SDG Spotlight – 5 ข่าว SDGs น่าสนใจในรอบสัปดาห์ที่ 4 ประจำเดือนสิงหาคม 2566


จากการสำรวจข่าวสารความเคลื่อนไหวที่เกี่ยวข้องและส่งผลต่อการขับเคลื่อน SDGs ระหว่างวันที่  20 – 26 สิงหาคม 2566 มีข่าวสารความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจ ดังนี้

ประชาชนลงชื่อแก้ ‘รัฐธรรมนูญ’ ทะลุสองแสน สะท้อนความสำเร็จแคมเปญ #conforall

วันที่ 25 สิงหาคม 2566 iLaws นำโดย ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ เปิดเผยว่าประชาชนทั่วประเทศร่วมลงชื่อเสนอคำถามประชามติรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ต้องแก้ทั้งฉบับ และผู้ที่แก้ต้องมาจากการเลือกตั้ง โดยการลงชื่อดังกล่าวถูกปรับเปลี่ยนจากรูปแบบออนไลน์มาเป็นรูปแบบการตั้งโต๊ะล่ารายชื่อด้วยการเขียนมือภายใต้แคมเปญ #conforall หลังจากที่สำนักงานคณะกรรมการเลือกตั้งอ้างเมื่อวันที่ 22 สิงหาคม ว่าไม่สามารถใช้ลายเซ็นอิเล็กทรอนิกส์ในการเข้าชื่อเสนอคำถามตาม พ.ร.บ.ประชามติฯ ทำให้มากกว่า 4 หมื่นชื่อที่ระดมกันมาก่อนหน้าเพื่อเสนอประชามติ ‘เขียนใหม่ทั้งฉบับ เลือกตั้ง 100%’ ผ่านอิเล็กทรอนิกส์ อาจไม่ถูกนับ

ล่าสุดวันที่ 27 สิงหาคม ประชาไทเปิดเผยว่ามีผู้ร่วมลงชื่อเสนอคำถามประชามติรัฐธรรมนูญ เเล้วกว่า 205,739 คน

ประเด็นดังกล่าวสอดคล้องกับการขับเคลื่อน SDG16 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 16.7 สร้างหลักประกันว่าจะมีกระบวนการตัดสินใจที่มีความรับผิดชอบ ครอบคลุม มีส่วนร่วม

เข้าถึงได้ที่: #conforall แสนแตก! ปชช.ลงชื่อ เสนอแก้ รธน.ทั้งฉบับ-สสร.เลือกตั้ง 100% (ประชาไท) 

ประเทศอาเซียนตอบรับ ‘ยุทธศาสตร์ฟ้าใส’ ของไทย หวังแก้มลพิษข้ามพรมแดน

วันที่ 23 สิงหาคม 2566 ปิ่นสักก์ สุรัสวดี อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) หัวหน้าคณะผู้แทนไทย ในการประชุมประเทศภาคีต่อข้อตกลงอาเซียนเรื่องมลพิษจากหมอกควันข้ามแดน ครั้งที่ 18 (COP-18) ร่วมกับประเทศสมาชิกอาเซียน รวม 10 ประเทศ และสำนักเลขาธิการอาเซียน ณ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) เปิดเผยถึงท่าทีและความเคลื่อนไหวสำคัญของประเทศสมาชิกอาเซียนอันเป็นผลจากการประชุมข้างต้นว่า ไทย ลาว เมียนมา ซึ่งได้เห็นชอบต่อยุทธศาสตร์ฟ้าใส (CLEAR SKY Strategy) ตามที่ประเทศไทยเสนอ โดยจะร่วมกันผลักดันการทำงานเพื่อป้องกันแก้ไขปัญหาหมอกควันจากการเผาในที่โล่งอย่างยั่งยืน และให้ความสำคัญต่อการแลกเปลี่ยนเรียนรู้แนวทางจัดการเกษตรในพื้นที่สูง ร่วมทั้งจัดทำแผนปฏิบัติการร่วมกัน

นอกจากนี้ยังมีการพิจารณาเอกสารการจัดตั้งศูนย์ประสานงานอาเซียนเพื่อควบคุมมลพิษจากหมอกควันข้ามแดนซึ่งอยู่ในข้อตกลงอาเซียนเรื่องมลพิษจากหมอกควันข้ามแดน โดยสาธารณรัฐอินโดนีเซียคาดว่าจะสามารถดำเนินงานได้อย่างเป็นทางการภายในปีนี้

