จากการสำรวจข่าวสารความเคลื่อนไหวที่เกี่ยวข้องและส่งผลต่อการขับเคลื่อน SDGs ระหว่างวันที่ 24 – 29 กันยายน 2566 มีข่าวสารความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจ ดังนี้
สำนักงานสถิติแห่งชาติ-ยูนิเซฟ เผยผลสำรวจเด็กภาคใต้มีปัญหาโภชนาการและขาดทักษะเรียนรู้
สำนักงานสถิติแห่งชาติและยูนิเซฟ เผยผลสำรวจสถานการณ์เด็กและสตรีทั่วประเทศไทย 2565 หรือ MICS (Multiple Indicator Cluster Survey 2565) ระบุว่า แม้การพัฒนาเด็กในภาพรวมหลายด้าน ทั้งประเทศจะมีความก้าวหน้า แต่เด็กในภาคใต้จำนวนมากยังคงขาดแคลนและเข้าไม่ถึงการพัฒนาในหลายมิติ เช่น ปัญหาทุพโภชนาการมากที่สุดในประเทศ พบว่าร้อยละ 26 ของเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปีในจังหวัดระนองมีภาวะเตี้ยแคระแกร็น ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 13 ถึง 2 เท่า นอกจากนี้ยังมีสัดส่วนของเด็กที่ไม่ได้เรียนต่อในระดับมัธยมศึกษาตอนปลายสูงที่สุดของประเทศไทย พบว่าร้อยละ 21 ในจังหวัดนราธิวาส ร้อยละ 20 ในจังหวัดปัตตานี และร้อยละ 19 ในจังหวัดระนองที่ไม่ได้เข้าเรียนในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย และส่วนใหญ่เป็นเด็กผู้ชาย
ประเด็นดังกล่าวสอดคล้องกับการขับเคลื่อน SDG2 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 2.2 ยุติภาวะทุพโภชนาการทุกรูปแบบ ภายในปี 2573 รวมถึงการบรรลุเป้าประสงค์ที่ตกลงร่วมกันระหว่างประเทศว่าด้วยภาวะแคระแกร็นและผอมแห้งในเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี และ SDG4 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 4.1 สร้างหลักประกันว่าเด็กชายและเด็กหญิงทุกคนสำเร็จการศึกษาระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษาที่มีคุณภาพ เท่าเทียม โดยไม่มีค่าใช้จ่าย นำไปสู่ผลลัพธ์ทางการเรียนที่มีประสิทธิผล ภายในปี 2573
เข้าถึงได้ที่ : สำนักงานสถิติแห่งชาติ-ยูนิเซฟ เผยผลสำรวจล่าสุด ชี้เด็กภาคใต้ขาดภูมิคุ้มกันโรค – thestandard
WHO เรียกร้องให้ทั่วโลกห้าม ‘สูบบุหรี่’ และ ‘บุหรี่ไฟฟ้า’ ในโรงเรียนเพื่อสร้างสภาพแวดล้อมที่ดี
องค์การอนามัยโลก (WHO) เรียกร้องห้ามสูบบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้าไม่ว่าจะนั่งในห้องเรียน เล่นเกมข้างนอก หรือบริเวณป้ายรอรถโรงเรียน เนื่องจากข้อมูลอุตสาหกรรมยาสูบเผยว่ามีการใช้บุหรี่ไฟฟ้าเพิ่มขึ้น โดยมีผู้สูบบุหรี่ 9 ใน 10 คนที่เริ่มสูบบุหรี่ก่อนอายุ 18 ปี และบางส่วนมีอายุตั้งแต่ 11 ปี ซึ่งเด็กจำนวนครึ่งหนึ่งของทั่วโลกต้องสูดอากาศเสียจากยาสูบ และเป็นผลให้เด็ก 51,000 คนเสียชีวิตทุกปีเนื่องจากการสัมผัสกับควันบุหรี่ ดังนั้นสภาพแวดล้อมทางการศึกษาหรือโรงเรียน จึงมีบทบาทสำคัญในการลดปัญหาร้ายแรงของการสูบบุหรี่และการใช้ยาสูบและนิโคตินอื่น ๆ ของเด็ก
ประเด็นดังกล่าวสอดคล้องกับการขับเคลื่อน SDG3 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 3.4 ลดการตายก่อนวัยอันควรจากโรคไม่ติดต่อให้ลดลงหนึ่งในสาม 3.5 เสริมสร้างการป้องกันและการรักษาการใช้สารในทางที่ผิด 3.9 ลดจำนวนการตายและการเจ็บป่วยจากสารเคมีอันตรายและจากมลพิษและการปนเปื้อนทางอากาศ น้ำ และดิน ให้ลดลงอย่างมาก ภายในปี พ.ศ. 2573 และ 3.a เพิ่มความเข้มแข็งในการดำเนินงานตามกรอบอนุสัญญาขององค์การอนามัยโลกว่าด้วยการควบคุมยาสูบ และ SDG11 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 11.6 ลดผลกระทบทางลบต่อสิ่งแวดล้อมต่อหัวประชากรในเขตเมือง รวมถึงการให้ความสนใจเป็นพิเศษต่อการจัดการคุณภาพอากาศ
