Site icon SDG Move

SDG Spotlight – 5 ข่าว SDGs น่าสนใจในรอบสัปดาห์ที่ 1 ประจำเดือนกันยายน 2566

จากการสำรวจข่าวสารความเคลื่อนไหวที่เกี่ยวข้องและส่งผลต่อการขับเคลื่อน SDGs ระหว่างวันที่  4  – 8 กันยายน 2566 มีข่าวสารความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจ ดังนี้

รายงานธนาคารโลก ชี้ให้อำนาจเมืองรองจัดหาแหล่งทุนเอง เพื่อขยายการเติบโตทางเศรษฐกิจ

ธนาคารโลก ร่วมกับหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) และมหาวิทยาลัยขอนแก่นจัดทำงานศึกษา “การประเมินแหล่งเงินทุนสำหรับการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเพื่อการพัฒนาเมืองในประเทศไทย (Thailand Urban Infrastructure Finance Assessment)” เพื่อแสดงถึงโอกาสและความสำคัญของการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเพื่อผลักดันการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ ระบุว่ารัฐบาลต้องมีแนวทางส่งเสริมให้เมืองรอง เช่น เชียงใหม่ ขอนแก่น และระยอง ซึ่งกําลังเจริญเติบโต ควรสร้างโอกาสให้กับคนในพื้นที่ให้มีศักยภาพที่จะสามารถเป็นแกนหลักทางเศรษฐกิจของประเทศได้ หากมีการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ เช่น ระบบขนส่งมวลชน พลังงานทดแทน และโครงสร้างพื้นฐานอื่น ๆ ควรสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนภาคเอกชนเพื่อมาใช้ในการลงทุนและการพัฒนาเมืองได้

ประเด็นดังกล่าวสอดคล้องกับการขับเคลื่อน SDG9 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 9.1 พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่มีคุณภาพ เชื่อถือได้ ยั่งยืนและมีความแข็งแรง ซึ่งรวมถึงโครงสร้างพื้นฐานของภูมิภาคและพื้นที่เขตแดน เพื่อสนับสนุนการพัฒนาทางเศรษฐกิจและความเป็นอยู่ที่ดีของมนุษย์ โดยมุ่งเป้าให้ทุกคนเข้าถึงได้อย่างเท่าเทียมในราคาที่สามารถจ่ายได้ SDG10 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 10.2 เสริมสร้างศักยภาพและส่งเสริมความครอบคลุมทางสังคม เศรษฐกิจ และการเมืองสำหรับทุกคน โดยไม่คำนึงถึงอายุ เพศ ความพิการ เชื้อชาติ ชาติพันธุ์ แหล่งกำเนิด ศาสนา สถานะทางเศรษฐกิจ หรืออื่น ๆ ภายในปี พ.ศ. 2573 และ SDG11 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 11.3 ยกระดับการพัฒนาเมืองและขีดความสามารถให้ครอบคลุมและยั่งยืน เพื่อการวางแผนและการบริหารจัดการการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์อย่างมีส่วนร่วม บูรณาการและยั่งยืนในทุกประเทศ ภายในปี 2573

เข้าถึงได้ที่ : รายงานธนาคารโลก ชี้ให้อำนาจเมืองรองจัดหาแหล่งทุนเอง ช่วยเศรษฐกิจเติบโต-ลดเหลื่อมล้ำ – The Reporters 

เปิดเวทีความเห็นกรณีอุทยานฯ ‘ถ้ำผาไท’ ภาค ปชช. ชี้ไม่มีความชัดเจน-รัฐต้องทำความเข้าใจเพิ่ม

เมื่อวันที่ 4 กันยายน 2566 สหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ (สกน.) จังหวัดลำปาง สมาชิกขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (พีมูฟ) ร่วมสะท้อนผลกระทบประกาศอุทยานแห่งชาติทับที่ชุมชนในเวทีรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้เสียจากการประกาศอุทยานแห่งชาติถ้ำผาไท (เตรียมการ) ณ ห้องประชุมที่ว่าการอำเภองาว จ.ลำปาง โดยชาวบ้านต่างยังไม่ยินยอมให้ประกาศอุทยานฯ เนื่องจากยังขาดความชัดเจนในแนวเขตว่าทับซ้อนกับชุมชนหรือไม่ รวมทั้งกระบวนการประชาสัมพันธ์ก่อนเปิดเวทียังขัดกับหลักการมีส่วนร่วม

ในช่วงท้ายของเวทีรับฟังความเห็นปรากฏว่าไร้ข้อยุติ ชาวบ้านยืนยันไม่ลงทะเบียนเข้าร่วมรับฟังความเห็น และยืนยันให้กลับไปทำความเข้าใจกับทุกชุมชนก่อน พร้อมทั้งยื่นหนังสือถึง เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 13 ลำปาง 

โดยมีข้อเรียกร้อง ได้แก่ 1. ดำเนินการสำรวจข้อมูลการใช้ประโยชน์ที่ดินร่วมกับชุมชนให้เป็นที่ยุติร่วมกัน  2. กำกับดูแลหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในระดับพื้นที่ โดยเฉพาะหน่วยงานภายใต้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มิให้ดำเนินการใดๆ อันเป็นการกระทบต่อสิทธิมนุษยชน 3. เร่งปรับแก้กฎหมายด้านการจัดการป่าไม้ให้รับรองหลักสิทธิชุมชนท้องถิ่นตามรัฐธรรมนูญ 4. เร่งผลักดันกฎหมายส่งเสริมและคุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง และ 5. นายกรัฐมนตรีควรแถลงขอโทษต่อกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมืองในประเทศไทยต่อกรณีการดำเนินนโยบายต่าง ๆ ที่ละเมิดต่อศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ โดยต้องแถลงต่อสาธารณะ

ประเด็นดังกล่าวสอดคล้องกับการขับเคลื่อน SDG15 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 15.2 ส่งเสริมการดำเนินการด้านการบริหารจัดการป่าไม้ทุกประเภทอย่างยั่งยืน และ SDG 16 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 16.7 สร้างหลักประกันว่าจะมีกระบวนการตัดสินใจที่มีความรับผิดชอบ ครอบคลุม มีส่วนร่วม และมีความเป็นตัวแทนที่ดี ในทุกระดับการตัดสินใจ

เข้าถึงได้ที่ : เปิดเวทีความเห็นกรณีอุทยานฯ ‘ถ้ำผาไท’ ภาคปชช.ยืนยัน ไม่ให้เพิ่มพื้นที่อุทยาน ชี้ไม่มีความชัดเจน-รัฐต้องทำความเข้าใจเพิ่ม – lannernews

ภาคประชาสังคมเรียกร้องรัฐบาลชุดใหม่ถึง 10 ประเด็นความสำคัญเกี่ยวกับปัญหาสิทธิมนุษยชน

สหพันธ์เพื่อสิทธิมนุษยชนสากล (International Federation for Human Rights) โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน (TLHR) และสมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.)  ร่วมกันนำส่งจดหมายเรียกร้องให้รัฐบาลชุดใหม่ของประเทศไทยให้ความสำคัญกับประเด็นปัญหาสิทธิมนุษยชน 10 ประเด็นที่รัฐบาลชุดก่อน ๆ ล้มเหลวในการแก้ไขประเด็นสิทธิมนุษยชน ซึ่งข้อเสนอแนะเหล่านี้ได้มาจากที่ประเทศไทย ได้รับจากกลไกสิทธิมนุษยชนต่าง ๆ ของสหประชาชาติในช่วงเกือบสองทศวรรษที่ผ่านมา  เช่น ดำเนินการให้เกิดสภาพแวดล้อมที่เกื้อหนุนและปลอดภัย จากการข่มขู่ คุกคามและการตอบโต้ไม่ว่ารูปแบบใดก็ตาม ประกันให้มีการคุ้มครองผู้ลี้ภัยหรือผู้แสวงหาที่ลี้ภัย เป็นต้น ซึ่งหวังว่ารัฐบาลจะให้ความสำคัญต่อประเด็นสิทธิมนุษยชนเหล่านี้และผลักดันเป็นนโยบายสำคัญต่อไป

