สถานการณ์การสู้รบระหว่างขบวนการฮามาสและอิสราเอลปะทุความรุนแรงครั้งใหญ่อีกครั้ง เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2566 จนถึงขณะนี้ยืดเยื้อมาแล้วกว่า 5 วัน โดยรัฐบาลอิสราเอล เปิดเผยว่ามีผู้เสียชีวิตในฝั่งอิสราเอลอย่างน้อย 1,200 คน และบาดเจ็บอีกกว่า 2,600 คน ด้านกระทรวงสาธารณสุข ปาเลสไตน์ เปิดเผยว่ามีผู้เสียชีวิตในปาเลสไตน์ มากกว่า 900 คน และบาดเจ็บอีกกว่า 3,700 คน
ประเด็นสำคัญที่ถูกกล่าวถึงอย่างมากในสังคมไทย คือความปลอดภัยของแรงงานไทยในอิสราเอล โดยข้อมูลล่าสุดจากระทรวงการต่างประเทศ นายจักรพงษ์ แสงมณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เปิดเผยเมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2566 ว่าตัวเลขอย่างไม่เป็นทางการของจำนวนแรงงานไทยที่เสียชีวิตจากสถานการณ์การสู้รบเพิ่มเป็น 18 คน และมีคนไทยที่แจ้งความประสงค์ขอเดินทางกลับไทย ประมาณ 3,000 คน ขณะที่จำนวนแรงงานไทยทั้งหมดที่อาศัยอยู่ในอิสราเอลมีทั้งสิ้นประมาณ 30,000 คน โดยอยู่ในจุดที่มีความเสี่ยงกว่า 5,000 คน
นอกจากความปลอดภัยแล้ว ยังมีการถกเถียงว่าการเดินทางไปทำงานในพื้นที่ที่มีความขัดแย้ง แรงงานไทยได้รับการจ้างงานที่เป็นธรรมมากน้อยเพียงใด ประเด็นสำคัญของเรื่องนี้ เช่น
- โครงการที่ถูกต้องตามกฎหมายซึ่งนำคนไทยไปทำงานที่อิสราเอล คือ โครงการทีอีซี (Thailand – Israel Cooperation on the Placement of Workers : TIC) โดยเป็นความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลอิสราเอล ในการจัดหางานแก่คนไทย อายุ 23-29 ปี โดยค่าใช้จ่ายก่อนการเดินทางไปทำงานอิสราเอลจะอยู่ที่ 70,350 บาท
- กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่ารายได้ของแรงงานไทยในอิสราเอล เฉลี่ยอยู่ที่ 55,000 บาทต่อเดือน เป็นระบบการจ้างงานแบบรัฐต่อรัฐ โดยแรงงานจะสามารถเดินทางไปทำงานได้เพียง 1 ครั้ง เป็นระยะเวลา 5 ปี 3 เดือน
- อาชีพที่คนไทยเข้าไปทำงานในอิสราเอลมากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ ภาคเกษตรกร (83%) พ่อครัวชั้นหนึ่ง (0.46%) คนงานทั่วไป (0.42%) ช่างประกอบท่อ (0.29%) และคนทำครัว (0.29%)
- เดือนมีนาคม 2566 กระทรวงแรงงานอิสราเอลขึ้นค่าแรงขั้นต่ำจาก 48,880 บาทต่อเดือน เป็น 51,832 บาทต่อเดือน
ขณะที่รายงานข่าวสืบสวนสอบสวนของบีบีซีไทยเปิดเผยประเด็นค้นพบเกี่ยวกับการเอาเปรียบและละเมิดสิทธิแรงงาน เช่น
- แรงงานหลายคนได้รับค่าตอบแทนต่ำกว่าที่กฎหมายกำหนด
- สภาพการทำงานของแรงงานไม่ตรงตามสัญญา หลายคนทำงาน 6 วันต่อสัปดาห์ โดยชั่วโมงในการทำงานยาวนานเกินกว่า 10 ชั่วโมง
- สภาพที่อยู่อาศัยไม่ถูกสุขลักษณะ หลายคนต้องอยู่ในที่พักซอมซ่อไม่ต่างจากสลัม อย่างไรก็ดีนายจ้างชาวอิสราเอลบางราย ก็ระบุว่าได้สร้างที่พักที่แข็งแรงและสะอาดแก่แรงงานแล้ว แต่ปัญหาเกิดจากการไม่รักษาความสะอาดของแรงงานไทยเอง
- แรงงานทำงานฉีดยาฆ่าแมลงโดยไม่มีอุปกรณ์ป้องกันที่ดีพอ ซึ่งการสัมผัสยาฆ่าแมลงอยู่บ่อยครั้งส่งผลต่อระบบทางเดินหายใจและระบบประสาท รัฐบาลอิสราเอลจึงออกกฎระเบียบควบคุมอย่างเคร่งครัด แรงงานที่ต้องฉีดยาฆ่าแมลงจะต้องมีเสื้อคลุม หน้ากากที่มีเครื่องกรอง รองเท้าบู๊ตและถุงมือ
