SDG Spotlight – 6 ข่าว SDGs น่าสนใจในรอบสัปดาห์ที่ 3 ประจำเดือนสิงหาคม 2566

จากการสำรวจข่าวสารความเคลื่อนไหวที่เกี่ยวข้องและส่งผลต่อการขับเคลื่อน SDGs ระหว่างวันที่  13  – 19 สิงหาคม 2566 มีข่าวสารความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจ ดังนี้

ฝ่ายสิทธิ์ สมาคมนักข่าวฯ ร้องทุกฝ่ายไม่ใช้ ‘ความรุนแรง’ ต่อการทำหน้าที่ของสื่อ

ฝ่ายสิทธิ์ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย เรียกร้องทุกฝ่ายไม่ใช้ความรุนแรงแสดงกิริยาก้าวร้าวต่อการทำหน้าที่สื่อในรายงานข่าว เนื่องจากที่ผ่านมาอนุกรรมการฝ่ายสิทธิเสรีภาพฯ พยายามเฝ้าติดตามสถานการณ์ในการปฏิบัติหน้าที่ของสื่อมวลชน ซึ่งพบว่ามีสื่อมวลชนหลายสำนักถูกคุกคาม จำกัดสิทธิเสรีภาพในการทำหน้าที่ และไม่ให้เกียรติในการทำหน้าที่สื่อมวลชนมาอย่างต่อเนื่อง หรือการใช้วาจาที่ไม่เหมาะสม เพื่อให้สื่อปฏิบัติหน้าที่ในการตรวจสอบข้อมูลข้อเท็จจริงรอบด้าน 

ดังนั้นอนุกรรมการฝ่ายสิทธิเสรีภาพฯ จึงขอเรียกร้องต่อทุกฝ่าย ทั้งแหล่งข่าวและประชาชน เช่น 1. ขอให้ทุกฝ่ายเข้าใจและเคารพการทำหน้าที่ของสื่อมวลชนให้สามารถนำเสนอข่าวได้อย่างอิสระ เพื่อนำเสนอข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น 2. เรียกร้องให้ทุกฝ่ายระมัดระวังในการแสดงพฤติกรรม การใช้วาจา รวมถึงให้เกียรติและเคารพศักดิ์ศรีในการทำหน้าที่ซึ่งกันและกัน  3. ขอให้สื่อมวลชนทุกแขนง ทำหน้าที่การรายงานข่าวสารข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นจากทุกฝ่ายอย่างตรงไปตรงมา ไม่บิดเบือนข้อเท็จจริง และ 4. หากผู้ใดที่ได้รับผลกระทบจากการทำหน้าที่ของสื่อมวลชน  สามารถฟ้องร้องดำเนินคดีได้ตามกฎหมาย หรือใช้กลไกควบคุมจริยธรรมขององค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน เช่นนั้นแล้วขอเรียกร้องให้ทุกฝ่ายได้เคารพบทบาทหน้าที่ซึ่งกันและกัน และแสวงหาหนทางที่จะคลี่คลายวิกฤติด้วยสันติวิธี

ประเด็นดังกล่าวสอดคล้องกับการขับเคลื่อน SDG16 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 16.7 สร้างหลักประกันว่าจะมีกระบวนการตัดสินใจที่มีความรับผิดชอบ ครอบคลุม มีส่วนร่วม และมีความเป็นตัวแทนที่ดี ในทุกระดับการตัดสินใจ และ 16.10 สร้างหลักประกันว่าสาธารณชนสามารถเข้าถึงข้อมูลและมีการปกป้องเสรีภาพขั้นพื้นฐาน ตามกฎหมายภายในประเทศและความตกลงระหว่างประเทศ

เข้าถึงได้ที่ : ฝ่ายสิทธิ์ สมาคมนักข่าวฯ ร้องทุกฝ่ายไม่ใช้ความรุนแรง-ก้าวร้าวต่อการทำหน้าที่สื่อในรายงานข่าว | ประชาไท Prachatai.com

กสม. ชี้คดีความผิดเกี่ยวกับเพศต่อเด็กล่าช้า เป็นการละเมิดสิทธิการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม

คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ร่วมกับภาคีเครือข่ายจัดสมัชชาสิทธิมนุษยชน ประจำปี 2566 ขับเคลื่อนงาน 5 ประเด็นสิทธิสำคัญ ภายใต้แนวคิด “ศักดิ์ศรี เสรีภาพ ความเสมอภาค และความยุติธรรมสำหรับทุกคน” ระบุว่าพนักงานสอบสวนดำเนินคดีการกระทำความผิดเกี่ยวกับเพศต่อเด็กล่าช้า เป็นการละเมิดสิทธิการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรม กสม. จึงมีวาระสำคัญ ดังนี้ 1. กสม. ร่วมกับภาคีเครือข่ายจัดสมัชชาสิทธิมนุษยชน ประจำปี 2566 ขับเคลื่อนงานสิทธิในกระบวนการยุติธรรม สิทธิชุมชนและสิ่งแวดล้อม สถานะบุคคล การขจัดการเลือกปฏิบัติ และการแก้ไขปัญหาความรุนแรงในครอบครัว และ 2. กสม. ระบุว่ากรณีพนักงานสอบสวนดำเนินคดีความผิดเกี่ยวกับเพศต่อเด็กล่าช้า เป็นการละเมิดสิทธิฯ ให้ตำรวจสอบสวนลงโทษผู้กระทำผิด ส่งคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) พิจารณาดำเนินการฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ 

นอกจากนี้ กสม. เสนอให้สำนักงานตำรวจแห่งชาตินำคู่มือการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจตามหลักสิทธิมนุษยชนที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ของสำนักงาน กสม. โดยเฉพาะในส่วนมาตรฐานสิทธิมนุษยชนสากลและแนวทางในการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจไปซักซ้อม ทบทวน และอบรมให้ความรู้เจ้าหน้าที่ในสังกัด เพื่อเป็นการป้องกันการกระทำที่อาจนำไปสู่การละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อไปในอนาคต 

ประเด็นดังกล่าวสอดคล้องกับการขับเคลื่อน SDG16 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 16.2 ยุติการข่มเหง การแสวงหาประโยชน์อย่างไม่ถูกต้อง การค้ามนุษย์ และความรุนแรงและการทรมานทุกรูปแบบที่มีต่อเด็ก และ 16.10 สร้างหลักประกันว่าสาธารณชนสามารถเข้าถึงข้อมูลและมีการปกป้องเสรีภาพขั้นพื้นฐาน โดยเป็นไปตามกฎหมายภายในประเทศและความตกลงระหว่างประเทศ

เข้าถึงได้ที่ : กสม.ชี้ดำเนินคดีความผิดเกี่ยวกับเพศต่อเด็กล่าช้า ถือเป็นการละเมิดสิทธิฯ | ประชาไท Prachatai.com

ปชช.จัดขบวนเยือนกระทรวงคลัง-มหาดไทย-พม. คัดค้านการตัดเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ

เครือข่ายสลัมสี่ภาค เครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ และเครือข่ายรัฐสวัสดิการเพื่อความเท่าเทียมและเป็นธรรม (We Fair) จัดกิจกรรม “ค้านการตัดเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ” จัดขบวนเยือน 3 ที่ ได้แก่ กระทรวงการคลัง กระทรวงมหาดไทยและกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เสนอ 5 ข้อเรียกร้องค้านการตัดเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ 

ตัวแทนอ่านแถลงการณ์ร่วมเครือข่ายประชาชน 53 องค์กร 1,468 รายชื่อ “ปกป้องสวัสดิการประชาชน คัดค้านการตัดเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ” มีข้อเรียกร้องเช่น ให้ยกเลิกระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยหลักเกณฑ์การจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ.2566 แล้วกลับไปใช้ระเบียบเดิม ซึ่งคงสิทธิถ้วนหน้าโดยไม่ต้องพิสูจน์ความยากจน และผลักดันการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้รัฐสวัสดิการเกิดขึ้น

ประเด็นดังกล่าวสอดคล้องกับการขับเคลื่อน SDG1 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 1.3 ดำเนินการให้ทุกคนมีระบบและมาตรการการคุ้มครองทางสังคมในระดับประเทศที่เหมาะสม SDG10 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 10.2 ให้อำนาจและส่งเสริมความครอบคลุมด้านสังคม เศรษฐกิจและการเมืองสำหรับทุกคน  และ 10.3 สร้างหลักประกันว่าจะมีโอกาสที่เท่าเทียมและลดความไม่เสมอภาคของผลลัพธ์ 

