SDG Spotlight – 6 ข่าว SDGs น่าสนใจในรอบสัปดาห์ที่ 3 ประจำเดือนตุลาคม 2566

จากการสำรวจข่าวสารความเคลื่อนไหวที่เกี่ยวข้องและส่งผลต่อการขับเคลื่อน SDGs ระหว่างวันที่  13 – 20 ตุลาคม 2566 มีข่าวสารความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจ ดังนี้

รมว.พลังงาน ตอบรับพิจารณาจัดการ ‘ค่าไฟแพง’ ตามข้อเสนอเครือข่ายค่าไฟฟ้าเป็นธรรม

วันที่ 17 ตุลาคม 2566 เครือข่ายขับเคลื่อนค่าไฟฟ้าที่เป็นธรรม ประกอบด้วยหลายองค์กรพันธมิตร เช่น สภาองค์กรของผู้บริโภค/ SDG Move/ Fair Finance Thailand/ กรีนพีซ ประเทศไทย และสถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา ฯลฯ เดินทางไปยังทำเนียบรัฐบาล เพื่อหารือเรื่องแก้ปัญหาค่าไฟแพงอย่างก้าวกระโดด พร้อมนำรายชื่อประชาชน 6,323 รายชื่อ ที่ลงนามผ่านแคมเปญ #ค่าไฟต้องแฟร์  ยื่นต่อนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน 

วีรภัทร ฤทธาภิรมย์ นักรณรงค์ด้านพลังงานหมุนเวียน กรีนพีซ ประเทศไทย เผยว่าการเข้าพบรัฐมนตรีกระทรวงพลังงานครั้งนี้นับเป็นสัญญาณที่ดี ซึ่งดีใจที่รัฐมนตรีตอบรับและบอกว่ารู้ปัญหาแล้วกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นอีก 2 ประเด็นที่เราต้องการเรียกร้องมากที่สุดคือ ต้องการให้รัฐบาลปลดระวางถ่านหินให้ด่วนที่สุด และประกาศใช้แนวทาง ‘Net Metering’ ให้เร็วที่สุดตามจุดยืนที่เราได้ประกาศกับประชาคมโลก เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

ด้าน รศ. ดร.ชาลี เจริญลาภนพรัตน์ อนุกรรมการด้านบริการสาธารณะ พลังงานและสิ่งแวดล้อม สภาองค์กรของผู้บริโภค เสนอว่าสิ่งที่ต้องทำเร่งด่วนต่อประเด็นค่าไฟแพงนี้ คือการหยุดเซ็นสัญญาแบบ PPA กับโรงไฟฟ้าใหม่ ที่มีข้อผูกมัดยาวนาน 20-30 ปี เพราะทันทีที่เซ็นสัญญาจะเกิด ‘ค่าความพร้อมจ่าย’ ซึ่งจะถูกผนวกรวมในค่า FT ของบิลค่าไฟที่ประชาชนต้องจ่าย

ประเด็นดังกล่าวสอดคล้องกับการขับเคลื่อน SDG7 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่  7.1 สร้างหลักประกันว่ามีการเข้าถึงการบริการพลังงานสมัยใหม่ที่เชื่อถือได้ ในราคาที่สามารถซื้อหาได้ SDG9 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 9.4 ยกระดับโครงสร้างพื้นฐานและปรับปรุงอุตสาหกรรมเพื่อให้เกิดความยั่งยืน โดยเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ทรัพยากรและการใช้เทคโนโลยีและกระบวนการทางอุตสาหกรรมที่สะอาดและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม SDG16 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 16.7 สร้างหลักประกันว่าจะมีกระบวนการตัดสินใจที่มีความรับผิดชอบ ครอบคลุม มีส่วนร่วม เเละ SDG17 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 17.14 ยกระดับความสอดคล้องเชิงนโยบายเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน

เข้าถึงได้ที่: ภาคประชาชนเรียกร้อง รมว.พลังงาน แก้ปัญหาค่าไฟแพง ย้ำต้องปรับโครงสร้างราคาก๊าซ หยุดเซ็นสัญญาโรงไฟฟ้าใหม่ ก่อนเสียค่าโง่ FT (Way)

อย.ชี้แจงน้ำยายืดผมในไทยไม่มีสารก่อมะเร็ง พร้อมแนะให้ซื้อจากแหล่งที่เชื่อถือได้

ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมีกระแสข่าวที่สร้างความกังวลกับกลุ่มคนที่ใช้น้ำยายืดผมเนื่องจากองค์การอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกาเตรียมแบนน้ำยายืดผมตรง เพราะมีส่วนประกอบของสารฟอร์มาลดีไฮด์ (Formaldehyde) ซึ่งเป็นสารเคมีที่กระตุ้นโรคมะเร็ง ล่าสุดเมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2566 เภสัชกรวีระชัย นลวชัย รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เผยน้ำยายืดผมในไทยตรวจไม่พบการใช้สารฟอร์มาลดีไฮด์ และเมทิลีน ไกลคอล ซึ่งเป็นส่วนผสมในสูตรน้ำยายืดผมในไทย พร้อมขอผู้บริโภคอย่าได้กังวล และแนะนำให้ซื้อน้ำยายืดผมและเครื่องสำอางจากแหล่งที่เชื่อถือได้ มีฉลากภาษาไทย พร้อมข้อมูลเลขที่ใบรับแจ้ง เพื่อความปลอดภัยต่อสุขภาพ

