Site icon SDG Move

SDG Spotlight – 6 ข่าว SDGs น่าสนใจในรอบสัปดาห์ที่ 1 ประจำเดือนพฤศจิกายน 2566

จากการสำรวจข่าวสารความเคลื่อนไหวที่เกี่ยวข้องและส่งผลต่อการขับเคลื่อน SDGs ระหว่างวันที่  29 ตุลาคม – 3 พฤศจิกายน 2566 มีข่าวสารความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจ ดังนี้

สธ. ผลักดันวาระแห่งชาติ “ส่งเสริมการมีบุตร” เหตุอัตราเด็กเกิดใหม่ลดลง

เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2566 นายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า จำนวนเด็กเกิดใหม่ในประเทศไทยนั้นลดลงอยู่ในขั้นวิกฤต จากเดิมมีเด็กเกิดไม่ต่ำกว่าปีละ 1 ล้านคน ในช่วงปี 2506 – 2526 แต่ในปี  2564 ลดลงเหลือ 485,085 คน ขณะเดียวกันจำนวนการตาย 550,042 คน กลับมีมากกว่าจำนวนการเกิด ซึ่งการลดลงนี้สอดคล้องกับอัตราเจริญพันธุ์รวม (Total Fertility Rate : TFR) ที่ลดต่ำกว่าระดับทดแทน 2.1 มาตั้งแต่ปี 2536 และในปี 2565 เหลืออยู่ที่ 1.16 เกือบทุกจังหวัดของประเทศไทย ทำให้อัตราเจริญพันธุ์รวมต่ำกว่าระดับทดแทน ซึ่งสาเหตุสำคัญที่ไม่มีลูกมาจากปัญหาด้านเศรษฐกิจ สังคม การศึกษาและสิ่งแวดล้อม ที่ไม่เอื้อต่อการมีลูก และมีเพียงร้อยละ 10 เท่านั้นที่มาจากปัญหาด้านสุขภาพ

ด้วยเหตุนี้กระทรวงสาธารณสุข จึงเร่งผลักดันให้การส่งเสริมการมีบุตรเป็น “วาระแห่งชาติ” เพื่อให้รัฐบาลเป็นผู้ลงทุนหลักในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ โดยสาระสำคัญที่พิจารณาคือ มาตรการส่งเสริมการมีบุตร ทั้งเรื่อง ความสมดุลการทำงานกับการดูแลครอบครัว การแบ่งเบาค่าใช้จ่ายและภาระในการเลี้ยงดูบุตรการช่วยเหลือคนที่มีบุตรยาก และการแก้ไขกฎหมายที่เป็นอุปสรรคต่อการเข้าถึงบริการรักษาภาวะมีบุตรยากด้วยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ ให้มีโอกาสมีลูกได้ โดยบูรณาการร่วมกับภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง

ประเด็นดังกล่าวสอดคล้องกับการขับเคลื่อน SDG 3  โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 3.7 สร้างหลักประกันถ้วนหน้า ในการเข้าถึงบริการสุขภาวะทางเพศและอนามัยการเจริญพันธุ์ รวมถึงการวางแผนครอบครัว และการบูรณาการอนามัยการเจริญพันธุ์ในยุทธศาสตร์และแผนงานระดับชาติ  SDG 5  โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 5.6 สร้างหลักประกันว่าจะมีการเข้าถึงสุขภาวะทางเพศและอนามัยการเจริญพันธุ์ และสิทธิด้านการเจริญพันธุ์โดยถ้วนหน้า และ SDG 17  โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 17.14 ยกระดับความสอดคล้องเชิงนโยบายเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน

เข้าถึงได้ที่ : เร่งวาระแห่งชาติ “ส่งเสริมการมีบุตร” คาดอีก 60 ปี ไทยเหลือประชากรเพียง33 ล้านคน – The Active 

