Site icon SDG Move

SDG Move ร่วมขึ้นเวทีงาน ‘Sustrends 2024 | 50 เทรนด์ความยั่งยืนที่กำลังเปลี่ยนโลก’

31 สิงหาคม 2566 – ศูนย์วิจัยและสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG Move) ในฐานะองค์กรภาคีร่วมจัด เข้าร่วมงาน “Sustrends 2024 I 50 เทรนด์ความยั่งยืนที่กำลังเปลี่ยนโลก” ณ พิพิธภัณฑ์สวนป่าเบญจกิติ กรุงเทพฯ ในโอกาสนี้ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ชล บุนนาค ผู้อำนวยการ SDG Move ได้รับเชิญเป็น 1 ใน 20 วิทยากรชั้นนำของวงการนำเสนอเทรนด์การทำงานด้านความยั่งยืนในอนาคต ในหัวข้อ “การปรับ SDGs จาก 17 เป้าหมาย เป็น 6 กลุ่มปัญหา” โดยมีผู้เข้าร่วมมากว่า 1,000 คน

ภาพจาก: The Cloud

สาระสำคัญบางส่วนของการนำเสนอ “การปรับ SDGs จาก 17 เป้าหมาย เป็น 6 กลุ่มปัญหา” ของผศ.ชล คือการตอบคำถามสำคัญ 3 ข้อ ได้แก่

1 – ทำไมต้องปรับ ? เพราะหากเรายังดำเนินการเหมือนที่ทำอยู่ในปัจจุบันนี้ ทำงานแบบแยกส่วนกัน การบรรลุเป้าหมาย SDGs จะเป็นจริงได้ในปี ค.ศ. 2065 ซึ่งช้ากว่ากำหนดที่ปี ค.ศ. 2030 ถึง 35 ปี

2 – ปรับเป็นอะไร ? คณะนักวิชาการผู้จัดทำรายงาน Global Sustainable Development Report ปี 2019 เสนอการปรับกรอบเป้าหมาย SDGs ทั้ง 17 เป้าหมายใหม่เป็น 6 กลุ่มปัญหาเพื่อการพลิกโฉม (transform) การขับเคลื่อน SDGs อย่างบูรณาการมากขึ้น ประกอบด้วย

  1. Human Wellbeing and Capabilities (คุณภาพชีวิตและศักยภาพของมนุษย์)
  2. Global Environmental Commons (ทรัพยากรร่วมทางธรรมชาติของโลก) 
  3. Sustainable and Just Economies (เศรษฐกิจที่เป็นธรรมและยั่งยืน) 
  4. Sustainable Food System and Healthy Nutrition (ระบบอาหารที่ยั่งยืนและโภชนาการที่ดีต่อสุขภาพ)
  5. Energy Decarbonization and Universal Access (การลดก๊าซเรือนกระจกในภาคพลังงานและการเข้าถึงถ้วนหน้า)
  6. Urban and Peri-urban Development (การพัฒนาเมืองและพื้นที่กึ่งเมือง) 

3 – เราต้องปรับตัวอย่างไร ? เปลี่ยนวิธีการทำงานด้วยการปรับกลไกการทำงานให้ล้อกับ 6 กลุ่มปัญหานี้ จัดสรรงบประมาณสำหรับ SDGs โดยเฉพาะ ให้พื้นที่ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ภาคอาสาสมัคร และภาคชุมชนร่วมขับเคลื่อน ใช้ประโยชน์จากงานวิจัยและสนับสนุนการวิจัยตามกลุ่มปัญหา และสร้างศักยภาพให้ผู้คนเข้าใจ SDGs ในเชิงลึก

งาน “Sustrends 2024 I 50 เทรนด์ความยั่งยืนที่กำลังเปลี่ยนโลก” จัดโดย The Cloud ร่วมกับ UNDP, สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ, กรุงเทพมหานคร, UN Global Compact Network Thailand, OKMD, SDG Move, ป่าสาละ, มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ, มูลนิธิโลกสีเขียว, ChangeFusion, RE100 และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านความยั่งยืนกว่า 20 องค์กร

ติดตามสรุปเนื้อหาได้ที่ http://readthecloud.co

Author

Exit mobile version