เข้าถึงได้ที่ : Ban smoking and vaping in schools worldwide urges WHO | UN News
ความจริงที่ยังไม่ได้คำตอบ การหายไปของ ‘บิลลี่’ นักปกป้องสิทธิมนุษยชนชาวกะเหรี่ยงบางกลอย
เมื่อวันที่ 28 กันยายน 2566 ภายหลังศาลอาญาทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง มีคำพิพากษาจำคุก นายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร อดีตหัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน เป็นเวลา 3 ปี ฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ กรณีหายตัวไปของบิลลี่ พอละจี รักจงเจริญ นักปกป้องสิทธิมนุษยชนชาวกะเหรี่ยงบางกลอย นางสาวพรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ผู้อำนวยการมูลนิธิผสานวัฒนธรรม ในฐานะทนายความ เปิดเผยว่าศาลสั่งลงโทษจำเลยที่ 1 นายชัยวัฒน์ ข้อหาละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ จับกุมตัวบิลลี่ พอละจี รักจงเจริญ พร้อมน้ำผึ้งป่า โดยไม่นำตัวส่งพนักงานสอบสวน ถือเป็นการทำผิดกฎหมายบ้านเมือง และกฎหมายอุทยานฯ ศาลจึงมีคำสั่งจำคุก 3 ปี ไม่รอลงอาญา ส่วนข้อหาอื่น ๆ ที่มีการควบคุมตัว กักขัง หน่วงเหนี่ยวทำให้เสียชีวิต เจตนาฆ่า อำพรางศพ ศาลยกฟ้อง จำเลยทั้งสี่ ปัจจุบันนี้ตามคำสั่งของศาลบิลลี่ยังเป็นบุคคลที่ทางเจ้าหน้าที่รัฐถูกกระทำให้สูญหาย ซึ่งเป็นการกระทำความผิดตามกฎหมายอาญา กฎหมายระหว่างประเทศ เป็นการละเว้นปฏิบัติหน้าที่ทำให้เกิดความเสียหายกับชุมชน และครอบครัว ที่ยิ่งใหญ่มาก
ประเด็นดังกล่าวสอดคล้องกับการขับเคลื่อน SDG16 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 16.1 ลดความรุนแรงทุกรูปแบบ และ 16.3 ส่งเสริมหลักนิติธรรมในระดับชาติ และสร้างหลักประกันว่าทุกคนสามารถเข้าถึงความยุติธรรมอย่างเท่าเทียม
เข้าถึงได้ที่ : ‘มึนอ‘ เผยอยากรู้ความจริงบิลลี่หายไปไหนจนถึงตอนนี้ยังไม่ได้คำตอบ – The Reporters
‘ชาวอมก๋อย – กะเบอะดิน’ ร่วมกันต่อสู้คัดค้านการดำเนินการ ‘เหมืองแร่อมก๋อย’
ชาวอมก๋อย – กะเบอะดิน และภาคี ร่วมกันต่อสู้คัดค้านการดำเนินการทำเหมืองแร่ถ่านหิน ประกาศเจตนารมณ์ “ชัยชนะจะสมปองต้องต่อสู้ : 4 ปี แห่งการต่อสู้ไม่สยบยอมให้อมก๋อยกลายเป็นเหมืองถ่านหิน” มีการถือป้ายผ้าเขียนข้อความ หยุดสร้างอิทธิพลเถอะ #ไอ้เราก็อยู่ที่นี่ก่อนซะด้วยทีนี้ก็ว้าวุ่นเลย STOP MINE ฯลฯ และยื่นหนังสือข้อเรียกร้องของชุมชนไปถึงรัฐบาลชุดปัจจุบัน พยายามทำทุกอย่างเพื่อให้หยุดการทำเหมืองแร่ถ่านหิน ไม่ว่าจะเรียกร้องต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเคลื่อนไหวคัดค้าน ไม่ว่าจะดำเนินการในกระบวนการยุติธรรม เพื่อต้องการปกป้องบ้านเกิดเมืองนอน ทรัพยากร และวิถีชีวิต
