Site icon SDG Move

SDG Insights | หากค่าครองชีพนั้นสอดคล้องกับรายได้ จะช่วยขจัดความยากจนได้หรือไม่

กุศล เลี้ยวสกุล*
วีระวัฒน์ ภัทรศักดิ์กำจร**
อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

“ค่าครองชีพที่สวนทางกับรายได้” เป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์ที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องทั้งในสังคมและโลก ออนไลน์นับตั้งแต่ปี2555 จนถึงปี2565 ผ่านมาเป็นเวลา 10 ปีค่าแรงขั้นต่ำของไทย เฉลี่ยอยู่ที่วันละ 328-354  บาท ซึ่งปรับขึ้นมาน้อยมากเมื่อเทียบกับภาวะเงินเฟ้อ ส่งผลให้รายได้ที่แท้จริงของคนไทยลดลง หากเทียบกับ ไต้หวันที่มีค่าครองชีพใกล้เคียงกับประเทศไทย แต่ค่าแรงขั้นต่ำกลับอยู่ที่ 955 บาทต่อวัน เมื่อเทียบรายได้กับ มาตรฐานคุณภาพชีวิต ซึ่งค่าจ้างขั้นต่ำควรอยู่ที่ 1,000 บาทต่อวัน เพื่อให้คนทำงานสามารถเลี้ยงดูครอบครัว หรือ หาความสุขให้ชีวิตได้บ้าง (living wage)  

SDG Insights ฉบับนี้ จึงอยากชวนถกถามถึงว่า “หากมีการกำหนดให้ค่าครองชีพนั้นสอดคล้องกับรายได้ จะช่วยให้เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยเฉพาะ SDG 1 ขจัดความยากจนได้จริงหรือไม่”


01 – บทนำ

ธนาคารโลก (World Bank) นิยาม ‘ความยากจน’ ว่าเป็นภาวะที่ “ไร้ซึ่งความกินดีอยู่ดี” (deprivation in well-being) ในระบบเศรษฐกิจแบบตลาดที่สินค้าบริการซื้อขายแลกเปลี่ยนมูลค่าผ่านเงินตรา ความไม่สัมพันธ์กันระหว่างค่าครองชีพกับรายได้นั้นย่อมเกี่ยวพันกับความยากจนในบางระดับ เมื่อค่าครองชีพสูงเกินกว่ารายได้ การแสวงหาสินค้าบริการเพื่อเติมเต็มความต้องการของมนุษย์ย่อมเป็นไปอย่างจำกัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อความจำกัดนั้นมากเสียจนไม่สามารถเข้าถึงสินค้าบริการขั้นพื้นฐานที่จำเป็นในชีวิตประจำวัน ก็ย่อมทำให้ความกินดีอยู่ดีลดลงไปตามลำดับ

ในปัจจุบันการชี้วัดว่าใครเป็นคนจนหรือไม่นั้นนิยมใช้เครื่องมือที่เรียกว่า “เส้นความยากจน” (poverty line) ซึ่งคำนวณมาจากระดับมาตรฐานการครองชีพขั้นต่ำที่สุดที่คน ๆ หนึ่งมีชีวิตอยู่ได้โดยคำนึงถึงค่าใช้จ่ายด้านอาหารและไม่ใช่อาหาร (เช่น ที่อยู่อาศัย) ประเทศไทยก็ใช้เส้นความยากจนในการแจงนับจำนวนคนจนเช่นกัน โดยมีสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์ฯ) เป็นหน่วยงานที่นำข้อมูลสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมครัวเรือน (Socio-Economic Survey: SES) มาคำนวณเส้นความยากจนจากการประกอบข้อมูลของกระทรวงพาณิชย์ และหากครัวเรือนใดมีค่าใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคเฉลี่ยต่อคนต่อเดือนไม่เกินเส้นความยากจน (2,803 บาทต่อคนต่อเดือนเป็นหรือประมาณวันละ 94 บาท คือระดับเส้นความยากจนเฉลี่ยทั้งประเทศในปี พ.ศ. 2564) ก็จะถูกนับว่าเป็นคนจน

การชี้วัดภาวะหนึ่ง ๆ นั้นเป็นเรื่องยาก และเส้นความยากจนไม่ใช่ตัวชี้วัดภาวะยากจนได้โดยสมบูรณ์ กระนั้นเอง ตัวชี้วัดดังกล่าวก็ถูกใช้กันทั่วโลกเพื่อวางมาตรฐานในการชี้วัดและเปรียบเทียบระหว่างประเทศ หน่วยงานที่ทำหน้าที่ในการชี้วัดทั้งระดับประเทศและระดับโลกต่างทราบดีถึงข้อจำกัดดังกล่าว จึงได้มีการจัดทำตัวชี้วัดอื่น ๆ ประกอบ เช่น ความยากจนขั้นสุด (extreme poverty) ของธนาคารโลก หรือคน “เกือบจน” (near-poor) ที่มีค่าใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคไม่เกินร้อยละ 20 ของเส้นความยากจน ด้วยความเชื่อว่าคนเหล่านี้มีความเปราะบางและมีความเสี่ยงที่จะกลับมาเป็นคนจนได้อีก ตัวชี้วัดเหล่านี้ย่อมเติมให้ภาพความยากจนในประเทศหนึ่ง ๆ สมบูรณ์ขึ้นเมื่อพิจารณาประกอบกัน ผู้อ่านคงพอเห็นภาพได้เป็นอย่างดีว่าแม้คน ๆ หนึ่งจะใช้จ่ายจนหลุดพ้นจากความยากจนได้แล้วในปี ๆ หนึ่ง ไม่ได้หมายความว่าในปีถัดไปเขาจะไม่กลับมาเป็นคนจนอีกครั้ง และปัญหาไม่ได้หมดไปเสียทีเดียว 

