Site icon SDG Move

SDG Spotlight – 5 ข่าว SDGs น่าสนใจในรอบสัปดาห์ที่ 5 ประจำเดือนสิงหาคม 2566

จากการสำรวจข่าวสารความเคลื่อนไหวที่เกี่ยวข้องและส่งผลต่อการขับเคลื่อน SDGs ระหว่างวันที่ 27 สิงหาคม – 2 กันยายน 2566 มีข่าวสารความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจ ดังนี้

รายงานของ ม.ชิคาโก ชี้ PM2.5 จะส่งผลให้อายุคาดเฉลี่ยของคนเอเชียใต้หดสั้นลง

วันที่ 28 สิงหาคม 2566 สถาบันนโยบายพลังงาน (EPIC) แห่งมหาวิทยาลัยชิคาโก เปิดเผยรายงาน Air Quality Life Index ฉบับล่าสุด โดยระบุประเด็นสำคัญ ได้แก่ 1) ปัจจุบันระดับฝุ่นละอองในอากาศของเอเชียใต้สูงทะลุช่วงต้นศตวรรษไปแล้วกว่า 50% เป็นสัญญาณอันตรายบ่งชี้ว่าภูมิภาคนี้อาจเผชิญกับวิกฤตด้านสุขภาพที่รุนแรงได้ในอนาคต 2) ปัญหามลพิษทางอากาศที่เพิ่มขึ้นมีส่วนทำให้อายุคาดเฉลี่ย (life expectancy) ของผู้ที่อาศัยอยู่ในเอเชียใต้หดสั้นลงได้มากกว่า 5 ปี และ 3) หากทั่วโลกสามารถลดฝุ่น PM2.5 ให้มีค่าเฉลี่ยรายปีไม่เกิน 5 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ก็จะทำให้อายุคาดเฉลี่ยของคนทั่วโลกเพิ่มขึ้น 2.3 ปี

ประเด็นดังกล่าวสอดคล้องกับการขับเคลื่อน SDG3 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 3.9 ลดจำนวนการตายและการเจ็บป่วยจากสารเคมีอันตรายและจากมลพิษและการปนเปื้อนทางอากาศ น้ำ และดิน และ SDG11 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 11.6 ลดผลกระทบทางลบของเมืองต่อสิ่งแวดล้อมต่อหัวประชากรรวมถึงการให้ความสำคัญกับคุณภาพอากาศ

เข้าถึงได้ที่: ปัญหามลพิษทางอากาศทำอายุขัยคนในเอเชียใต้หดสั้นลงมากกว่า 5 ปี (The Standard) 

รายงานของ OHCHR ระบุกฎหมายต่อต้านการค้ามนุษย์ในหลายประเทศอาเซียนยังไม่เป็นไปตามมาตรฐานสากล

วันที่ 29 สิงหาคม 2566 สำนักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (OHCHR) เผยแพร่รายงานชื่อ ‘ปฏิบัติการหลอกลวงทางออนไลน์และการค้ามนุษย์ เพื่อบีบบังคับให้ก่ออาชญากรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้’ เพื่อชี้ให้เห็นถึงปัญหาที่กำลังลุกลาม มุมมองของผู้ที่ตกเป็นเหยื่อซึ่งถูกบังคับจากต้นทาง รวมถึงแนะนำแนวทางในการแก้ไขปัญหา 

เนื้อหาสำคัญของรายงานข้างต้น ได้แก่ 1) คนในเมียนมาอย่างน้อย 120,000 คน อาจตกอยู่ในสถานการณ์ถูกบังคับให้ทำงานหลอกลวงทางออนไลน์ และคาดว่ามีผู้ที่ตกอยู่ในสถานการณ์แบบเดียวในอีกอย่างน้อย 100,000 คนในกัมพูชา 2) ต้นเหตุของอาชญากรรมออนไลน์มีรากเหง้ามาจากคาสิโนและเว็บพนันผิดกฎหมาย ซึ่งได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้ธุรกิจเหล่านี้ต้องปิดตัวลง และหันมาเน้นทำเงินจากการหลอกลวงออนไลน์มากขึ้น และ 3) กฎหมายและนโยบายการต่อต้านการค้ามนุษย์ในหลายประเทศอาเซียนยังไม่เป็นไปตามมาตรฐานสากล ส่งผลให้ขาดประสิทธิภาพในการจัดการปัญหา

