ผู้นำโลกให้คำมั่นสัญญาเพิ่มความมุ่งมั่นทางการเมืองในการขยายความพยายามระดับโลกเพื่อสร้างโลกที่มีสุขภาพที่ดีสำหรับทุกคน โดยเรียกร้องให้สรุปการเจรจาข้อตกลงอย่างเป็นทางการว่าด้วยการป้องกัน การเตรียมพร้อม และการรับมือโรคระบาด ภายในเดือนพฤษภาคม ปี 2567 และเรียกร้องให้มีวัคซีนชนิดใหม่ที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นเพื่อยุติวัณโรค พร้อมระบุว่าการสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (universal health coverage :UHC) เป็นพื้นฐานสำคัญในการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs)
จากสัปดาห์การประชุมสมัชชาสหประชาชาติ (UN General Assembly: UNGA) สมัยที่ 78 ที่ผ่านมา ได้มีการจัดประชุมระดับสูงด้านสุขภาพ (High-Level Meetings on Health) เน้น 3 ประเด็นหลัก ได้แก่ การสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า การป้องกัน การเตรียมพร้อม การรับมือโรคระบาด และการยุติวัณโรค เพื่อกระตุ้นให้ผู้นำนานาประเทศทั่วโลกร่วมผลักดันประเด็นข้างต้นเป็นวาระการพูดคุยหลัก ซึ่งจากการประชุมดังกล่าวส่งผลให้เกิดปฏิญญาทางการเมือง (political declaration) ดังนี้
หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า จากข้อมูลขององค์การสหประชาชาติ (UN) ระบุว่าในปัจจุบัน ผู้คนมากกว่า 4.5 พันล้านคนทั่วโลกขาดความคุ้มครองสำหรับบริการด้านสุขภาพที่จำเป็น และกว่า 2 พันล้านคนต้องเผชิญกับความยากลำบากทางการเงินอย่างรุนแรงเมื่อต้องจ่ายเงินค่ารักษาพยาบาลที่จำเป็น
การจัดประชุมระดับสูงว่าด้วยเรื่องหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เมื่อวันที่ 21 กันยายน 2566 มีมติเห็นชอบแถลงการณ์ปฏิญญาทางการเมือง (political declaration) ว่าด้วยหัวข้อ ‘หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า: ขยายความทะเยอทะยานของเราด้านสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีในโลกหลังโควิด’ ในการพูดคุยวาระดังกล่าว ประมุขของรัฐ หัวหน้าคณะรัฐบาล ตลอดจนหัวหน้าผู้แทนของทุกรัฐสมาชิก ยืนยันความมุ่งมั่นอีกครั้งถึงสิทธิของมนุษย์ทุกคนในการมีสุขภาพร่างกายและสุขภาพจิตใจที่ดีสุดเท่าที่จะเป็นไปได้
ปฏิญญาดังกล่าวระบุถึงความท้าทายในการเร่งรัดความก้าวหน้าไปสู่ความสำเร็จของหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าภายในปี 2573 รวมถึงช่องว่างทางการเงิน โดยผู้นำได้ให้คำมั่นสัญญาต่าง ๆ เช่น
- เสริมสร้างความพยายามระดับชาติ ความร่วมมือระหว่างประเทศ และความสามัคคีกันทั่วโลก เพื่อเร่งความสำเร็จของหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ภายในปี 2573
- เสริมสร้างกรอบกฎหมายและข้อบังคับ รวมถึงส่งเสริมความสอดคล้องของนโยบาย และรับรองการจัดหาเงินทุนที่ยั่งยืนและจัดหาเงินทุนที่เพียงพอเพื่อดำเนินนโยบายที่สร้างผลกระทบสูงสุด
- เสริมสร้างแผนและนโยบายด้านสุขภาพแห่งชาติโดยยึดแนวทางการดูแลสุขภาพพื้นฐาน หรือการบริการสาธารณสุขมูลฐาน (primary health care) เพื่อสนับสนุนการให้บริการด้านสุขภาพพร้อมการคุ้มครองทางการเงินสำหรับทุกคน
โรคระบาด จากการประชุมระดับสูง เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2566 ได้รับรองปฏิญญาทางการเมืองว่าด้วยการป้องกันการแพร่ระบาด การเตรียมพร้อม และการรับมือ มีประเด็นสำคัญ 3 ประการสำหรับการดำเนินการพหุภาคีเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการแพร่ระบาดครั้งต่อไป คือ สนับสนุนมาตรการกระตุ้นการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG Stimulus) การจัดการกับข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง และตอบสนองต่อวิกฤติที่ซับซ้อนทั่วโลก พร้อมเรียกร้องให้ดำเนินการในด้านความเสมอภาค ระบบธรรมาภิบาลโลก (global governance) ความเป็นผู้นำและความรับผิดชอบที่ครอบคลุมประเด็นด้านสุขภาพ การเงินและการลงทุน และการติดตามผล เพื่อให้ประเทศต่าง ๆ สามารถตอบสนองความต้องการของตนเองในการป้องกัน เตรียมพร้อม และรับมือต่อการระบาดใหญ่