ไม่ว่าจะเป็นคนยากจนหรือไม่ เสียงเรียกร้องที่มักได้ยินกันเสมอคือการเรียกร้องให้รัฐบาลควบคุมค่าครองชีพและจัดสรรสวัสดิการให้เหมาะสม บทความนี้มีวัตถุประสงค์ในชวนมองภาพกว้างกว่านั้นและเพราะเหตุใดเมื่อค่าครองชีพสอดคล้องกับรายได้แล้วก็อาจไม่เพียงพอต่อการขจัดความยากจนได้เสมอไป บทความจะกล่าวถึงประสบการณ์การแก้ไขปัญหาความยากจนของไทยตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันรวมถึงอภิปรายถึงประสิทธิผลของแนวนโยบายในแต่ละช่วงเวลา แนวทางแรกของการแก้ปัญหาความยากจน คือการพัฒนาเศรษฐกิจโดยที่มุ่งเน้นการเจริญเติบโตในภาพรวมและปรับโครงสร้างการผลิตเพื่อสร้างประสิทธิภาพให้กับแรงงาน และแนวทางที่สองคือนโยบายสวัสดิการของรัฐเพื่อสร้างตาข่ายความปลอดภัยทางสังคม (Social Safety Net) และมุ่งเน้นการช่วยเหลือเฉพาะกลุ่ม


02 – การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจกับการลดความยากจน

ในส่วนนี้จะกล่าวถึงการพัฒนาในมุมกว้างและชวนคิดว่าเหตุใดรายได้ประชาชาติที่เพิ่มขึ้นในระยะหลังจึงไม่อาจช่วยลดจำนวนคนยากจนได้ คนจนยังมีสัดส่วนเท่าเดิมทั้ง ๆ ที่เศรษฐกิจของประเทศเจริญขึ้น ผู้เขียนจะฉายภาพให้เห็นประสบการณ์ของประเทศไทยในการลดความยากจนโดยจะกล่าวถึงการเปลี่ยนผ่านโครงสร้างการผลิตไปสู่การเป็นอุตสาหกรรม การหยุดชะงักของการเปลี่ยนผ่านนั้น และนัยต่อการแก้ปัญหาความยากจน 

ความสำเร็จในการลดความยากจนของไทยในอดีตมีความสัมพันธ์อย่างแนบแน่นกับอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ[1] หลักการคือการเจริญเติบโตเพิ่มรายได้ให้แรงงานทำให้แรงงานหลุดพ้นความยากจน จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ในอดีตความยากจนจะลดลงมากในช่วงที่ผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (Gross Domestic Product :GDP) เติบโตสูงและจะกลับเพิ่มขึ้นเมื่อเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ ความสัมพันธ์ดังกล่าวเห็นได้ชัดเจนในรูปที่ 1 ในปี 2531 นั้นความยากจนยังเป็นสิ่งที่พบเห็นได้ทั่วไป ประชากรกว่าสองในสามของประเทศยังมีอัตราการครองชีพต่ำกว่าเส้นความยากจน แต่ภายในระยะเวลาเพียง 8 ปีหลังจากนั้นการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วได้ทำให้คนกลุ่มนี้ลดลงกว่าร้อยละสามสิบ นั่นคือคนจำนวนกว่า 15 ล้านคนหลุดพ้นจากความยากจน ต่อมาในปี 2540 อย่างที่เราทราบกันดีว่าวิกฤตต้มยำกุ้งได้สร้างความเสียหายให้กับเศรษฐกิจไทยเป็นอย่างมาก ผลกระทบที่สำคัญอย่างหนึ่งของวิกฤตการณ์ในครั้งนั้นคือการเพิ่มขึ้นของจำนวนคนจน สัดส่วนคนจนได้ย้อนกลับไปสู่ระดับ 42.33% ในปี 2543 เมื่อเศรษฐกิจไทยเข้าสู่ระยะการฟื้นตัวปัญหาความยากจนจึงได้เริ่มเบาบางลง ในช่วงระยะฟื้นตัวหลังวิกฤตในปี 2544 – 2550 จำนวนคนจนได้ลดลงอย่างต่อเนื่องเหลือร้อยละ 20 กระบวนการได้หยุดชะงักลงอีกครั้งเมื่อเกิดวิกฤตสินเชื่อด้อยคุณภาพในสหรัฐอเมริกา (วิกฤตแฮมเบอร์เกอร์) อย่างไรก็ตามในครั้งนี้ประเทศไทยไม่ได้รับผลกระทบในทางลบมากนัก GDP ลดลงเพียงเล็กน้อย ในปี 2552 และไม่ได้ทำให้จำนวนคนจนเพิ่มขึ้นดังเช่นวิกฤตในครั้งก่อนหน้า หลังจากนั้นประเทศไทยก็กลับเข้าวงจรการลดความยากจนอีกครั้งหนึ่ง เศรษฐกิจไทยได้ฟื้นตัวโดยได้อานิสงค์จากเศรษฐกิจโลกที่ขยายตัวได้ดี ในช่วงเวลานี้เองธนาคารโลกได้จัดให้ไทยอยู่ในกลุ่มประเทศรายได้ปานกลางระดับสูง (Upper middle-income countries) 

รูปที่ 1 สัดส่วนคนจน แรงงานในภาคเกษตร และ อัตราการเจริญเติบโตของ GDP

ก.) สัดส่วนคนจนและแรงงานในภาคเกษตร

ข.) อัตราการเจริญเติบโตของ GDP

ที่มา: NESDC and World Bank

วงจรความสัมพันธ์ระหว่างความยากจนและการเติบโตทางเศรษฐกิจนี้มิใช่ปรากฏการณ์พิเศษแต่อย่างใด อันที่จริงเป็นแนวทางการลดความยากจนที่ใช้กันอย่างแพร่หลายทั่วโลก ประเทศเพื่อนบ้านของเราเช่น จีน อินเดีย และประเทศในอาเซียนต่างก็เดินตามแนวทางการพัฒนาแบบนี้[2][3][4] นี่เป็นสาเหตุหลักที่ผู้วางนโยบายรวมถึงบรรดานักเศรษฐศาสตร์ให้ความสำคัญกับการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจเป็นอย่างมาก บ่อยครั้งเราจึงเห็นการใช้ตัวเลข GDP ในการชี้วัดผลงานของรัฐบาลในช่วงเวลาต่าง ๆ 