ประเด็นดังกล่าวสอดคล้องกับการขับเคลื่อน SDG11 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 11.6 ลดผลกระทบทางลบของเมืองต่อสิ่งแวดล้อมต่อหัวประชากรรวมถึงการให้ความสำคัญกับคุณภาพอากาศ และ SDG17 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 17.17 สนับสนุนและส่งเสริมหุ้นส่วนความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาครัฐ-ภาคเอกชน และประชาสังคม

เข้าถึงได้ที่: ทส. ผลักดันยุทธศาสตร์ฟ้าใส (CLEAR SKY Strategy) และขับเคลื่อนความร่วมมือเศรษฐกิจอาเซียน (กรมควบคุมมลพิษ) 

กรมอุทยานฯ เตรียมชี้แจงปมสร้างเขื่อนในเขตอนุรักษ์ฯ กลุ่มป่าแก่งกระจาน ต่อคณะกรรมการมรดกโลก

วันที่ 19 สิงหาคม 2566 มติชนออนไลน์รายงานว่ากรมอุทยานฯ มีวาระต้องชี้แจงต่อ คณะกรรมการมรดกโลก เรื่อง ‘สถานภาพการอนุรักษ์พื้นที่มรดกโลกทางธรรมชาติของประเทศไทยที่ได้รับการประกาศแล้ว คือ กลุ่มป่าแก่งกระจาน’ ต่อที่ประชุมคณะกรรมการมรดกโลก สมัยสามัญครั้งที่ 45 ซึ่งจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 10-25 กันยายน 2566 ณ เมืองริยาด ราชอาณาจักรซาอุดิอาระเบีย 

ความจำเป็นต้องรายงานเรื่องข้างต้น เนื่องจากคณะกรรมการมรดกโลกมีความห่วงกังวลสูงสุดเกี่ยวกับการสร้างเขื่อนภายในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแม่น้ำชีบริเวณที่ติดกับพื้นที่มรดกโลก และในพื้นที่นำเสนอแรกเริ่ม ในฐานะส่วนหนึ่งของพื้นที่มรดกโลกและความสำคัญของความสมบูรณ์ของแหล่ง ซึ่งอาจส่งผลกระทบทางลบต่อคุณค่าโดดเด่นอันเป็นสากล (OUV) ของแหล่งมรดกโลก รวมถึงอาจทำให้ความสัมพันธ์กับชุมชนท้องถิ่นในพื้นที่ ซึ่งยากเป็นทุนเดิมอยู่แล้วยากเพิ่มขึ้นไปอีก 

ประเด็นดังกล่าวสอดคล้องกับการขับเคลื่อน SDG11 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 11.4 เสริมความพยายามในการปกป้องและคุ้มครองมรดกทางวัฒนธรรมและทางธรรมชาติของโลก และ SDG15 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 15.1 สร้างหลักประกันว่าจะมีการอนุรักษ์ การฟื้นฟู และการใช้ระบบนิเวศบนบกและแหล่งน้ำจืดในแผ่นดิน และ 15.2 ส่งเสริมการดำเนินการด้านการบริหารจัดการป่าไม้ทุกประเภทอย่างยั่งยืน

เข้าถึงได้ที่: เผย ‘กก.มรดกโลก’ กังวล ‘แก่งกระจาน’ มีสถานภาพอนุรักษ์ไม่ชัดเจน ให้แจงภายใน 1 ธ.ค.67 (ประชาไท) 

สภาองค์กรชุมชนจังหวัดพังงาเรียกร้องนายกฯ แก้ปัญหาสิทธิที่ดินทำกิน

วันที่ 26 สิงหาคม 2566 เครือข่าย ‘สภาองค์กรชุมชนจังหวัดพังงา’ ซึ่งมีสมาชิกมากกว่า 3 หมื่นคนได้เข้าแสดงความยินดีกับเศรษฐา ทวีสิน ​ที่ได้รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 อย่างเป็นทางการและขอให้แก้ปัญหา ผลักดันกฎหมาย หนุนจังหวัดพังงาจัดการตนเอง ระหว่างการลงพื้นที่รับฟังข้อเสนอแนะจากตัวแทนผู้ประกอบการธุรกิจและเอกชนในจังหวัดพังงา

ข้อเรียกร้องของสภาองค์กรชุมชนจังหวัดพังงาต่อนายกรัฐมนตรี เช่น 1) ขอให้สั่งการในกรณี เร่งด่วน ของชุมชนบ้านทับยาง เรื่องการตรวจสอบการออกเอกสารสิทธิ์โดยมิชอบ รวม 250 ไร่ ให้นำมาแก้ไขปัญหาให้ชุมชน 2) ขอให้สนับสนุนกฎหมาย (ร่าง) พรบ.ส่งเสริมและคุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ ที่กระทรวงวัฒนธรรมยกร่าง และ 3) ขอให้ทบทวนและสนับสนุนร่าง พ.ร.บ.ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ที่ประชาชนเข้าชื่อ ผ่านประธานสภาฯ และเสนอให้นายกรัฐมนตรีรับรอง เพื่อให้เกิดกระบวนการส่งเสริมชุมชนในการเตรียมการป้องกัน ภัยพิบัติ และการกระจายอำนาจให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจัดการและรับมือภัยพิบัติที่มีแนวโน้มจะเกิดขึ้นในอนาคต