ประเด็นดังกล่าวสอดคล้องกับการขับเคลื่อน SDG12 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 12.c ทำให้การอุดหนุนเชื้อเพลิงฟอสซิลที่ไร้ประสิทธิภาพและนำไปสู่การบริโภคที่สิ้นเปลืองมีความสมเหตุสมผล โดยกำจัดการบิดเบือนทางการตลาด ให้สอดคล้องกับบริบทของประเทศ รวมถึงการปรับโครงสร้างภาษีและเลิกการอุดหนุนที่เป็นภัยเหล่านั้น เพื่อสะท้อนให้เห็นผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และ SDG16 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 16.6 พัฒนาสถาบันทุกระดับให้มีประสิทธิผล มีความรับผิดชอบ และโปร่งใส และ 16.7 สร้างหลักประกันว่าจะมีกระบวนการตัดสินใจที่มีความรับผิดชอบ ครอบคลุม มีส่วนร่วม และมีความเป็นตัวแทนที่ดี ในทุกระดับการตัดสินใจ
เข้าถึงได้ที่ : ‘ชาวอมก๋อย – กะเบอะดิน’ ทบทวนเส้นทางการต่อสู้ตลอด 4 ปี คัดค้าน ‘เหมืองแร่อมก๋อย’ | ประชาไท Prachatai.com
กองทุนด้านสิ่งแวดล้อม ระบุเงินสนับสนุนอากาศสะอาดเพิ่มสูงกว่าเชื้อเพลิงฟอสซิล
กองทุนด้านสิ่งแวดล้อมอย่าง Clean Air Fund ระบุว่า รัฐบาล ธนาคารเพื่อการพัฒนาและหน่วยงานต่าง ๆ เพิ่มจำนวนเงินสนับสนุนอากาศสะอาดสูงกว่าเชื้อเพลิงฟอสซิลเป็นครั้งแรก เพราะงบสนับสนุนที่ได้รับก็ยังไม่เพียงพอต่อการรับมือกับวิกฤตสภาพภูมิอากาศโลกได้มีประสิทธิภาพ ซึ่งความช่วยเหลือระหว่างประเทศสำหรับเชื้อเพลิงฟอสซิลพุ่งสูงสุดในปี 2562 และลดลงอย่างรวดเร็วหลังจากนั้น แต่ก็ยังคงมีการใช้งานเชื้อเพลิงฟอสซิลอยู่ โดยในปี 2564 มีการใช้จ่ายเงินประมาณ 5.5 หมื่นล้านบาท ในโครงการเชื้อเพลิงฟอสซิลต่าง ๆ เช่น การสร้างโรงงานถ่านหิน ซึ่งลดลงจากประมาณ 4.4 แสนล้านบาท ในช่วงสองปีก่อนหน้า ขณะที่จำนวนเงินที่ใช้ในการแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศกลับเพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 8.4 หมื่นล้านบาท แม้จะมีการเปลี่ยนแปลงแต่ตัวเลขงบประมาณที่จะใช้จ่ายเพื่ออากาศสะอาดก็ยังคิดเป็นเพียง 1% ของเงินทุนเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศ และ 2% ของเงินทุนเพื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศระหว่างประเทศ
ตัวเลขจากรายงานขององค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุว่า มลพิษทางอากาศในพื้นที่กลางแจ้งเป็นหนึ่งในสาเหตุสำคัญที่เกี่ยวพันกับการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรมากถึง 4.2 ล้านคนในปี 2562 ซึ่งการเสียชีวิตส่วนใหญ่เกิดขึ้นในประเทศที่ยากจนและมีรายได้ปานกลาง อากาศสะอาดจึงเป็นเรื่องที่ต้องรับมืออย่างจริงจัง
ประเด็นดังกล่าวสอดคล้องกับการขับเคลื่อน SDG3 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อย 3.9 ลดจำนวนการตายและการเจ็บป่วยจากสารเคมีอันตรายและจากมลพิษและการปนเปื้อนทางอากาศ น้ำ และดิน ให้ลดลงอย่างมาก ภายในปี พ.ศ. 2573 SDG7 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 7.a ยกระดับความร่วมมือระหว่างประเทศเพื่ออำนวยความสะดวกในการเข้าถึงการวิจัย และเทคโนโลยีพลังงานที่สะอาด โดยรวมถึงพลังงานหมุนเวียน ประสิทธิภาพการใช้พลังงาน และเทคโนโลยีเชื้อเพลิงฟอสซิลชั้นสูงและสะอาด และสนับสนุนการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานและเทคโนโลยีพลังงานที่สะอาด ภายในปี พ.ศ. 2573 และ SDG11 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 11.6 ลดผลกระทบทางลบต่อสิ่งแวดล้อมต่อหัวประชากรในเขตเมือง รวมถึงการให้ความสนใจเป็นพิเศษต่อการจัดการคุณภาพอากาศ และ SDG17 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 17.1 เสริมความแข็งแกร่งของการระดมทรัพยากรภายในประเทศ โดยรวมถึงการสนับสนุนระหว่างประเทศไปยังประเทศกำลังพัฒนา เพื่อปรับปรุงขีดความสามารถของประเทศในการเก็บภาษีและรายได้อื่นๆ ของรัฐ
