SDG Updates | สรุปเสวนา “Broken Governance – ความผุพังของธรรมาภิบาล = รากความไม่ยั่งยืนของไทย”

เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ธรรมาภิบาลเป็นหนึ่งในประเด็นภายใต้ SDG16 สังคมที่สงบสุข ยุติธรรม สถาบันที่เข้มแข็ง ทว่าความสัมพันธ์ระหว่างเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนแต่ละเป้าหมายนั้นเชื่อมโยงกันอย่างไม่อาจแยกขาดจากกันได้  และการพัฒนาที่ครอบคลุมและเป็นธรรม ก็เป็นหัวใจสำคัญของการพัฒนาที่ยั่งยืน ดังนั้น การเสื่อมถอยของธรรมาภิบาลจึงส่งผลกระทบต่อประเด็นการพัฒนาในมิติอื่นด้วย จึงเป็นไปได้ยากยิ่งที่ประเทศไทยจะบรรลุการพัฒนาที่ยั่งยืนได้โดยมิได้ให้ความสำคัญกับการถกสนทนา และถอดรื้อปัญหาความเสื่อมโทรมของธรรมาภิบาลอย่างจริงจัง

เมื่อวันที่ 8 กันายน 2566 ที่ผ่านมา ศูนย์วิจัยและสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ในฐานะหน่วยงานภาควิชาการที่มีภารกิจในการติดตามและสื่อสารประเด็นที่ส่งผลกระทบต่อการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทยจึงกำหนดจัดงานเสวนาสาธารณะ ในหัวข้อ “Broken Governance | ความผุพังของธรรมาภิบาล = รากความไม่ยั่งยืนของไทย”  

โดยมีวิทยากรร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยน 3 ท่าน ประกอบด้วย

  1. ผศ. ดร.อรอร ภู่เจริญ ผู้อำนวยการสถาบันนโยบายสาธารณะ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
  2. คุณสฤณี อาชวานันทกุล กรรมการผู้จัดการ ด้านการพัฒนาความรู้ บริษัทป่าสาละ จำกัด
  3. ดร.กฤษฎา บุญชัย เลขาธิการสถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา

SDG Updates ฉบับนี้ จะพาทุกท่านเก็บตกประเด็นสำคัญจากวงเสวนาฯ เพื่อเป็นพื้นที่สื่อสาร และเน้นย้ำให้เห็นว่า ความเสื่อมถอยของธรรมาภิบาลส่งผลต่อการพัฒนาทั้งในมิติเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อมอย่างไร พร้อมเสนอแนะ แลกเปลี่ยนแนวทางและบทบาทของภาคส่วนต่าง ๆ ต่อการสร้างธรรมาภิบาลที่ดี ผ่านมุมมองของผู้ทำงานภาคประชาสังคม นักวิชาการ และผู้ทำงานในวิสาหกิจเพื่อสังคม ว่าการขับเคลื่อนการพัฒนาที่ยั่งยืนต้องให้ความสำคัญกับการสร้างธรรมาภิบาลที่ดีต่อไปอย่างไร


สรุปเสวนานี้แบ่งเป็น 2 ส่วน ส่วนแรก จะนำเสนอถึงประเด็นหลักที่ผู้ร่วมเสวนาได้นำเสนอถึงข้อความคิดเกี่ยวกับระบบอภิบาล หรือ Governance และสภาวะที่ระบบอภิบาลกำลังมีปัญหา หรือผุผัง ผ่านมุมมองที่แต่ละท่านได้มีโอกาสศึกษาหรือทำงาน ดังนี้

  • ผศ. ดร.อรอร ภู่เจริญ ชวนมองภาพใหญ่ นำเสนอ 5 ฐานคิดของ “Governance” เพื่อชี้ให้เห็นว่าทำไมประเทศไทยจึงอยู่ในภาวะความวิตกกังวล ผุพัง หรือสิ้นหวัง ในบริบทของการเมืองระดับชุมชน
  • ดร.กฤษฎา บุญชัย บอกเล่าพัฒนาการของ “Governance” ในสังคมไทยและปัญหาจากการไม่กระจายอำนาจสิ่งที่ทำให้เกิดสภาวะ “Broken Governance” ขึ้น ผ่านผลกระทบที่เกิดขึ้นในภาคสิ่งแวดล้อม
  • คุณสฤณี อาชวานันทกุล ฉายความเคลื่อนไหวในภาคเอกชน ความสำคัญของการมี “บรรษัทภิบาล” และอุปสรรคที่จะทำให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม

ส่วนที่ 2 จะเป็นการแลกเปลี่ยน ถาม-ตอบ คำถามของผู้รับชมร่วมเสวนา 


Section 1: Broken Governance

Panelist I – ‘ธรรมาภิบาล หรืออภิบาล’ กับ 5 ฐานคิดที่พยายามทำความเข้าใจว่า แต่ละสังคมมอง ‘Governance’ ต่างกัน

โดย ผศ. ดร.อรอร ภู่เจริญ ผู้อำนวยการ สถานบันนโยบายสาธารณะ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

จากประสบการณ์ที่มีโอกาสในการพัฒนาแนวคิดเกี่ยวข้องกับ “Governance” นิยามว่า “Governance”  นั้นหมายถึง “ระบบอภิบาล” ไม่เท่ากับคำว่า “ธรรมาภิบาล (Good Governance)” เพราะหากพูดถึงระบบอภิบาล นั่นหมายถึง กฎ กติกา ที่เราตกลงร่วมกันในการบริหารจัดการเรื่องราวต่าง ๆ ที่เราอยู่กันในสังคม 

ขณะที่ ผศ. ดร.อรอร เป็นที่ปรึกษาของคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญด้าน Public Administration ขององค์การสหประชาชาติ ได้ยื่นเสนอข้อคิดเห็นว่าด้วย “ความเป็นธรรม” (Justice) เราจะมัวจัดการแค่ในเชิงความเสมอภาคและความเท่าเทียมไม่ได้แล้ว แต่สิ่งที่ต้องทำเป็นการมองให้เห็นว่าสิ่งใดเป็นกำแพงที่ขวางกันความเป็นธรรมอย่างแท้จริงอยู่ เพราะฉะนั้นหากเรายังตาบอดกันอยู่และมองไม่เห็นว่าสิ่งใดคือกำแพงขวางกันที่แท้จริง ซึ่งถ้ามองอย่างผิวเผินความเป็นธรรม อาจอยู่เพียงในรูปแบบการออกกฎหมายหรือการใช้กฎหมายเท่านั้น หรือหากนิยามลึกลงไป อาจหมายถึงรากเหง้าของวัฒนธรรม ความเชื่อ จุดยืนหรืออุดมการณ์บางอย่าง ซึ่งเป็นมูลเหตุของความเป็นธรรมที่มีอยู่ในปัจจุบัน เช่น ความเชื่อว่ามนุษย์ทุกคนเกิดมาไม่สมควรที่จะได้รับความเสมอภาค ทุกคนเกิดมาดิ้นรนในระบบทุนนิยมเพื่อสร้างความร่ำรวยขึ้นมา 

