หลายปีมานี้ เทรนด์รักษ์สิ่งแวดล้อม สร้างภาพลักษณ์แบรนด์สีเขียว ยังคงปรากฏให้เห็นอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะในหมู่บริษัทเอกชนและภาคธุรกิจต่าง ๆ ทั้งผ่านการดึงนักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมมาเป็นพรีเซ็นเตอร์สินค้า ไปจนถึงปลูกป่า สร้างฝาย หรือการปล่อยสัตว์ แต่เคยสงสัยกันไหมว่ากิจกรรมเช่นนั้นส่งเสริมการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืนได้จริงไหม SDG Recommends สัปดาห์นี้ ชวนหาคำตอบผ่าน “Anti-Greenwash CSR คู่มือซีเอสอาร์ด้านสิ่งแวดล้อม ฉบับนักนิเวศ” ที่เพิ่งเผยแพร่ล่าสุดเมื่อต้นเดือนกันยายน 2566 จัดทำโดย บริษัท ป่าสาละ จำกัด
สฤณี อาชวานันทกุล กรรมการผู้จัดการ ด้านการพัฒนาความรู้ บริษัท ป่าสาละ จำกัด เผยถึงแรงบันดาลใจในการจัดทำคู่มือข้างต้นว่ามีที่มาจากการที่ตนเองได้คลุกคลีกับวงการธุรกิจด้านความยั่งยืน ทำให้พบว่า บ่อยครั้งที่บริษัท ห้างร้าน หรือหน่วยงานราชการ มีการดำเนินโครงการ CSR ด้านสิ่งแวดล้อม ที่เมื่อดูเผิน ๆ เป็นโครงการที่ดี เช่น โครงการปลูกป่า สร้างฝาย แต่ในทางกลับกันก็มีนักอนุรักษ์ออกมาต่อต้านอยู่เนือง ๆ เนื่องจากหลาย ๆ โครงการมักประชาสัมพันธ์ว่าเป็นโครงการที่จะช่วยให้สิ่งแวดล้อมดีขึ้น แต่ในความเป็นจริงกลับส่งผลกระทบตรงกันข้าม เช่น การสร้างฝาย ที่อาจทำลายระบบนิเวศแหล่งน้ำ หรือการทำธนาคารน้ำใต้ดิน ที่อาจทำให้เกิดปนเปื้อนในระบบน้ำใต้ดิน เป็นต้น ซึ่งต่างก็มีลักษณะของการฟอกเขียว (greenwash) ที่ฉายภาพให้โครงการดูเป็นโครงการรักษ์สิ่งแวดล้อมกว่าความเป็นจริง
คู่มือข้างต้นแบ่งเนื้อหาตามประเด็นสำคัญเป็น 5 ส่วน ได้แก่
1) บทนำ: ซีเอสอาร์ด้านสิ่งแวดล้อม ได้เวลาทบทวนเพื่อไปต่อ กล่าวถึงภาพรวมของกิจกรรม CSR โดยเน้นพิจารณาโครงการ 7 รูปแบบ ที่เผชิญกับข้อวิพากษ์หรือสุ่มเสี่ยงที่จะสร้างผลเสียต่อสิ่งแวดล้อม ได้แก่ การปลูกป่า การปลูกป่าชายเลน การสร้างฝาย การสร้างธนาคารนํ้าใต้ดิน การปลูกปะการัง การปลูกหญ้าทะเล และการปล่อยสัตว์ พร้อมทั้งเปิดเผยผลวิจัยถึงความนิยมของบริษัทในไทยต่อการทำ CSR ด้วย 7 รูปแบบดังกล่าว
2) ระบบนิเวศป่าบกและป่าชายเลน ชวนทบทวนความหมายของป่าและการปลูกป่า พร้อมทั้งเสนอทางเลือกในการฟื้นฟูป่า และผลกระทบจากการปลูกต้นไม้บางชนิด นอกจากนี้ยังอธิบายโครงการปลูกป่าชายเลน โดยให้ความเข้าใจที่กระจ่างชัดเกี่ยวกับระบบนิเวศป่าชายเลน และผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจากการปลูกป่าชายเลน
3) ระบบนิเวศน้ำจืด กล่าวถึงโครงการสร้างฝาย โดยลงรายละเอียดเรื่องระบบนิเวศของลำน้ำ ผลกระทบจากการสร้างฝาย และ 5 มายาคติระบบนิเวศลำธารและโครงการสร้างฝาย นอกจากนี้ยังระบุถึงโครงการธนาคารน้ำใต้ดิน โดยชี้ให้เห็นถึงความเสี่ยงจากการปนเปื้อนและผลกระทบจากการสร้างธนาคารน้ำใต้ดิน
4) ระบบนิเวศทางทะเล กล่าวถึงโครงการปลูกปะการัง สาเหตุของความเสื่อมโทรมของปะการัง แนวทางในการฟื้นฟู รวมถึงกรณีศึกษาการฟื้นฟูปะการังที่เกาะไม้ท่อน จังหวัดภูเก็ต ซึ่งประสบความสําเร็จอย่างสูง รวมถึงอธิบายถึงภัยคุกคามต่อแหล่งหญ้าทะเล แนวทางในการฟื้นฟูหญ้าทะเลที่เหมาะสม
5) โครงการปล่อยสัตว์ ให้ความเข้าใจเกี่ยวกับชนิดพันธุ์สัตว์ต่างถิ่น หรือเอเลียนสปีชีส์ ชวนรู้จักสัตว์ภูมิศาสตร์และศักยภาพของระบบนิเวศ พร้อมทั้งระบุผลกระทบจากชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่รุกราน และเผยคำตอบต่อการทลายมายาคติ “ทำไมการปล่อยสัตว์จึงไม่เท่ากับทำบุญ”