สธ.  เคาะยาบ้าไม่เกิน 5 เม็ด สันนิษฐานว่าเป็นผู้เสพ-ต้องได้รับการบำบัด

วันที่ 3 พฤศจิกายน 2566 ตัวแทนจากสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด กระทรวงยุติธรรม กระทรวงสาธารณสุข และตำรวจ รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องประชุมหารือร่วมกันเรื่องการออกประกาศกำหนดจำนวนครอบครองเม็ดยาบ้าว่า ควรมีจำนวนกี่เม็ดถึงเป็นผู้เสพและเข้ารับการบำบัดรักษา ซึ่งที่ประชุมกระทรวงสาธารณสุขและ ป.ป.ส.  – สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ได้ข้อสรุปว่าครอบครองยาบ้าไม่เกิน 5 เม็ด ถือว่าเป็นผู้เสพที่ต้องได้รับการบำบัด โดยหลังจากนี้จะเข้าสู่ขั้นตอนการรับฟังความคิดเห็น ก่อนจะเสนอเข้า คณะรัฐมนตรีพิจารณาอีกครั้ง

ประเด็นดังกล่าวสอดคล้องกับการขับเคลื่อน SDG 3  โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 3.5 เสริมสร้างการป้องกันและการรักษาการใช้สารในทางที่ผิดรวมถึงการใช้ยาเสพติดในทางที่ผิดและการใช้แอลกอฮอล์ในทางที่เป็นอันตราย

เข้าถึงได้ที่ : เคาะแล้ว! ยาบ้าไม่เกิน 5 เม็ด เป็นผู้เสพ – Thai PBS News 

ผู้ว่าฯ กทม.  ลงนามแต่งตั้งผู้บริหารด้านความยั่งยืน คนแรกของกทม. 

นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) ลงนามในคำสั่งแต่งตั้ง นายพรพรหม ณ.ส. วิกิตเศรษฐ์ ที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นผู้บริหารด้านความยั่งยืน (Chief Sustainability Officer) ของกรุงเทพมหานคร คนแรก ตั้งเป้าผลักดันงานความยั่งยืน 10 ด้าน ซึ่งจะดำเนินการบูรณาการร่วมกับทุกหน่วยงานในกรุงเทพมหานคร เพื่อเพิ่มการมีส่วนร่วมด้านการพัฒนาสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืนเมือง และสร้างความตระหนักในการใช้ทรัพยากรและพลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ ตามวาระความยั่งยืนของกทม. ที่ต้องการเคลื่อนเมืองไปข้างหน้าอย่างมีความรับผิดชอบ ส่งเสริมการมีส่วนร่วมและความเป็นอยู่ที่ดีต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อสังคมที่เข้มแข็ง นอกจากนี้ ยังมีการจัดทำแผนแม่บท Sustainable Bangkok เพื่อให้เป้าหมายการทำงานชัดเจนยิ่งขึ้น จะมีการติดตามตรวจสอบและประเมินประสิทธิภาพของการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง

ประเด็นดังกล่าวสอดคล้องกับการขับเคลื่อน SDG 17  โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 17.14 ยกระดับความสอดคล้องเชิงนโยบายเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน

เข้าถึงได้ที่ : ผู้ว่าฯ กทม.ลงนามแต่งตั้งผู้บริหารด้านความยั่งยืน คนแรกของกทม. – GreenXpress

ชาวบ้านตาลดำ อ.บ้านบึง รวมตัวค้านโรงงานในเขตปลอดอากร
หลังส่งกลิ่นเหม็น กระทบแหล่งน้ำและสุขภาพ 

เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2566 ชาวบ้านตาลดำ ต.หนองอิรุณ อ.บ้านบึง จ.ชลบุรี ได้รวมตัวกัน ณ วัดตาลดำผดุงราษฎร์ เพื่อแสดงความเห็นคัดค้านการประกอบกิจการหลอมโลหะและรีไซเคิลยางเก่าของโรงงาน ชาวบ้านระบุว่า ได้รับความเดือดร้อนจากกลิ่นเหม็นจากโรงงาน ซึ่งตั้งอยู่ใกล้กับพื้นที่ชุมชน วัด และอ่างเก็บน้ำ  โดยพื้นที่บ้านตาลดำเป็นชุมชนเกษตรกรรม แต่เดิมมีอากาศและสิ่งแวดล้อมที่ดีเหมาะสมกับการเกษตรและอยู่อาศัย แต่ช่วงเดือนเมษายนที่ผ่านมา คุณภาพอากาศในชุมชนได้เปลี่ยนแปลงไป ชาวบ้านเริ่มได้กลิ่นเหม็นฉุนอย่างรุนแรงจากการประกอบกิจการของโรงงาน ซึ่งมีที่ตั้งติดกับหมู่บ้านในระยะเพียง 100 เมตร

ที่ผ่านมาชาวบ้านได้เคยคัดค้านการจัดตั้งโรงงานตั้งแต่ช่วงที่มีการจัดทำประชาคม ขณะที่องค์การบริหารส่วนตำบลหนองอิรุณ ก็ได้ดำเนินการแจ้งความบริษัทฯ ในข้อหาประกอบกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ โดยไม่ได้รับใบอนุญาต ซึ่งการรวมตัวแสดงพลังคัดค้านจากชาวบ้านครั้งนี้เพื่อต้องการเรียกร้องให้โรงงานหยุดประกอบกิจการที่สร้างความเดือดร้อนกับชาวบ้าน และให้หน่วยงานที่เกี่ยวเข้ามากำกับตรวจสอบโดยเร็ว

ประเด็นดังกล่าวสอดคล้องกับการขับเคลื่อน SDG 3  โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 3.4 ลดการตายก่อนวัยอันควรจากโรคไม่ติดต่อให้ลดลงหนึ่งในสาม ผ่านทางการป้องกันและการรักษาโรค และ 3.9 ลดจำนวนการตายและการเจ็บป่วยจากสารเคมีอันตรายและจากมลพิษและการปนเปื้อนทางอากาศ น้ำ และดินให้ลดลงอย่างมากและ SDG 9  โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 9.4 ยกระดับโครงสร้างพื้นฐานและปรับปรุงอุตสาหกรรมเพื่อให้เกิดความยั่งยืน โดยเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ทรัพยากรและการใช้เทคโนโลยีและกระบวนการทางอุตสาหกรรมที่สะอาดและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น SDG 11  โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 11.6 ลดผลกระทบทางลบต่อสิ่งแวดล้อมต่อหัวประชากรในเขตเมือง รวมถึงการให้ความสนใจเป็นพิเศษต่อการจัดการคุณภาพอากาศ และ SDG 16  โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 16.7 สร้างหลักประกันว่าจะมีกระบวนการตัดสินใจที่มีความรับผิดชอบ ครอบคลุม มีส่วนร่วม และมีความเป็นตัวแทนที่ดี ในทุกระดับการตัดสินใจ

เข้าถึงได้ที่ : ชาวบ้านตาลดำ อ.บ้านบึง รวมตัวค้านโรงงานในเขตปลอดอากร จ. ชลบุรี สุดทน ส่งกลิ่นเหม็น กระทบแหล่งน้ำ สุขภาพ บางรายต้องอพยพหนีมลพิษ  – หยุดภัยมลพิษ Pollution-Free EARTH