ความสัมพันธ์ที่เป็นแบบส่งเสริมกันเป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ตัวแปรทั้งสองเคลื่อนไหวไปด้วยกันอย่างแข็งแรง กล่าวคือการลดความยากจนส่งผลดีต่อการเจริญเติบโตในภาพรวมด้วย นโยบายที่มุ่งเน้นเพื่อลดความยากจน เช่น การขยายโอกาสด้านการศึกษาขั้นพื้นฐาน การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน การเพิ่มการเข้าถึงการรักษาพยาบาล ก่อผลดีต่อการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตของทั้งสังคมทำให้รายได้ของคนทุกกลุ่มนั้นเพิ่มขึ้นตามไปด้วย

อย่างไรก็ตามในช่วงหลังมานี้ความเชื่อมโยงดังกล่าวดูเหมือนจะอ่อนแรงลงไป การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจไม่ได้โน้มนำให้ความยากจนลดลงอย่างที่เคยทำใด้ดีตลอดมา และเมื่อเกิดวิกฤตเศรษฐกิจจำนวนคนจนก็ไม่ได้เพิ่มขึ้นดังเช่นที่เคยเป็นมาในอดีต รูปที่ 1 ชี้ว่าตั้งแต่ปี 2558 เป็นต้นมาสัดส่วนคนจนนั้นค่อนข้างคงที่อยู่ระหว่าง  6.26% to 8.6%. ธนาคารโลกได้แสดงความเห็นต่อประเด็นนี้ว่าเป็นผลจากการเจริญเติบโตที่ช้าลง[5] อย่างไรก็ตามข้อมูลได้บ่งชี้ว่าอัตราการเจริญเติบโตในช่วงเวลาดังกล่าว ไม่ได้ต่ำกว่าอัตราในช่วงก่อนหน้ามากนัก (3.7% ระหว่าง 2553-2558 และ 3.5% ระหว่าง 2559-2562) เราอาจจะพอเข้าใจได้ว่ารัฐบาลได้พัฒนาการตอบสนองต่อวิกฤตและมาตรการช่วยเหลือในภาวะวิกฤตได้ดีกว่าในอดีตส่งผลให้สถานการณ์ความยากจนไม่ได้แย่ลงในช่วงวิกฤตโควิดทั้ง ๆ ที่ประเทศเผชิญกับเศรษฐกิจที่ถดถอยอย่างมาก แต่ในสถานการณ์ที่เศรษฐกิจเติบโตอย่างเป็นปกติเหตุใดเราจึงไม่เห็นความยากจนลดลงอีก?

การที่ GDP ไม่สามารถเป็นเครื่องมือแก้ปัญหาความยากจนได้อย่างมีประสิทธิภาพดังที่เคยเป็นมา อาจเกิดจากลักษณะของการเจริญเติบโตที่เปลี่ยนแปลงไป ในอดีตประเทศไทยได้ใช้แนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมเพื่อดึงแรงงานส่วนเกินที่อยู่ในภาคเกษตรกรรม การเปิดรับเงินทุนและเทคโนโลยีจากต่างชาติเพื่อสร้างงานที่มีรายได้สูงได้ดึงดูดให้แรงงานหลั่งไหลอพยพจากชนบทเข้ามาทำงานในเมือง และเมื่อมีแรงงานในเมืองมากขึ้นก็เป็นการดึงดูดให้มีเกิดการลงทุนเพิ่มขึ้นอีก วงจรนี้ทำให้แรงงานจำนวนมากยกระดับฐานะจากคนจนชนบทเป็นชนชั้นกลางในเมืองพร้อม ๆ กับการเปลี่ยนผ่านโครงสร้างเศรษฐกิจไปสู่ภาคอุตสาหกรรม (Industrialization) กระบวนการอพยพของแรงงานเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องมาจนกระทั่งถึงจุดอิ่มตัวประมาณกลางทศวรรษที่ 2550 จำนวนแรงงานที่อยู่ในภาคเกษตรของไทยอยู่ที่ระดับหนึ่งในสาม และคงที่มาตลอดจนถึงปัจจุบัน นี่เป็นช่วงเดียวกันกับที่ตัวเลขความยากจนอยู่ในระดับคงตัว วีรยุทธ (2565) ได้ชี้ว่าจำนวนแรงงานในภาคเกษตรของไทยนั้นสูงกว่าประเทศที่มีระดับการพัฒนาที่ใกล้เคียงกัน นอกจากนี้ผลิตภาพในภาคเกษตรยังอยู่ในระดับต่ำอีกด้วย สะท้อนความสามารถในการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจเพื่อแก้ปัญหาความยากจน 

เหตุใดแรงงานไทยจึงไม่ถูกโยกย้ายเข้าสู่ภาคอุตสาหกรรมจนสามารถยกระดับการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของต่อไปจนบรรลุผลการเป็นประเทศกลุ่มรายได้สูง? วีรยุทธ (2565) เห็นว่าเป็นเพราะแรงดึงดูดนอกภาคเกษตรไม่เพียงพอ ถึงแม้ว่าการออกจากภาคเกษตรจะทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้นแต่เมื่อคำนึงถึงปัจจัยแวดล้อมอื่น ๆ เช่น วิถีชีวิต ความเสี่ยง นอกจากนี้นโยบายช่วยเหลือเกษตรกรก็มีส่วนทำให้การทำงานในไร่นามีความมั่นคงปลอดภัยมากกว่าออกไปเผชิญโชคในเมือง 

