UN ส่งรถบรรทุกขบวนแรกเข้าถึงพื้นที่กาซาเพื่อส่งมอบอาหาร น้ำ และยา หวังช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมเเก่คนอีกกว่า 1.6 ล้านคน

ความรุนแรงจากการปะทะกันครั้งใหม่ระหว่างอิสราเอลและขบวนการฮามาสกำลังดำเนินเข้าสู่สัปดาห์ที่ 3 มีผู้เสียชีวิตในฉนวนกาซารวมแล้วทั้งสิ้นกว่า  5,791 คน จำนวนนี้เป็นเด็ก 2,360 คน ขณะที่ฝั่งอิสราเอลมีผู้เสียชีวิตประมาณ 1,400 คน นอกจากนี้โรงพยาบาล สถานที่ราชการ โรงเรียน และโครงสร้างพื้นฐานจำนวนมากได้ถูกทำลาย ส่งผลให้ผู้คนขาดแคลนอาหาร น้ำ และยา รวมถึงระบบสาธารณูปโภคในพื้นที่หลายแห่งไม่สามารถใช้งานได้

ล่าสุดเมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2566 รถบรรทุกขบวนแรกจำนวน 20 คัน ภายใต้การสนับสนุนขององค์การสหประชาชาติ และสภากาชาดอียิปต์ ได้เคลื่อนผ่านทางจุดผ่านแดนราฟาห์เข้าไปยังฉนวนกาซา โดยจะให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมเร่งด่วนกับพลเรือนกว่าแสนคนที่กำลังรอคอยอาหาร น้ำ เชื้อเพลิง และยา ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเด็กและผู้หญิง 

การเคลื่อนขบวนรถบรรทุกเข้าไปในพื้นที่ความขัดแย้งได้นับเป็นความสำเร็จหลังจากองค์การสหประชาชาติและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพยายามอยู่นานหลายวัน โดยก่อนหน้านี้ เลขาธิการสหประชาชาติ กล่าวถึงความล่าช้าในการจัดส่งอาหาร น้ำ และยารักษาโรคแก่พลเรือน ว่า “รถบรรทุกเหล่านี้ไม่ใช่แค่รถบรรทุก แต่เป็นเส้นชีวิต เป็นความแตกต่างระหว่างความเป็นและความตายของผู้คนจำนวนมากในฉนวนกาซา” และ “การปล่อยให้ขบวนรถติดอยู่ที่นี่ทำให้ผมชัดเจนมาก สิ่งที่เราต้องการคือการทำให้พวกเขาเคลื่อนไหว ทำให้พวกเขาย้ายไปอีกฟากหนึ่งของกำแพงนี้ เพื่อให้พวกเขาเคลื่อนที่โดยเร็วที่สุดและมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้”

อย่างไรก็ดีนับเป็นความช่วยเหลือขั้นเริ่มต้นเพียงน้อยนิดเนื่องจากผู้คนที่ต้องการความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม ซึ่งมีทั้งเด็ก หญิงตั้งครรภ์ และผู้สูงวัย นั้นมีมากถึง 1.6 ล้านคน จึงจำเป็นต้องมีการจัดหาสิ่งของช่วยเหลือและการเปิดพื้นที่ให้รถบรรทุกสามารถเข้าถึงพลเรือนได้มากขึ้น โดย UN ระบุว่าจำเป็นต้องใช้รถบรรทุกถึง 100 คันต่อวัน เพื่อช่วยบรรเทาสถานการณ์ในกาซาที่ย่ำแย่ลงอย่างมาก ซึ่งก่อนที่จะเกิดการสู้รบจะมีรถบรรทุกความช่วยเหลือเข้าไปในกาซาถึงวันละ 450 คัน

ความช่วยเหลือเร่งด่วนที่พลเรือนในกาซาต้องการ ได้แก่

  • การเข้าถึงน้ำดื่มสะอาดและระบบสุขาภิบาลที่ปลอดภัย
  • การเข้าถึงอาหารที่จำเป็น 
  • การเข้าถึงการรักษาพยาบาล
  • การเข้าถึงระบบไฟฟ้าและเชื้อเพลิงที่เพียงพอ