ประเด็นดังกล่าวสอดคล้องกับการขับเคลื่อน SDG1 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 1.4 ภายในปี พ.ศ. 2573 สร้างหลักประกันว่าชายและหญิงทุกคน โดยเฉพาะผู้ที่ยากจนและเปราะบาง มีสิทธิเท่าเทียมกันในทรัพยากรทางเศรษฐกิจ รวมถึงการเข้าถึงบริการขั้นพื้นฐาน การเป็นเจ้าของและมีสิทธิในที่ดิน SDG10 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 10.2 ให้อำนาจและส่งเสริมความครอบคลุมด้านสังคม เศรษฐกิจและการเมืองสำหรับทุกคน โดยไม่คำนึงถึงอายุ เพศ ความบกพร่องทางร่างกาย เชื้อชาติ ชาติพันธุ์ และ SDG16 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 16.7 สร้างหลักประกันว่าจะมีกระบวนการตัดสินใจที่มีความรับผิดชอบ ครอบคลุม มีส่วนร่วม 

เข้าถึงได้ที่: เครือข่ายองค์กรชุมชน จ.พังงา ​ยื่นเรื่อง ‘เศรษฐา’ แก้ปัญหาที่ดิน เดินหน้าเลือกตั้งผู้ว่าฯ (The Active) 

ประเทศทั่วโลกตกลงจัดตั้งกองทุนเพื่อกรอบงานความหลากหลายทางชีวภาพระดับโลก

วันที่ 24 สิงหาคม 2566 ประเทศทั่วโลกกว่า 185 ประเทศได้เข้าร่วมประชุม ‘Global Environmental Facility Assembly’ ณ เมืองแวนคูเวอร์ ประเทศแคนาดา เพื่อสนับสนุนการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและกรอบความหลากหลายทางชีวภาพระดับโลก ‘คุนหมิง – มอนทรีออล’ (Kunming-Montreal Global Biodiversity Framework)

ประเด็นสำคัญจากการประชุมดังกล่าวคือการจัดตั้ง ‘Global Biodiversity Framework Fund’ หรือ ‘กองทุนเพื่อกรอบงานความหลากหลายทางชีวภาพระดับโลก’ โดยอาวาซ (Avaaz) กลุ่มเคลื่อนไหวด้านประเด็นต่าง ๆ ระดับโลก รวมถึงสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า กองทุนกรอบงานความหลากหลายทางชีวภาพของโลก จำเป็นต้องมีเงินสนับสนุน 200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จากผู้บริจาคอย่างน้อย 3 รายภายในเดือนธันวาคม สำหรับการพิจารณาเพื่อดำเนินการ

ประเด็นดังกล่าวสอดคล้องกับการขับเคลื่อน SDG15 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 15.4 สร้างหลักประกันว่าจะมีการอนุรักษ์ระบบนิเวศภูเขาและความหลากหลายทางชีวภาพของระบบนิเวศเหล่านั้น และ 15.5 ปฏิบัติการที่จำเป็นและเร่งด่วนเพื่อลดการเสื่อมโทรมของถิ่นที่อยู่ตามธรรมชาติ หยุดยั้งการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ และ SDG17 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 17.17 สนับสนุนและส่งเสริมหุ้นส่วนความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาครัฐ-ภาคเอกชน และประชาสังคม 

เข้าถึงได้ที่: 185 ชาติทั่วโลกจัดตั้งกองทุนสิ่งแวดล้อม-UN ร้องขอเงินสนับสนุนเพื่อการอนุรักษ์ (Infoquest) และ New global fund ‘welcome boost’ to safeguarding biodiversity (IISD) 

ผลงานนี้ได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิเพื่อการพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ ภายใต้โครงการเร่งรัดการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนด้านสุขภาพของประเทศไทย

Author

  • Atirut Duereh

    Knowledge Communication | สนใจประเด็นสันติภาพ ความมั่นคงมนุษย์ เเละสิ่งเเวดล้อมทางทะเล ใช้ชีวิตโดยเชื่อในสมดุลมากกว่าความสมบูรณ์เเบบ

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น