ในอีกด้านหนึ่งปัญหาก็เกิดจากภาคอุตสาหกรรมเองที่ไม่อาจสร้างงานสร้างโอกาสให้กับแรงงานได้  สัดส่วนแรงงานในภาคอุตสาหกรรมของไทยนั้นได้ถึงจุดอิ่มตัวที่ 17% ในปี 2558 และมีแนวโน้มลดลงมาอย่างต่อเนื่อง นี่เป็นช่วงเวลาเดียวกันกับที่ตัวเลขการเจริญเติบโตที่ลดลงและแรงงานในภาคเกษตรเริ่มคงตัว สัดส่วนดังกล่าวถือว่าเล็กเมื่อเทียบกับประเทศในเอเชียรุ่นราวคราวเดียวกันที่ประสบความสำเร็จในการพัฒนาอุตสาหกรรม เช่น เกาหลีใต้ ไต้หวัน ประเทศเหล่านี้สามารถสร้างงานในภาคอุตสาหกรรมได้ไม่ต่ำกว่าหนึ่งในสาม ปัญหาที่ประเทศกำลังพัฒนาจำนวนมากมีขนาดภาคอุตสาหกรรมที่เล็กกว่าประเทศร่ำรวยนั้นถือได้รับการพูดถึงมากในระยะหลังในประเด็นกับดักรายได้ปานกลาง (Middle-income trap)

ความต่อเนื่องของนโยบายพัฒนาอุตสาหกรรมของภาครัฐก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่ง ในช่วงสิบปีที่ผ่านมารัฐบาลมีนโยบายพัฒนาเศรษฐกิจแบบ “รอบด้าน” กล่าวคือมีการสนับสนุนภาคการผลิตอื่น ๆ ด้วยอย่างเข้มข้น เช่น เกษตรกรรม ท่องเที่ยว ไม่ว่าจะเป็นนโยบายจำนำข้าวในรัฐบาลยิ่งลักษณ์ การเปิดรับนักท่องเที่ยวชาวจีนในรัฐบาลประยุทธ์ นโยบายเหล่านี้มีส่วนจูงใจให้แรงงานไม่ไหลไปยังภาคอุตสาหกรรม จริงอยู่ที่รัฐบาลมีนโนบายพัฒนาอุตสาหกรรม เช่น ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor: EEC) แต่ก็ดูเหมือนว่าไม่มีประสิทธิผลที่เพียงพอที่จะสร้างงานเพิ่มในภาคอุตสาหกรรมได้ ช่วงที่ผ่านมาประเทศไทยเข้าสู่ช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อในการยกระดับภาคอุตสาหกรรมจากอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้นมาเป็นอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง อุตสาหกรรมเหล่านี้ต้องแข่งขันอย่างในระดับนานาชาติจึงต้องอาศัยการสนับสนุนจากภาครัฐอย่างเข้มข้น การที่รัฐใช้ทรัพยากรอย่างกระจายแทนที่จะเป็นแบบมุ่งเป้ามีส่วนอย่างมากที่ทำให้เราไม่อาจก้าวผ่านกับดักรายได้ปานกลางไปได้


03 – สังคมคนชรา (Aging Society) กับปัญหาความยากจน

ด้วยอัตราการเกิดที่น้อยและการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่เชื่องช้าทำให้ประเทศไทยเป็นสังคมที่ “แก่ก่อนรวย” กำลังแรงงานที่หดตัวลงสวนทางกับจำนวนคนสูงวัยที่มากขึ้นถือเป็นความท้าทายใหญ่ในการจัดการปัญหาความยากจนในปัจจุบัน ปัญหาที่เห็นได้ชัดที่สุดในการเข้าสู่สังคมคนชราคือการขาดรายได้จากการทำงาน จากรายงานความยากจนปี 2564 ของสภาพัฒน์ชี้ว่าลักษณะเด่นของครัวเรือนยากจน คือมีอัตรากำลังพึ่งพิง (ทั้งเด็กและผู้สูงอายุ) สูงกว่าครึ่งของครัวเรือนที่ไม่ยากจนมาก ทำให้ปัจจุบันครัวเรือนยากจนส่วนใหญ่ไม่มีส่วนร่วมในเศรษฐกิจโดยคิดเป็นสัดส่วนหนึ่งในสามของครัวเรือนยากจนทั้งหมด ข้อเท็จจริงนี้มีนัยต่อการดำเนินนโยบายมาก ที่ผ่านมาประเทศไทยได้เน้นการพัฒนาเพื่อเพิ่มค่าจ้างให้แรงงาน ความสำเร็จของนโยบายนี้ขึ้นอยู่กับว่าครัวเรือนต้องมีคนวัยหนุ่มสาวอยู่มากพอสมควร การขาดคนวัยทำงานทำให้หนทางหลุดพ้นจากความยากจนนั้นริบหรี่ลงมาก

ผลของสังคมสูงอายุไม่ได้แสดงออกโดยตรงจากการไม่มีส่วนร่วมในเศรษฐกิจเท่านั้นแต่ยังแสดงออกมาโดยอ้อมผ่านภาคเกษตรอีกด้วย ถึงแม้ว่าพื้นฐานของภาคการเกษตรได้เปลี่ยนไปจากอดีตมาก ในอดีตผู้ที่เป็นเกษตรกรมักจะเป็นคนจนด้วย แต่ในปัจจุบันครัวเรือนเกษตรกรไม่จำเป็นต้องยากจนเสมอไป อย่างไรก็ดีตามที่ได้กล่าวไปแล้วว่าการมีแรงงานในภาคเกษตรจำนวนมากนับเป็นอุปสรรคการลดจำนวนคนจน อุปสรรคดังกล่าวมีสาเหตุสำคัญอย่างหนึ่งมาจากการเข้าสู่สังคมคนชรานี้เอง กล่าวคือเกษตรกรในปัจจุบันไม่ได้มีแต่แรงงานหนุ่มสาวอีกแล้วแต่กลับเต็มไปด้วยแรงงานสูงวัย และยังเป็นกลุ่มผู้สูงอายุที่การศึกษาน้อยอีกด้วย[6] การออกจากภาคเกษตรแรงงานจำเป็นต้องมีความรู้และมีความสามารถในการเรียนรู้ทักษะใหม่ ๆ ซึ่งเป็นสิ่งที่เป็นไปได้ยากสำหรับคุณลักษณะของเกษตรกรในปัจจุบัน 


