University of Twente ประเทศเนเธอร์แลนด์ คัดสรรภาพยนตร์ 5 เรื่อง 5 รส เพื่อแนะนำสำหรับผู้สนใจเรียนรู้ประเด็นที่เกี่ยวข้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ผ่านสื่อที่สนุกและคลายความน่าเบื่อ โดยภาพยนตร์ที่คัดสรรมาครอบคลุมทั้งมิติเศรษฐกิจ ความเหลื่อมล้ำทางสังคม และความสัมพันธ์กับทรัพยากรธรรมชาติ ทั้งยังเลือกมีความหลากหลายเรื่องรูปแบบและพื้นที่ คือมีทั้งจากเอเชีย ยุโรป และแอฟริกา
1. Nausicaä of the Valley of the Wind (1984)
ผู้กำกับ : Hayao Miyazaki
SDGs ที่เกี่ยวข้อง: 5, 11, 13, 15
เนื้อเรื่องเป็นโลกในยุคอนาคตภายหลังอารยธรรมล่มสลาย 1,000 ปี หรือแนวโลกหลังหายนะ (post-apocalyptic) ที่ป่าเชื้อราพิษหรือที่เรียกว่า “ทะเลเน่า” ซึ่งมีแต่แมลงอาศัยอยู่ โดยมีแมลงกลายพันธุ์ขนาดยักษ์ตัวหนึ่งชื่อ ‘Ohmu’ ปกคลุมพื้นผิวโลกอยู่ทั้งหมด ทำให้ชุมชนมนุษย์อยู่รอดได้ยาก ‘อาณาจักรหุบเขาแห่งสายลม’ เป็นหนึ่งในสถานที่สุดท้ายที่ยังคงความเป็นโลกเดิมได้ ‘Nausicaä’ ตัวเอกของเรื่อง ซึ่งเป็นเจ้าหญิงองค์เล็กแห่งอาณาจักรนี้ ได้พัฒนาความสัมพันธ์อย่างลึกซึ้งกับโลกรอบตัวเธอ อยู่มาวันหนึ่ง อาณาจักร Torumekia ตัดสินใจที่จะโจมตีอาณาจักรหุบเขาแห่งสายลม ทำให้เกิดสงครามทำลายล้างทรัพยากรธรรมชาติ
Nausicaä of the Valley of the Wind เป็นภาพยนตร์ชุดแรกที่ Hayao Miyazaki และ Studio Ghibli ได้พัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ โดยนำเสนอการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติอย่างตรงไปตรงมา ภาพยนตร์อื่น ๆ ที่มีเนื้อหาคล้ายกัน ได้แก่ Princess Mononoke, Only Wednesday และ Castle in the Sky
รับชมภาพยนตร์ได้ที่ : Netflix
2. Persepolis (2007)
ผู้กำกับ : Marjane Satrapi
SDGs ที่เกี่ยวข้อง: 5, 10, 16
Persepolis เป็นภาพยนตร์แอนิเมชันเล่าชีวประวัติสำหรับผู้ใหญ่ สร้างขึ้นจากนิยายอัตชีวประวัติของ Marjane Satrapiซึ่งเป็นผู้กำกับด้วยตัวเอง ภาพยนต์เล่าเรื่องราวในอิหร่านก่อนและหลังการปฏิวัติโค่นล้มพระเจ้าชาห์ โมฮัมหมัด เรซา ปาห์ลาวี ช่วงทศวรรษที่ 70 และ 80 โดยเธอเผชิญกับการคุกคามทางการเมือง สมาชิกในครอบครัวซึ่งสนใจวิธีคิดแบบเสรีนิยมของเธอถูกควบคุมตัวและประหารชีวิต นอกจากนี้ยังลากเส้นเรื่องฉายฉากชีวิตของ Marjane ในการเป็นผู้อพยพในยุโรป
โดยสรุป Persepolis เป็นเรื่องราวอันทรงพลังที่ไม่เพียงเป็นประจักษ์พยายานถึงความยากลำบากของประเทศและช่วงเวลาทางประวัติศาสตร์เท่านั้น แต่ยังเป็นเรื่องราวที่บรรยายถึงสภาพของผู้หญิงและความไม่เท่าเทียมกัน รวมถึงการลิดรอนสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐาน
รับชมภาพยนตร์ได้ที่ : Prime Video
3. Flee (2021)
ผู้กำกับ : Joans P. Rasmussen
SDGs ที่เกี่ยวข้อง: 1, 5, 16, 17
Flee เป็นแอนิแมชันแบบ Rotoscope (วาดและดัดแปลงเอาจากฟุตเทจจริง) นำเสนอการเดินทางลี้ภัยและความลับอันเจ็บปวดของ Amin Nawabi ตัวเอกของภาพยนตร์เรื่องนี้ ทั้งหมดสร้างขึ้นจากเรื่องจริงผ่านการเล่าและฉายแสดงอย่างมีชั้นเชิง เนื้อหาหลักมุ่งเปิดเปลือยความเจ็บปวดและการต่อสู้ดิ้นรนของ Nawabi ในฐานะผู้ลี้ภัยจากกรุงคาบูล ประเทศอัฟกานิสถาน ไปยังประเทศรัสเซีย ก่อนที่จะได้ลงหลักปักฐานถาวรที่ประเทศเดนมาร์ก ซึ่งที่นั่นเขาได้พบกับแฟนหนุ่มชาวเดนิช และตกลงที่จะแต่งงานกัน