เข้าถึงได้ที่ : ปชช.จัดขบวนเยือน ก.คลัง มหาดไทย พม. ค้านตัดเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ | ประชาไท Prachatai.com

ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่พระราชกฤษฎีกาเปลี่ยนชื่อ ‘กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม’

เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2566 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่ พระราชกฤษฎีกาเปลี่ยนชื่อกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม เป็นกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2566 พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า โดยที่เป็นการสมควรเปลี่ยนชื่อ “กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม” เป็น “กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม” อาศัยอานาจตามความในมาตรา 175 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และมาตรา 8 ตรี แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2543 จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชกฤษฎีกาขึ้นไว้ ดังต่อไปนี้ 

มาตรา 1 พระราชกฤษฎีกานี้เรียกว่า “พระราชกฤษฎีกาเปลี่ยนชื่อกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม เป็นกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2566” มาตรา 2 พระราชกฤษฎีกานี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา เป็นต้นไป มาตรา 3 ให้เปลี่ยนชื่อกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม เป็นกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม และมาตรา 4 ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมรักษาการตามพระราชกฤษฎีกานี้ 

ประเด็นดังกล่าวสอดคล้องกับการขับเคลื่อน SDG13 การรับมือกับการเปลี่ยนเเปลงสภาพภูมิอากาศ

เข้าถึงได้ที่ : ราชกิจจาฯแพร่พระราชกฤษฎีกาเปลี่ยนชื่อกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม – isranews

ไฟป่าฮาวายร้ายแรงที่สุดรอบกว่า 100 ปี คร่าชีวิตผู้คนกว่า 100 ราย 

จากเหตุการณ์ไฟป่าในฮาวาย ประเทศสหรัฐอเมริกา มียอดผู้เสียชีวิต เพิ่มเป็น 99 คน ถือเป็นไฟป่าครั้งร้ายแรงที่สุดในรอบกว่า 100 ปีของสหรัฐอเมริกา ซึ่งต้องใช้เวลากว่า 10 วัน ถึงจะสรุปยอดผู้เสียชีวิตได้ และจนถึงตอนนี้ ยังมีประชาชนสูญหายกว่า 1,300 คน หนึ่งในเมืองที่ได้รับผลกระทบหนัก อย่างเมืองลาไฮนา ถูกเผาวอดเกือบทั้งเมือง  อย่างไรก็ดี ยังไม่สามารถสรุปสาเหตุที่แน่นอนว่าต้นเพลิงมาจากที่ใด แต่เมื่อพิจารณาแล้วอาจเกิดได้จากปัจจัยต่าง ๆ ที่เอื้อให้เกิดไฟป่า อาทิ บริการสภาพอากาศแห่งชาติ (NWS) ของสหรัฐอเมริกา ได้ออกประกาศเตือนว่าหมู่เกาะฮาวายจะเผชิญกับกระแสลมแรงและสภาพอากาศที่แห้งแล้ง รวมถึงสาเหตุหลักที่ทำให้ไฟป่าครั้งนี้รุนแรง คือกระแสลมแรง มีอิทธิพลมาจากเฮอริเคนโดรา ที่อยู่ห่างจากหมู่เกาะฮาวายไปทางตะวันตกเฉียงใต้หลายร้อยไมล์ในมหาสมุทรแปซิฟิก แรงลมส่งผลให้เปลวเพลิงโหมกระหน่ำลุกโชนจนสร้างความเสียหายอย่างใหญ่หลวงในเวลาเพียงแค่ไม่กี่วันเท่านั้น

จากเหตุการณ์ภัยพิบัติที่เกิดขึ้นทั่วโลก จะเห็นได้ว่าสภาพอากาศที่ร้อนเป็นประวัติการณ์ในช่วงฤดูร้อนปีนี้ทำให้เกิด ภาวะโลกรวน ซึ่งภัยพิบัติที่เกิดขึ้นในปัจจุบันรุนแรงขึ้น ประเด็นดังกล่าวสอดคล้องกับการขับเคลื่อน SDG11 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 11.5 ลดจำนวนผู้เสียชีวิตและผู้ที่ได้รับผลกระทบตลอดจนลดความสูญเสียโดยตรงทางเศรษฐกิจเทียบเคียงกับ GDP ของโลก ที่เกิดจากภัยพิบัติ SDG13 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 13.1 เสริมภูมิต้านทานและขีดความสามารถในการปรับตัวต่ออันตรายและภัยพิบัติทางธรรมชาติที่เกี่ยวข้องกับภูมิอากาศในทุกประเทศ

