Site icon SDG Move

SDG Spotlight – 6 ข่าว SDGs น่าสนใจในรอบสัปดาห์ที่ 1 ประจำเดือนตุลาคม 2566


จากการสำรวจข่าวสารความเคลื่อนไหวที่เกี่ยวข้องและส่งผลต่อการขับเคลื่อน SDGs ระหว่างวันที่  1 – 5 ตุลาคม 2566 มีข่าวสารความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจ ดังนี้

สภากรุงเทพฯ ผ่านร่างรถเมล์ไฟฟ้า หวังช่วยสร้างอากาศสะอาด

วันที่ 4 ตุลาคม 2566 สภากรุงเทพฯ เห็นชอบญัตติร่างข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง รถโดยสารประจำทางพลังงานไฟฟ้าเพื่อลดมลภาวะ พ.ศ. … หรือกฎหมายรถเมล์อนาคต ด้วยคะแนนเสียง 30:0 โดย พุทธิพัชร์ ธันยาธรรมนนท์ สมาชิกสภากรุงเทพฯ เขตยานนาวา พรรคก้าวไกล ในฐานะผู้ผลักดันร่างข้อบัญญัติรถเมล์อนาคต และประธานคณะกรรมการวิสามัญพิจารณาร่างข้อบัญญัติฯ กล่าวว่า “วันนี้ถือเป็นก้าวแรกของประเทศไทยและสภากรุงเทพฯ ที่จะเดินหน้าไปสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชน หลังจากนี้ยังมีร่างข้อบัญญัติพื้นที่สีเขียวที่จะขับเคลื่อนต่อไป ขอให้สมาชิกทุกคนร่วมกันผลักดันเพื่อประชาชนชาว กทม.”

ทั้งนี้ ร่างข้อบัญญัติดังกล่าวจำเป็นต้องผ่านการพิจารณาโหวตรับร่างอีกในวาระที่ 2 และวาระที่ 3 ซึ่งจะจัดขึ้นต่อไปในภายหลัง

ประเด็นดังกล่าวสอดคล้องกับการขับเคลื่อน SDG7 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 7.1 สร้างหลักประกันว่ามีการเข้าถึงการบริการพลังงานสมัยใหม่ที่เชื่อถือได้ 7.2 เพิ่มสัดส่วนของพลังงานหมุนเวียนในสัดส่วนพลังงานของโลก SDG11 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 11.6 ลดผลกระทบทางลบของเมืองต่อสิ่งแวดล้อมต่อหัวประชากรรวมถึงการให้ความสำคัญกับคุณภาพอากาศและการจัดการขยะมูลฝอย และ SDG17 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 17.14 ยกระดับความสอดคล้องเชิงนโยบายเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน

เข้าถึงได้ที่: สภา กทม. ผ่านกฎหมายรถเมล์อนาคต เปลี่ยนรถเมล์ทั้ง กทม. เป็น EV ใน 7 ปี (ประชาไท) 

เศรษฐกิจเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกโต 5% หวั่นความเสี่ยงจาก Climate Change

ธนาคารโลก เผยแพร่รายงานอัปเดตเศรษฐกิจของภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก ตุลลาคม 2566 (World Bank East Asia and the Pacific Economic Update October 2023) พบเนื้อหาสำคัญ เช่น 1) เศรษฐกิจของภูมิภาคนี้จะขยายตัวที่ 5% 2) การขยายตัวทางเศรษฐกิจของจีนในปี 2566 คาดว่าจะอยู่ที่ 5.1% และเศรษฐกิจของภูมิภาคที่ไม่รวมจีนจะอยู่ที่ 4.6%  ขณะที่เศรษฐกิจของกลุ่มประเทศหมู่เกาะแปซิฟิกคาดว่าจะอยู่ที่ 5.2% 3) ปี 2567 เศรษฐกิจของภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกจะเติบโตที่ 4.5% และสถานการณ์ภายนอกที่ดีขึ้นจะส่งผลกระทบเชิงบวกต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจในภูมิภาค 4) ความเสี่ยงด้านลบที่อาจกระทบต่อแนวโน้มเศรษฐกิจของภูมิภาค ได้แก่ ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ที่รุนแรงขึ้น และความเสี่ยงของการเกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติ รวมถึงเหตุการณ์สภาพอากาศสุดขั้ว และ 5) เศรษฐกิจไทยในปี 2566 นี้จะอยู่ที่ 3.4% โดยแรงขับเคลื่อนหลักมาจากการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวและการบริโภคภาคเอกชนที่แข็งแกร่ง รวมถึงการส่งออกที่ดี ขณะที่ปี 2567 คาดว่าการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยจะอยู่ที่ 3.5% และ ปี 2568 อยู่ที่ 3.3%