- เดือนตุลาคม ปี 2560 แรงงานเคยนัดหยุดงานประท้วงเนื่องจากนายจ้างไม่จ่ายเงินเดือน 2 เดือน
- นับตั้งแต่โครงการทีอีซี จากปี 2555 จนถึงพฤศจิกายนปี 2561 มีแรงงานไทยเสียชีวิตแล้ว 172 คน
ท่ามกลางสถานการณ์การสู้รบระหว่างขบวนการฮามาสเเละอิสราเอล จึงน่าติดตามต่อไปว่ารัฐบาลไทยเเละหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะสามารถให้ความช่วยเหลือเเรงงานไทยให้ปลอดภัยได้อย่างไร รวมถึงการทบทวนเเละจัดการปัญหาการจ้างงานที่ไม่เป็นธรรมจะมีเเนวทางที่เป็นประโยชน์เเก่เเรงงานได้อย่างเป็นรูปธรรมเเละยั่งยืนอย่างไร
● อ่านข่าวและบทความที่เกี่ยวข้อง
– OHCHR ระบุปี 2565 เป็นปีที่ชาวปาเลสไตน์ถูกคร่าชีวิตในเขตเวสต์แบงก์มากที่สุดในรอบ 17 ปี พร้อมประณามอิสราเอลใช้กำลังเกินกว่าเหตุ
– ESCAP เผยเเพร่รายงานฉบับใหม่ ชี้เเรงงานในเอเชีย-เเปซิฟิกกว่า 2.1 พันล้านคน เข้าไม่ถึงงานที่มีคุณค่าเเละการคุ้มครองทางสังคม
– SDG Updates | สำรวจกระแสการเคลื่อนย้ายของแรงงานข้ามชาติ – เมื่อไทยอาจเผชิญปัญหา ‘ขาดแคลนแรงงาน’
– ILO รายงานสภาพการทำงานภาคเกษตรไทย พร้อมชี้แรงงานข้ามชาติ ยังเผชิญการจ้างงานที่ไม่เป็นธรรม
– ข้อยกเว้นทางกฎหมายและการจ้างงานนอกระบบ อุปสรรคต่อการมีงานที่มีคุณค่าของแรงงานทำงานบ้าน
– รายงาน ILO ชี้ โควิด-19 เป็นเหตุให้ภาวะว่างงานเพิ่มสูงทั่วโลก อัตราเยาวชนไม่มีการศึกษาและไม่มีงานทำเพิ่มขึ้นกว่า 1.5 %
– ความยากจน-ความเหลื่อมล้ำ และการว่างงาน แซงหน้าโควิด-19 เป็น 2 อันดับแรกที่ผู้คน “กังวล” มากที่สุด
ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG3 สุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี
– (3.9) ลดจำนวนการตายและการเจ็บป่วยจากสารเคมีอันตรายและจากมลพิษและการปนเปื้อนทางอากาศ น้ำ และดิน ให้ลดลงอย่างมาก ภายในปี พ.ศ. 2573
#SDG8 งานที่มีคุณค่าและการเติบโตทางเศรษฐกิจ
– (8.5) บรรลุการจ้างงานเต็มที่และมีผลิตภาพ และการมีงานที่มีคุณค่าสำหรับหญิงและชายทุกคน รวมถึงเยาวชนและผู้มีภาวะทุพพลภาพ และให้มีการจ่ายค่าจ้างที่เท่าเทียมสำหรับงานที่มีคุณค่าเท่าเทียมกัน ภายในปี พ.ศ. 2573
– (8.8) ปกป้องสิทธิแรงงานและส่งเสริมสภาพแวดล้อมในการทำงานที่ปลอดภัยและมั่นคงสำหรับผู้ทำงานทุกคน รวมถึงผู้ทำงานต่างด้าว โดยเฉพาะหญิงต่างด้าว และผู้ที่ทำงานเสี่ยงอันตราย
#SDG16 สังคมสงบสุข ยุติธรรม และสถาบันเข้มแข็ง
– (16.1) ลดความรุนแรงทุกรูปแบบและอัตราการตายที่เกี่ยวข้องในทุกแห่งให้ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ
แหล่งที่มา
– แรงงานไทยที่ถูกลืมในอิสราเอล (BBC Thai)
– รายงานพิเศษ: ความขัดแย้งระหว่างอิสราเอล และกลุ่มติดอาวุธฮามาส ในฉนวนกาซา กลับมารุนแรงอีกครั้ง ในรอบหลายทศวรรษ (สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์)
– แรงงานไทยท่ามกลางไฟสงคราม อิสราเอล ฮามาส (ไทยรัฐ)
– เปิดรายได้แรงงานไทยในอิสราเอล 55,000 บาท/เดือน (Thai PBS)
ผลงานนี้ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ภายใต้โครงการกลยุทธไตรพลังในการดําเนินการเพื่อสุขภาวะและการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทย