Site icon SDG Move

SDG Spotlight – 5 ข่าว SDGs น่าสนใจในรอบสัปดาห์ที่ 2 ประจำเดือนกันยายน 2566

จากการสำรวจข่าวสารความเคลื่อนไหวที่เกี่ยวข้องและส่งผลต่อการขับเคลื่อน SDGs ระหว่างวันที่  11  –  16กันยายน 2566 มีข่าวสารความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจ ดังนี้

ครม.มีมติย้ำยังไม่แก้ รธน. หมวด 1 และ 2 พร้อมรับฟังประชาชน 

ประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 13 กันยายน 2566 ในประเด็นเรื่องการแก้ไขปัญหาความเห็นต่างในรัฐธรรมนูญ 2560 มีมติตั้งคณะกรรมการศึกษาแนวทางแก้รัฐธรรมนูญ ซึ่งย้ำยังไม่มีแก้หมวด 1 และ 2 ในรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นประเด็นละเอียดอ่อน แต่พร้อมรับฟังจากประชาชนเพิ่มโดยยึดตามแนวทางของศาลรัฐธรรมนูญเป็นสำคัญ ซึ่งจะใช้เวทีรัฐสภาในการหารือรูปแบบแนวทางในการแก้ไขรัฐธรรมนูญและการทำประชามติเพื่อให้ประชาชนทุกภาคส่วนร่วมออกแบบกฎกติกาที่เป็นประชาธิปไตยร่วมกัน และจะนำคำถามที่เสนอโดยประชาชน 211,904 ชื่อและข้อเสนอจากคณะกรรมการที่เคยตั้งมาก่อนหน้านี้มาร่วมพิจารณาด้วย อย่างไรก็ตามกลุ่มประชาชนร่างรัฐธรรมนูญ แถลงย้ำข้อเสนอว่าร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับด้วย ทำความรู้จักสมาชิก สภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ที่เลือกตั้งจากประชาชน

ประเด็นดังกล่าวสอดคล้องกับการขับเคลื่อน SDG16 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 16.6 พัฒนาสถาบันทุกระดับให้มีประสิทธิผล มีความรับผิดชอบ และโปร่งใส และ 16.7 สร้างหลักประกันว่าจะมีกระบวนการตัดสินใจที่มีความรับผิดชอบ ครอบคลุม มีส่วนร่วม และมีความเป็นตัวแทนที่ดี ในทุกระดับการตัดสินใจ

เข้าถึงได้ที่ : ครม.มีมติตั้ง คกก.ศึกษาแนวทาง แก้ รธน. พร้อมรับฟังประชาชน ย้ำไม่แก้หมวด 1 และ 2 | ประชาไท Prachatai.com 

ก้าวไกลติงนโยบายค้าคาร์บอนเครดิต ไม่แก้ต้นเหตุโลกร้อน เสี่ยงแย่งยึดที่ดินชุมชนในป่า

สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ได้อภิปรายนโยบายการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยช่วยพิจารณาภาพใหญ่ว่าการจัดการกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต้องมีทั้ง 3 เสา ได้แก่ การบรรเทาผลกระทบ (mitigation) โดยการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก การพร้อมรับปรับตัวกับผลกระทบ (adaptation) และการดำเนินการกับความสูญเสียและความเสียหายหลังจากเกิดภัยพิบัติ (loss & damage) ที่ควรดำเนินการทั้งสามด้านไปพร้อม ๆ กัน ซึ่งนโยบายค้าคาร์บอนเครดิตของรัฐบาล ไม่สามารถแก้ไขต้นเหตุโลกร้อน พร้อมเสี่ยงทำให้เกิดการแย่งยึดที่ดินชุมชนในเขตป่า โดยย้ำว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นเรื่องที่ต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วนไปพร้อมกับคิดถึงประชาชน-รุกรับปรับตัว-มีธรรมาภิบาล

ประเด็นดังกล่าวสอดคล้องกับการขับเคลื่อน SDG13.2  โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 13.2 บูรณาการมาตรการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในในนโยบาย ยุทธศาสตร์ และการวางแผนระดับชาติ และ SDG16 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 16.7 สร้างหลักประกันว่าจะมีกระบวนการตัดสินใจที่มีความรับผิดชอบ ครอบคลุม มีส่วนร่วม และมีความเป็นตัวแทนที่ดี ในทุกระดับการตัดสินใจ