ประเด็นดังกล่าวสอดคล้องกับการขับเคลื่อน SDG16 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 16.2 ยุติการข่มเหง การแสวงหาประโยชน์อย่างไม่ถูกต้อง การค้ามนุษย์ 16.3 ส่งเสริมหลักนิติธรรมทั้งในระดับชาติและระหว่างประเทศ และ 16.b ส่งเสริมและบังคับใช้กฎหมายและนโยบายที่ไม่เลือกปฏิบัติเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน

เข้าถึงได้ที่: รายงาน UN เผยคนอาเซียนนับแสน ถูกหลอกทำงานแก๊งคอลเซ็นเตอร์ แนะรัฐใส่ใจเรื่องสิทธิมนุษยชน (Today) 

สผ.แจ้งแก้ไขแนวทางการมีส่วนร่วมของประชาชนในกระบวนการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม

วันที่ 31 สิงหาคม 2566 สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) เผยมีการปรับปรุงเนื้อหาในประกาศ สผ.เรื่อง “แนวทางการมีส่วนร่วมของประชาชนในกระบวนการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2566” ทั้งสิ้น 9 จุด เช่น การแก้ไขและเพิ่มเติมรายละเอียดการนำเสนอข้อมูลการมีส่วนร่วมของประชาชนให้มีความชัดเจนยิ่งขึ้นเกี่ยวกับการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลที่อาจปรากฏในรายงานฯ ฉบับที่จะเผยแพร่ต่อสาธารณะ

ประเด็นดังกล่าวสอดคล้องกับการขับเคลื่อน SDG15 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 15.1 สร้างหลักประกันว่าจะมีการอนุรักษ์ การฟื้นฟู และการใช้ระบบนิเวศบนบกและแหล่งน้ำจืดในแผ่นดิน และ SDG16 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 16.7 สร้างหลักประกันว่าจะมีกระบวนการตัดสินใจที่มีความรับผิดชอบ ครอบคลุม มีส่วนร่วม

เข้าถึงได้ที่: เปิด 9 จุดแก้ไข ‘ประชาชน-การมีส่วนร่วมในการจัดทำอีไอเอ’ ร่างประกาศ สผ.66 (GreenNews) 

คดีค้ามนุษย์และบังคับแรงงานไร่อ้อย จ.กาญจนบุรี ศาลสั่งนายจ้างจ่ายชดใช้ 400,000 บาท

วันที่ 31 สิงหาคม 2566 เจ้าหน้าที่มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา (มสพ.) สำนักงานมหาชัย ทนายความ พร้อมทั้งผู้อำนวยการและเจ้าหน้าที่จากสถานคุ้มครองสวัสดิภาพผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ จังหวัดปทุมธานี พาลูกจ้างชาวเมียนมาจำนวน 14 คน ในไร่อ้อย จังหวัดกาญจนบุรี ซึ่งเป็นผู้เสียหายในคดีค้ามนุษย์และแรงงานบังคับเดินทางมายัง ศาลแรงงาน ภาค 7 เพื่อไกล่เกลี่ยตามที่ได้มีการฟ้องร้องระหว่างพนักงานตรวจแรงงาน สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดกาญจนบุรี กับนายจ้าง ให้จ่ายเงินตามคำสั่งพนักงานตรวจแรงงาน

โดยผลจากการไกล่เกลี่ยครั้งนี้ นายจ้างยินยอมจ่ายเงิน จำนวนเงิน 400,000 บาท ซึ่งเงินส่วนนี้คิดจาก 73% จากยอดที่พนักงานตรวจแรงงานคิดเป็นเงินจำนวน 547,380 บาท ทั้งนี้ ลูกจ้างไร่อ้อยแต่ละรายจะเฉลี่ยตามยอดที่ตนมีสิทธิ์ได้รับ โดยศาลจะโอนเงิน เข้าบัญชีของลูกจ้างชาวเมียนมาทั้ง 14 ราย ภายในสองวันทำการ 

