันดาลใจ จากพลังเยาวชนชนเผ่าพื้นเมือง (IMN Voice)
ผลงานนี้ได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิเพื่อการพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ ภายใต้โครงการเร่งรัดการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนด้านสุขภาพของประเทศไทย