เข้าถึงได้ที่ : กองทุนด้านสิ่งแวดล้อมชี้ เม็ดเงินสนับสนุนอากาศสะอาดเพิ่มสูงกว่าเชื้อเพลิงฟอสซิลเป็นครั้งแรก – thestandard
การประชุม Climate Ambition Summit เน้นย้ำถึงการเร่งรัดดำเนินการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
การประชุมสุดยอดด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Ambition Summit) ที่จัดขึ้นโดย อันโตนิโอ กูเตอร์เรส เลขาธิการสหประชาชาติ นำเสนอให้ผู้นำรัฐบาล ธุรกิจ การเงิน หน่วยงานท้องถิ่น และภาคประชาสังคม เน้นย้ำถึงความทะเยอทะยานที่จะเร่งดำเนินการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยได้นำเสนอประเด็นการดำเนินการที่เป็นรูปธรรมที่เสนอในวาระการเร่งรัดการดำเนินการด้านสภาพภูมิอากาศ เช่น ยุติการใช้ถ่านหินภายในปี 2573 สำหรับประเทศองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (Organisation for Economic Co-operation and Development : OECD) และภายในปี 2583 สำหรับประเทศอื่น ๆ ทั้งหมดพร้อมยกเลิกการอุดหนุนเชื้อเพลิงฟอสซิล ปรับปรุงธนาคารเพื่อการพัฒนาแบบพหุภาคี (Multilateral Development Bank : (MDB) เพื่อสนับสนุนการดำเนินการด้านสภาพภูมิอากาศ และมีการดำเนินการกองทุนว่าด้วยความสูญเสียและความเสียหายในการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (UNFCC COP28) ที่กำลังจะมีขึ้น
ประเด็นดังกล่าวสอดคล้องกับการขับเคลื่อน SDG13 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 13.1 เสริมภูมิต้านทานและขีดความสามารถในการปรับตัวต่อสภาพภูมิอากาศในทุกประเทศ 13.2 บูรณาการมาตรการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในนโยบาย ยุทธศาสตร์ และการวางแผนระดับชาติ และ 13.a ดำเนินการให้เกิดผลตามพันธกรณีที่ผูกมัดต่อประเทศพัฒนาแล้วซึ่งเป็นภาคีของอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่มีเป้าหมายร่วมกันระดมทุนจากทุกแหล่ง SDG17 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 17.3 ระดมทรัพยากรทางการเงินเพิ่มเติมจากแหล่งที่หลากหลายไปยังประเทศกำลังพัฒนา และ 17.9 เพิ่มพูนการสนับสนุนระหว่างประเทศสำหรับการดำเนินการด้านการเสริมสร้างขีดความสามารถที่มีประสิทธิผลและมีการตั้งเป้าในประเทศกำลังพัฒนาเพื่อสนับสนุนแผนระดับชาติที่จะดำเนินงานในทุกเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน
เข้าถึงได้ที่ : Climate Summit Demonstrates Collective Will to Accelerate Just Transition | News | SDG Knowledge Hub | IISD
ผลงานนี้ได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิเพื่อการพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ ภายใต้โครงการเร่งรัดการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนด้านสุขภาพของประเทศไทย