ประเด็นดังกล่าวสอดคล้องกับการขับเคลื่อน SDG3 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 3.9 ลดจำนวนการตายและการเจ็บป่วยจากสารเคมี

เข้าถึงได้ที่: อย. ยืนยันน้ำยายืดผมในไทยไม่พบสารก่อมะเร็ง ขอผู้บริโภคอย่ากังวล แนะเลือกซื้อจากแหล่งที่เชื่อถือได้ มีข้อมูลเลขที่ใบรับแจ้ง (The Standard)

HRDF เผยข้อมูลการเป็นหนี้ของแรงงานข้ามชาติในกิจการประมง

วันที่ 20 ตุลาคม 2566  มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา (HRDF)  เปิดเผยข้อมูล  Fact Sheet No. 2 ตุลาคม 2566 “การหักค่าจ้าง แรงงานขัดหนี้ และภาระหนี้สินของแรงงานข้ามชาติในกิจการประมงไทย” โดยมีเนื้อหาในภาพรวมเกี่ยวกับสภาพปัญหาจากกรณีศึกษาที่เกิดขึ้นกับแรงงานข้ามชาติในกิจการประมง ซึ่งถูกหักเงินค่าจ้างและมีภาระหนี้สินที่เกี่ยวกับการทำงาน 

ข้อมูลข้างต้นเผยว่าแรงงานข้ามชาติในกิจการประมง มีหนี้ที่เกี่ยวข้องกับการทำงาน 4 ประเภท ได้แก่ 1) หนี้ค่าเดินทาง 2) หนี้เกี่ยวกับค่าทำเอกสารประจำตัวของแรงงานข้ามชาติ 3) หนี้จากการเบิกค่าจ้างล่วงหน้าหรือเบิกค่าใช้จ่ายล่วงหน้า และ 4) หนี้จากค่ารักษาพยาบาล อีกทั้งยังมีการระบุถึงกรณีศึกษาการหักค่าจ้างแรงงานในกิจการประมงที่เกิดขึ้นจริงด้วย 

ประเด็นดังกล่าวสอดคล้องกับการขับเคลื่อน SDG8 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 8.5 บรรลุการจ้างงานเต็มที่และมีผลิตภาพ และการมีงานที่มีคุณค่าสำหรับหญิงและชายทุกคน และ 8.8 ปกป้องสิทธิแรงงานและส่งเสริมสภาพแวดล้อมในการทำงานที่ปลอดภัยและมั่นคงสำหรับผู้ทำงานทุกคน 

เข้าถึงได้ที่: HRDF’ เปิดข้อมูล ภาระหนี้สิน ‘แรงงานข้ามชาติ’ ในธุรกิจประมงไทย ถูกหักค่าจ้าง-ทำงานขัดหนี้ (ประชาไท)

โรงพยาบาลในกาซาถูกโจมตี ชาวปาเลสไตน์กว่า 500 คนถูกคร่าชีวิต

วันที่ 17 ตุลาคม 2566 สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่ามีการโจมตีโรงพยาบาลอัล-อาห์ลี อัล-อาราบี (Al-Ahli al-Arabi) ในกาซ่า โดยหน่วยงานสาธารณสุขในกาซ่าเปิดเผยว่ามีชาวปาเลสไตน์ถูกคร่าชีวิตกว่า 500 คน นับเป็นเหตุการณ์ร้ายแรงที่ผิดหลักมนุษยธรรมและกฎหมายระหว่างประเทศ 

อิหร่านและตุรกี ได้ประณามเหตุโจมตีดังกล่าว ขณะที่นายกรัฐมนตรีของชาวปาเลสไตน์ เรียกการโจมตีครั้งนี้ว่า “เป็นอาชญากรรมการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์อันน่ากลัว” ซึ่งเป็นผลมาจากความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลและปาเลสไตน์ที่ปะทุขึ้นตั้งแต่วันที่ 7 ตุลาคม 2566 จนถึงขณะนี้ยังไม่มีทีท่าว่าจะสงบลง ท่ามกลางความเสียหายมหาศาลทั้งชีวิต ทรัพย์สิน และจิตใจของผู้คน

ประเด็นดังกล่าวสอดคล้องกับการขับเคลื่อน SDG16 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 16.1 ลดความรุนแรงทุกรูปแบบและอัตราการตายที่เกี่ยวข้องในทุกแห่งให้ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ และ 16.3 ส่งเสริมหลักนิติธรรมทั้งในระดับชาติและระหว่างประเทศ และสร้างหลักประกันว่าทุกคนสามารถเข้าถึงความยุติธรรมอย่างเท่าเทียม