ที่ประชุมสุดยอดในสหราชอาณาจักร กล่าวถึงความเสี่ยงจาก AI ที่อาจกระทบทั่วโลก

การประชุมสุดยอดด้านความปลอดภัยของปัญญาประดิษฐ์หรือเอไอ (AI) ระบุว่าพบความเสี่ยงมากมายที่อาจเกิดขึ้นจากการใช้ปัญญาประดิษฐ์ในทางที่ผิด António Guterres เลขาธิการองค์การสหประชาชาติ เรียกร้องให้มีการจัดการกับภัยคุกคามที่เกี่ยวข้องเกิดจากปัญญาประดิษฐ์ ซึ่งในปัจจุบันยังขาดแนวป้องกันและการกำกับดูแลที่เพียงพอ รวมถึงแสดงความกังวลเกี่ยวกับผลกระทบเชิงลบในระยะยาว เช่น การจุดชนวนความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ที่เกิดจากการกระจุกตัวกันของกลุ่มบริษัท AI ในบางประเทศ และที่สำคัญหากไม่มีการดำเนินการจัดการความเสี่ยงเหล่านี้ในทันที AI จะทำให้ความไม่เท่าเทียมนั้นทวีความรุนแรงขึ้นอย่างเป็นวงกว้าง อย่างไรก็ดี ความเสี่ยงที่เกิดขึ้นถูกแก้ไขได้ผ่านความร่วมมือระหว่างประเทศ

ประเด็นดังกล่าวสอดคล้องกับการขับเคลื่อน SDG9 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 9.c เพิ่มการเข้าถึงเทคโนโลยีด้านข้อมูลและการสื่อสาร และพยายามที่จะจัดให้มีการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตโดยถ้วนหน้าและในราคาที่สามารถจ่ายได้ ในประเทศพัฒนาน้อยที่สุด ภายในปี 2563 และ SDG16 โดยเฉพาะเป้าหมายย่อยที่ 16.3 ส่งเสริมหลักนิติธรรมทั้งในระดับชาติและระหว่างประเทศ และสร้างหลักประกันว่าทุกคนสามารถเข้าถึงความยุติธรรมอย่างเท่าเทียม

เข้าถึงได้ที่ : At UK’s AI Summit, Guterres says risks outweigh rewards without global oversight – UN News 

ประธาน ECOSOC เผยแพร่รายชื่อผู้นำเสนอ VNR ประจำปี 2567

Paula Narváez Ojeda ประธานของคณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติ (Economic and Social Council: ECOSOC) ได้เผยแพร่รายชื่อประเทศที่จะเข้าร่วมการนำเสนอรายงานผลการทบทวนการดำเนินงานตามวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. 2030 ระดับชาติโดยสมัครใจ (Voluntary National Reviews: VNR) ในปี 2567 ซึ่งจากรายชื่อดังกล่าว มีทั้งหมด 44 ประเทศกำลังวางแผนที่จะนำเสนอ VNR ในเดือนกรกฎาคมปีหน้า โดยอิสราเอลจะไม่ดำเนินการ VNR ในปี 2567 อย่างไรก็ดี การประชุมเวทีหารือระดับสูงทางการเมืองว่าด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืน (High-Level Political Forum on Sustainable Development: HLPF) ประจำปี 2567  หรือ ‘HLPF 2024’ ภายใต้ธีม “Reinforcing the 2030 Agenda and eradicating poverty in times of multiple crises: The effective delivery of sustainable, resilient and innovative solutions” กับการติดตามและทบทวน 5 เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนเป็นการเฉพาะ ได้แก่  #SDG1 (ขจัดความยากจน) #SDG2 (ขจัดความหิวโหย) #SDG13 (การรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ) #SDG16 (ความสงบสุข ยุติธรรม และสถาบันที่เข้มแข็ง) และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง #SDG17 (หุ้นส่วนความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน) ประเด็นดังกล่าวสอดคล้องกับการขับเคลื่อน SDG17 หุ้นส่วนความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน

เข้าถึงได้ที่ : ECOSOC President Publishes Updated List of 2024 VNR Presenters – IISD

ผลงานนี้ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ภายใต้โครงการกลยุทธไตรพลังในการดำเนินการเพื่อสุขภาวะและการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทย

Author

  • Knowledge Communication | มนุษย์ผู้เชื่อว่า “การสื่อสารสามารถเชื่อมต่อความรู้สึกของกันและกันได้” ไม่ว่าจะเป็นใคร อยู่ที่ไหน หรือเผชิญกับอะไรอยู่ การสื่อสารจะช่วยบอกเล่าเรื่องราวส่งไปให้แก่ผู้อื่นได้รับรู้

Exit mobile version