04 – สวัสดิการกับปัญหาความยากจน

เมื่อลักษณะของปัญหาความยากจนในปัจจุบันได้เปลี่ยนไปจากอดีต การเพิ่มอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจไม่อาจใช้จัดการกับปัญหาความยากจนได้อย่างมีประสิทธิภาพดังเช่นที่เคยเป็นมาในอดีต การจัดสรรสวัสดิการเพื่อช่วยเหลือคนยากจนถูกคาดหวังให้เข้ามาช่วยแก้ไขปัญหาดังกล่าว ประเด็นเรื่องแนวทางของการจัดสรรสวัสดิการแบบครบวงจร (comprehensive) นั้นยังขาดการถกเถียงกันในสังคมไทยอย่างกว้างขวาง ข้อโต้แย้งกันในช่วงทศวรรษที่ผ่านดูเหมือนจะเป็นเรื่องการให้สวัสดิการแบบพุ่งเป้าไปที่คนจน (poverty targeting) หรือแบบถ้วนหน้า (universal) เท่านั้น แต่ยังขาดการโต้แย้งในเชิงหลักคิดว่ามูลค่าในระบบเศรษฐกิจควรถูกจัดสรรใหม่ (redistribute) อย่างไร ใครสมควรได้รับอะไร เพราะอะไร แบบใดจึงเรียกว่ายุติธรรม สวัสดิการรูปแบบต่าง ๆ กำลังตอบโจทย์ปัญหาอะไร

เป็นต้นว่าหากเรามองประเทศยุโรปเหนือในแถบสแกนดิเนเวีย สวัสดิการส่วนใหญ่เป็นแบบถ้วนหน้า วางอยู่บนหลักคิดว่าประชาชนร่วมดูแลกันและกันผ่านการเสียภาษีในอัตราที่ค่อนข้างสูง ความเชื่อใจในเพื่อนร่วมชาติและรัฐบาลเป็นสิ่งจำเป็นอย่างมากในระบบนี้ ถ้าหากเป็นประเทศเยอรมนีหรือญี่ปุ่นก็จะให้ความสำคัญกับการทำงานและสร้างมูลค่าเพิ่ม (contribution) ผลประโยชน์จึงถูกจัดสรรโดยอิงกับหน้าที่ในระบบเศรษฐกิจ กระบวนการจัดสรรสวัสดิการจึงมิใช่เพียงคำนึงว่ามีงบประมาณมากน้อยเพียงใด แต่ยังเป็นกระบวนการในเชิงการเมือง เศรษฐกิจ นโยบายทั้งการเงิน การคลัง รวมไปถึงวิถีชีวิตและวิธีคิดของคนในสังคมที่ต้องเห็นพ้องกันด้วย

เมื่อขาดการโต้เถียงกันในสังคม รัฐจึงใช้บทบาทนำในการกำหนดทิศทางสวัสดิการไทยซึ่งมีความเปลี่ยนแปลงตามแต่ละช่วงเวลา สำหรับทศวรรษที่ผ่านมาเราเห็นนโยบายใหม่หรือการปรับเปลี่ยนนโยบายเดิมที่ชัดเจนอย่างน้อย 3 ประการ (1) บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ (2) กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา และ (3) หลักเกณฑ์การจัดสรรเบี้ยยังชีพคนชราฉบับใหม่ของกระทรวงมหาดไทย ที่เพิ่มคุณสมบัติของผู้มีสิทธิจะได้รับเบี้ยยังชีพ ในหมวด 1 ข้อ 4 ว่า “เป็นผู้ไม่มีรายได้หรือมีรายได้ไม่เพียงพอแก่การยังชีพตามที่คณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติตามกฎหมายว่าด้วยผู้สูงอายุกำหนด” สามนโยบายนี้สะท้อนให้เห็นว่าสวัสดิการสังคมในประเทศไทยขยับรูปแบบเข้าสู่การพุ่งเป้ามากขึ้น

นโยบายแบบพุ่งเป้ามีเสน่ห์ดึงดูดหลายประการในระบบตลาด เช่น ประสิทธิภาพของการใช้จ่ายภาครัฐ (ไม่จำเป็นต้องจัดสรรให้คนที่ไม่มีความจำเป็น และทุ่มทรัพยากรให้มากพอสำหรับคนที่จำเป็น) ทำให้ประหยัดงบประมาณของภาครัฐและนำไปใช้กับส่วนอื่น ๆ ได้อีก นอกจากนั้นยังเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการใช้จ่ายของคนยากจนอีกด้วย จากทฤษฎีเศรษฐศาสตร์ที่เชื่อว่าเมื่อคนยากจนได้รับเงินจะใช้ออกไปในสัดส่วนที่มากกว่าคนไม่จน (หรือคนไม่จนมีทางเลือกน้อยกว่าคนรวยที่จะเก็บเงินไว้ใช้ในอนาคตได้) และเงินที่จัดสรรลงไปจะหมุนให้เศรษฐกิจระดับรากหญ้าคึกคักและส่งผลทวีต่อไปในส่วนอื่น ๆ ของระบบเศรษฐกิจ สุดท้ายคือความสอดคล้องกับปัญหาที่ได้กล่าวไว้ข้างต้นว่าระดับการพัฒนาเศรษฐกิจอาจมีข้อจำกัดบางอย่างที่ทำให้คนยากจนไม่สามารถเข้าถึงและมีส่วนร่วมกับการพัฒนาได้ การควานหาคนยากจนจึงกลายเป็นเป้าหมายที่ภาครัฐ


คำถามถัดมาก็คือประสิทธิภาพประสิทธิผลในเชิงทฤษฎีนั้นเป็นจริงในทางปฏิบัติหรือไม่


น่าเสียดายที่คำถามนี้ตอบได้ยากมากเนื่องด้วยข้อจำกัดอย่างน้อย 2 ประการ (1) ภาครัฐมีข้อมูลครบถ้วน แต่แทบไม่เคยมีการศึกษาหรือประเมินผลกระทบของนโยบายใด ๆ ออกมาอย่างที่เป็นวิทยาศาสตร์และเป็นรูปธรรม และ (2) นโยบายส่วนใหญ่ไม่ได้วางแผนไว้สำหรับการศึกษาผลกระทบ การคัดแยกผลกระทบจากนโยบายในเชิงเหตุและผลออกมาภายหลังนั้นเป็นสิ่งที่ยากมากในทางเศรษฐศาสตร์ เป็นต้นว่าเราจะวัดว่านโยบายหนึ่ง ๆ ทำให้ปัญหาความยากจนทุเลาลงได้มากน้อยเพียงใดก็อาจมีปัจจัยอื่น ๆ เข้ามาพัวพันอีกมาก เช่น รัฐบาลไม่ได้มีนโยบายอย่างเดียวในแต่ละช่วงเวลา มีนักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนในประเทศไทยมากขึ้น หรือบางคนอาจจะโชคดีถูกสลากกินแบ่งรัฐบาล ปัจจัยเหล่านี้ยากที่แยกออกมาให้หมดจดเพื่อให้เห็นผลกระทบของนโยบายเพียงอย่างเดียว งานศึกษาจากนักวิจัยภายนอกจึงมีอยู่ไม่มากนักเนื่องด้วยข้อจำกัดเหล่านี้

จากที่ผู้เขียนสำรวจงานศึกษา นโยบายบัตรสวัสดิการแห่งรัฐเป็นนโยบายที่ได้รับความสนใจมากที่สุดและมีการประเมินประสิทธิภาพประสิทธิผลอยู่บ้าง อาจเป็นเพราะว่านโยบายดังกล่าวเป็นโครงการแบบพุ่งเป้าไปที่คนจนขนาดใหญ่ที่สุดโครงการหนึ่งทั้งในแง่ของจำนวนผู้มีบัตรฯ และงบประมาณที่ใช้ ในปี พ.ศ. 2565 มีการเปิดรับสมัครรอบใหม่พร้อมปรับเกณฑ์การคัดกรองให้มีความเข้มข้นมากขึ้น แต่ผู้มีบัตรฯ กลับเพิ่มขึ้นจากในปี พ.ศ. 2564 จาก 13.6 เป็น 15.01 ล้านคน ผู้มีบัตรฯ ได้รับเงินสำหรับซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคเดือนละ 300 บาท ค่าโดยสารรถสาธารณะ เงินอุดหนุนค่าไฟฟ้าและน้ำประปา สวัสดิการเหล่านี้น่าจะทำให้คนยากจนที่มีบัตรฯ ใช้จ่ายเพื่อหลุดพ้นความยากจนได้อย่างมีประสิทธิภาพ

กระนั้นเอง สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ[7] พบว่าตั้งแต่ปี พ.ศ. 2561 ถึง 2564 สัดส่วนของผู้มีบัตรฯ ที่เป็นคนยากจนตามนิยามของสภาพัฒน์มีเพียงร้อยละ 10 ถึง 15 เท่านั้น วรรณพงษ์ (2565) ประเมินสัดส่วนของ inclusion และ exclusion error หรือปัญหาผู้ที่ไม่ผ่านเกณฑ์แต่มีบัตรฯ และผู้ที่ผ่านเกณฑ์แต่ไม่มีบัตรฯ ตามลำดับ พบว่าในกลุ่มตัวอย่างที่ศึกษามีผู้ที่รายได้เกินเกณฑ์แต่มีบัตรฯ ประมาณร้อยละ 6 ของผู้ที่รายได้เกินเกณฑ์ทั้งหมด ซึ่งไม่ถือว่าเป็นปัญหารุนแรงมากนัก แต่กลุ่มที่รายได้ผ่านเกณฑ์และไม่มีบัตรฯ มีอยู่ถึงร้อยละ 79 ของผู้ที่มีรายได้อยู่ในเกณฑ์ที่ควรมีบัตรฯ ขณะที่ วีระวัฒน์ (2565)[8] พยายามใช้เกณฑ์อื่น ๆ ร่วมด้วย และพบตัวเลขดังกล่าวในลักษณะเดียวกัน (ร้อยละ 11 และร้อยละ 57 ตามลำดับ) ด้วยปัญหาดังกล่าว งานศึกษาชิ้นนี้ยังค้นพบว่าการกระจายตัวของผลประโยชน์ที่รัฐบาลจัดสรรให้นั้นพุ่งเป้าไปที่คนจนจริง แต่ยังสามารถพัฒนาประสิทธิภาพในการพุ่งเป้าไปหาคนยากจนได้อีกมาก

ที่มา: khaosod.co.th

ในส่วนของประสิทธิผลของการลดความยากจน วรรณพงษ์ (2565) [9] ใช้วิธีการทางเศรษฐมิติเพื่อวัดผลในเชิงเหตุผลเพื่อเปรียบเทียบว่าระหว่างกลุ่มผู้มีบัตรฯ และมีบัตรฯ มีความแตกต่างกันในแง่ของค่าใช้จ่ายชนิดต่าง ๆ หรือไม่ (ย้ำอีกครั้งว่าค่าใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคเป็นตัวแปรที่ใช้วัดความยากจน) ผลปรากฏว่าค่าใช้จ่ายรวม ค่าใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภค ค่าใช้สำหรับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และยาสูบ ไม่มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ มีเพียงค่าใช้จ่ายด้านอาหารเท่านั้นที่แตกต่างกัน แต่กลับพบว่ากลุ่มผู้ไม่มีบัตรฯ ใช้จ่ายมากกว่ากลุ่มผู้มีบัตรฯ งานศึกษาดังกล่าวสรุปไว้ว่า “บัตรสวัสดิการแห่งรัฐไม่ได้ทำให้ผู้ที่ถือบัตรมีค่าใช้จ่ายในสินค้าจำเป็นที่เพิ่มขึ้นตามที่วัตถุประสงค์ของโครงการได้ระบุไว้” และแน่นอนว่าหากค่าใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคไม่ได้เพิ่มขึ้น จึงไม่อาจสรุปได้ว่าจำนวนคนจนที่ลดลงนั้นเป็นผลจากบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ สาเหตุมาจากอะไรนั้นไม่อาจทราบได้ชัดเจน อาจเป็นเพราะนโยบายยังดำเนินการมาไม่นาน จำนวนผลประโยชน์ที่ไม่มากพอ หรือตัวนโยบายเองไม่ได้ต่อยอดไปสู่การดำเนินการอื่น ๆ ที่จะทำให้ปัญหาความยากจนลดลงได้อย่างยั่งยืน