เข้าถึงได้ที่ : ก้าวไกล ติง ‘ครม.เศรษฐา’ นโยบายค้าคาร์บอนเครดิต ไม่แก้ต้นเหตุโลกร้อน เสี่ยงแย่งยึดที่ดินชุมชนในป่า | ประชาไท Prachatai.com

งานวิจัยพบคนอายุต่ำกว่า 50 ปี เป็นมะเร็งเพิ่มขึ้นถึง 80% ทั่วโลก

ผลการสำรวจวิจัยครั้งใหญ่ระดับโลกกับประชากรวัย 14-49 ปี ใน 204 ประเทศ และใช้ฐานข้อมูลทางการแพทย์ที่รวมถึงโรคมะเร็งในอวัยวะต่าง  ๆ 29 ชนิด ผลการศึกษาล่าสุดที่ตีพิมพ์ในวารสารการแพทย์ BMJ Oncology พบว่าจำนวนผู้ที่ป่วยด้วยโรคมะเร็งตั้งแต่อายุยังน้อย เพิ่มขึ้นจาก 1.82 ล้านคน ในปี 2533  มาอยู่ที่ 3.26 ล้านคน ในปี 2562 ส่วนจำนวนผู้ที่เสียชีวิตด้วยโรคมะเร็ง ทั้งที่ยังอยู่ในวัยเพียง 30-40 ปี เพิ่มสูงขึ้น 27% ทำให้ปัจจุบันมีคนอายุต่ำกว่า 50 ปี ที่ต้องเสียชีวิตไปก่อนวัยอันควรด้วยโรคมะเร็ง มากกว่าปีละ 1 ล้านคนทั่วโลก ซึ่งได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคมะเร็งกันเพิ่มขึ้นถึง 79% ตลอดช่วง 3 ทศวรรษที่ผ่านมา นอกจากนี้ นักวิจัยระบุเพิ่มเติมว่าหากไม่เร่งแก้ไขปัญหาทางสาธารณสุขเรื่องนี้โดยด่วน อัตราของผู้ป่วยโรคมะเร็งและผู้ที่เสียชีวิตด้วยโรคนี้ตั้งแต่อายุยังน้อย จะเพิ่มสูงขึ้นไปอีกถึง 31% และ 21% ตามลำดับ ภายในปี 2573

ประเด็นดังกล่าวสอดคล้องกับการขับเคลื่อน SDG3 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 3.4 ลดการตายก่อนวัยอันควรจากโรคไม่ติดต่อให้ลดลงหนึ่งในสาม ผ่านทางการป้องกันและการรักษาโรค และสนับสนุนสุขภาพจิตและความเป็นอยู่ที่ดี ภายในปี 2573 และ 3.d เสริมขีดความสามารถสำหรับทุกประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศกำลังพัฒนา ในเรื่องการแจ้งเตือนล่วงหน้า การลดความเสี่ยง และการบริหารจัดการความเสี่ยงด้านสุขภาพในระดับประเทศและระดับโลก

เข้าถึงได้ที่ : คนอายุต่ำกว่า 50 ปี เป็นมะเร็งกันเพิ่มขึ้นถึง 80% ทั่วโลก – BBC News ไทย 

การประชุมสุดยอด G20 ตั้งความหวังในการเดินหน้าบรรลุ SDGs ในอนาคต

เมื่อวันที่  9 – 10 กันยายน พ.ศ. 2566  ณ กรุงนิวเดลี ประเทศอินเดีย ได้มีการจัดการประชุมกลุ่ม G20  ผู้นำประเทศ ได้ร่วมกันให้คำมั่นที่จะดำเนินความร่วมมือกันในด้านต่าง ๆ เช่น เร่งการเติบโตที่แข็งแรง ยั่งยืน สมดุล และครอบคลุม เร่งรัดการดำเนินการตามวาระปี 2030 อย่างเต็มที่และมีประสิทธิภาพ พร้อมดำเนินการตามแนวทางการพัฒนาสู่คาร์บอนต่ำ การตั้งรับปรับตัวต่อสภาพภูมิอากาศ และเเนวทางการพัฒนาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนพร้อมขยายขอบเขตการจัดหาเงินทุนจากทุกแหล่ง เพื่อเร่งความก้าวหน้าของ SDGs 

ทั้งนี้ นอกรอบการประชุมสุดยอด G20 ผู้นำจากประเทศอินเดีย สิงคโปร์ บังคลาเทศ อิตาลี สหรัฐอเมริกา บราซิล อาร์เจนตินา มอริเชียส และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ได้เปิดตัว Global Biofuel Alliance (GBA) ซึ่งมีความคิดริเริ่มโดยประเทศอินเดียในฐานะประธาน G20 โดยมุ่งมั่นที่จะส่งเสริมความร่วมมือระดับโลกที่จะเร่งให้เกิดการบริโภคเชื้อเพลิงชีวภาพทั่วโลก

ประเด็นดังกล่าวสอดคล้องกับการขับเคลื่อน SDG7 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 7.a ยกระดับความร่วมมือระหว่างประเทศเพื่ออำนวยความสะดวกในการเข้าถึงการวิจัย และเทคโนโลยีพลังงานที่สะอาด โดยรวมถึงพลังงานหมุนเวียน ประสิทธิภาพการใช้พลังงาน และเทคโนโลยีเชื้อเพลิงฟอสซิลชั้นสูงและสะอาด และสนับสนุนการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานและเทคโนโลยีพลังงานที่สะอาด ภายในปี พ.ศ. 2573 และ SDG16 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 16.7 สร้างหลักประกันว่าจะมีกระบวนการตัดสินใจที่มีความรับผิดชอบ มีส่วนร่วม และมีความเป็นตัวแทนที่ดีในทุกระดับการตัดสินใจ และ SDG 17 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 17.14 ยกระดับความสอดคล้องเชิงนโยบายเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน และ  17.19 ต่อยอดจากข้อริเริ่มที่มีอยู่แล้วในการพัฒนามาตรการวัดความก้าวหน้าของการพัฒนาที่ยั่งยืน

เข้าถึงได้ที่ : G20 Recommit to SDGs to Shape the World We Want for Future Generations | News | SDG Knowledge Hub | IISD 

รายงานของ UN ชี้วาระการพัฒนาที่ยั่งยืนและ climate change  สามารถให้ผลประโยชน์ร่วมกัน

รายงานของสหประชาชาติที่จัดทำโดยกลุ่มผู้เชี่ยวชาญอิสระเรียกร้องให้รัฐบาลประเทศต่าง ๆ ร่วมกันจัดการกับวิกฤติสภาพภูมิอากาศและการพัฒนาที่ยั่งยืน ระบุว่าโลกสามารถใช้ประโยชน์จากการทำงานร่วมกันระหว่างเป้าหมายการจัดการและรับมือกับเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนมาทำงานร่วมกันแบบ Win-Win ซึ่งพบว่าในวาระการพัฒนาที่ยั่งยืนปี 2573 และความตกลงปารีส (Paris Agreement) ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศกำลังได้รับการดำเนินการที่ก้าวหน้าไปพร้อม ๆ กันสามารถให้ผลประโยชน์ร่วมสำหรับทั้งสองวาระ นอกจากนี้รายงานยังแสดงให้เห็นว่าการทำงานร่วมกันของทั้งสองวาระนั้น ขึ้นอยู่กับบริบทของประเทศและลำดับความสำคัญของประเทศ

ประเด็นดังกล่าวสอดคล้องกับการขับเคลื่อน SDG13  โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 13.2 บูรณาการมาตรการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในในนโยบาย ยุทธศาสตร์ และการวางแผนระดับชาติ SDG17 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 17.16 ยกระดับหุ้นส่วนความร่วมมือระดับโลกเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยร่วมเติมเต็มโดยหุ้นส่วนความร่วมมือจากภาคส่วนที่หลากหลาย

เข้าถึงได้ที่ : Co-benefits of Climate-SDG Synergies Far Outweigh Trade-offs: UN Report | News

ผลงานนี้ได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิเพื่อการพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ ภายใต้โครงการเร่งรัดการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนด้านสุขภาพของประเทศไทย

Author

  • Knowledge Communication | มนุษย์ผู้เชื่อว่า “การสื่อสารสามารถเชื่อมต่อความรู้สึกของกันและกันได้” ไม่ว่าจะเป็นใคร อยู่ที่ไหน หรือเผชิญกับอะไรอยู่ การสื่อสารจะช่วยบอกเล่าเรื่องราวส่งไปให้แก่ผู้อื่นได้รับรู้

Exit mobile version