ทั้งนี้ จุดผ่านแดนราฟาห์เป็นเส้นทางเดียวที่ประเทศอื่น ๆ หรือหน่วยงานภายนอกสามารถใช้ส่งความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก่ผู้คนในกาซาได้ เนื่องจากจุดผ่านแดนเอเรซ และ จุดผ่านแดนเคเรม ชาลอม ซึ่งเคยใช้เป็นเส้นทางขนส่งความช่วยเหลือ ถูกสั่งปิดโดยอิสราเอลมาแล้วกว่า 2 สัปดาห์ โดยอิสราเอลกล่าวว่าจะไม่อนุญาตให้ความช่วยเหลือเข้ามาดินแดนของตนจนกว่ากลุ่มฮามาสจะปล่อยตัวประกันที่ใช้ในระหว่างการโจมตีเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2566

● อ่านข่าวและบทความที่เกี่ยวข้อง
OHCHR ระบุปี 2565 เป็นปีที่ชาวปาเลสไตน์ถูกคร่าชีวิตในเขตเวสต์แบงก์มากที่สุดในรอบ 17 ปี พร้อมประณามอิสราเอลใช้กำลังเกินกว่าเหตุ
‘แรงงานไทยในอิสราเอล’ ชีวิตท่ามกลางการสู้รบ และคำถามถึงการจ้างงานที่ไม่เป็นธรรม
– เด็กหลักล้านคนในโลกตกเป็นทาสสมัยใหม่ โดยรูปแบบหนึ่งคือการค้ามนุษย์ที่มีสถานสงเคราะห์เด็กบังหน้า
– ผู้อพยพเด็กที่เดินทางโดยลำพังอย่างน้อย 18,000 คน หายตัวไปในยุโรปตั้งแต่ปี 2018 เสี่ยงตกเป็นเหยื่อค้ามนุษย์

ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG3 สุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี
– (3.d) เสริมขีดความสามารถของทุกประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศกำลังพัฒนา ในด้านการแจ้งเตือนล่วงหน้า การลดความเสี่ยง และการบริหารจัดการความเสี่ยงด้านสุขภาพทั้งในระดับประเทศและระดับโลก 
#SDG16 ความสงบสุข ยุติธรรม และสถาบันเข้มแข็ง
– (16.1) ลดความรุนแรงทุกรูปแบบและอัตราการตายที่เกี่ยวข้องในทุกแห่งให้ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ
– (16.3) ส่งเสริมหลักนิติธรรมทั้งในระดับชาติและระหว่างประเทศ และสร้างหลักประกันว่าทุกคนสามารถเข้าถึงความยุติธรรมอย่างเท่าเทียม
#SDG17 ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
– (17.16) ยกระดับหุ้นส่วนความร่วมมือระดับโลกเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยร่วมเติมเต็มโดยหุ้นส่วนความร่วมมือจากภาคส่วนที่หลากหลายซึ่งจะระดมและแบ่งปันความรู้ ความเชี่ยวชาญเทคโนโลยี และทรัพยากรทางการเงิน เพื่อจะสนับสนุนการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในทุกประเทศ โดยเฉพาะในประเทศกำลังพัฒนา
– (17.17) สนับสนุนและส่งเสริมหุ้นส่วนความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาครัฐ-ภาคเอกชน และประชาสังคม สร้างบนประสบการณ์และกลยุทธ์ด้านทรัพยากรของหุ้นส่วน

แหล่งที่มา : 
Joint statement by UNDP, UNFPA, UNICEF, WFP and WHO on humanitarian supplies crossing into Gaza (WHO)
เลขา UN ร้องขอเส้นทางช่วยชีวิตผู้คนในฉนวนกาซาที่จุดผ่านแดนอียิปต์ (Post Today)

ผลงานนี้ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ภายใต้โครงการกลยุทธไตรพลังในการดำเนินการเพื่อสุขภาวะและการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทย

Author

  • Atirut Duereh

    Knowledge Communication | สนใจประเด็นสันติภาพ ความมั่นคงมนุษย์ เเละสิ่งเเวดล้อมทางทะเล ใช้ชีวิตโดยเชื่อในสมดุลมากกว่าความสมบูรณ์เเบบ

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น