ด้วยแนวคิดข้างต้นนำมาสู่งานเขียนชิ้น ชื่อว่า “Thailand in transition: paradoxical reform policies in the age of anxiety” ซึ่งได้นำเอากรอบความคิดระดับโลกมาวิเคราะห์กับสถานการณ์ของประเทศไทย เพื่อชี้ให้เห็นว่าทำไมประเทศไทยจึงอยู่ในภาวะความวิตกกังวล ผุพัง หรือสิ้นหวัง ในบริบทของการเมืองระดับชุมชน โดยมีหัวใจอยู่ที่ฐานคิดของ “Governance”  ซึ่งประกอบด้วย 5 ฐานคิด ดังนี้

ฐานคิดที่ 1: Ancient Public Administration เป็นฐานคิดแบบโบราณ มีรัฐบาลที่ต้องทำทุกอย่าง เชื่อมั่นในผู้นำ ต้องหาอัศวินขี่ม้าขาว ต้องมีความจงรักภักดี และมีความกตัญญูต่อผู้มีพระคุณของแผ่นดิน แนวคิดแบบโบราณนี้มีมาก่อนการมีประชาธิปไตย หลายประเทศมีการใช้ความกลัวและการข่มขู่เป็นเครื่องมือหลัก (Fear Based Governance) อาจจะมีระบอบผู้นำที่มาจากสายเลือด ผู้นำที่เข้ามาสู่อำนาจด้วยการใช้กำลัง รัฐแบบนี้จะเน้นการจับผิดคน และเน้นความมั่นคง ไม่เปลี่ยนแปลง ผู้คนส่วนจะถูกเรียกว่า “ราษฎร/ชาวบ้าน/สามัญชน” ยกตัวอย่าง (1) ภาพศิลปะของประเทศเกาหลีเหนือ และ (2) ภาพการเข้าแถวเคารพธงชาติของประเทศไทยที่อาจดูแล้วมีความย้องแย้งสวนทางกับระบอบประชาธิปไตย 

ฐานคิดที่ 2: Traditional Public Administration (1960s) เป็นฐานคิดแบบดั้งเดิม แนวคิดนี้มีระบบข้าราชการ มีเทคโนแครต (technocrat) คือเป็นคนที่มีความชำนาญเฉพาะด้านในการวิเคราะห์และนำเสนอนโยบาย มีการหาแนวปฏิบัติที่ดี (best practice) มีการทดลองโครงการนำร่อง มีการทำเอกสารที่ลงรายละเอียดในการทำงานทุกขั้นตอนซึ่งเป็นไปตามกฎหมาย แต่บางทีมีการใช้หลัก “Rule by Law” คือการใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือของเผด็จการ เอาไว้บังคับคนอื่น แทนที่จะใช้หลัก “Rule of Law” คือหลักนิติธรรมที่ทุกคนอยู่ภายใต้กฎหมาย ทำให้กลายเป็นวัฒนธรรมว่ากฎหมายไม่ให้ทำจึงไม่ทำ หรือการเลือกใช้กฎหมายบางเรื่องในกับบางคน ไม่ได้ใช้กับทุกคน แนวคิดนี้เริ่มมีการมองประชาชนเป็นผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง (voter) ยกตัวอย่าง ภาพกระทรวงศึกษาธิการและกระทรวงศึกษาธิการ ว่าถ้าอยู่ในฐานคิดนี้ระบบราชการจะเป็นผู้ออกแบบให้ว่าระบบการศึกษาควรจะเป็นอย่างไร อะไรเป็นวัฒนธรรมของเรา และอะไรไม่ใช่วัฒนธรรมของเรา ซึ่งจะอยู่ภายใต้กฎระเบียบและการตีความของภาครัฐ โดยใช้การปกครองโดยลำดับขั้น (hierarchy) ตามคำสั่ง และลำดับขั้นของความรับผิดชอบ 

ฐานคิดที่ 3: New Public Management (1980s) เป็นฐานคิดกลไกของการตลาด มีความเชื่อว่ารัฐยิ่งเล็กยิ่งดี เชื่อว่าการแข่งขันกันจะทำให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดในการจัดการทรัพยากร มีการใช้กลไกการตลาด และกลไกราคาเข้ามาเพื่อจัดการเรื่องราวต่าง ๆ ซึ่งเป็นการยอมรับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจแบบระบบทุนนิยม เริ่มมีการมองคนเป็นลูกค้า ซึ่งต้องมีการสอบถามความพึงพอใจในบริการเรื่องต่าง ๆ มีความสนใจในการใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีเพื่อความคุ้มค่าและคุ้มทุน ยกตัวอย่าง (1) ระบบการศึกษาในภาคเอกชน ใครมีเงินมากว่า ย่อมมีโอกาสได้รับคุณภาพการศึกษาที่ดีกว่า (2) การให้มหาวิทยาลัยอยู่ภายใต้การกำกับ เพื่อให้เกิดการแข่งขันกันมากขึ้น สร้างรายได้ของตนเองได้ บริหารงบประมาณของตนเองได้ และ (3) การพัฒนาอุตสาหกรรมสร้างสรรค์

ฐานคิดที่ 4: New Public Governance (2000s) เป็นฐานคิดของการมีชุมชนและเครือข่าย แนวคิดนี้เป็นสิ่งที่เข้ากับความพยายามของประเทศไทยในยุคที่มีการเขียนรัฐธรรมนูญปี 2540 ที่เป็นรัฐธรรมนูญฉบับที่มีความเป็นประชาธิปไตยมากที่สุด มีลักษณะการทำงานแบบ co-production คือ เน้นการทำงานที่มีส่วนร่วมอย่างแท้จริง ภาครัฐปล่อยอำนาจ โดยมีภาครัฐ เป็นผู้ขับเคลื่อน แล้วมีภาคส่วนอื่น เป็นผู้กระทำ ยกตัวอย่าง (1) ภาพการศึกษาแบบไม่จำกัดวัยหรือการศึกษาในรูปแบบแบบ Home School ที่หลุดออกจากภาครัฐหรือภาคเอกชน มาสู่การศึกษาที่มีทางเลือกมากขึ้น (2) ภาพการจัดกิจกรรมภายในงาน Bangkok Design Week ที่ร่วมกันแสดงออกทางความคิดสร้างสรรค์ที่จัดขึ้นกันเอง ไม่ได้มีการสั่งการผ่านหน่วยงานให้หน่วยงานหนึ่ง (3) ภาพศิลปะ Phuket Old Town Street Art ที่มีการเปิดพื้นที่แสดงออกทางศิลปะให้มีความหลากหลายมากยิ่งขึ้น (4) เว็บไซต์ The World’s Street Art Community เปิดกว้างโอกาสให้ศิลปินตัวเล็กได้แสดงผลงานในสายตาชาวโลก ตัวอย่างเหล่านี้สะท้อนให้ให้ถึงการทำงานที่พึ่งพาระบบรัฐและระบบทุนให้น้อยลง และเน้นการสร้างเครือข่ายให้มากขึ้น

ฐานคิดที่ 5: Smart Sustainable Governance (2020s) เป็นฐานคิดใหม่ที่สุด ซึ่งเริ่มเห็นว่าจะช่วยเข้ามาปรับสิ่งที่ผุพังได้ แนวคิดนี้มีเป้าหมายสูงสุดของระบบธรรมาภิบาล คือ “ความยั่งยืนอย่างเป็นธรรม” ให้ความสำคัญกับ “ความยั่งยืน” ในมิติการรับมือกับความท้าทายที่โลกเผชิญอยู่โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ฐานคิดนี้มองว่า ต้องทำทุกวิถีทางให้มนุษย์เข้าถึงชีวิตที่ “เป็นธรรม” สำคัญที่สุดโดยไม่เกี่ยวข้องกับสังคม เศรษฐกิจ การเมือง หรือเรื่องอื่นใด ซึ่งจะต้องผลักดันการไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง สำหรับฐานคิดนี้นี้รัฐบาลสามารถเป็นได้หลายบทบาทขึ้นอยู่กับแต่ละเรื่อง ที่สำคัญคือมีการสื่อสารแลกเปลี่ยนกันอยู่ตลอดเวลา 

ดังนั้นแนวคิดนี้จึงมีความเกี่ยวโยงกับ “Justice” ที่ได้กล่าวไปในตอนต้น ไม่ว่าจะเป็นการใช้อารมณ์ ความรู้สึก ความจำ ความเป็นอกเห็นใจ ความรู้สึกเชื่อมโยงซึ่งกันและกัน เหล่านี้เองเป็นสิ่งที่ฝ่ายที่ทำงานในด้านจิตวิญญาณ แต่ฝ่ายนโยบายสาธารณะหรือคนทั่วไปยังไม่ได้มีการนำมาผนวกกับเรื่องราวต่าง ๆของตนเองและงานที่ทำอยู่ 

สามารถสรุปได้ว่า แนวทางนี้คือการยอมรับในสิ่งที่มนุษย์มโนและประดิษฐ์ขึ้นมา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องรัฐชาติ บริษัท กฎหมาย สิทธิมนุษยชน ประชาธิปไตย ธนาคาร การเงิน พระเจ้า หรือศาสนา เพราะฉะนั้น นโยบายสาธารณะ จึงเป็นพื้นที่ที่สามารถประดิษฐ์ใหม่ได้ เรื่องของแนวคิดเรื่องจิตวิญญาณจึงมีความเชื่อมโยงกัน (oneness) อย่างมีการขับเคลื่อน (movement) ยกตัวอย่างเช่น การกั้นแม่น้ำโขงในประเทศจีนจะส่งผลกระทบอย่างไรต่อแม่น้ำทั้งหมดและผลกระทบอะไรจะเกิดขึ้นกับสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ที่เกี่ยวข้อง โดยความเชื่อมโยงภายใน (Interconnectedness) สามารถพิสูจน์ได้ หากเราศึกษาข้อมูลและพิสูจน์หาความเชื่อมโยง ทั้งหมดทั้งมวลนี้จะต้องเชื่อมโยงกับโลกภายในของเราด้วย ซึ่งถ้าเราสามารถทำตรงนี้ได้ เชื่อว่า “interconnectedness” หรือ “oneness” ซึ่งเป็นเรื่องจริงไม่ใช่แค่จินตนาการ หากจัดการข้อมูลออกมาดีได้ ก็จะสามารถโน้มน้าวให้เทคโนแครตหรือกลุ่มที่จะไปบอกเล่าเรื่องราวเหล่านี้ต่อให้เห็นได้ตรงกัน และมีความเข้าใจว่า การกระทำของมนุษย์ทุกคน ทุกบริษัท ทุกรัฐบาล ล้วนนมีผลเป็น Butterfly Effect ต่อเนื่องกันทั้งหมด 

ยกตัวอย่างนโยบาย เช่น (1) Ethical Foundations: การนำฐานคิดนี้มาใช้กำหนดเป็นนโยบายจริยธรรมใหม่ เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน ความเป็นธรรมในสังคม การปกป้องสิ่งแวดล้อม และการรักษาโลกใบนี้ (2) Environmental Policy และ (3) Criminal Justice and Rehabilitation ระบบยุติธรรมว่าด้วยเราจะมองเพื่อนมนุษย์อย่างไรในฐานะของนักโทษคดีทางอาญา 


Panelist II – จากการรวมศูนย์อำนาจสู่กระจายออก: เพราะการกระจายอำนาจไม่เกิดขึ้นจริง “Governance” จึงต้องผุพัง

โดย ดร.กฤษฎา บุญชัย สถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา

ดร.กฤษฎา ชวนมองถึงสิ่งที่เป็นรูปธรรมในประเด็นสิ่งแวดล้อมและทรัพยากร จะเห็นได้ว่า สมัยก่อนรัชกาลที่ 5 ทรัพยากร คือสิ่งที่เป็นรูปธรรม หรือเรียกว่า “ชีวิตสาธารณะ” ที่ผู้คนใช้ประโยชน์ร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นป่า น้ำ ดิน แต่สิ่งที่เกิดขึ้นหลังจากรัฐก่อร่างขึ้นในรูปแบบรวมศูนย์อำนาจ ทำให้ทรัพยากรสาธารณะและชีวิตสาธารณะถูกรัฐยึดเอาไป จากเดิมที่เราสามารถใช้ประโยชน์กันเองได้ และมีองค์การของท้องถิ่นที่หลากลายในรูปแบบของวิถีชีวิตที่ผู้คนจัดการสาธารณะด้วยกัน ยกตัวอย่างเช่น ภาคเหนือจะมีองค์กรเกี่ยวกับฝายคอยดูแลเรื่องน้ำ หรือชาวบ้านที่ดูแลป่าร่วมกัน ในด้านหนึ่งของการมีอยู่ขององค์กรแบบนี้ทำให้ชาวบ้านคอยดูแลและพึ่งพิงกันได้ ถึงแม้ว่าจะถูกรัฐพยายามเปลี่ยนแปลงให้เป็นสินค้ามากขึ้น แต่ในอดีต เรามีพื้นที่ให้ชุมชนได้มีอิสระอยู่ส่วนหนึ่ง 

เมื่อมีโครงสร้าง “Governance” แบบรวมศูนย์อำนาจอยู่ที่หน่วยงานรัฐ ทำให้เกิดกรมป่าไม้ในปี 2439 และต่อมาเกิดกรมชลประทานในเวลาใกล้เคียงกัน รวมถึงกรมที่ดินด้วย สิ่งเหล่านี้ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมหาศาลที่เรียกว่า “Common Property” หรือทรัพยากรสาธารณะ กล่าวคือ ทรัพยากรที่ชุมชนเคยให้ประโยชน์เปลี่ยนไปเป็นทรัพยากรของรัฐ มีกฎหมายที่น่าสนใจอย่างพระราชบัญญัติป่าไม้ ปี 2484 ระบุไว้ว่าพื้นที่ใดที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์พื้นที่นั้นถือเป็นพื้นที่ป่าของรัฐ นั่นทำให้มีคนจำนวนมากยังอยู่ในป่า ไม่ว่าจะเป็นป่าอนุรักษ์หรือป่าสงวนจนถึงทุกวันนี้

เมื่อทรัพยากรที่ชุมชนใช้ประโยชน์ถูกผูกขาดให้คนเข้าไม่ถึง ผลที่ตามมาคือ การเติบโตทางเศรษฐกิจที่นำทรัพยากรเหล่านี้ไปสนับสนุนนโยบายเพื่อการส่งออกของรัฐ แต่ในอีกด้านหนึ่งคือความยากจน การสูญเสียทรัพยากร การเคลื่อนย้ายของผู้คนจากการละทิ้งถิ่นฐาน ทำให้เกิดเป็นความล้มเหลวของ Governance ซึ่งผู้คนต้องทนทุกข์และแบกรับภาระของการสูญเสียเหล่านี้ ซึ่งจะเห็นการเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างผ่านชีวิตของผู้คนเต็มไปหมด

เราจะเห็นได้ว่า ช่วงวิกฤติเศรษฐกิจในปี 2540 ทำให้เกิดความล้มเหลวของภาคธุรกิจการเงิน และการเติบโตของวิธีคิดแบบการใช้กลไกราคา (market based) ที่รุนแรงขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำให้เริ่มมีการพูดถึง สิ่งที่เรียกว่า “ธรรมรัฐ” (Good Governance) ในยุคนั้นหมายถึง การจัดการแบบรวมศูนย์นั้นไม่น่าจะไปรอด ในช่วงนั้นเริ่มมีแนวคิดในเรื่องเอกชนเข้ามามากขึ้น 

ยกตัวอย่างให้เห็นเป็นรูปธรรม เช่น นโยบายการแปลงสินทรัพย์เป็นทุน จากภาครัฐจนถึงประชาชน จะเห็นว่านอกจากทรัพยากรจะถูกผูกขาดอยู่แล้วจะยิ่งรุนแรงมากขึ้น เช่น สัดส่วนการถือครองที่ดินของชาวนาตกต่ำลงมาจากการพัฒนา การสัมปทานป่าไม้ถูกเปลี่ยนแปลงเป็นการขยายพื้นที่อนุรักษ์ในขณะเดียวกันสวนป่าของเอกชนก็ขยายเพิ่มมากขึ้น 

จะเห็นได้ว่า Governance จากเดิมที่เคยถูกคิดแบบรัฐเป็นศูนย์กลาง เริ่มมีวิธีคิดแบบเอกชนมากขึ้น กล่าวคือ เพิ่มระบบการผูกขาดที่ซับซ้อนมากขึ้น ไม่ได้ถูกกระจายออกมาสู่ชุมชน สิ่งเหล่านี้ทำให้เกิดความรุนแรงของปัญหาหลายอย่างตามมา เช่น การเติบโตของเมกะโปรเจกต์ (megaproject) ขนาดใหญ่ ระเบียงเศรษฐกิจที่ตามมาอย่างโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor: EEC) อุตสาหกรรมจะนะในภาคใต้ โครการลงทุนโรงไฟฟ้าต่าง ๆ ที่ภาคเอกชนเข้ามามีบทบาทมากกว่าภาครัฐเสียด้วยซ้ำ เราเห็นทุนของภาคพลังงาน ทุนของภาคอุตสาหกรรมการเกษตร ซึ่งเรากำลังบอกว่า “Governance” เป็น“Corporate Governance” ที่เอกชนจะดูแลให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น หรือแบ่งปันอำนาจร่วมกับภาครัฐ แต่ขาดองค์ประกอบที่สำคัญไปหรือไม่ แล้วภาคชุมชนและสังคมที่เคยมีฐานทรัพยากรที่ใช้ในการดำรงชีพเพื่อความมั่นคงในด้านต่าง ๆ นั้นหายไปไหน จึงทำให้เกิดการเรียกร้องกันอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด ซึ่งสิ่งที่อยากเห็น คือ “Governance” ที่มาจากฐานของคนข้างล่าง ประชาชน ชุมชน และท้องถิ่นในรูปแบบต่าง ๆ 

หากดูปรากฏการณ์ในระดับโลก จะเห็นถึงขบวนการของเกษตรกรเครือข่ายชาวนาโลกที่ต่อสู้กับปัญหาบริษัทข้ามชาติที่มายึดครองทรัพยากรความมั่นคงทางอาหาร มีขบวนการชนพื้นเมืองที่ต่อสู้เรื่องระบบนิเวศปกป้องผืนป่า มีเครือข่ายผู้บริโภค มีเครือข่ายประชาสังคม (civil society) ที่มีจุดร่วมเดียวกันในคำว่า “Common” ที่จะทำอย่างไรให้ทรัพยากรจะกลับมาเป็นของสาธารณะ และต้องไม่ใช่สาธารณะที่รัฐผูกขาด แต่เป็นสาธารณะที่ชุมชนได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการ 

แนวคิดเรื่องการจัดการทรัพยากรร่วม (Common-Pool Resources-CPRs) ให้มีความยั่งยืนแนวคิดของ Elinor Ostrom ซึ่งสอดคล้องกับสิ่งที่เครือข่ายของชุมชนพยายามต่อสู้มาตลอด เช่น เขื่อนที่ถูกสร้างแล้วจะทำอย่างไรให้ชาวบ้านบริหารจัดการน้ำได้ ป่าที่ถูกรัฐหรือเอกชนเอาไปจะทำอย่างไรให้ชุมชนได้รับการแบ่งปันหรือมีสิทธิในการบริการจัดการในส่วนนั้นได้ รวมถึงปัญหาพันธุ์พืชที่ผูกขาด ทั้งที่มีพันธุ์พืชที่หลากหลายในระบบนิเวศป่าเขตร้อนของบ้านเรา แต่กลับถูกผูกขาดให้เหลืออยู่เพียงไม่กี่พันธุ์โดยกลุ่มบรรษัทไม่กี่ชนิด โดยใช้ระบบทรัพย์สินทางปัญญาและเทคโนโลยีบางอย่างเข้าไป เพราะฉะนั้น Governance จึงถูกท้าทาย ว่าไม่ได้ขึ้นอยู่กับรัฐบาลเพียงอย่างเดียว หรือภาคเอกชนเพียงอย่างเดียว แต่ยังมีภาคสังคมเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย 

ขณะที่คำว่า “Broken Governance” คือการที่ยังไม่กระจายอำนาจมาสู่ประชาชนและชุมชนอย่างแท้จริง แต่มีเพียงวลีและวาทกรรมที่สวยงามเท่านั้น นำมาสู่การตั้งคำถามว่า ถ้าหากจะสร้าง Governance ที่สมดุลนั้น ไม่ควรจะเป็นเรื่องของการสร้างภาษาหรือเช็คลิสต์ (checklist) ขึ้นมาว่าเราทำได้กี่ข้อ แต่ควรจะใส่ใจเรื่องโครงสร้างความสัมพันธ์ทางอำนาจเหล่านี้ ซึ่งรัฐไทย ณ ปัจจุบันยังเป็นระบบ Governance ที่ถูกผูกขาด สั่งการ และกำกับ ยกตัวอย่างเช่น 

(1) นโยบายของรัฐบาลใหม่ ยังไม่สะท้อนเรื่องการกระจายอำนาจในเรื่องทรัพยากรอย่างแท้จริง ซึ่งเป็นคอขวดของปัญหา หากเราไม่กระจายอำนาจการถือครองที่ดิน แค่ไปออกโฉนดที่ดินให้ชาวบ้านที่อยู่ในพื้นที่ของรัฐ แล้วประชาชนที่เหลือจะถือครองที่ดินได้อย่างไร แล้วที่ดินเหล่านั้นจะไม่หลุดมือไปหรือหากไม่มีการคิดเรื่องการกระจายอำนาจการถือครองที่ดิน 

(2) การแก้ปัญหาเอลนิโญ ในการบริหารจัดการน้ำ ยังมีระบบเขื่อนขนาดใหญ่เป็นคำตอบของรัฐอยู่เลย การกระจายอำนาจให้ชุมชนและองค์กรผู้ใช้น้ำให้มีอำนาจในการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ของตนเองยังไม่เกิดขึ้น เพราะยังขาดกรอบความคิด และแนวคิดในเรื่องของการกระจายอำนาจให้เกิดการจัดการร่วมกัน 

(3) ประเทศไทยลงนามในข้อตกลงเกี่ยวกับความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งมีหลักการสำคัญอันหนึ่งว่าด้วยการเคารพและส่งเสริมสิทธิของคนพื้นเมือง ชุมชนท้องถิ่น และกลุ่มเกษตรกรในเรื่องความหลากหลายทางชีวภาพ แต่พอหน่วยงานรัฐเลือกตัวชี้วัดกลับไม่มีข้อนี้ ทำให้สาระสำคัญนั้นหายไป เพราะถูกเลือกใช้เลือกปฏิบัติกันอยู่ตลอดเวลา

สุดท้ายแล้วเราต้องสร้างสิ่งที่เรียกว่า การหันกลับมาสู่การมีอำนาจและมีทรัพยากรร่วมของกลุ่มคนในพื้นที่ สร้างระบบรับประกัน สร้างระบบคุ้มครอง ให้การสนับสนุน รวมถึงช่วยวางแผนข้อมูลการใช้น้ำ การใช้ที่ดิน โดยไม่ได้เข้าไปควบคุมผูกขาด แต่เข้าไปในฐานะที่ปรึกษาให้เกิดการปรับตัวและสามารถบริหารจัดการกันเองได้


Panelist III – “Governance” ไม่ใช่แค่รัฐบาล: ความสำคัญของ “บรรษัทภิบาล” และอุปสรรค

โดย คุณสฤณี อาชวานันทกุล กรรมการผู้จัดการ บจก. ป่าสาละ

คุณสฤณี ได้เน้น 2 ประเด็นหลัก คือ (1) ข้อสังเกตของ Governance และ (2) โจทย์หลักของบรรษัทภิบาลว่าสิ่งใดเป็นอุปสรรค 

ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจกับคำว่า “ธรรมาภิบาล” กันก่อนว่า เราไม่ควรจะสับสนระหว่างคำว่า “Governance” ที่แปลตรงตัวว่าเป็นระบบอภิบาล/การกำกับดูแล ซึ่งถ้าคนแปลว่าเป็นการกำกับดูแล ก็อาจจะเข้าใจผิดกันไปอีกว่าเป็นการกำกับดูแลโดยรัฐหรือเป็นหน้าที่ของรัฐ ซึ่งแท้จริงแล้วรัฐต้องอยู่ในฐานะผู้เล่นในการอภิบาลเท่านั้น เพราะฉะนั้นตีกรอบความหมายแบบแคบ ๆ ว่า Governance คือหน้าที่ของรัฐ ก็จะทำให้เรามองไม่เห็นความเป็นไปได้เลยที่จะมีภาคส่วนอื่น ๆ เข้ามาร่วมในการอภิบาล 

อาจเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องปรับการใช้คำให้เหมาะสม เพราะหากให้แปลคำว่า ธรรมาภิบาล = Good Governance ก็อาจจะทำให้เข้าใจผิดอยู่ดี เพราะ “ธรรมมะ + อภิบาล” ทำให้นึกถึงธรรมมะในเชิงศาสนา ซึ่งอาจไม่สอดคล้องกับหลักการอภิบาลที่ดีเสียทีเดียว แต่ในระดับของภาคเอกชนมีคำที่คิดขึ้นมาว่า “บรรษัทภิบาล = Corporate Governance คือระบบอภิบาลของระดับบริษัท” ซึ่งทำให้เข้าใจตรงกันได้ง่ายกว่า

คุณสฤณี ชวนแลกเปลี่ยนถึงประเด็นระบบอภิบาลในระดับบริษัทเอกชนไปจนถึงระดับการอภิบาลอินเทอร์เน็ต (internet governance) ซึ่งช่วงหนึ่งได้มีการรณรงค์เรื่องเสรีภาพในการแสดงออกออนไลน์ และสิทธิความเป็นส่วนตัวออนไลน์ ทำให้มีการกำกับดูแลอินเทอร์เน็ต เนื่องจากช่วงนั้นมีความพยายามในการร่างจดหมายดิจิทัลขึ้นมาหลายชุด ซึ่งว่ามันเป็นการปิดกั้นประชาชนและใช้เป็นเครื่องมือในการปิดปากห้ามแสดงความคิดเห็น ถ้ามองในมุมของฐานคิดอย่างที่อาจารย์อรอรอธิบายข้างต้น อาจคิดว่า Internet Governance ควรจะเป็นเรื่องที่รัฐบาลในประเทศต่าง ๆ ได้กำหนดกติกา หรือบางคนก็บอกว่าควรจะมีองค์กรอย่างองค์การสหประชาชาติ (United Nations: UN) บนโลกอินเตอร์เน็ตเข้ามาช่วยกำกับ หรือบางกลุ่มก็ไม่เห็นด้วย มองว่าเป็นการใช้อำนาจรัฐที่ผูกขาดและตั้งคำถามว่ามีความจำเป็นหรือไม่ เพราะโครงสร้างของอินเตอร์เน็ตก็มาจาก Code และ Protocol ซึ่งเป็นการรวมตัวกันที่ไม่ใช่อำนาจของรัฐตั้งแต่ต้น เพราะฉะนั้นบางกลุ่มจึงใช้ฉันทามติของชุมชนเป็นกลไกหลักในการกำกับมากกว่า 

นอกจากนี้ เมื่อกล่าวถึงเรื่องของความยั่งยืน แน่นอนว่า “การมีส่วนร่วมคือหัวใจของการพัฒนาที่ยั่งยืน” แต่คำถามคือการมีส่วนร่วมจะสามารถเกิดขึ้นได้มากน้อยแค่ไหน ถ้าหากว่าเรายังตีกรอบ Governance ในแบบแคบ ๆ อยู่ว่าเป็นหน้าที่ของรัฐเท่านั้น หรือเรายังยอมให้รัฐเป็นผู้เล่นหลักในการจัดการทุกเรื่อง นอกเหนือจากสิ่งที่เราต้องคุยกันให้ชัดในเรื่องของฐานคิดแล้ว ต้องถึงความเป็นไปได้ของบทบาทของผู้เล่นในภาคส่วนต่าง ๆ ในการเข้ามามีส่วนร่วมในระบบการอภิบาล คิดว่าการมองให้เห็นถึงเป้าหมายก็เป็นเรื่องสำคัญเช่นกัน ซึ่งในระดับของบรรษัทภิบาลในภาคธุรกิจก็ได้มีการใช้มาพอสมควรและในยุคของการพัฒนาที่ยั่งยืน ก็มีการเพิ่มเติม คณะกรรมการของบริษัท ทำหน้าที่ในการดูแลในประเด็นเรื่องความยั่งยืน ดูแลผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต่าง ๆ เพิ่มมากขึ้น

หลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี (Corporate Governance Code: CG Code) ปี 2560 ของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) จะเห็นว่ามีหลักปฏิบัติหลักที่ต้องทำตามอยู่ประมาณ 7-8 ข้อ ซึ่งในหลักปฏิบัติข้อ 1.2 เขียนไว้งชัดเจนว่า ในการสร้างคุณค่าให้แก่กิจการอย่างยั่งยืน คณะกรรมการควรกำกับดูแลกิจการให้นำไปสู่ผล (governance outcome) อย่างน้อย ดังต่อไปนี้ 

โดยข้อแรกจะมองในมุมของผลประกอบการของบริษัท

1. สามารถแข่งขันได้และมีผลประกอบการที่ดีโดยคำนึงถึงผลกระทบในระยะยาว (competitiveness and performance with long-term perspective) 

แต่ถ้าสังเกต 3 ข้อถัดมา จะเห็นว่าไม่ใช่เรื่องของผลประกอบการทางการเงินแล้ว

2. ประกอบธุรกิจอย่างมีจริยธรรม เคารพสิทธิและมีความรับผิดชอบต่อผู้ถือหุ้น และผู้มีส่วนได้เสีย (ethical and responsible business)

3. เป็นประโยชน์ต่อสังคม และพัฒนาหรือลดผลกระทบด้านลบต่อสิ่งแวดล้อม (good corporate citizenship)

4. สามารถปรับตัวได้ภายใต้ปัจจัยการเปลี่ยนแปลง (corporate resilience)

ซึ่งถ้าผลลัพธ์จากการดำเนินกิจการไม่ได้ออกมาเป็นอย่างที่ระบุไว้ ก็จะเกิดคำถามต่อคณะกรรมการทันทีถึงการกำกับดูแลกิจการว่าทำไมจึงมีผลลัพธ์ไม่ดี ซึ่งเป็นอีกวิธีหนึ่งของจุดเริ่มต้นในการตั้งคำถามถึงประสิทธิภาพของบรรษัทภิบาล โดยคำนึงถึงผลลัพธ์เป็นหลัก โดยเฉพาะเวลาที่เกิดผลลัพธ์ในเชิงลบ (negative outcome) หรือผลลัพธ์ที่แย่ 

ยกตัวอย่างเช่น การซื้อขายหุ้นโดยใช้ข้อมูลภายในหรือบริษัทนั้น สร้างผลกระทบที่เลวร้ายต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ถ้าเกิดเหตุการณ์เหล่านี้สิ่งแรกที่เกิดขึ้น คือกลไกของบรรษัทภิบาลควรถูกตั้งคำถาม แต่ปัจุบันสังคมไทยแย่ขนาดที่ว่าต่อให้ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจะแย่ขนาดไหน ก็ยังคงไม่มีความรับผิดรับชอบเกิดขึ้น ทั้งนี้ไม่ได้เกิดขึ้นแค่ในมุมของบริษัทเท่านั้นแต่เรายังเห็นได้ในระดับหน่วยงานรัฐ เช่น ข้าราชการระดับสูงมีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม เมื่อเรื่องราวถูกเปิดเผยก็ไม่ได้มีอะไรเกิดขึ้น ซึ่งสิ่งนี้เองทำให้เราประเมินได้ว่าบรรษัทภิบาลของเรานั้นแย่แค่ไหน โดยดูได้จากผลลัพธ์ (Outcome)และกระบวนการรับผิดชอบต่อความเสียหาย (Accountability) นั้นเป็นอย่างไร”

ขณะที่ตาม หลักปฏิบัติข้อ 1.3 คือคณะกรรมการมีหน้าที่ดูแลให้กรรมการทุกคนและผู้บริหารปฏิบัติหน้าที่ด้วยความรับผิดชอบ ระมัดระวัง (duty of care) และซื่อสัตย์สุจริตต่อองค์กร (duty of loyalty) และดูแลให้การดำเนินงานเป็นไปตามกฎหมาย ข้อบังคับ และมติที่ประชุมผู้ถือหุ้น ชัดเจนอยู่แล้วว่าคณะกรรมการควรมีหน้าที่รับผิดชอบด้วยเมื่อเกิดผลลัพธ์ที่แย่ 

อีกหนึ่งโจทย์ที่ยกตัวอย่าง คือเครื่องมือที่ใช้ในการตรวจสอบระบบบรรษัทภิบาลที่นอกเหนือจากการรับผิดชอบเมื่อเกิดปัญหา ยังมีเครื่องมืออย่างอื่นหรือไม่ที่สามารถบอกเราได้ว่าในแต่ละบริษัทมีการกำกับดูแลกิจการที่ดีหรือไม่ดีแค่ไหน 

ในโลกของทางการเงินก็ถือเป็นปัญหาโลกแตกเช่นกัน เพราะที่ผ่านมามีงานวิจัยของ Standford School of Business ได้ทำการวิจัย พบว่า ความสัมพันธ์ของ Rating คะแนนด้าน Corporate Governance ที่ใช้ในอเมริกา เทียบกับกรณีที่เกิดปัญหาขึ้นแล้วไม่มีความสอดคล้องไปในทางเดียวกัน กล่าวคือ คะแนนประเมินระดับบรรษัทภิบาลไม่สามารถช่วยให้ผู้ลงทุนตัดสินในการลงทุนซื้อหุ้นได้ ส่วนในประเทศไทยเองยังไม่เคยเห็นผู้ทำวิจัยในเรื่องนี้ ว่าคะแนนของ CG Rating กับผลลัพธ์ที่ออกมามีความสอดคล้องกันจนสะท้อนระบบบรรษัทภิบาลที่ใช้กำกับดูแลอยู่ได้หรือไม่ ซึ่งถ้าหากตั้งข้อสังเกตตอนนี้ถึง CG Rating ที่จัดทำขึ้นโดยสมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย (Thai Institute of Directors: IOD) นั้น ได้เข้าไปอยู่ในตัวชี้วัดต่าง ๆ และถูกใช้เป็นองค์ประกอบของรางวัลบรรษัทภิบาลดีเด่นด้วย เราจะเห็นว่า มีบริษัทเพียง 6% เท่านั้นของบริษัททั้งตลาดที่ได้คะแนนในระดับต่ำ คือ 2 ดาวลงมา ส่วนอีก 94% ของบริษัททั้งหมดนั้นได้คะแนนดีในระดับ 3 ดาวขึ้นไป ซึ่งเมื่อเทียบเป็นการเรียนอาจถูกตั้งคำถามได้ว่าข้อสอบเราง่ายเกินไปหรือไม่ หรือมีนักเรียนลอกข้อสอบกันหรือไม่ 

เพราะฉะนั้นจะเห็นว่า การหาชุดตัวชี้วัดที่สามารถบ่งบอกถึงระดับการกำกับดูแลบรรษัทภิบาลที่ดีได้นั้น เป็นเรื่องที่ท้าทายมาก ไม่ใช่แค่เฉพาะสำหรับประเทศไทยแต่ยังรวมถึงประเทศอื่น ๆ ทั่วโลกด้วย ส่วนตัวจึงมองว่า ควรให้ความสำคัญกับการรับผิดรับชอบ (Accountability) เมื่อเกิดเหตุการณที่เห็นชัดว่าบรรษัทภิบาลบกพร่องเสียมากกว่า ตรงนี้น่าจะเป็นตั้งต้นให้เราเริ่มพูดคุยและหาทางออกได้ดีกว่า

Section 2: ช่วงแลกเปลี่ยน และถาม-ตอบ


คำถาม : ประเทศไทยมีบริษัทข้ามชาติที่ยังขาดการตรวจสอบอยู่มากมาย จะสามารถจัดการและดำเนินการได้อย่างไร


คุณสฤณี ตอบประเด็นนี้ว่าหากย้อนไปเวลาเราพูดถึง Corporate Governance เราจะเริ่มต้นที่หน้าที่ความรับผิดชอบของกรรมการของบริษัทเป็นหลัก ทีนี้เมื่อตีความจากคำถาม สมมติว่ามีบริษัทข้ามชาติเข้ามาดำเนินการบางอย่างในประเทศไทยแล้วสร้างความเสียหายหรือความเดือดร้อนบางอย่างขึ้น เราจะคาดหวังให้การกำกับดูแลของเขาทำอะไรบ้าง ซึ่งถ้าทุกบริษัทก็จะบอกว่า พวกเขามีกลไกในการรับเรื่องร้องเรียน (Complain Mechanism) หรือหลายบริษัทมีการเริ่มอ้างเรื่องสิทธิมนุษยชน จะบอกว่าใครก็ตามที่ได้รับผลกระทบจากการดำเนินงานของบริษัทสามารถเข้าไปร้องเรียนในช่องทางรับเรื่องร้องเรียนไว้ และจะมีขั้นตอนที่เปิดเผยว่าจะมีการจัดการอย่างไรต่อ หรือจะตอบกลับภายในเวลาเท่าไหร่ การมีสิ่งเหล่านี้บนเอกสาร (On Paper) เป็นคนละเรื่องกันกับประสิทธิภาพและประสิทธิผล แต่หากเกิดปัญหาดำเนินการตามนี้ก่อน ไม่ใช่การไปเรียกร้องหรือร้องเรียนจากหน่วยงานอื่นส่วนตัวในฐานะที่ทำวิจัยและเริ่มอบรมเกี่ยวกับหลักการชี้แนะเกี่ยวกับธุรกิจและสิทธิมนุษยชน กลไกนี้เป็นประตูบานหนึ่งที่น่าจะนำไปสู่ความหวังให้มี Governance ที่ดีขึ้นสำหรับการลงทุนข้ามพรมแดนได้ อย่างประเทศไทยตอนนี้ เรามีสิ่งที่เรียกว่า “แผนปฏิบัติด้านธุรกิจเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนระดับชาติ” ซึ่งการลงทุนข้ามชาติเป็นหนึ่งในสี่เรื่องใหญ่ที่จะให้ความสำคัญ ดังนั้นหากมีบริษัทของไทยที่ไปลงทุนแล้วสร้างความเสียหายให้ต่างชาติ นอกจากจะใช้กลไกรับเรื่องร้องเรียนของบริษัทเองแล้ว หน่วยงานของรัฐเองก็มีหน้าที่ในการกำกับดูแลในการลงทุนข้ามพรมแดนที่ดีขึ้นด้วย

ดร.กฤษฎา อธิบายเพิ่มเติมว่า ผู้ใช้อำนาจด้าน Account ของไทยอย่างหน่วยงานราชการได้รับผลงาน พวกเขาได้รับจากข้างบนลงมา เช่น กรมป่าไม้ได้รับรางวัลจากการบรรลุตัวชี้วัดหรือจำนวนคดีในการจับกุมปราบปรามป่าไม้ แต่พวกเขาไม่ได้ Account ต่อประชาชน แทนที่จะโฟกัสที่ความสำเร็จจากการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของคนที่กระทำความผิด สิ่งนี้สะท้อนให้เห็นการประเมินตัวชี้วัดที่ผิดพลาด รวมถึงประชาชนไม่ได้มีบทบาทในการประเมิน ดร.กฤษฎา คิดว่าต้องเริ่มจากการกระจายอำนาจให้ประชาชนในท้องถิ่นสามารถเป็นผู้ประเมินส่วนได้ส่วนเสีย ประเมินประสิทธิภาพการทำงาน แล้วทำให้มีผลต่องบประมาณ มีผลต่อเงินเดือน มีผลต่อด้านต่าง ๆ ของหน่วนงานได้มากขึ้น เช่นเดียวกันในด้านธุรกิจ ในจังหวัดนครสวรรค์มีชาวนาปรับปรุงพันธุ์ข้าว แล้วสภาหอการค้าเห็นว่าน่าสนใจ น่าจะเป็นพันธุ์ข้าวของจังหวัดได้ บริษัทก็เข้ามามีส่วนร่วมกับชาวนาทำให้ได้รับผลประโยชน์ด้วยกัน จึงเป็นคำถามสำคัญว่าทำอย่างไรที่จะเกิดกติกา โดยภาคสังคมและภาคธุรกิจร่วมกับกำหนดว่าผู้มีส่วนได้เสียในการทำกิจกรรมต้องมีความรับผิดชอบต่อชุมชน รวมถึงให้อำนาจประชาชนในการกำหนดกฎเกณฑ์ การประเมินความสำเร็จหรือล้มเหลวของหน่วยงานได้ ซึ่งจะออกมาในรูปแบบที่เห็นเป็นรูปธรรมอย่างไรนั้นก็เป็นสิ่งเราต้องพัฒนากันต่อ 


คำถาม : ทุกท่านมีความคาดหวังอะไรต่อรัฐบาลชุดใหม่ และมองภาพอนาคตของประเทศไทยจะเป็นอย่างไรถ้า Good Governance ไม่สามารถเกิดขึ้นได้จริง


คุณสฤณี ชวนมองว่าเราอาจจะต้องเปลี่ยนมุมมองความคิดหันมาโฟกัสที่ผลลัพธ์ที่แท้จริงว่าต้องการให้อะไรเกิดขึ้น ซึ่งต่อให้จะโฟกัสที่ผลลัพธ์แล้ว Governance ก็อาจจะไม่ดีกว่านี้ได้ ถ้าหากยังไม่มีใครรับผิดชอบ (Accountable) อยู่ดี คำถามต่อมาถ้าหากว่ากติกาไม่มีกลไกความรับผิดรับชอบ ในสังคมเราอาจจะต้องหวังกับประชาชนด้วยกันเอง หรือถ้าในบริษัทก็อาจจะต้องหวังกับผู้ถือหุ้นและนักลงทุนด้วยกันเอง ที่ต้องรวมพลังกันเรียกร้องให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ส่วนตัวจึงมีความคาดหวังในเรื่องบรรษัทภิบาล โดยเฉพาะการรับผิดรับชอบที่ชัดเจนมากขึ้น

ดร.กฤษฎา ชวนคิด 3 ข้อเสนอ คือ หนึ่ง เราต้องรู้ก่อนว่าเราและโลกกำลังเจออะไร ผมคิดว่าภาคการเมือง ภาคธุรกิจ ภาคสังคมจำนวนไม่น้อย ยังไม่ค่อยตระหนักในเรื่องนี้เสียเท่าไหร่ เราไม่ได้อยู่บนความเป็นจริงของสิ่งที่เกิดขึ้นเท่าไหร่ เพราะนั้นก็อยากจะฝากถึงทุกภาคส่วนไม่ใช่แค่รัฐบาลเพียงอย่างเดียว เพราะ Governance ไม่ใช่แค่หน้าที่ของรัฐบาล สอง เราต้องส่งเสริม คุ้มครอง และสร้างหลักประกันให้กับประชาชน ทั้งด้านสังคมและสวัสดิการต่าง ๆ  หรือกลไกทางการเงินที่จะช่วยให้กลุ่มคนโดยเฉพาะกลุ่มเปราะบางสามารถอยู่ได้ด้วยตนเองท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงให้มีภูมิคุ้นกันที่เข้มแข็ง และสาม เราต้องมีความร่วมมือของทุกภาคส่วน เพราะมันไม่ใช่แค่เรื่องผลประโยชน์แห่งชาติหรือผลประโยชน์ของใครของมัน แต่เราต้องก้าวไปถึงเรื่องของการอยู่ร่วมกัน ถ้าเราสร้างระบบให้เชื่อมโยงเกื้อหนุนกันได้ก็จะช่วยในการคิดหานวัตกรรมทางออกใหม่ ๆ ได้

สุดท้ายนี้ ผศ.ดร.อรอร กล่าวสรุปไว้ว่าเราจำเป็นต้องมองไปเกินกว่าผลประโยชน์ของประเทศไทย เพราฉะนั้นเวลาเราพูดกับรัฐบาล ความยากก็คือความย้อนแย้งของที่มา เพราะพวกเขามาจากระบบอบการเลือกตั้งของประเทศ ซึ่งต้องดำเนินการทุกอย่างเพื่อประโยชน์สูงสุดของประเทศงเราอยู่ จึงเป็นการยากที่อยู่ดี ๆ จะให้เขาไปบอกว่าเขาเป็นคนของโลก ดังนั้นต้องใช้กลไกหลายด้านเข้ามาเสริมกันเพื่อให้เป็นไปในทิศทางที่เราคุยกันอยู่ อย่างในฐานคิดที่ 5 ที่ล่างถึง ก็คือสิ่งที่จะตอบโจทย์ในเรื่องของ Climate Change เพราะฉะนั้นถ้าทำให้เรื่องนี้กลายเป็นเรื่องสำคัญที่สุดของทุกคนได้ เรื่องอื่น ๆ ก็น่าจะตามมาอย่างเป็นธรรมชาติเอง 

ในตอนนี้ในระบบเศรษฐกิจเอง ถ้าเกิดเป็นทุนนิยมมาก ๆ มันก็จะไม่ได้ตอบโจทย์ที่แท้จริงที่มวลมนุษยชาติต้องการ ซึ่งมองว่ามันเป็นความกล้าหาญของรัฐบาลนี้ ถ้าจะลุกขึ้นมาตีความเรื่องความยั่งยืนของคนไทย แล้วทำให้เป็นตัวอย่างให้กับโลกสากลได้ รวมไปจนถึงความกล้าหาญในการจัดการบริษัทไทยในต่างประเทศ นั่นคือ ความกล้าหาญในการที่จะคิดต่างออกไป 

ดังนั้นแล้วถ้าระบอบเศรษฐกิจที่อยู่บนพื้นฐานของจิตวิญญาณ ความเข้าใจ ความเชื่อมโยงทั้งมนุษย์ด้วยกันเองและธรรมชาติ ทั้งหมดนี้จะถูกตีความออกมาอย่างไรในการลงทุน กองทุน การให้เครดิต การทำงานของธนาคาร และการทำงานขององค์กรต่าง ๆ นั้นจะเป็นอย่างไร จึงอยากจะเชิญชวนช่วยกันขับเคลื่อน ช่วยกันสร้างความหวัง สร้างการเปลี่ยนแปลงให้เป็นรูปธรรมร่วมกัน


การเสวนาทั้งหมดทั้งมวลนี้มาจากมุมมองของผู้ทำงานภาคประชาสังคม นักวิชาการ และผู้ทำงานในวิสาหกิจเพื่อสังคม ที่พยายามช่วยชี้มุมมองและวิเคราะห์สถานการณ์ที่สังคมไทยเผชิญกับสภาวะถดถอยของธรรมาภิบาล ที่ไม่ใช่เพียงเรื่องของภาคส่วนใดภาคส่วนหนึ่งเท่านั้น แต่มีปฏิสัมพันธ์มากมายที่เกี่ยวข้องกับทุกสถาบัน ทุกระดับ เพื่อให้เราทุกคนมองถึงผลประโยชน์ของโลกร่วมกัน สร้างความเข้าใจแบบองค์รวม เชื่อมโยงมุมมองของมนุษย์ด้วยกันและธรรมชาติที่มีขีดจำกัด เพราะฉะนั้น การพัฒนาก็ควรจะอยู่บนพื้นฐานของขีดจำกัดเหล่านี้ด้วย เพื่อความกล้าหาญที่เราจะทะเยอทะยานร่วมกันในการร่วมบรรลุเป้าหมายเหล่านี้ให้สามารถเกิดขึ้นได้อย่างแท้จริง

แพรวพรรณ ศิริเลิศ – ผู้เรียบเรียง
พิมพ์นารา อินต๊ะประเสริฐ – บรรณาธิการ

อ่านข่าวและบทความที่เกี่ยวข้อง
Effective governance: แนวคิดเกี่ยวกับหลักการบริหารจัดการเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
SDG Updates | (EP.1) Futures Literacy: กรอบธรรมาภิบาลใหม่กับการปลดเปลื้องจินตนาการของผู้คนสู่อนาคตที่ยั่งยืนร่วมกันมากกว่าเดิม
ปรับโฉมการศึกษาในเอเชียเพื่อรับมือความเปลี่ยนแปลงในอนาคต – สรุปการแสดงปาฐกถา โดย ศาสตราจารย์กิตติคุณ วิทิต มันตาภรณ์
SDG Insights | Transformative Partnership และทุนทางสังคม กับอนาคตของสังคมไทยในโลกยุค (หลัง) โควิด-19

Last Updated on กุมภาพันธ์ 2, 2024

Author

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น