เข้าถึงได้ที่: ยิงถล่มรพ.ในกาซ่า! สังหารชาวปาเลสไตน์ราว 500 คน (VOA Thai)

ประชากรญี่ปุ่นเกิดน้อย ส่งผลให้ผู้สูงวัยยังต้องทำงานในระบบ

กระทรวงกิจการภายในและการสื่อสารของญี่ปุ่นเปิดเผยข้อมูลที่น่าสนใจเกี่ยวกับแรงงานผู้สูงวัย ปี 2565 พบว่า มีคนญี่ปุ่น 65 ปีขึ้นไป จำนวน 9.1 ล้านคน ซึ่งเพิ่มขึ้นเป็นปีที่ 19 ติดต่อกัน ส่งผลให้อัตราส่วนผู้สูงอายุต่อจำนวนคนทำงานทั้งหมดอยู่ที่ 13.6% นั่นหมายความว่าคนทำงานในญี่ปุ่น 1 ใน 7 คน มีอายุ 65 ปีขึ้นไป

สถานการณ์ข้างต้นนับว่าสร้างความน่ากังวลไม่น้อย เนื่องจากปัจจุบันสังคมญี่ปุ่นเป็นสังคมสูงวัย โดยประชากรเกิดใหม่ที่ลดลงเรื่อย ๆ สวนทางกับความพยายามรักษาระบบแบบเดิม ทำให้รัฐบาลต้องบังคับใช้พระราชบัญญัติการรักษาเสถียรภาพการจ้างงานผู้สูงอายุฉบับปรับปรุง ปี 2564 เพื่อเรียกร้องให้บริษัทต่าง ๆ พยายามเพิ่มอายุเกษียณเป็น 70 ปี และแนะนำระบบการจ้างงานต่อเนื่อง รวมถึงการจ้างงานผู้สูงอายุเข้ามาใหม่ 

ประเด็นดังกล่าวสอดคล้องกับการขับเคลื่อน SDG8 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 8.1 ทำให้การเติบโตทางเศรษฐกิจต่อหัวประชากรมีความยั่งยืนตามบริบทของประเทศ และ 8.5 บรรลุการจ้างงานเต็มที่และมีผลิตภาพ และการมีงานที่มีคุณค่าสำหรับหญิงและชายทุกคน 

เข้าถึงได้ที่: 1 ใน 3 ของคนญี่ปุ่นอายุ 70-74 ปี ยังอยู่ในตลาดแรงงาน (ประชาไท)

กองทุนสิ่งแวดล้อมโลกหารือยุทธศาสตร์เพื่อจัดการด้านสิ่งแวดล้อม

กองทุนสิ่งแวดล้อมโลก ( Global Environment Facility Council) จัดการประชุมออนไลน์เพื่อพิจารณายุทธศาสตร์สำหรับการจัดการความรู้และการเรียนรู้ในการจัดการสิ่งแวดล้ม ได้แก่ 1) สนับสนุนและอนุมัติยุทธศาสตร์ พร้อมด้วยเป้าประสงค์และทิศทางของยุทธศาสตร์ 2) สนับสนุนให้เลขาธิการมีส่วนร่วมกับหน่วยงาน นักวิทยาศาสตร์ และคณะผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี 3) แสดงถึงการสนับสนุนความสัมพันธ์ที่เข้มแข็งขึ้นกับชนพื้นเมืองและภูมิปัญญาท้องถิ่น และ 4) เน้นย้ำถึงความต้องการในการทำให้ยุทธศาสตร์สอดประสานกับการสนับสนุนเงินทุนจากหน่วยงานภายนอก เช่น กองทุนภูมิอากาศสีเขียว (Green Climate Fund)

ประเด็นดังกล่าวสอดคล้องกับการขับเคลื่อน SDG15 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 15.1 สร้างหลักประกันว่าจะมีการอนุรักษ์ การฟื้นฟู และการใช้ระบบนิเวศบนบกและแหล่งน้ำจืดในแผ่นดิน และ SDG17 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 17.16 ยกระดับหุ้นส่วนความร่วมมือระดับโลกเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน และ 17.17 สนับสนุนและส่งเสริมหุ้นส่วนความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาครัฐ-ภาคเอกชน และประชาสังคม

เข้าถึงได้ที่: GEF Council Discusses Policy Coherence, Synergies with Conventions (IISD)

ผลงานนี้ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ภายใต้โครงการกลยุทธไตรพลังในการดำเนินการเพื่อสุขภาวะและการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทย

Last Updated on ตุลาคม 24, 2023

Author

  • Atirut Duereh

    Knowledge Communication | สนใจประเด็นสันติภาพ ความมั่นคงมนุษย์ เเละสิ่งเเวดล้อมทางทะเล ใช้ชีวิตโดยเชื่อในสมดุลมากกว่าความสมบูรณ์เเบบ

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น