ประเด็นดังกล่าวสอดคล้องกับการขับเคลื่อน SDG16 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 16.7 สร้างหลักประกันว่าจะมีกระบวนการตัดสินใจที่มีความรับผิดชอบ ครอบคลุม มีส่วนร่วม และมีความเป็นตัวแทนที่ดี ในทุกระดับการตัดสินใจ และ 16.10 สร้างหลักประกันว่าสาธารณชนสามารถเข้าถึงข้อมูลและมีการปกป้องเสรีภาพขั้นพื้นฐาน ตามกฎหมายภายในประเทศและความตกลงระหว่างประเทศ

เข้าถึงได้ที่ : สหพันธ์เพื่อสิทธิมนุษยชนสากล เเละภาคี ร่วมกันนำส่งจดหมายเรียกร้องให้รัฐบาลชุดใหม่ของประเทศไทยให้ความสำคัญกับประเด็นปัญหาสิทธิมนุษยชน 10 ประเด็นที่รัฐบาลชุดก่อนๆ ล้มเหลว – สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน สสส

กทม.แถลงผลโครงการ ‘ไม่เทรวม’ สามารถประหยัดงบจัดเก็บขยะได้ปีละกว่า 300 ล้าน

เมื่อวันที่ 7 กันยายน 2566 นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร  เปิดเผยภายหลังการประชุมว่า การประชุมหัวหน้าหน่วยงานฯ ในครั้งนี้เป็นการติดตามความคืบหน้าในเรื่องต่าง ๆ โดยเรื่องสำคัญคือการตั้งเป้าหมายการดำเนินงานในปี 2567 ซึ่งระบุว่าผลการดำเนินโครงการ “ไม่เทรวม” มีผู้ร่วมโครงการ 1,430 แห่ง มีสัดส่วน ร้านอาหาร 21.51% สถานศึกษา 15.72% ห้างสรรพสินค้า 24.80% และซูเปอร์มาร์เก็ต/มินิมาร์ท 24% สามารถลดขยะไปได้ 77.5 ตัน/วัน ปริมาณมูลฝอยลดลง 328.23 ตัน/วัน ขยะอินทรีย์ลดลง 164.12 ตัน/วัน ซึ่งขยะที่ลดลงไปนั้นสามารถประหยัดงบประมาณการจัดเก็บขยะใน 1 ปี ได้ประมาณ 300 ล้านบาท

อย่างไรก็ดี การกำหนดอย่างชัดเจนว่าต้องการอะไรสามารถทำให้การดำเนินการได้ผลอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งวิธีการทำให้ถึงเป้าหมาย แต่ละเขตจะดำเนินการแตกต่างกันออกไปในแต่ละพื้นที่ โดยที่ผ่านมาทำได้ค่อนข้างดี

ประเด็นดังกล่าวสอดคล้องกับการขับเคลื่อน SDG11 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 11.6 ลดผลกระทบทางลบของเมืองต่อสิ่งแวดล้อมต่อหัวประชากรโดยรวมถึงการให้ความสนใจเป็นพิเศษต่อคุณภาพอากาศและการจัดการของเสียของเทศบาลและอื่น ๆ ภายในปี 2573 เเละ SDG12 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 12.5 ลดการเกิดของเสียโดยให้มีการป้องกันการลดปริมาณการใช้ซ้ำและการนำกลับมาใช้ใหม่ ภายในปี 2573

เข้าถึงได้ที่ : กทม.แถลงผลโครงการ ‘ไม่เทรวม’ สามารถประหยัดงบจัดเก็บขยะได้ปีละกว่า 300 ล้าน – The Reporters

สภา กทม. ตัดงบสำนักการศึกษา โครงการห้องเรียนปลอดฝุ่น 

เมื่อวันที่ 6 กันยายน 2566 ในการประชุมสภากรุงเทพมหานคร สมัยประชุมวิสามัญ สมัยที่ 2 ที่คณะกรรมการวิสามัญฯ ได้ขอสงวนความเห็นไว้เพื่อขอให้สภากรุงเทพมหานครวินิจฉัย ตัดงบประมาณในการปรับปรุงห้องเรียนปลอดฝุ่น (clean air shelter) สำหรับเด็กอายุ 3-6 ขวบ ที่จะใช้งบประมาณ 219,339,000 บาท สำหรับโรงเรียน 429 โรง รวมจำนวนห้องเรียน 1,743 ห้อง ทั่วทั้ง 50 เขต ในสภากรุงเทพมหานคร โดยให้ความเห็นว่า ต้นทางการแก้ปัญหาคือ การปลูกฝังให้เด็กได้เรียนรู้การปลูกต้นไม้เพื่อกรองฝุ่น ควรปลูกฝังให้เด็กมีความรักและผูกพันกับต้นไม้ และอาจร่วมด้วยการงดกิจกรรมกลางแจ้ง ซึ่งเรื่องดังกล่าวมีมติเห็นชอบกับผู้สงวนความเห็น ให้ตัดงบประมาณ

อย่างไรก็ดี จากรายงานขององค์การยูนิเซฟ ระบุว่าฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ส่งผลกระทบต่อเด็กอย่างไม่สามารถแก้ไขได้ ปกติแล้ว เด็กมีอัตราการหายใจถี่กว่าผู้ใหญ่ นั่นหมายความว่าเด็กจะสูดอากาศที่มีมลพิษเข้าไปมากกว่าผู้ใหญ่ ยิ่งเด็กอายุน้อยเท่าไร อัตราการหายใจเข้าต่อนาทีก็ยิ่งถี่มากขึ้นเท่านั้น เมื่อฝุ่นผ่านเข้าไปในสมองของเด็ก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เด็กที่อยู่ในครรภ์มารดา ฝุ่นละอองเหล่านี้จะทำลายเซลล์สมอง ส่งผลกระทบต่อพัฒนาการทางสติปัญญา ซึ่งสามารถส่งผลต่อการเรียนรู้และความเป็นอยู่ในระยะยาว

ประเด็นดังกล่าวสอดคล้องกับการขับเคลื่อน SDG3 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 3.9 ลดจำนวนการตายและการเจ็บป่วยจากสารเคมีอันตรายและจากมลพิษและการปนเปื้อนทางอากาศ น้ำ และดิน ให้ลดลงอย่างมาก ภายในปี 2573 และ SDG11 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 11.6 ลดผลกระทบทางลบต่อสิ่งแวดล้อมต่อหัวประชากรในเขตเมือง รวมถึงการให้ความสนใจเป็นพิเศษต่อการจัดการคุณภาพอากาศ การจัดการของเสียของเทศบาล และการจัดการของเสียอื่น ๆ ภายในปี 2573

เข้าถึงได้ที่ : สภา กทม. ตัดงบสำนักการศึกษา โครงการห้องเรียนปลอดฝุ่น – The Standard และ แถลงการณ์จากยูนิเซฟ ประเทศไทย เรื่องมลพิษทางอากาศที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ และผลกระทบต่อเด็ก –  unicef

ผลงานนี้ได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิเพื่อการพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ ภายใต้โครงการเร่งรัดการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนด้านสุขภาพของประเทศไทย

Author

  • Knowledge Communication | มนุษย์ผู้เชื่อว่า “การสื่อสารสามารถเชื่อมต่อความรู้สึกของกันและกันได้” ไม่ว่าจะเป็นใคร อยู่ที่ไหน หรือเผชิญกับอะไรอยู่ การสื่อสารจะช่วยบอกเล่าเรื่องราวส่งไปให้แก่ผู้อื่นได้รับรู้

Exit mobile version