วันที่ 27 ตุลาคม 2566 กลุ่มนักวิจัย The World Justice Project เผยแพร่ดัชนีหลักนิติธรรม (Rule of Law Index) ประจำปี 2566 ของ 142 ประเทศทั่วโลก โดยจัดทำจากข้อมูลการสำรวจประสบการณ์และความรับรู้ต่อหลักนิติธรรมในชีวิตประจำวันของผู้คนมากกว่า 149,000 ครัวเรือน และผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายอีกกว่า 3,400 คน ผลพบว่าประเทศที่มีหลักนิติธรรมเข้มแข็งมากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ เดนมาร์ก นอร์เวย์ ฟินแลนด์ สวีเดน และเยอรมนี ขณะที่ประเทศที่มีหลักนิติธรรมอ่อนแอ 5 อันดับสุดท้าย ได้แก่ เวเนซุเอลา กัมพูชา อัฟกานิสถาน เฮติ และคองโก ตามลำดับ
ข้อมูลเชิงลึกของดัชนีหลักนิติธรรมระดับโลก มีข้อค้นพบที่น่าสนใจ เช่น
- ในระหว่างปี 2565 และปี 2566 พบว่าหลักนิติธรรมอ่อนแอลงในประเทศส่วนใหญ่
- 2 ใน 3 ของประเทศทั้งหมด มีระบบยุติธรรมทางแพ่งถดถอยลงจากปีก่อน
- 3 ใน 4 ของประเทศทั้งหมด มีสิทธิมนุษยชนถดถอยลงตั้งแต่มีการจัดทำดัชนีหลักนิติธรรม
สำหรับไทย รั้งอันดับที่ 82 ของโลก ได้คะแนน 0.49 คะแนน จากคะแนนเต็ม 1 คะแนน โดย 1 คือการมีหลักนิติธรรมเข้มแข็งมากที่สุด และ 0 คือมีหลักนิติธรรมอ่อนแอที่สุด ทั้งนี้ อันดับดังกล่าวถดถอยลงจากปี 2565 ซึ่งได้อันดับที่ 80 ได้คะแนน 0.50 คะแนน
เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พบว่า ไทย อยู่อันดับที่ 4 รองจาก สิงคโปร์ (อันดับที่ 17) มาเลเซีย (อันดับที่ 55) และ อินโดนีเซีย (อันดับที่ 66) ขณะที่เมียนมา (อันดับที่ 135) และกัมพูชา (อันดับที่ 141) เป็นสองประเทศที่อยู่ในกลุ่มรั้งท้าย ส่วนบรูไนดารุสซาลาม และ ติมอร์เลสเต ไม่ได้เข้าร่วมในการจัดอันดับครั้งนี้
คะแนนของไทยแบ่งตามรายปัจจัยทั้ง 8 ปัจจัย มีดังนี้
- การจำกัดอำนาจของรัฐบาล ได้ 0.45 คะแนน อยู่ในอันดับที่ 100
- การปราศจากการคอร์รัปชัน ได้ 0.45 คะแนน อยู่ในอันดับที่ 72
- รัฐบาลที่โปร่งใส ได้ 0.48 คะแนน อยู่ในอันดับที่ 77
- สิทธิขั้นพื้นฐาน ได้ 0.46 คะแนน อยู่ในอันดับที่ 101
- ระเบียบและความมั่นคง ได้ 0.74 คะแนน อยู่ในอันดับที่ 65
- การบังคับใช้กฎหมาย ได้ 0.44 คะแนน อยู่ในอันดับที่ 103
- กระบวนการยุติธรรมทางแพ่ง ได้ 0.49 คะแนน อยู่ในอันดับที่ 87
- กระบวนการยุติธรรมทางอาญา ได้เพียง 0.41 คะแนน อยู่ในอันดับที่ 76
ขณะที่หากพิจารณาในเชิงอันดับยังน่ากังวล เนื่องจากไม่มีปัจจัยใดที่ไทยถูกจัดให้อยู่ในอันดับต่ำกว่า 50 ของโลก และมีเพียงปัจจัยด้านระเบียบและความมั่นคงปัจจัยเดียวเท่านั้นที่มีค่าคะแนนเฉลี่ยสูงกว่าคะแนนเฉลี่ยระดับโลก สะท้อนว่าหลักนิติธรรมของไทยยังคงมีอุปสรรคและความท้าทายในหลายด้าน สอดคล้องกับสถานการณ์ทางสังคมที่ยังคงมีผู้ถูกกุมขังโดยปราศจากการได้รับสิทธิสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ รวมทั้งการคอร์รัปชันทั้งระดับท้องถิ่นและส่วนกลางซึ่งยังคงพบเห็นบ่อยครั้งในหน้าสื่อต่าง ๆ
● อ่านข่าวและบทความที่เกี่ยวข้อง
– ข้อกำหนดใหม่ พรก. ฉุกเฉิน อาจกระทบต่อสิทธิขั้นพื้นฐานในการเข้าถึงข้อมูลและเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชน
– SDG Updates | Right to know สิทธิได้รู้ : การเปิดเผยข้อมูลสำคัญอย่างไรต่อการบรรลุ SDGs
– ‘หลักนิติธรรมไทย’ รั้งอันดับ 80 ของโลก – กระบวนการยุติธรรมทางอาญาคะแนนถดถอย ‘สังคมสงบสุขและยุติธรรม’ จึงยังเกินเอื้อมถึง? ชวนสำรวจผ่านดัชนี WJP Rule of Law 2022
ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG16 ความสงบสุข ยุติธรรม เเละสถาบันเข้มเเข็ง
– (16.3) ส่งเสริมหลักนิติธรรมทั้งในระดับชาติและระหว่างประเทศ และสร้างหลักประกันว่าทุกคนสามารถเข้าถึงความยุติธรรมอย่างเท่าเทียม
– (16.5) ลดการทุจริตและการรับสินบนทุกรูปแบบอย่างมีนัยสำคัญ
– (16.10) สร้างหลักประกันว่าสาธารณชนสามารถเขาถึงข้อมูลและมีการปกป้องเสรีภาพขั้นพื้นฐาน โดยเป็นไปตามกฎหมายภายในประเทศและความตกลงระหว่างประเทศ
แหล่งที่มา : The Global Rule of Law Recession Continues (WJP)
ผลงานนี้ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ภายใต้โครงการกลยุทธไตรพลังในการดำเนินการเพื่อสุขภาวะและการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทย