ปัจจุบัน ผู้คนให้ความสนใจกับประเด็นท้าทายระดับโลกเพิ่มขึ้น เช่น การเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชน การดำเนินการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ผู้คนจำนวนมากหันมาติดตามเรื่องราวเหล่านี้ผ่านพอดแคสต์ซึ่งเป็นช่องทางรับสารที่เข้าถึงง่ายและรวดเร็ว SDG Recommends พาสำรวจ 10 อันดับพอดแคสต์ที่จะช่วยให้คุณเข้าใจเรื่องความยั่งยืนดียิ่งขึ้น ผ่านมุมมองของบุคคล บริษัท ตลอดจนมุมมองทางสังคม เพื่อนำเสนอมุมมองที่หลากหลายเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวเพื่อความยั่งยืน และวิธีที่เราสามารถมีส่วนร่วมได้ ซึ่งมีเรื่องราวอีกมากมายที่เราทุกคนสามารถใช้ทุกช่วงเวลาที่สำคัญเรียนรู้เกี่ยวกับความยั่งยืนไปด้วยกัน
1. Sustainable Business Covered
พอดแคสต์นี้จัดทำขึ้นโดย Edie มีเนื้อหาเกี่ยวกับเทรนด์การดำเนินธุรกิจที่ยั่งยืน ซึ่งจะช่วยกระจายข้อมูลเกี่ยวกับผู้คนและบริษัทที่กำลังเปลี่ยนแปลงอนาคตของธุรกิจผ่านโครงการความยั่งยืนในรูปแบบต่าง ๆ Edie เชื่อว่าการบรรลุอนาคตที่ยั่งยืน เช่น การเปลี่ยนผ่านสู่สังคมคาร์บอนต่ำและการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพขึ้นอยู่กับการทำงานร่วมกันระหว่างเราทุกคนและนวัตกรรม โดยในแต่ละตอนจะสัมภาษณ์บุคคลที่ประสบความสำเร็จในการดำเนินโครงการด้านความยั่งยืน พร้อมนำเสนอทุกแง่มุมครอบคลุมถึงหัวข้อต่าง ๆ เพื่อแนะนำผู้ฟังให้รู้จักประเด็นความยั่งยืนทางธุรกิจเฉพาะกลุ่ม เช่น แฟชั่น หรือกฎหมาย ที่ผู้ฟังอาจไม่เคยค้นพบมาก่อน ตัวอย่างเช่นพอดแคสต์ การสำรวจว่า “เราจะทำให้เศรษฐกิจหมุนเวียนเกิดขึ้นจริงได้อย่างไร” ซึ่งได้สัมภาษณ์ Anna Brightman ผู้ร่วมก่อตั้ง Upcircle Beauty แบรนด์เครื่องสำอาง จากประเทศอังกฤษ ซึ่งมีจุดขายเรื่องส่วนผสมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
2. Outrage + Optimism
พอดแคสต์ที่นำเสนอข่าวสารล่าสุดเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในรูปแบบที่น่าสนใจ พร้อมให้ข้อมูลในเชิงลึก ในขณะที่ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืนดูเหมือนจะเพิ่มน้ำหนักความสำคัญบนโลกมากขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งพอดแคสต์นี้ จะแสดงให้ผู้คนเห็นว่าพวกเขามีพลังในการเปลี่ยนแปลงโลก เพราะวิกฤติที่ยังไม่สิ้นสุดและพวกเรายังมีเวลาช่วยโลก ในแต่ละสัปดาห์ Christiana Figueres ผู้ก่อตั้ง Global Optimism และอดีตหัวหน้า UN ร่วมกับ Tom Rivett-Carnac ผู้ร่วมก่อตั้ง Global Optimism และ Paul Dickinson ประธาน CDP องค์กรการกุศลที่ไม่แสวงหาผลกำไร จะสัมภาษณ์แขกรับเชิญพิเศษที่มาร่วมแบ่งปันความรู้เกี่ยวกับการค้นหาความสมดุลระหว่างและการมองในแง่ร้ายและการมองโลกในแง่ดี พร้อมให้ความสำคัญกับนักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมที่ไม่ค่อยเป็นที่รู้จัก เช่น Manish Bapna และ Vanessa Nakate
3. GreenBiz 350
พอดแคสต์ที่นำเสนอข้อมูลรอบด้านเกี่ยวกับความยั่งยืนในธุรกิจและเทคโนโลยี โดยมีผู้ดำเนินรายการคือ Joel Makower และ Heather Clancy จะสัมภาษณ์บุคคลจากบริษัทต่าง ๆ ที่มีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนเพื่อความยั่งยืน ไม่ว่าจะผ่านทางการเงินสีเขียว (green finance) เทคโนโลยีสะอาด (clean technology) หรือเศรษฐกิจหมุนเวียน (circular economy) ตัวอย่างพอดแคสต์ที่น่าสนใจ เช่น การใช้พลังงานไฟฟ้า (Electrification) ในฐานะที่เป็น “Green Premium” โดยผู้ให้ข้อมูลเช่น Patti Poppe CEO ของ Pacific และJigar Shah จากกระทรวงพลังงานของสหรัฐอเมริกา
4. How to Save a Planet
หากผู้ฟังที่กำลังมองหาคำแนะนำเกี่ยวกับการรักษ์โลก How to Save a Planet พอดแคสต์พิเศษเฉพาะของ Spotify นี้คุ้มค่าที่จะรับฟัง นักข่าว Alex Blumberg และทีมงานผู้เชี่ยวชาญด้านสภาพอากาศได้นำเสนอมุมมองเกี่ยวกับสิ่งที่เราแต่ละคนสามารถทำได้เพื่อรักษาอนาคตโลกของเรา ชวนตั้งคำถาม การออมเงินลงทุนเพื่อการเกษียณของตนเองได้ถูกนำไปลงทุนในเชื้อเพลิงฟอสซิลหรือไม่ พร้อมให้คำแนะนำที่เป็นประโยชน์สำหรับบุคคลในการจัดการกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
5. Green Dreamer
Kamea Chayne โฮสต์รายการผู้เป็นทั้งนักเขียนและนักเคลื่อนไหวเพื่อความยั่งยืน เป็นพอดแคสต์ที่มีเนื้อหาทั้งหมดเกือบ 400 ตอนโดยมีเนื้อหาที่แตกต่างและน่าสนใจจากการสัมภาษณ์นักคิดชั้นนำมากมายเกี่ยวกับวิธีการต่าง ๆ ที่จะนำไปสู่การสร้างความยั่งยืนมากขึ้นในฐานะชุมชนโลก ตัวอย่างเช่นการร่วมพูดคุยกับ Chelsea Mikael Frazier ในตอนที่ 351 เรียนรู้สิ่งแวดล้อมผ่านมุมมองของสตรีนิยมผิวดำ บอกเล่าเรื่องราวพลังที่สำคัญของจิตวิญญาณของชุมชนกลุ่มคนผิวดำและชนพื้นเมืองทั่วโลกที่เป็นส่วนสำคัญในการรักษาสิ่งแวดล้อม ซึ่ง Green Dreamer มีเนื้อหามุ่งเน้นสำหรับบุคคลที่สนใจสิ่งแวดล้อมโดยถ่ายทอดเรื่องราวผ่านการพาไปสำรวจมุมมองต่าง ๆ ของบุคคลสำคัญ เพื่อมุ่งมั่นที่จะขับเคลื่อนร่วมกันรักษา ฟื้นฟูระบบนิเวศให้เกิดความอุดมสมบูรณ์และแข็งแรงมากยิ่งขึ้น
6. The Impact Report
พอดแคสต์นี้พูดคุยเรื่องความยั่งยืนกับผู้นำธุรกิจและกิจการเพื่อสังคมจากทั่วโลก ตั้งแต่เรื่องของสร้างอนาคตด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลอัจฉริยะ ผ่านการสัมภาษณ์ Molly Brown นักวิจัยทางด้านวิทยาศาสตร์ ไปจนถึงเรื่อง ทางเลือกที่ชัดเจนสำหรับพลังงานแสงอาทิตย์ กับ Veeral Hardev รองประธานฝ่ายกลยุทธ์ของ Ubiquitous Energy ซึ่งพอดแคสต์ The Impact Report มอบพื้นที่ในการสำรวจด้านความยั่งยืนในระดับมืออาชีพให้ผู้ฟังได้สัมผัสถึงประสบการณ์เหล่านั้น
7. Sustainability Defined
พอดแคสต์ที่พยายามอธิบายผู้ฟังว่าความยั่งยืนคืออะไร โดยมีเป้าหมายเพื่อขจัดความคลุมเครือด้านความยั่งยืนและสร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง ซึ่งผู้ดำเนินรายการร่วมวิเคราะห์ประเด็นด้านความยั่งยืนที่แตกต่างกันพร้อมกับแขกรับเชิญพิเศษในแต่ละสัปดาห์ ตัวอย่างเช่น เรื่อง การเหยียดเชื้อชาติและการเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมสมัยใหม่ กับ Faith Briggs’ หรือเรื่อง การกำหนดราคาคาร์บอน (Carbon Pricing) กับ Dr Marc Hafstead ซึ่งพอดแคสต์นี้พยายามนำเสนอข้อมูลและแนวทางใหม่ ๆ สำหรับผู้ฟังทั้งที่เป็นผู้เชี่ยวชาญและไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญ
8. Ecosia
พอดแคสต์ที่ให้ความรู้ผู้ฟังเกี่ยวกับโครงการปลูกป่าทั่วโลก เป็นแหล่งข้อมูลชั้นดีมีหัวข้อด้านความยั่งยืนที่หลากหลาย เช่น ตอนที่ 7 นำเสนอเรื่อง จะทำอย่างไรให้มีสติในยุคที่สภาพอากาศเปลี่ยนแปลง พร้อมรับฟังมุมมองของผู้คนที่เคยประสบกับความวิตกกังวลจากปัญหาสิ่งแวดล้อม (Eco-anxiety) ขณะที่ต้องเผชิญกับวิกฤตสภาพภูมิอากาศที่กำลังย้ำเตือนอยู่
9. The Sustainability Agenda
พอดแคสต์ช่วยให้นักคิดชั้นนำมีเวทีในการแบ่งปันแนวคิดเกี่ยวกับสิ่งที่ได้ผลและไม่ได้ผลในการขับเคลื่อนด้านความยั่งยืน โดยมีแขกรับเชิญเช่น Sir Ronald Cohen และศาสตราจารย์ Daniel Aldrich มาร่วมพูดคุยในหัวข้อต่าง ๆ ตั้งแต่การลงทุนเพื่อสร้างผลกระทบ (impact investment) รวมถึงความสามารถในการตั้งรับปรับตัวของชุมชน เนื้อหาสำหรับผู้ที่มีความสนใจเรื่องสิ่งแวดล้อม
10. A Sustainable Mind
พอดแคสต์นี้เหมาะสำหรับทุกคนที่สนใจมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนความเคลื่อนไหวด้านความยั่งยืน ซึ่งในแต่ละสัปดาห์ได้มีการสัมภาษณ์ผู้บุกเบิกโครงการหรือแคมเปญด้านสิ่งแวดล้อมเพื่อสร้างความตระหนักรู้ พร้อมส่งเสริมคำแนะนำและแหล่งข้อมูลที่สามารถนำไปใช้ได้จริงแก่ผู้ฟัง ตัวอย่างเช่น ตอนที่ 99 นำเสนอว่าโอเมก้า 3 (Omega-3) จากสาหร่ายมีประโยชน์ต่อเราและโลกอย่างไร ซึ่งมีคุณประโยชน์และให้คุณค่าทางโภชนาการที่ดีแก่ร่างกาย
● อ่านข่าวและบทความที่เกี่ยวข้อง
– MediMusic แอปพลิเคชันจ่ายยาให้คนไข้เป็นเพลย์ลิสต์เพลง ช่วยลดความเครียดและความเจ็บปวดทางร่างกาย
– SDG Recommends | จากพลังงานสะอาดสู่ความยุติธรรมสิ่งแวดล้อม ฟังนานาประเด็นสร้างธุรกิจที่ยั่งยืนกับ GreenBiz 350
– SDG Recommends | 10 เพลงที่ฟังแล้วเติมไฟให้มาใส่ใจสิ่งแวดล้อมมากขึ้น
– SDG Recommends | ‘SDG Move TH’ ฟังบทความของ SDG Move ในรูปแบบพอดแคสต์ได้ทุกที่ทุกเวลา
ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG 4 การศึกษาที่มีคุณภาพ
– (4.7) สร้างหลักประกันว่าผู้เรียนทุกคนได้รับความรู้และทักษะที่จำเป็นสำหรับส่งเสริมการพัฒนาอย่างยั่งยืน รวมไปถึง การศึกษาสำหรับการพัฒนาอย่างยั่งยืนและการมีวิถีชีวิตที่ยั่งยืน สิทธิมนุษยชน ความเสมอภาคระหว่างเพศ การส่งเสริมวัฒนธรรมแห่งความสงบสุขและไม่ใช้ความรุนแรง การเป็นพลเมืองของโลก และความชื่นชมในความหลากหลายทางวัฒนธรรมและการที่วัฒนธรรมมีส่วนช่วยให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน ภายในปี 2573
#SDG8 งานที่มีคุณค่าและการเติบโตทางเศรษฐกิจ
– (8.4) ปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้ทรัพยากรของโลกในการบริโภคและการผลิตอย่างต่อเนื่อง และพยายามที่จะไม่เชื่อมโยงระหว่างการเติบโตทางเศรษฐกิจและความเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นไปตามกรอบการดำเนินงานระยะ 10 ปี ว่าด้วยการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืนโดยมีประเทศที่พัฒนาแล้วเป็นผู้นำในการดำเนินการไปจนถึงปี 2573
#SDG9 โครงสร้างพื้นฐาน นวัตกรรม อุตสาหกรรม
– (9.4) ยกระดับโครงสร้างพื้นฐานและปรับปรุงอุตสาหกรรมเพื่อให้เกิดความยั่งยืน โดยเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ทรัพยากรและการใช้เทคโนโลยีและกระบวนการทางอุตสาหกรรมที่สะอาดและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น โดยทุกประเทศดำเนินการตามขีดความสามารถของแต่ละประเทศ ภายในปี 2573
#SDG 12 การผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน
– (12.2) บรรลุการจัดการที่ยั่งยืนและการใช้ทรัพยากรทางธรรมชาติอย่างมีประสิทธิภาพ ภายในปี 2573
– (12.5) ภายในปี 2573 จะต้องลดการเกิดของเสียโดยให้มีการป้องกัน การลดการแปรรูป เพื่อนำกลับมาใช้ใหม่ และการนำกลับมาใช้ซ้ำ
– (12.6) สนับสนุนให้บริษัท โดยเฉพาะบริษัทข้ามชาติและบริษัทขนาดใหญ่ รับแนวปฏิบัติที่ยั่งยืนไปใช้ และผนวกข้อมูลด้านความยั่งยืนลงวงจรการรายงานของบริษัทเหล่านั้น
– (12.8) สร้างหลักประกันว่าประชาชนในทุกแห่งมีข้อมูลที่เกี่ยวข้องและมีความตระหนักถึงการพัฒนาที่ยั่งยืนและวิถีชีวิตที่สอดคล้องกับธรรมชาติ ภายในปี พ.ศ. 2573
#SDG13 การรับมือกับการเปลี่ยนเเปลงสภาพภูมิอากาศ
– (13.3) พัฒนาการศึกษา การสร้างความตระหนักรู้ และขีดความสามารถของมนุษย์และของสถาบันในเรื่องการลดผลกระทบและการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการเตือนภัยล่วงหน้า
#SDG14 ทรัพยากรทางทะเล
– (14.1) ป้องกันและลดมลพิษทางทะเลทุกประเภทอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะจากกิจกรรมบนแผ่นดิน รวมถึงขยะทะเลและมลพิษจากธาตุอาหาร (nutrient pollution) ภายในปี 2568
#SDG15 ระบบนิเวศบนบก
– (15.1) สร้างหลักประกันว่าจะมีการอนุรักษ์ การฟื้นฟู และการใช้ระบบนิเวศบนบกและแหล่งน้ำจืดในแผ่นดิน รวมทั้งบริการทางระบบนิเวศอย่างยั่งยืน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ป่าไม้ พื้นที่ชุ่มน้ำ ภูเขาและพื้นที่แห้งแล้ง โดยเป็นไปตามข้อบังคับภายใต้ความตกลงระหว่างประเทศ ภายในปี พ.ศ. 2563
– (15.2) ส่งเสริมการดำเนินการด้านการบริหารจัดการป่าไม้ทุกประเภทอย่างยั่งยืน หยุดยั้งการตัดไม้ทำลายป่า ฟื้นฟูป่าที่เสื่อมโทรม และเพิ่มการปลูกป่าและฟื้นฟูป่าทั่วโลกอย่างจริงจัง ภายในปี พ.ศ. 2563
แหล่งที่มา: Top 10: Podcasts to Help You Understand Sustainability – sustainability
ผลงานนี้ได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิเพื่อการพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ ภายใต้โครงการเร่งรัดการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนด้านสุขภาพของประเทศไทย
Last Updated on กันยายน 28, 2023