ประเด็นดังกล่าวสอดคล้องกับการขับเคลื่อน SDG8 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 8.2 บรรลุการมีผลิตภาพทางเศรษฐกิจในระดับที่สูงขึ้นผ่านการสร้างความหลากหลาย

เข้าถึงได้ที่: ธนาคารโลกเผย เอเชียตะวันออกและแปซิฟิกเศรษฐกิจโตดี จับตาโลกชะลอ-ความเสี่ยงจีน-ภูมิรัฐศาสตร์ (brand inside) 

สองผู้คิดค้นวัคซีน mRNA คว้ารางวัลโนเบลสาขาการแพทย์

วันที่ 2 ตุลาคม 2566 คณะกรรมการรางวัลโนเบลสาขาสรีวิทยาหรือการแพทย์ประกาศให้ ศาสตราจารย์ ดร.กอตอลิน กอริโก ชาวฮังการี รองประธานอาวุโส บริษัทไบโอเอ็นเทค อาร์เอ็นเอ ฟาร์มาซูติคอล และศาสตราจารย์ นพ. ดรู ไวส์แมน ชาวอเมริกันจากคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย สหรัฐอเมริกา ผู้ร่วมกันคิดค้นและพัฒนาวัคซีนเอ็มอาร์เอ็นเอ (mRNA) คว้ารางวัลโนเบลสาขาสรีรวิทยาหรือการแพทย์ประจำปี 2566 ไปครอง

ผู้แทนคณะกรรมการรางวัลโนเบลสาขาดังกล่าว ระบุว่า “ผลงานการคิดค้นและพัฒนาวัคซีนเอ็มอาร์เอ็นเอของทั้งสอง ได้ช่วยรักษาชีวิตของผู้คนทั่วโลกนับล้าน ท่ามกลางวิกฤติการระบาดใหญ่ของโรคโควิด-19 จนสังคมโลกสามารถเปิดประตูกลับสู่การดำเนินชีวิตตามปกติได้อีกครั้ง และในปัจจุบันวัคซีนเอ็มอาร์เอ็นเอยังถูกพัฒนาต่อไป เพื่อใช้ป้องกันและรักษาโรคอื่น ๆ เช่นโรคมะเร็งอีกด้วย”

ประเด็นดังกล่าวสอดคล้องกับการขับเคลื่อน SDG3 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่  3.3 ยุติการแพร่กระจายของเอดส์ วัณโรค มาลาเรีย และโรคเขตร้อนที่ถูกละเลย และต่อสู้กับโรคตับอักเสบ โรคติดต่อทางน้ำและโรคติดต่ออื่น ๆ และ 3.b สนับสนุนการวิจัยและการพัฒนาวัคซีนและยาสำหรับโรคติดต่อและไม่ติดต่อ

เข้าถึงได้ที่: สองผู้คิดค้นวัคซีนเอ็มอาร์เอ็นเอ คว้ารางวัลโนเบลสาขาการแพทย์ 2023 (BBC News ไทย) 

ผบ.ตร. ออก 5 มาตรการป้องกันเหตุกราดยิงซ้ำ

วันที่ 4 ตุลาคม 2566 เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้สั่งการให้ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) กำหนดมาตรการในการป้องกันเหตุกราดยิง หลังเกิดเหตุคนร้ายกราดยิงที่ห้างพารากอน เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2566 

โดย พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ ได้ขานรับคำสั่งของนายกรัฐมนตรีด้วยการออก 5 มาตรการป้องกันการก่อเหตุในทุกพื้นที่ ได้แก่ 1) ให้ทุกหน่วยระดมกวาดล้างความผิดเกี่ยวกับอาวุธปืน สิ่งเทียมอาวุธปืน อาวุธสงคราม และเครื่องกระสุนอย่างจริงจัง เด็ดขาด และต่อเนื่อง 2) บูรณาการกับกระทรวงมหาดไทย กรมศุลกากร และหน่วยที่เกี่ยวข้อง ในการตรวจสอบและควบคุมการนำเข้า จำหน่าย รวมทั้งการออกใบอนุญาตอาวุธปืน 3) ให้ฝ่ายสืบสวนทุกหน่วยทั่วประเทศจัดทำและตรวจสอบข้อมูลการจำหน่ายอาวุธปืนในพื้นที่ และให้กองบังคับการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยีเป็นหน่วยรับผิดชอบในการตัดวงจรการจำหน่ายและการสืบสวนขยายผล การนำซื้อขายอาวุธออนไลน์ การนำแบลงค์กัน (Blank Gun) ไปดัดแปลงเป็นอาวุธ 4) จัดชุดวิทยากรต่อยอดการฝึกอบรมการสร้างความตระหนักรู้ ความเข้าใจ ฝึกปฏิบัติในการรับมือกับสถานการณ์กราดยิงในทุกแห่ง และ 5) ขอความร่วมมือผู้ปกครองช่วยสอดส่องดูแลพฤติกรรมบุตรหลาน เกี่ยวกับการใช้อาวุธปืนหรือความรุนแรงต่าง ๆ

ประเด็นดังกล่าวสอดคล้องกับการขับเคลื่อน SDG16 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 16.1 ลดความรุนแรงทุกรูปแบบและอัตราการตายที่เกี่ยวข้องในทุกแห่ง และ 16.4 ลดการลักลอบเคลื่อนย้ายอาวุธและเงิน  

เข้าถึงได้ที่: ผบ.ตร.ประสาน ‘มหาดไทย’ ขึ้นปืน ‘Blank Gun’ ที่ใช้ก่อเหตุกราดยิง ‘พารากอน’ เป็นอาวุธผิด กม. (ประชาไท) 

ไทยถอนคำแถลงตีความอนุสัญญาต่อต้านการทรมานฯ ยกระดับกระบวนการยุติธรรม

วันที่ 5 ตุลาคม 2566 พันตำรวจเอกทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เปิดเผยว่า กระทรวงยุติธรรม โดยกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ได้รับแจ้งจากองค์การสหประชาชาติ ว่าได้ดำเนินการถอนคำแถลงตีความ (Interpretative Declaration) ในอนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการประติบัติ หรือการลงโทษอื่นที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี (Convention against Torture and other Cruel, Inhuman or Degrading Treatment or Punishment : CAT) ข้อบทที่ 1 (คำนิยามการทรมาน) ข้อบทที่ 4 (การกำหนดให้การพยายาม การสมรู้ร่วมคิด และการมีส่วนร่วมในการกระทำทรมานเป็นความผิดที่ลงโทษได้ตามกฎหมายอาญา) และข้อบทที่ 5 (เขตอำนาจศาลสากลเหนือความผิดฐานกระทำทรมาน) อย่างเป็นทางการ 

การถอนคำแถลงตีความดังกล่าวของประเทศไทย เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรี เนื่องจากพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 มีผลบังคับใช้แล้ว เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2566 ทั้งนี้ จะส่งผลให้ประเทศไทยต้องปฏิบัติตามอนุสัญญาฯ อย่างสมบูรณ์เต็มรูปแบบ