เข้าถึงได้ที่ : สรุปสถานการณ์ไฟป่าฮาวาย เลวร้ายสุดในรอบ 100 ปี ตายทะลุ 100 คน  – thestandard และ ไฟป่าฮาวาย กลายเป็นไฟป่าร้ายแรงที่สุดของสหรัฐฯ ในรอบกว่า 100 ปี เสียชีวิตแล้ว 99 ศพ – bbc 

พิจารณาคดีฝุ่น นัดแรกเครือข่ายประชาสังคม แถลงย้ำหน่วยงานรัฐละเลยหน้าที่แก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5

เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2566 ตัวแทนจาก มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม  EnLAW มูลนิธิบูรณะนิเวศ (EARTH) กรีนพีซ ประเทศไทย สภาลมหายใจเชียงใหม่ สภาลมหายใจภาคเหนือ และนักกิจกรรมทางสังคม แถลงยืนยันถึงข้อเท็จจริงและเจตนารมณ์ในวันนัดนั่งพิจารณาคดีครั้งแรก หลังประชาชนฟ้องคดีปกครองหมายเลขดำที่ ส.6/2565 หน่วยงาน คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ละเลยการปฏิบัติหน้าที่เพื่อแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5

เน้นย้ำต่อศาลว่าหน่วยงานรัฐทั้งสามละเลยต่อหน้าที่ในการคืนอากาศสะอาดซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานให้กับประชาชน โดยยืนยันให้หน่วยงานรัฐแก้ปัญหาฝุ่น PM2.5 อย่างเป็นรูปธรรมดังนี้ 1. ออกหรือแก้ไขประกาศกำหนดมาตรฐานฝุ่น PM2.5 ในบรรยากาศทั่วไปให้เข้มงวดและมีความปลอดภัยต่อประชาชนมากยิ่งขึ้น 2. แก้ไขประกาศค่ามาตรฐานควบคุมการปล่อยทิ้งอากาศเสียประเภทฝุ่น PM2.5 จากโรงงานอุตสาหกรรมและกิจการประเภทอื่น ๆ ที่เป็นแหล่งกำเนิด  และ 3. จัดทำทำเนียบการปล่อยและเคลื่อนย้ายมลพิษ (PRTR) ให้มีประสิทธิภาพทันต่อสถานการณ์”

ประเด็นดังกล่าวสอดคล้องกับการขับเคลื่อน SDG11 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 11.6 ลดผลกระทบทางลบต่อสิ่งแวดล้อมต่อหัวประชากรในเขตเมือง รวมถึงการให้ความสนใจเป็นพิเศษต่อการจัดการคุณภาพอากาศ SDG12 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 12.4 บรรลุการจัดการสารเคมีและของเสียทุกชนิดตลอดวงจรชีวิตของสิ่งเหล่านั้นด้วยวิธีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และ SDG16 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 16.6 พัฒนาสถาบันที่มีประสิทธิผล มีความรับผิดชอบ และโปร่งใสในทุกระดับ และ 16.10 สร้างหลักประกันว่าสาธารณชนสามารถเข้าถึงข้อมูลและมีการปกป้องเสรีภาพขั้นพื้นฐาน 

เข้าถึงได้ที่  : พิจารณา #คดีฝุ่น วันแรก #เครือข่ายประชาสังคม แถลงยืนยัน “บอร์ดสิ่งแวดล้อมชาติ-รมว.ทรัพยากรฯ-รมว.อุตสาหกรรม ละเลยหน้าที่-ทำหน้าที่ล่าช้า” – Greennews

ผลงานนี้ได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิเพื่อการพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ ภายใต้โครงการเร่งรัดการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนด้านสุขภาพของประเทศไทย

Author

  • Praewpan Sirilurt

    Knowledge Communication | มนุษย์ผู้เชื่อว่า “การสื่อสารสามารถเชื่อมต่อความรู้สึกของกันและกันได้” ไม่ว่าจะเป็นใคร อยู่ที่ไหน หรือเผชิญกับอะไรอยู่ การสื่อสารจะช่วยบอกเล่าเรื่องราวส่งไปให้แก่ผู้อื่นได้รับรู้

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น