ประเด็นดังกล่าวสอดคล้องกับการขับเคลื่อน SDG8 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 8.8 ปกป้องสิทธิแรงงานและส่งเสริมสภาพแวดล้อมในการทำงานที่ปลอดภัย และ SDG16 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 16.7 สร้างหลักประกันว่าจะมีกระบวนการตัดสินใจที่มีความรับผิดชอบ ครอบคลุม มีส่วนร่วม และมีความเป็นตัวแทนที่ดี

เข้าถึงได้ที่: ศาลสั่งนายจ้างชดใช้ 400,000 บาท คดีค้ามนุษย์และแรงงานบังคับในไร่อ้อย จ.กาญจนบุรี (ประชาไท) 

ไรเดอร์เรียกร้องบริษัทแพลตฟอร์มเยียวยาจากอุบัติเหตุระหว่างทำงาน

วันที่ 30 สิงหาคม 2566 ผู้ประกอบวิชาชีพไรเดอร์ และญาติสมาชิกครอบครัวไรเดอร์ที่เสียชีวิตจากการทำงาน เดินทางมายังห้องศูนย์รับเรื่องร้องเรียน กระทรวงแรงงาน เพื่อยื่นหนังสือเรียกร้องให้ภาครัฐเจรจากับบริษัทแพลตฟอร์ม ให้มีการอำนวยความสะดวกและเยียวยาไรเดอร์ที่ประสบอุบัติเหตุระหว่างปฏิบัติงาน และขอให้มีการตั้งกองทุนเงินทดแทนช่วยเหลือไรเดอร์ ระหว่างพักรักษาตัวจากอุบัติเหตุ และไม่สามารถไปทำงานได้ และเงินเยียวยาถ้ากรณีไรเดอร์เสียชีวิตระหว่างปฏิบัติงาน

ทั้งนี้ แม้กระทรวงแรงงานจะรับเรื่องดังกล่าวไว้พิจารณาแล้ว แต่สุภาพร พันธ์ประสิทธิ์ ตัวแทนไรเดอร์ ยังแสดงความกังวลว่าการแก้ไขปัญหา ไม่ใช่เรื่องของกระทรวงแรงงานเพียงฝ่ายเดียว ต้องไปคุยกับหลายหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง และรับปากว่าจะทำให้อย่างเร่งด่วน โดยจะมีคำตอบให้ภายใน 7 วัน นอกจากนี้ภาครัฐเคยมีการเชิญตัวแทนบริษัทแพลตฟอร์มให้มาเจรจาหาทางออกกับไรเดอร์หลายครั้งแล้ว แต่บริษัทแพลตฟอร์มมักบ่ายเบี่ยงไม่ส่งตัวแทนมาร่วมหารือเพื่อหาทางออก

ประเด็นดังกล่าวสอดคล้องกับการขับเคลื่อน SDG3 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 3.6 ลดจำนวนการตายและบาดเจ็บจากอุบัติเหตุจากการจราจรทางถนนทั่วโลกลงครึ่งหนึ่ง SDG8 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 8.8 ปกป้องสิทธิแรงงานและส่งเสริมสภาพแวดล้อมในการทำงานที่ปลอดภัย และ SDG16 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 16.7 สร้างหลักประกันว่าจะมีกระบวนการตัดสินใจที่มีความรับผิดชอบ ครอบคลุม มีส่วนร่วม และมีความเป็นตัวแทนที่ดี

เข้าถึงได้ที่: ‘ไรเดอร์’ ร้องกระทรวงแรงงาน จัดตั้งกองทุนเงินทดแทนช่วยไรเดอร์ที่ประสบอุบัติเหตุ-เสียชีวิต (ประชาไท) 

ผลงานนี้ได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิเพื่อการพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ ภายใต้โครงการเร่งรัดการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนด้านสุขภาพของประเทศไทย

Author

  • Knowledge Communication | สนใจประเด็นสันติภาพ ความมั่นคงมนุษย์ เเละสิ่งเเวดล้อมทางทะเล ใช้ชีวิตโดยเชื่อในสมดุลมากกว่าความสมบูรณ์เเบบ

Exit mobile version