ประเด็นดังกล่าวสอดคล้องกับการขับเคลื่อน SDG16 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 16.1 ลดความรุนแรงทุกรูปแบบและอัตราการตายที่เกี่ยวข้องในทุกแห่งให้ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ  16.3 ส่งเสริมหลักนิติธรรมทั้งในระดับชาติและระหว่างประเทศ และ 16.10 สร้างหลักประกันว่าสาธารณชนสามารถเข้าถึงข้อมูลและมีการปกป้องเสรีภาพขั้นพื้นฐาน

เข้าถึงได้ที่: รมว.ยธ. ดันไทยถอนคำแถลงตีความต่ออนุสัญญาต่อต้านการทรมานฯ มุ่งมั่นยกระดับสิทธิมนุษยชนไทยให้ทัดเทียมสากล (สยามรัฐ) 

ICCA จัดประชุมบริษัทสตาร์ตอัป หวังหนุนเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียนมากขึ้น

วันที่ 28 กันยายน 2566 สภาของสมาคมอุตสาหกรรมเคมีระหว่างประเทศ (International Council of Chemical Associations) จัดการประชุม  ‘Investor Forum’ ภายใต้ธีมหลัก ‘Creating an International Ecosystem for Sustainable Chemistry Innovations – Promoting Sustainable Investments and Support Frameworks’ ซึ่งเป็นการประชุมคู่ขนานกับการประชุมระหว่างประเทศด้านการจัดการสารเคมี (International Conference on Chemicals Management) ครั้งที่ 5 

การประชุมข้างต้นได้เชิญบริษัทสตาร์ตอัปกว่า 18 บริษัททั่วโลกเพื่อนำเสนอนวัตกรรมที่ช่วยสนับสนุนความยั่งยืนและพลังงานหมุนเวียน ทั้งนี้ สาระสำคัญจากการประชุม เช่น 1) การขาดแคลนโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นสำหรับสนับสนุนบริษัทสตาร์ตอัปในประเทศกำลังพัฒนาจำนวนมาก 2) ความพยายามรวมความเสี่ยงโดยตรงจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ  (physical risks) กับความเสี่ยงที่เกิดจากการเปลี่ยนผ่านของเศรษฐกิจเข้าสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ (transition risk) และความจำเป็นในการสร้างแรงจูงใจให้อุตสาหกรรมต่างเปลี่ยนผ่านการใช้พลังงาน และ 3) ความสำคัญของการปลูกฝังความยั่งยืนให้กับดีเอ็นเอของบริษัท ซึ่งรวมถึงกิจกรรมในแต่ละวัน แรงจูงใจสำหรับพนักงาน และข้อกำหนดในการปฏิบัติกับลูกค้า

ประเด็นดังกล่าวสอดคล้องกับการขับเคลื่อน SDG7 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 7.2 เพิ่มสัดส่วนของพลังงานหมุนเวียนในสัดส่วนพลังงานของโลก7.a ยกระดับความร่วมมือระหว่างประเทศเพื่ออำนวยความสะดวกในการเข้าถึงการวิจัย และเทคโนโลยีพลังงานที่สะอาด โดยรวมถึงพลังงานหมุนเวียน และ 7.b ขยายโครงสร้างพื้นฐานและพัฒนาเทคโนโลยีสำหรับการจัดส่งบริการพลังงานสมัยใหม่และยั่งยืน และ SDG8 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 8.4 ปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้ทรัพยากรของโลกในการบริโภคและการผลิตอย่างต่อเนื่อง และพยายามที่จะแยกการเติบโตทางเศรษฐกิจออกจากความเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อม   

เข้าถึงได้ที่: ICCM5 Side Events Focus on Investors, Industry, and Research (IISD) 

ผลงานนี้ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ภายใต้โครงการกลยุทธไตรพลังในการดําเนินการเพื่อสุขภาวะและการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทย

Author

  • Knowledge Communication | สนใจประเด็นสันติภาพ ความมั่นคงมนุษย์ เเละสิ่งเเวดล้อมทางทะเล ใช้ชีวิตโดยเชื่อในสมดุลมากกว่าความสมบูรณ์เเบบ

Exit mobile version