ผู้ที่สนใจติดต่อขอรับฉบับเล่ม (มีจำนวนจำกัด) สามารถลงทะเบียนได้ที่: https://forms.gle/NfeUxwmJZcrRP5Rf9
ดาวน์โหลด PDF ได้ที่: http://www.salforest.com/product…/books/anti-greenwash-csr
● อ่านข่าวและบทความที่เกี่ยวข้อง
– SDG Updates | ถาม – ตอบ ร่วมแลกเปลี่ยนความรู้ พร้อมหาคำตอบในการข้ามพ้นความยั่งยืนปลอม
– SDG Updates | กลไกทางการเงินกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน
– SDG Updates | เมื่อโลกต้องการโมเดลเศรษฐกิจใหม่ ไทยจึงมี ‘BCG’ (Bio-Circular-Green Economy) เป็นวาระแห่งชาติปี 2564
– SDG Updates | จากฟอกความยั่งยืน SDG washing สู่ความยั่งยืนที่แท้จริง SDG enabling
ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG6 น้ำสะอาดและการสุขาภิบาล
– (6.6) ปกป้องและฟื้นฟูระบบนิเวศที่เกี่ยวข้องกับแหล่งน้ำ รวมถึงภูเขา ป่าไม้ พื้นที่ชุ่มน้ำ แม่น้ำ ชั้นหินอุ้มน้ำ และทะเลสาบ ภายในปี พ.ศ. 2563
#SDG12 การผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน
– (12.2) บรรลุการจัดการที่ยั่งยืนและการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างมีประสิทธิภาพ ภายในปี พ.ศ. 2573
– (12.6) สนับสนุนให้บริษัท โดยเฉพาะบริษัทข้ามชาติและบริษัทขนาดใหญ่ รับแนวปฏิบัติที่ยั่งยืนไปใช้ และบูรณาการข้อมูลด้านความยั่งยืนไว้ในรอบการรายงานของบริษัทเหล่านั้น
#SDG14 ทรัพยากรทางทะเล
– (14.2) บริหารจัดการและปกป้องระบบนิเวศทางทะเลและชายฝั่งเพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบทางลบที่มีนัยสำคัญ รวมถึงโดยการเสริมภูมิต้านทานและปฏิบัติการเพื่อฟื้นฟู เพื่อบรรลุการมีมหาสมุทรที่มีสุขภาพดีและมีผลิตภาพ ภายในปี พ.ศ. 2563
#SDG15 ระบบนิเวศบนบก
– (15.1) สร้างหลักประกันว่าจะมีการอนุรักษ์ การฟื้นฟู และการใช้ระบบนิเวศบนบกและแหล่งน้ำจืดในแผ่นดิน รวมทั้งบริการทางระบบนิเวศอย่างยั่งยืน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ป่าไม้ พื้นที่ชุ่มน้ำ ภูเขาและพื้นที่แห้งแล้ง โดยเป็นไปตามข้อบังคับภายใต้ความตกลงระหว่างประเทศ ภายในปี พ.ศ. 2563
– (15.2) ส่งเสริมการดำเนินการด้านการบริหารจัดการป่าไม้ทุกประเภทอย่างยั่งยืน หยุดยั้งการตัดไม้ทำลายป่า ฟื้นฟูป่าที่เสื่อมโทรม และเพิ่มการปลูกป่าและฟื้นฟูป่าทั่วโลกอย่างจริงจัง ภายในปี พ.ศ. 2563
– (15.8) นำมาตรการเพื่อป้องกันการนำเข้าและลดผลกระทบของชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่รุกรานต่อระบบนิเวศบกและน้ำ และควบคุมหรือขจัด priority species ภายในปี พ.ศ. 2563
#SDG16สังคมที่สงบสุข ยุติธรรม สถาบันที่เข้มแข็ง
– (16.6) พัฒนาสถาบันที่มีประสิทธิผล มีความรับผิดชอบ และโปร่งใสในทุกระดับ
– (16.7) สร้างหลักประกันว่าจะมีกระบวนการตัดสินใจที่มีความรับผิดชอบ ครอบคลุม มีส่วนร่วม และมีความเป็นตัวแทนที่ดี ในทุกระดับการตัดสินใจ
– (16.8) ขยายและเสริมความแข็งแกร่งของการมีส่วนร่วมของประเทศกำลังพัฒนาในสถาบันที่เกี่ยวข้องกับธรรมาภิบาลโลก
แหล่งที่มา : รักษ์โลกให้ถูกทาง ‘ป่าสาละ’ ออกคู่มือ CSR อย่างไรให้ยั่งยืนอย่างแท้จริง (Spring)
ผลงานนี้ได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิเพื่อการพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ ภายใต้โครงการเร่งรัดการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนด้านสุขภาพของประเทศไทย