Joans P. Rasmussen ผู้กำกับซึ่งเป็นเพื่อนกับ Nawabi วางโครงและนำเสนออย่างอย่างเปี่ยมมิติและมีชั้นเชิง จนสามารถทำให้ผู้ชมเกิดอารมณ์ร่วมและคล้อยตามได้ง่ายขึ้น โดยเฉพาะช่วงเวลาอันยาวนานที่ Nawabi ต้องพลัดพรากจาก ‘บ้าน’ ของตัวเอง และต้องพยายามดิ้นรนทุกทาง (เช่น ความปรารถนาที่จะประสบความสำเร็จในหน้าที่การงานของการเป็นนักวิชาการ และการสร้างครอบครัวที่อบอุ่นกับคู่หมั้นหนุ่ม) เพื่อให้ตัวเองได้หลุดพ้นจากความรู้สึกผิดบาปในใจ ที่เขามีต่อครอบครัวผู้ต้องเสียสละเพื่อให้เขาได้ลี้ภัยอย่างปลอดภัย
รับชมภาพยนตร์ได้ที่ : Netflix
4. My octopus teacher (2020)
ผู้กำกับ: Pippa Ehrlich, James Reed
SDGs ที่เกี่ยวข้อง: 14
ภาพยนตร์แนวสารคดีที่เปลี่ยนมุมมองและให้คำตอบว่าปลาหมึกสามารถสอนอะไรกับมนุษย์ได้บ้าง นำเสนอเรื่องราวของ Craig Foster ช่างภาพสารคดีผู้ซึ่งหมดไฟในการทำงาน เขาหยุดพักและเติมไฟให้ตัวเองด้วยการดำน้ำในโลกใต้ทะเล แถบ South African เป็นเวลาเกือบปี ก่อเกิดเป็นเรื่องราวความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับอีกตัวละครหลักคือ ‘ปลาหมึกสาย’ ทั้งยังนำเสนอความสวยงามและความเรียบง่ายที่ซ่อนอยู่ในมหาสมุทร
ความดีเด่นทั้งภาพและเนื้อหาส่งผลให้ภาพยนตร์เรื่องนี้ได้รับรางวัลออสการ์ ปี 2563 สาขาสารคดียอดเยี่ยม (Best Documentary Feature) โดยเนื้อหามีการเล่าเรื่องที่เข้มข้น นำเสนอแง่มุมที่หลากหลาย ทั้งปรัชญา รักโรแมนติก ดราม่า และทริลเลอร์ นอกจากนี้นักแสดงหลักอย่าง Craig Foster ยังเป็นสมาชิกชุมนุม Sea Change Project ชุมนุมนักดำน้ำที่อุทิศตนให้กับการปกป้องสาหร่ายริมชายฝั่งไปตลอดชีวิตอีกด้วย
รับชมภาพยนตร์ได้ที่ : Netflix
5. Shoplifters (2018)
ผู้กำกับ : Hirokazu Koreeda
SDGs ที่เกี่ยวข้อง: 1, 10, 11, 8
Shoplifters นำเสนอเรื่องราวของครอบครัวยากจนครอบครัวหนึ่งในญี่ปุ่นที่ไม่ได้มีสายสัมพันธ์ทางเลือดเนื้อกันทั้งหมด เนื้อเรื่องดำเนินให้เห็นว่าครอบครัวนี้มักลักเล็กขโมยน้อยเพื่อนำมาเป็นปัจจัยสำหรับดำรงชีวิต ชวนผู้ชมให้ถกเถียงถึงความจำเป็นกับความถูกต้อง นับว่าเป็นภาพยนตร์ที่ฉายความเหลื่อมล้ำทางสังคมและความยากจนในฐานะภัยคุกคามต่อคุณภาพชีวิต โดยเน้นให้เห็นว่าแม้แต่ในประเทศพัฒนาแล้วก็ยังมีปัญหาเหล่านี้ เพียงแต่บางครั้งถูกปิดซ่อนไว้
รับชมภาพยนตร์ได้ที่ : Netflix
● อ่านข่าวและบทความที่เกี่ยวข้อง
– SDG Recommends | ดูสารคดีข่าวเรื่อง (ลด) ขยะอาหารใน 3 ตอน เก็บไว้เป็นไอเดียง่าย ๆ ให้ลองทำตาม
– SDG Recommends | 5 อินโฟกราฟิกเล่าสถานการณ์ “ความรุนแรงต่อผู้หญิงและเด็กหญิง” ในโลก 5 รูปแบบ
– SDG Recommends | ทำความเข้าใจปัญหาระดับโลก ผ่าน 5 ตอนของซีรีส์สารคดี ‘explained’
– SDG Recommends | ขึ้นเรือแห่งความตายไปพร้อมกับผู้ลี้ภัยสงครามชาวซีเรีย ในชุดภาพถ่าย ‘Journey in the Death Boat’
ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG1 ขจัดความยากจน
#SDG4 การศึกษาที่มีคุณภาพ
#SDG5 ความเท่าเทียมทางเพศ
#SDG8 งานที่มีคุณค่าและการเติบโตทางเศรษฐกิจ
#SDG10 ลดความเหลื่อมล้ำ
#SDG11 เมืองและชุมชนที่ยั่งยืน
#SDG13 การรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
#SDG14 ทรัพยากรทางทะเล
#SDG15 ระบบนิเวศบนบก
#SDG16 สังคมสงบสุข ยุติธรรม และสถาบันเข้มแข็ง
#SDG17 ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
แหล่งที่มา :
– SDG MOVIE LIST (University of Twente)
– Nausicaä of the Valley of the Wind (บก.หมี)
– Flee : ชวนดูหนังสารคดีล่ารางวัล ที่เล่าประเด็นผู้ลี้ภัยหัวใจสลายผ่าน ‘แอนิเมชัน’ (Thairath Plus)
ผลงานนี้ได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิเพื่อการพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ ภายใต้โครงการเร่งรัดการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนด้านสุขภาพของประเทศไทย