วัณโรค เมื่อวันที่ 22 กันยายน กันยายน 2566 อภิปรายเน้นหัวข้อเรื่องความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ การเงิน และนวัตกรรม และประโยชน์ เพื่อยุติการแพร่ระบาดของวัณโรคทั่วโลกอย่างเร่งด่วน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสร้างความมั่นใจในการเข้าถึง การป้องกัน การตรวจคัดกรอง การรักษา และการดูแลรักษาอย่างเท่าเทียมกัน ตามที่ประเทศสมาชิกรับรองในปฏิญญาทางการเมือง โดยยืนยันความมุ่งมั่นร่วมกันในการยุติวัณโรค ภายในปี 2573
● อ่านข่าวและบทความที่เกี่ยวข้อง
– เปิดประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยที่ 78 ชวนจับตานานาประเทศทบทวนครึ่งแรกของ SDGs และติดตามความชัดเจนการแก้ปัญหา Climate Change
– นายกรัฐมนตรีกล่าวถ้อยแถลงใน SDG Summit 2023 ประกาศไทยมุ่งมั่นส่งเสริมสิทธิมนุษยชนและปฏิรูประบบการเงินระหว่างประเทศ
– ปิดฉาก SDG Summit 2023 ชวนสำรวจปฏิญญาทางการเมืองฯ ที่ประเทศทั่วโลกตกลงรับเอาไปใช้เพื่อบรรลุ SDGs
– วัณโรคยังคงเป็นภัยคุกคามร้ายแรงด้านสุขภาพในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
– หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าหยุดชะงักเพราะโควิด-19 ทำให้หลายคนยากจนขั้นรุนแรงเพราะต้องจ่ายค่ารักษาพยาบาล
– เอเชียแปซิฟิกจะฟื้นคืนจากโรคระบาด เมื่อมีนโยบายที่ประสาน ‘สุขภาพ เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม’
ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG3 สุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี
– (3.3) ยุติการแพร่กระจายของเอดส์ วัณโรค มาลาเรีย และโรคเขตร้อนที่ถูกละเลย และต่อสู้กับโรคตับอักเสบ โรคติดต่อทางน้ำและโรคติดต่ออื่น ๆ ภายในปี พ.ศ. 2573
– (3.8) บรรลุการมีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า รวมถึงการป้องกันความเสี่ยงทางการเงิน การเข้าถึงการบริการสาธารณสุขจำเป็นที่มีคุณภาพ และเข้าถึงยาและวัคซีนจำเป็นที่ปลอดภัย มีประสิทธิภาพ มีคุณภาพ และมีราคาที่สามารถซื้อหาได้
– (3.d) เสริมขีดความสามารถของทุกประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศกำลังพัฒนา ในด้านการแจ้งเตือนล่วงหน้า การลดความเสี่ยง และการบริหารจัดการความเสี่ยงด้านสุขภาพทั้งในระดับประเทศและระดับโลก
#SDG17 ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
– (17.3) ระดมทรัพยากรทางการเงินสำหรับประเทศกำลังพัฒนาเพิ่มเติม จากแหล่งที่หลากหลาย
– (17.14) ยกระดับความสอดคล้องเชิงนโยบายเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
– (17.15) เคารพพื้นที่ทางนโยบายและความเป็นผู้นำของแต่ละประเทศที่จะสร้างและดำเนินงานตามนโยบายเพื่อการขจัดความยากจนและการพัฒนาที่ยั่งยืน
– (17.16) ยกระดับหุ้นส่วนความร่วมมือระดับโลกเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยร่วมเติมเต็มโดยหุ้นส่วนความร่วมมือจากภาคส่วนที่หลากหลายซึ่งจะระดมและแบ่งปันความรู้ ความเชี่ยวชาญเทคโนโลยี และทรัพยากรทางการเงิน เพื่อจะสนับสนุนการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในทุกประเทศ โดยเฉพาะในประเทศกำลังพัฒนา
– (17.17) สนับสนุนและส่งเสริมหุ้นส่วนความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาครัฐ-ภาคเอกชน และประชาสังคม สร้างบนประสบการณ์และกลยุทธ์ด้านทรัพยากรของหุ้นส่วน
แหล่งที่มา : Countries Reaffirm Commitment to UHC and Pandemic Preparedness, Ending TB | News | SDG Knowledge Hub | IISD
ผลงานนี้ได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิเพื่อการพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ ภายใต้โครงการเร่งรัดการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนด้านสุขภาพของประเทศไทย