05 – บทสรุป

บทความนี้ได้นำเสนอพลวัตของปัญหาความจนที่มักทุเลาลงตามระดับการพัฒนาเศรษฐกิจ และอาจกลายเป็นปัญหาเฉพาะในแต่ละบริบทสังคมที่ต้องใช้วิธีจัดการแตกต่างกันออกไปตามโครงสร้างเศรษฐกิจและประชากร ตลอดสามทศวรรษแห่งการพัฒนาประเทศไทย จำนวนคนจนลดลงอย่างต่อเนื่อง และการจัดการกับปัญหาความยากจนย่อมต้องปรับเปลี่ยนไปตามสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปจากอดีตแล้ว ผู้เขียนได้พยายามชี้ให้เห็นประเด็นเสริมสำคัญอีกสองประเด็น คือปัญหาสังคมผู้สูงอายุกับภาวะพึ่งพิง และสวัสดิการแบบพุ่งเป้าที่ประสิทธิภาพและประสิทธิผลยังไม่ปรากฏชัดตามที่คาดหวังไว้

ปัญหาความยากจนยังมีมิติอีกหลากหลายที่ส่งผลต่อ “จำนวน” และ “สัดส่วน” ของคนจนที่ปรากฏในสถิติ หากผู้อ่านสังเกตดูจากในรูปที่ 1 ก) จะเห็นว่าจำนวนคนจนลดลงอย่างมาก (ทำให้สัดส่วนคนจนลดลง) ในปีนี้กลับไม่ได้มีเหตุการณ์ใดพิเศษ นอกจากระดับเงินเฟ้อที่ต่ำลงอย่างมากจากพลังงานโลกที่ตกต่ำ ส่งผลให้เส้นความยากจนปรับตัวลงหรือปรับตัวขึ้นเพียงเล็กน้อยเท่านั้น เนื่องจากข้อมูลค่าใช้จ่ายนั้นต้องนำข้อมูลราคาสินค้าจากกระทรวงพาณิชย์มาร่วมคำนวณด้วย การใช้จ่ายให้สูงไปกว่าเส้นความยากจนจากปีหนึ่งไปสู่อีกปีหนึ่งอาจทำได้ไม่ยากนัก จำนวนคนจนจึงลดลงอย่างมากในปีดังกล่าว

กระนั้นเอง ผู้เขียนจึงอยากจะขอย้ำถึงเนื้อหาสาระสำคัญว่าการกล่าวถึงแค่เพียงรายได้เพียงพอต่อค่าครองชีพนั้นจะช่วยขจัดปัญหาความยากจนได้อย่างมี “คุณภาพ” และยั่งยืน เราอาจจะต้องถามต่อไปอีกว่าเหตุใดบ้างที่ส่งผลให้บุคคลหรือครัวเรือนหนึ่งยากจน เป็นปัจจัยเฉพาะมากน้อยเพียงใดหรือเป็นปัญหาในเชิงพื้นที่ รายได้ที่เหมาะสมเพียงพอต่อค่าครองชีพนั้นรวมถึงสมาชิกในภาวะพึ่งพิงด้วยหรือไม่ อย่างไร การจัดสรรสวัสดิการแบบใดจึงจะเกิดประสิทธิภาพประสิทธิผล ปัญหาความยากจนนั้นได้กลายเป็นปัญหาที่ซับซ้อนและต้องการความเข้าใจในปัญหาที่ลึกกว่าที่เห็นกันในปัจจุบัน

พิมพ์นารา อินต๊ะประเสริฐ – บรรณาธิการ
แพรวพรรณ ศิริเลิศ – พิสูจน์อักษร
วิจย์ณี เสนแดง  –  ภาพประกอบ


● อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
จะเป็นไปได้หรือไม่ ? ถ้า ‘ประเทศไทย’ จะเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ ให้สอดคล้องค่าครองชีพที่พุ่งสูงขึ้น
แรงงานไทยในปี 65 เกือบ 100% มี “หนี้สิน” ส่วนค่าแรงขั้นต่ำสวนทางกับค่าครองชีพที่แพงขึ้น
อัตราค่าแรงขั้นต่ำปี 2564 ของประเทศอาเซียนเป็นหนึ่งในกลุ่มที่ต่ำที่สุดในเอเชียและต่ำกว่าประเทศที่เศรษฐกิจพัฒนาแล้ว 
การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็นประเด็นด้านสุขภาพเช่นกัน เพราะรายได้สูงขึ้นสัมพันธ์กับสุขภาพที่ดีกว่า
ก่อนไปสู่ ‘Healthy Ageing’ ต้องเข้าใจ 10 ความจริงของ ‘การสูงวัย และ สุขภาพ’
สำรวจนโยบาย ‘บำนาญ’ ของแต่ละประเทศ ในวันที่โลกเผชิญสู่สังคมผู้สูงอายุ
SDG Insights | เพดานหนี้สาธารณะไม่เกิน 70% ต่อ GDP กับปัญหาความเหลื่อมล้ำ 
SDG Insights | โครงการ ‘เราชนะ’ เพียงประคับประคองหรือจะปรับหน้าเศรษฐกิจไทย? 

ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG1 ขจัดความยากจน
– (1.1) ภายในปี 2573 ขจัดความยากจนขั้นรุนแรงของประชาชนทุกคนในทุกพื้นที่ให้หมดไป ซึ่งในปัจจุบันความยากจนวัดจากคนที่มีค่าใช้จ่ายดำรงชีพต่ำกว่า $1.90 ต่อวัน
– (1.2) ภายในปี 2573 ลดสัดส่วน ชาย หญิง และเด็ก ในทุกช่วงวัย ที่อยู่ภายใต้ความยากจนในทุกมิติ ตามนิยามของแต่ละประเทศ ให้ลดลงอย่างน้อยครึ่งหนึ่ง
– (1.3) ดำเนินการให้ทุกคนมีระบบและมาตรการการคุ้มครองทางสังคมในระดับประเทศที่เหมาะสม รวมถึงการคุมครองทางสังคมขั้นพื้นฐานและบรรลุการครอบคลุมถึงกลุ่มที่ยากจนและเปราะบาง ภายในปี 2573
#SDG3 สุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี
– (3.8) บรรลุการมีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า รวมถึงการป้องกันความเสี่ยงทางการเงิน การเข้าถึงการบริการสาธารณสุขจำเป็นที่มีคุณภาพ และเข้าถึงยาและวัคซีนจำเป็นที่ปลอดภัย มีประสิทธิภาพ มีคุณภาพ ในราคาที่สามารถซื้อหาได้
– (3.c) เพิ่มการใช้เงินสนับสนุนด้านสุขภาพ และการสรรหา การพัฒนา การฝึกฝน และการเก็บรักษากำลังคนด้านสุขภาพในประเทศกำลังพัฒนา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศพัฒนาน้อยที่สุดและรัฐกำลังพัฒนาที่เป็นเกาะขนาดเล็ก
#SDG8 งานที่มีคุณค่าและการเติบโตทางเศรษฐกิจ
– (8.5) บรรลุการจ้างงานเต็มที่และมีผลิตภาพ และการมีงานที่มีคุณค่าสำหรับหญิงและชายทุกคน รวมถึงเยาวชนและผู้มีภาวะทุพพลภาพ และให้มีการจ่ายที่เท่าเทียมสำหรับงานที่มีคุณค่าเท่าเทียมกัน ภายในปี 2573
– (8.8) ปกป้องสิทธิแรงงานและส่งเสริมสภาพแวดล้อมในการทำงานที่ปลอดภัยและมั่นคงสำหรับผู้ทำงานทุกคน รวมถึงผู้ทำงานต่างด้าว โดยเฉพาะหญิงต่างด้าว และผู้ที่ทำงานเสี่ยงอันตราย
#SDG10 ลดความเหลื่อมล้ำ
– (10.1) บรรลุการเติบโตอย่างก้าวหน้าและยั่งยืนของรายได้ของประชากรที่อยู่ในกลุ่มรายได้ต่ำกว่า 40% ให้มีอัตราสูงกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศ ภายในปี 2573
– (10.2) ให้อำนาจและส่งเสริมความครอบคลุมด้านสังคม เศรษฐกิจและการเมืองสำหรับทุกคน โดยไม่คำนึงถึงอายุ เพศ ความบกพร่องทางร่างกาย เชื้อชาติ ชาติพันธุ์ แหล่งกำเนิด ศาสนา หรือสถานะทางเศรษฐกิจหรือสถานะอื่น ๆ ภายในปี 257
– (10.3) สร้างหลักประกันว่าจะมีโอกาสที่เท่าเทียมและลดความไม่เสมอภาคของผลลัพธ์ รวมถึงการขจัดกฎหมาย นโยบาย และแนวทางปฏิบัติที่เลือกปฏิบัติ และส่งเสริมการออกกฎหมาย นโยบาย และการปฏิบัติที่เหมาะสมในเรื่องนี้
– (10.4) นำนโยบายโดยเฉพาะนโยบายการคลัง ค่าจ้าง และการคุ้มครองทางสังคมมาใช้ และให้บรรลุความเสมอภาคยิ่งขึ้นอย่างก้าวหน้า


เอกสารอ้างอิง

[1] Warr, P. (2004). Globalization, growth, and poverty reduction in Thailand. ASEAN Economic Bulletin, 1-18.

[2] Srinivasan, T. N. (2001). Growth and poverty alleviation: lessons from development experience (No. 17). ADBI Research Paper Series.

[3] World Bank. (2001). World Development Report 2000/2001: Attacking Poverty. World Development Report; New York: Oxford University Press.

[4] Kraay, A. (2006). When is growth pro-poor? Evidence from a panel of countries. Journal of development economics, 80(1), 198-227.

[5] World Bank. (2022). Thailand Rural Income Diagnostic: Challenges and Opportunities for Rural Farmers. https://documents1.worldbank.org/curated/en/099005010202299399/pdf/P1775991e5f180ee130cf14572184e61f60735628d80.pdf

[6] Chantarat, S., Sa-ngimnet, B., Attavanich, W., & Chenphuengpawn, J. (2019). สถานการณ์สูงวัยกับผลิตภาพและการทำเกษตรของครัวเรือนเกษตรไทย (aBRIDGEd No. 13/2019). Puey Ungphakorn Institute for Economic Research. https://www.pier.or.th/abridged/2019/13/.

[7]สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ. (2566). สถิติด้านความยากจนและการกระจายรายได้. เข้าถึงเมื่อ 15 สิงหาคม 2566 จาก สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ: https://view.officeapps.live.com/op/view.aspx?src=https%3A%2F%2Fwww.nesdc.go.th%2Fewt_dl_link.php%3Fnid%3D3518%26filename%3Dsocial&wdOrigin=BROWSELINK

[8]วีระวัฒน์ ภัทรศักดิ์กำจร. (2565). การวิเคราะห์การกระจายผลประโยชน์ของโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ. ใน ธร ปีติดล, โครงการ Social Monitoring สถานการณ์ความเหลื่อมล้ำในประเทศไทย. สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม. เข้าถึงได้จาก https://elibrary.trf.or.th/project_content.asp?PJID=ORG6310014

[9] วรรณพงษ์ ดุรงคเวโรจน์. (24 สิงหาคม 2565). ผลกระทบเชิงสาเหตุของบัตรสวัสดิการแห่งรัฐต่อความยากจนทางเศรษฐกิจ. Applied Economics Journal, 29(2), 1-15. เข้าถึงได้จาก https://ageconsearch.umn.edu/record/334374/files/1.Vol29Issue2_p1-15.pdf

[10] วีระยุทธ กาญจน์ชูฉัตร. (15 กันยายน 2565). กะเทาะปัญหา-มองหาทางออก ปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไทย. The 101. https://www.the101.world/veerayooth-economic-transformation/

ผลงานนี้ได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิเพื่อการพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ ภายใต้โครงการเร่งรัดการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนด้านสุขภาพของประเทศไทย

Author

Exit mobile version